พระอ้วนไทย และพระอ้วนไทย คือใครกัน?
ภาพถ่าย “พระอ้วน” ที่วัดทิพย์วารี (ซ้าย) พระศรีอารยเมตไตรย (ขวา) พระสังกัจจายน์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, กุมภาพันธ์ 2545)
เริ่มต้นของความสงสัย
พระพุทธรูปที่ทำให้ผมเกิดความสงสัย คือ พระสังกัจจายน์ หรือพระอ้วน, พระยิ้ม ตามแต่จะเรียก ซึ่งเชื่อว่าคงเคยผ่านตาและมีโอกาสกราบไหว้บูชาท่านกันมาแล้ว แต่คงยังมีคนสงสัยว่าท่านเป็นใคร ทำไม รูปลักษณ์จึงดูแปลกไปกว่าพระพุทธรูปทั่วไป
จากที่เคยอ่านในไซอิ๋วฉบับภาพลายเส้น ครั้งหนึ่งมีพระอ้วนมาช่วยเห้งเจียปราบปีศาจ ผู้แปลออกนามท่านว่าพระมิเล็กฮุด แล้ววงเล็บไว้ว่า “พระสังกัจจายน์” ขณะที่หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธและพระ โพธิสัตว์สายมหายานของจิตรา ก่อนันทเกียรติ กล่าวว่า
“ตั้งแต่เด็กมาแล้วที่เราจะเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดถึง ‘ยุคพระศรีอาริย์’ เช่นเดียวกับที่เวลาไปวัดบางวัด เรา จะเห็นรูปปั้นพระจีนอ้วนพุงพลุ้ยหน้าตายิ้มแย้ม บ้างก็เรียกท่านว่า ‘พระยิ้ม’ บ้างก็เรียกท่านว่า ‘พระสังกัจจายน์’ ไม่น่าเชื่อว่าที่แท้แล้วท่านเป็นองค์เดียวกัน พระศรีอารยเมตไตรยมหาโพธิสัตว์ พระนามจีนของท่านคือ ‘หมีเล็กผ่อสัก’…”
ซึ่งถ้าสรุปตามนี้ พระศรีอาริย์ก็ต้องเป็นองค์เดียวกับพระสังกัจจายน์
แต่เนื่องจากผมได้ไปอ่านพบข้อความในหนังสือลัทธิของเพื่อนของเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป กล่าวถึงพระอ้วนองค์นี้ไว้เช่นกัน ว่า
“…มิล่อฮุดหรือมิเตกฮุดคือพระศรีอารยเมตไตรย…รูปพระท้องพลุ้ยนี้คือมิล่อฮุด. แต่เราเรียกกันว่าพระสังกัจจายน์. ที่เรียกอย่างนี้เพราะรูปไป ตรงลักษณะกันเข้า. และฝ่ายจีนก็คงเรียกพระสังกัจจายน์ของเราว่ามิล่อสุด. ที่วัดมังกรกมลาวาสเอารูปพระสังกัจจายน์กับมิล่อสุดไปตั้งรวมกันไว้ด้วย ความประสงค์อย่างไรก็ตาม, จีนเข้าใจว่ามิล่อสุดทั้งสององค์แล้ว, เข้าใจไปว่าพระสังกัจจายน์ทั้งคู่, เป็นความเข้าใจผิดอย่างสนิททั้งสองฝ่าย” (เน้นโดยผมเอง)
นี่ย่อมหมายความว่า พระมิเล็กฮุด (มิล่อฮุด) คือพระศรีอารยเมตไตรย ซึ่งเป็นคนละองค์กับพระสังกัจจายน์ แต่รูปลักษณ์บังเอิญไปคล้ายกันเข้า
เช่นนี้แล้วจะสรุปอย่างไรดี?
แกะรอยตามหนังสือเก่า
วัดมังกรกมลาวาสอาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าเป็นวัดเดียวกับวัดเล่งเน่ยยี่ที่เยาวราชแล้ว หลายคนคง ร้อง “อ๋อ”
ได้ลองไปตามคํากล่าวของเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีปในหนังสือเรื่องลัทธิของเพื่อน ซึ่งที่ท้ายหนังสือของ ท่านมีแผนผังวัดเล่งเน่ยยี่ พร้อมทั้งเล่าว่าปฏิมากรแต่ละจุดคือใครบ้าง โดยในวิหารพระศรีอารยเมตไตรยจะมีพระสังกัจจายน์ประทับอยู่เบื้องหน้าองค์พระศรีอารยเมตไตรย และรายล้อมด้วยจตุโลกบาล
หลังจากชมดูจนทั่ว พบปฏิมากรแต่ละองค์อยู่ในตําแหน่งที่แผนผังระบุไว้ เว้นแต่พระสังกัจจายน์องค์เดียวที่ไม่ได้อยู่ที่เบื้องหน้าพระศรีอารยเมตไตรยตามคําบอกเล่า หนังสือของเสฐียรโกเศศ-นาคะ ประทีปเขียนขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 ซึ่งโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงย่อมมีมากตามกาลเวลา
เมื่อลองเดินไปยังที่เก็บพระด้านหลังวิหารใหญ่ พบว่ามีแต่พระพุทธรูปแบบไทยที่ถูกเก็บไว้เต็มตู้ใหญ่ทั้งสอง ขณะที่ปฏิมากรจีนจะอยู่ตามจุดต่างๆ รอบวัด ในตู้ดังกล่าวมีพระอ้วนอยู่องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปแบบไทยเช่นกัน ซึ่งต้องเป็นพระสังกัจจายน์แน่นอนเพราะไม่มีพระพุทธรูปลักษณะนี้อีกตามจุดอื่นๆ ในวัด จึงสันนิษฐานด้วยตนเองว่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่พระสังกัจจายน์องค์นี้เป็นองค์ที่ถูกย้ายมาจากจุดที่หนังสือระบุ
ลองสอบถามจากหลวงพี่ซึ่งอยู่ประจําที่โต๊ะประชาสัมพันธ์ พร้อมกับกางแผนผังในหนังสือประกอบ หลวงพี่เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐาน และท่านยังนึกได้ว่าเคยมีคนมาถามถึงพระสังกัจจายน์ในวิหารข้างหน้า (วิหารพระศรีอารยเมตไตรย) เช่นกัน เพราะเขาต้องการขอเช่า ดังนั้นพระสังกัจจายน์ที่ปัจจุบันนำมาเก็บไว้ในตู้พระจึงน่าจะเคยตั้งอยู่ที่วิหารด้านหน้าจริง แต่หลวงพี่เองก็ไม่ทราบว่ามีการย้ายท่านออกมาเมื่อไร
ผมลองถามท่านว่าพระสังกัจจายน์เป็นองค์เดียวกับพระศรีอารยเมตไตรยหรือไม่ ท่านให้คําตอบว่าไม่ใช่ แม้พุทธศาสนาสายมหายานจะรู้จักพระสังกัจจายน์แต่ก็ไม่ได้บูชาเป็นพิเศษ แต่ชาวพุทธเถรวาทในประเทศไทยเชื่อว่าบูชาท่านแล้วจะได้ลาภผล
พระสังกัจจายน์
เมื่อค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า พระอ้วนมิได้มีอยู่องค์เดียว ก็ควรที่จะเริ่มสืบค้นประวัติของแต่ละองค์เพื่อจะ แยกแยะท่านได้โดยไม่สับสนอีก ผมจึงเริ่มต้นที่พระสังกัจจายน์ก่อน
ประวัติความเป็นมาของพระสังกัจจายน์
พระสังกัจจายน์คือพระมหากัจจายนะเถระ ทรงเป็นผู้ที่พระพุทธองค์ยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางการ อธิบายธรรม ท่านเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งไม่ใช่พระโพธิสัตว์ ชื่อของท่านเรียกเป็นภาษาจีนว่า “เกียก เมียงเอี๊ยง” และทางฝ่ายมหายานจัดท่านอยู่ในพระเอตทัคคะมหาสาวกสิบองค์ (จับไต้ตี้จื๊อ) ซึ่งในสิบองค์นี้ทางฝ่ายมหายานจะรู้จักพระมหากัสสปะและพระอานนท์มากเป็นพิเศษ
จากหนังสือประวัติพุทธบริษัท พระมหากัจจายนะเกิดในตระกูลปุโรหิตของแคว้นอวันตี เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นปุโรหิตได้รับคำสั่งให้ไปเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มาเทศนาโปรดชาวแคว้นอวันดี แต่เมื่อปุโรหิตกัจจายนะได้พบกับพระพุทธองค์ก็เกิดความเลื่อมใสและขอบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จนได้เป็นพระอรหันต์ และเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถทางการอธิบายธรรมะ ที่ลึกซึ้งให้เข้าใจง่ายขึ้น เดิมทีพระมหากัจจายนะหรือพระสังกัจจายน์มีรูปกายงดงาม แต่เหตุที่บันดาลให้ท่านกลายเป็นพระอ้วนนั้น มีเรื่องย่อๆ อยู่ว่า ท่านรูปงามเสียจนมีผู้ชายคิดอยากมีภรรยางามเช่นท่าน ท่านสลดใจที่มีคนมาคิดกับท่านเช่นนี้ จึงอธิษฐานให้รูปร่างที่สวยงามกลายเป็นพระอ้วน
แต่ก็มีบางตํานานเสริมว่า ยามท่านไปที่ไหนจะมีเทวดาและมนุษย์ยกย่องท่านว่างามทัดเทียมกับพระพุทธองค์ พระมหากัจจายนะเห็นว่าไม่เหมาะสมจึงเนรมิตรูปกายของท่านออกมา อย่างที่เราเห็นกัน
ที่มาของชื่อ “สังกัจจายน์”
ส่วนที่ว่า เหตุใดพระมหากัจจายนะจึงมีชื่อว่าพระสังกัจจายน์ด้วยนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อเรียกกันภายหลังในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง กล่าวคือในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้มีการขุดพื้นเพื่อฝังรากอุโบสถวัดแห่งหนึ่งที่ฝั่งธนบุรี ปรากฏว่าครั้งนั้นมีการขุดค้นพบปฏิมากรพระมหากัจจายนะกับหอยสังข์ในบริเวณดังกล่าว วัดแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่าวัดสังข์กระจายตั้งแต่นั้นมา (อ้างตามหนังสือพระสังกัจจายน์ พระอรหันต์ผู้สมบูรณ์ลาภผล) ปฏิมากรพระมหากัจจายนะที่ขุดพบยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดสังข์กระจายฝั่งธนบุรี จนปัจจุบัน
ชื่อ “สังกัจจายน์” จึงน่าจะมาจากชื่อวัด “สังข์กระจาย” โดยทีแรกคงเรียกกันว่า “พระวัดสังข์กระจาย” นานเข้าก็มีการกร่อนคำ และนำมารวมกับชื่อของท่านที่มีคำว่า “กัจจายนะ” “พระวัดสังข์กระจาย” ก็เลยกลายเป็น “พระสังกัจจายน์” ไป นอกจากนี้เท่าที่อ่านงานเขียนต่างๆ ก็จะออกนามท่านว่าพระมหากัจจายนะเสมอ ชื่อพระสังกัจจายน์จึงเป็นชื่อในภาษาพูดมากกว่าจะใช้ในภาษาเขียน
การจะแยกแยะลักษณะของปฏิมากรให้สังเกตว่าพระสังกัจจายน์จะอ้วน มีไรพระเกศาขมวดเป็นวงกลมอยู่ทั่วพระเศียร โดยมากพระพักตร์สงบเป็นปกติไม่ได้ยิ้มแย้ม ครองจีวรแบบเถรวาทคือเปิดไหล่ขวาและจีวรคลุมท้อง มีผ้าคาดบ่า พระหัตถ์ทั้งสองอุ้มท้องไว้
พระศรีอารยเมตไตรย
ถ้าเห็นพระอ้วนแบบจีนที่ห่มจีวรแบบเปิดท้อง ศีรษะล้าน เลี่ยนไม่มีไรพระเกศา ใบหน้ายิ้มแย้ม มักจะถือถุงย่ามและประคําในมือ ให้รู้ว่านั่นไม่ใช่พระสังกัจจายน์ แต่เป็นพระศรีอารยเมตไตรย เพราะพุทธศาสนามหายานไม่ได้บูชาพระมหากัจจายนะเป็นพิเศษ ปฏิมากรพระอ้วนแบบจีนจึงเป็นพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์แทบทั้งสิ้น ซึ่งพระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์ (มิเล็กฮุด) นั้น ประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิต รอที่จะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดไปเมื่อสิ้นพุทธกาลของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
มีตํานานที่กล่าวถึงรูปลักษณ์ของพระศรีอารยเมตไตรยไว้ 2 ตํานาน
ตํานานแรกนํามาจากหนังสือโลกทิพย์คติจีน ซึ่งผู้เขียนเป็นคนจีนและกล่าวไว้ว่า ในสมัยโฮ่วเหลียงของจีน มีพระสงฆ์ประหลาดชื่อ ชีฉื่อ รูปร่างอ้วนท้วน ท่าทางสติไม่ดี มักจะถือถุงย่ามเดินบิณฑบาต แต่ท่านพยากรณ์อากาศ พยากรณ์โชคชะตาได้แม่นยำ จึงมีชื่อเสียงมาก
ก่อนหลวงจีนชีฉื่อมรณภาพ ท่านได้ทิ้งปริศนาธรรมกล่าวถึง พระศรีอารยเมตไตรยเอาไว้ จึงได้ทราบกันว่าหลวงจีนชื่อชีฉื่อนี้ นิรมาณกาย (การแบ่งภาคมาเกิดในโลกมนุษย์) ของพระศรีอารเมตไตรยโพธิสัตว์ จากนั้นก็มีการสร้างปฏิมากรเพื่อระลึกถึงพระศรีอารยเมตไตรยด้วยรูปหลวงจีนอ้วนที่เป็นนิรมาณกายของพระองค์ เพราะเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่องค์พระศรีอารยเมตไตรยที่ประทับยังสวรรค์ชั้นดุสิตหาได้มีรูปกายเช่นนี้ไม่
การรับรู้ว่าลักษณะที่แท้จริงขององค์พระศรีอารยเมตไตรยไม่อ้วนนั้น คล้ายกับการรับรู้ของฝ่ายเถรวาท ที่เชื่อว่าพระศรีอารยเมตไตรยมีพุทธลักษณะเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป ไม่ใช่พระอ้วน ซึ่งสามารถดูจากปฏิมากรที่วิหารพระศรีอารยเมตไตรย วัดปรมัยยิกาวาส ที่เกาะเกร็ด นนทบุรี ได้
อีกตํานานหนึ่งจากหนังสือลัทธิของเพื่อนกล่าวไว้ว่า ในการชุมนุมเทพยดาตามเรื่องราวในคัมภีร์มิลอแอ้แซเก็ง เซียนองค์หนึ่งพรรณนาไว้ว่าได้เห็นพระศรีอารยเมตไตรยประทับอยู่เบื้องขวาของพระพุทธองค์ที่สวรรค์ชั้นดุสิต รูปลักษณ์ของท่านจําได้ง่าย ด้วยท่านห่มจีวรเปิดเห็นท้องที่ใหญ่ยื่นและยิ้มแย้มอยู่เสมอ มือขวาถือย่ามกายสิทธิ์เรียกเคียนคุนแพ ซึ่งจากตํานานนี้เท่ากับว่า พระศรีอารยเมตไตรยโพธิสัตว์มีลักษณะอ้วนอยู่เอง ต่างกับตํานานแรกที่ว่าหลวงจีนอ้วนเป็นนิรมาณกายขององค์โพธิสัตว์
ตามปกติเทพเจ้าจีนอาจมีตํานานประจําตัวมากกว่าหนึ่งตํานานได้ ดังนั้นการที่มีตํานานกล่าวถึงพระศรีอารยเมตไตรยไว้ต่างกันจึงไม่แปลกอะไรนัก แต่ไม่ว่าจะด้วยตํานานใด ก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่าพระศรีอารยเมตไตรยเป็นพระโพธิสัตว์ และเป็นคนละองค์กับพระมหากัจจายนะหรือพระสังกัจจายน์ที่เป็นพระอรหันต์สาวกองค์หนึ่ง
ท้ายที่สุดนี้ผมหวังว่า บทความชิ้นนี้คงช่วยให้การ “ทักคนผิด” เวลาไปวัดจีนหรือวัดไทยลดลงได้บ้าง
หนังสืออ้างอิง
จิตรา ก่อนันทเกียรติ. พระพุทธ พระโพธิสัตว์ สิ่งศักดิ์ของจีน. กรุงเทพฯ : จิตรา, 2541.
ซูเถียน, หม่า. โลกทิพย์คติจีน. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, 2541.
พ.สุวรรณ. พระสังกัจจายน์ พระอรหันต์ผู้สมบูรณ์ลาภผล. กรุงเทพฯ : บ้านมงคล, 2541.
วิรัช ถิรพันธ์เมธี. ประวัติพุทธบริษัท. กรุงเทพฯ : มติชน, 2540
อนุมานราชธน, พระยา. ลัทธิของเพื่อน โดย เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป. กรุงเทพฯ : พิราบ, 2540
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กันยายน 2565
https://www.silpa-mag.com
The post พระอ้วนไทย และพระอ้วนไทย คือใครกัน? appeared first on Thailand News.