ปลัด มท. เปิดโครงการ Executive Change for Good เน้นย้ำผู้บริหารระดับสูงให้น้อมนำแนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์มาปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง สร้างศรัทธาในพื้นที่
21 ก.ย. 2565 เวลา 11.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ : ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงมหาดไทย หลักสูตร “ผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” รุ่นที่ 1 พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ผ่านการประชุมระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน พ.ศ. 2565 โดย สถาบันดำรงราชานุภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกี่ยวกับหลักการทรงงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” การพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำมาปรับใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร สืบสานปณิธานของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แก่พี่น้องประชาชน พร้อมเสริมสมรรถนะของการเป็นผู้บริหารการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาองค์กรไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม สามารถปลุกจิตสำนึกของทีมงานในองค์กรให้มีความปรารถนาอันแรงกล้าในการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ด้วยกลไก ๓ ๕ ๗ นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน ตามบริบทของภูมิสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รวมจำนวนทั้งสิ้น 24 คน มีระยะเวลาฝึกอบรม จำนวน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 21-23 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครนายก จังหวัดนครนายก และมีการศึกษาดูงานนอกสถานที่ ณ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ สำหรับรูปแบบการฝึกอบรมประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ทางวิชาการ การแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ การระดมสมอง ตลอดจนการนำเสนอ ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากพระอาจารย์พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผอ.ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ จังหวัดอุบลราชธานี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย อาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ อาจารย์ชยดิฐ หุตานุวัชร์ รวมถึงคณะวิทยากรจากกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมให้ความรู้
จากการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวโดยสรุปว่า พวกเราทุกคนในฐานะของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องตระหนักถึงภารกิจ หน้าที่ รวมถึงภาคภูมิใจในความเป็นคนของพระราชา ในฐานะของคนที่ทำงานอยู่ในกระทรวงที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่างพระเนตรพระกรรณในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่พสกนิกรของพระองค์ท่าน ซึ่งนัยสำคัญที่ควรคำนึงร่วมกันนั้นมีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ กล่าวคือ ประการแรก การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จะเกิดความสำเร็จขึ้นได้ก็จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เกิดคุณภาพ เนื่องด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพื่อให้คนไปพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสข” อย่างยั่งยืน ประการที่สอง การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องลงมือทำก่อน เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ประพฤติและปฏิบัติตาม โดยการทำก่อนนั้น ผู้นำก็ต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ตนทำ และขอให้พวกเราศึกษาในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้ในโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ทฤษฎีใหม่กว่า 40 ทฤษฎี และพระราชดำรัสที่มีเป็นหมื่น ๆ องค์ ควบคู่ไปกับความตั้งอกตั้งใจในการสนองแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามที่พระองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนในพระปฐมบรมราชโองการที่พระราชทานไว้ให้คนไทยทุกคนว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยแล้ว เราก็จะเห็นว่ามันเป็นเหตุเป็นผลที่สืบเนื่องกัน โดยพวกเราต้องท่องเอาไว้ให้ขึ้นใจอยู่เสมอว่า เรามีฐานะเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะฉะนั้นเราก็จะต้องทำตามพระราชปณิธานของพระราชาหรือของพระเจ้าแผ่นดิน คือ ต้องรู้จักช่วยกันน้อมนำแนวพระราชดำริ แนวพระราชปณิธาน มาลงมือทำเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายตามที่พระองค์ท่านทั้งสองมีพระราชประสงค์ให้พวกเราเดินทางไปถึงร่วมกัน นั่นก็คือ การมุ่งทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทย
ประการที่สาม ตามที่ทราบกันดีแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยพระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ข้าราชการบริพารพระองค์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ความว่า “…ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง …” ซึ่งพวกเราทุกคนจะต้องมุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด พร้อมทั้งมีการปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่พลาด เพื่อให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดในการปฏิบัติงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ครั้นเมื่อทราบว่าแนวทางหรือนโยบายใดไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ ก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมนี้ให้พึงตระหนักไว้อยู่เสมอว่าเศรษฐกิจพอเพียงหรือทฤษฎีใหม่นั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตและเป็นทางรอดของโลก ด้วยเหตุนี้จึงต้องรู้จักนำมาปรับและประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์สุขแก่พี่น้องประชาชน สมดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 ความว่า “…ถ้าทำโครงการอะไรที่ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ก็สามารถจะสร้างความเจริญให้กับเขตที่ใหญ่ขึ้นได้ เขตที่ใหญ่ ลงท้ายก็จะแผ่ทั่วประเทศได้ แต่เพื่อการนี้จะต้องมีความร่วมมืออย่างดี ระหว่างทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และนักปกครอง ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง หรือทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…” ซึ่งแม้แต่องค์การสหประชาชาติเองก็ยังให้การยอมรับ และนำมาขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านแนวคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ด้วย ประการที่สี่ ก็คือ การเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้ ตามที่ทราบกันดีแล้วว่าการแก้ไขปัญหาความยากจนถือเป็นนโยบายสำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาล ซึ่งได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยใช้ระบบ TPMAP ในการระบุกลุ่มเป้าหมายเพื่อแก้ไขความยากจนใน 5 มิติ ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านความเป็นอยู่ ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการของภาครัฐ พร้อมกันนี้ขอให้พวกเราได้น้อมนำเอาหลักการทรงงาน เรื่อง “บวร” “บรม” และ “ครบ” รวมถึงหลักการ กลไก 3 5 7 มาช่วยขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ด้วย กล่าวคือ 3 หมายถึง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชุมชน/หมู่บ้าน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ 5 หมายถึง 5 กลไก ได้แก่ การประสานงานภาคีเครือข่าย การบูรณาการแผนงานและยุทธศาสตร์ การติดตามหนุนเสริมและประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม และ 7 หมายถึง 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชนเพื่อช่วยกันพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ สร้างกลไกการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว
ประการที่ห้า ให้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของงานราชการ เพราะงานราชการก็คืองานของแผ่นดิน หากเราทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว ประเทศชาติและประชาชนก็จะดีงามสอดคล้องกันไปเป็นลำดับขั้นตอน โดยขอให้ระลึกถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2551ความว่า “งานราชการนั้น คือ งานของแผ่นดิน ข้าราชการจึงต้องสำเหนียกตระหนักอยู่ตลอดเวลาถึงฐานะและหน้าที่ของตน แล้วตั้งใจปฏิบัติงานทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ด้วยความสุจริต เที่ยงตรง และด้วยความมีสติยั้งคิด รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรงดเว้น เพื่อให้งานที่ทำปราศจากโทษเสียหาย และบังเกิดผลประโยชน์ที่แท้ คือ ความเจริญมั่นคงของประเทศชาติและประชาชน” เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน รวมถึงเป็นเครื่องเตือนสติในการปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วย พร้อมกันนี้ขอให้ยึดหลักการทำงาน 3 องค์ประกอบ R-E-R คือ R ตัวแรก หมายถึง Rountine Jobs E ตัวกลาง หมายถึง Extra Jobs และ R ตัวสุดท้าย หมายถึง Report และขอให้ทุกคนทำหน้าที่นักสื่อสารมวลชนอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการด้วย สำหรับ ประการที่หก นั้น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะของนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด และนายอำเภอในฐานะของนายกรัฐมนตรีประจำอำเภอทำหน้าที่ของตนให้ดีสมกับเป็นผู้บริหารในพื้นที่ และต้องสอดคล้องกันอย่างเป็นเอกภาพ รวมทั้งมีทิศทาง หรือ Direction ที่ตรงกัน เพราะที่ผ่านมาการดำเนินโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการ ยังมีข้อจำกัดอยู่ในบางประการ เพราะบางคนยังไม่เชื่อมั่นและศรัทธาในหลักการทำงานที่ผมได้กล่าวมา ซึ่งต่อจากนี้ทุกกรม จังหวัด และอำเภอจะต้องมีทิศทางการทำงานแบบเดียวกัน โดยยึดมั่นในพระราชปณิธานของทั้งสองพระองค์ เมื่อผู้นำมีความเชื่อที่เหมือนกันแล้ว ลูกน้องและผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายก็จะมีความมั่นใจในการทำงานเพื่อตอบสนองแทนคุณของแผ่นดินในฐานะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคนของพระราชาต่อไป
ประการสุดท้าย ขอให้น้อมนำแนวทางการทำงานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ความว่า “การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ออกตรวจจนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด” เพราะหลักโบราณก็มีอยู่ว่า “จงคิด จงสั่ง จงตรวจ” เพื่อให้พวกเราได้มีไว้เป็นเครื่องเตือนใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนเกิดผลสำเร็จอย่างมั่นคงและยั่งยืนในเชิงประจักษ์ด้วย Passion และความมุ่งมั่นในการ Change for Good ต่อไป ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปิดท้าย
ที่มา : https://prd.go.th/admin/content/article/add
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More