“กบฏนายสิบ” หรือ “กบฏน้ำลาย” พังตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่ไร้เอกสารเอาผิด
หลังการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรกุมอำนาจบริหารประเทศ มีความพยายามล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎรเพื่อฟื้นคืนระบอบเดิมโดย นายพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช อย่างไรก็ตาม หลวงพิบูลสงคราม ผู้นำนายทหารฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามลงได้ แต่กลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ซึ่งผูกพันกับระบอบเดิมยังไม่สูญสลายไปไหน เพราะยังตระเตรียมและรอคอยโอกาสในการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่เสมอ
กลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติบางส่วนคือนายทหารชั้นประทวนระดับ สิบตรี ถึง จ่านายสิบ คนเหล่านี้กระจายกันอยู่ทั่วทุกกองพันทหาร ถือเป็นกำลังสำคัญรองจากนายทหาร เพราะเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นล่างที่อยู่ใกล้ชิดกำลังพลที่สุด
สถานการณ์โลกในช่วงนั้น เป็นยุคของคนหนุ่มที่มีบทบาทพลิกสถานการณ์ทางการเมือง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซีที่เถลิงอำนาจในเยอรมนีเคยเป็นสิบโทมาก่อน เลนินและกลุ่มผู้ฝักใฝ่สังคมนิยมโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซียได้สำเร็จ ส่วนระบอบสาธารณรัฐที่ไร้เสถียรภาพทำให้แผ่นดินจีนกลายเป็นสมรภูมิช่วงชิงอำนาจของเหล่าขุนศึก สภาวการณ์เหล่านี้มีอิทธิพลต่อกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนระบอบเก่าไม่น้อยเช่นกัน
อีกเหตุการณ์สำคัญคือการปฏิวัติที่คิวบา (Cuban Revolution) หัวหน้าขบวนการปฏิวัติมียศสิบเอกชื่อ ฟูลเกนชิโอ บาติสต้า (Fulgencio Batista) ซึ่งมาจากตระกูลชาวนา เขากับเพื่อนนายสิบอีก 5 นาย ก่อการปฏิวัติแบบสายฟ้าแลบในวันที่ 12 สิงหาคม 2476 และโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการของนายพลเกราโด มาชาโด (Gerardo Machado) บาติสต้ากับคณะนายสิบควบคุมกองทัพ เลื่อนยศเป็นเสนาธิการทหารบก จัดตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยตัวเขาชี้นำรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง การปฏิวัติอันห้าวหาญของหกนายสิบคิวบากลายเป็นที่สนใจในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมถึงกลุ่มนายสิบไทยที่เริ่มมีความคิดก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลคณะราษฎร
ผู้นำคณะนายสิบคือ สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด มีสมาชิกกลุ่มเป็นนายทหารชั้นประทวน 21 นาย และพลเรือน 1 คน กำหนดวันก่อการของคณะนายสิบคือ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กลุ่มผู้นำรัฐบาลคณะราษฎรคือเป้าหมายหลัก เมื่อก่อการลุล่วงจึงถวายคืนราชบัลลังก์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ซึ่งทรงสละราชสมบัติไปก่อนหน้านั้น ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478
จากรายงานหน่วยสืบราชการลับของกองทัพบก การก่อหวอดรัฐประหารเกิดขึ้น 2 เดือนก่อนกำหนดวันก่อการ โดยเริ่มในกลุ่มนายสิบของกองพันทหารราบที่ 2 มีสิบเอกถม เกตุอำไพ เป็นหัวหน้า ซึ่งมีมิตรสหายอยู่ตามกองพันต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ
แนวคิดการก่อรัฐประหารแพร่กระจายมาสู่กองพันทหารราบที่ 3 แกนนำ คือ สิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด แผนการจึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาถึงหน่วยทะเบียนพลในกระทรวงกลาโหม โดยสิบเอกศาสตร์ คชกุล และ กองพันทหารราบที่ 5 นำโดยสิบโทเลียบ คหินทพงศ์ การพูดคุยแต่ละครั้งจะใช้โรงอาหารและร้านค้าสวัสดิการเป็นที่ประชุม ติดต่อและวางแผนแบบปากเปล่า ไม่มีการลงลายลักษณ์อักษร แผนการรัฐประหารมาถึงกองพันทหารราบที่ 5 ซึ่งมี กองรถรบ ที่คณะนายสิบต้องใช้ในวันก่อการ สำหรับใช้ข่มขวัญและเพิ่มอำนาจการยิง
กองรถรบนี้เป็นหน่วยอารักขาส่วนตัวของพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ดังนั้น ณ กองพันทหารราบที่ 5 นี่เองที่แผนของคณะนายสิบรั่วไหลไปถึงระดับนายทหารเข้าจนได้ และเรื่องจึงทราบถึงพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น แผนรั่วไหลนี้เกิดจากพลทหารที่ร่วมมือก่อการในตอนแรก เกิดความเกรงกลัวความผิด และนำแผนการรัฐประหารไปแจ้งกลุ่มนายทหาร
คณะนายสิบมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด เป็นผู้วางแผนทั้งหมดทุกขั้นตอน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายสิบจากกองพันทหารราบที่ 2 และ 3 มีกำหนดการณ์รัฐประหารเวลา 03.00 นาฬิกา ของวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2478
แผนการที่วางไว้คือ กำลังนายสิบเกือบ 200 คน จากหน่วยต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ทำการยึดอำนาจพร้อมกัน โดยจะบุกเข้ายึดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพบก และมีหน่วยคอมมานโดนายสิบอีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่จับตายบุคคลสำคัญ ได้แก่ พันเอกหลวงพิบูลย์สงคราม, นายพันตำรวจเอกหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจและเป็นมือขวาหลวงพิบูลสงคราม, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี และหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ส่วนพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรและนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายให้ความเคารพ คณะนายสิบจึงไม่มีความตั้งใจจะสังหารแต่จะจับไว้เป็นตัวประกัน เว้นแต่มีการขัดขืนจึงจะจัดการขั้นเด็ดขาดต่อไป
อีกหนึ่งเป้าหมายในการก่อรัฐประหารคือปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองทั้งหมด ตั้งแต่เกิดกบฏบวรเดช เพื่อเลือกผู้มีความสามารถในการบังคับบัญชาต่อไป จากนั้นให้ทุกกลุ่มบุกไปที่วังปารุสกวันพร้อมรถเกราะ ปืนกล ลูกระเบิด เพื่อทำการยึดทำเนียบนายกรัฐมนตรีเป็นลำดับต่อไป มีคำสั่งเด็ดขาดอีกประการคือ หากมีผู้ใดขัดขวางการรัฐประหารให้ฆ่าทิ้งทันที
จากแนวทางเหล่านี้ของคณะนายสิบ หากเกิดการรัฐประหารขึ้นจริงจะมีการนองเลือดอย่างดุเดือดแน่นอน
เวลา 12.00 นาฬิกา ของวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กองพันต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้เตรียมพร้อม กองทหารยามฉุกเฉินของกองพัน 2, 3 และ 5 รับคำสั่งติดดาบปลายปืนและเข้าจับกุมนายสิบตามบัญชีลับที่มีรายชื่อทันที ทุกคนที่ร่วมก่อการจึงสิ้นอิสรภาพ แผนการรัฐประหารทั้งหมดจึงล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่เริ่มปฏิบัติการ คณะนายสิบถูกถูกตั้งข้อหากบฏในพระราชอาณาจักรและก่อกำเริบให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย
หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม)
คำพิพากษาของศาลพิเศษออกมาในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2478 ให้ประหารชีวิตสิบเอกสวัสดิ์ มหะหมัด เพราะไม่ยอมรับข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้ต้องหาอ้างว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ มีเพียงพยานเท่านั้น สวัสดิ์ มหะหมัด ยังเป็นนักโทษคนแรกที่เปลี่ยนมาจากการตัดคอเป็นการยิงเป้าตามกฎหมายใหม่ ส่วนนายสิบระดับผู้นำคนอื่น ๆ ถูกจำคุกตลอดชีวิต มีบางคนที่ได้รับการอภัยโทษ บางคนถูกจำคุก 20 ปี โดยมีพลเรือนคนเดียวในกลุ่มผู้ก่อการคือ นายนุ่ม ณ พัทลุง ถูกจำคุก 16 ปี
การกบฏครั้งนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า กบฏน้ำลาย เนื่องจากรัฐบาลไม่มีหลักฐานเพียงพอในการเอาผิดคณะนายสิบ เพราะไม่ปรากฏเอกสารหรือรายงานการประชุมใด ๆ ในการเอาผิดเลยนอกจากพยานบุคคลและข้อมูลจากหน่วยสืบของกองทัพ แต่ด้วยอำนาจศาลพิเศษที่จัดตั้งเพื่อพิจารณาและตัดสินความในครั้งนี้ (ศาลนี้ไม่มีทนาย ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา รัฐบาลตั้งผู้พิพากษาได้ตามใจ) ทำให้ไม่มีกลุ่มการเมืองใด ๆ มีพลังพอจะขัดขวางหรือโต้แย้งรัฐบาลได้
อ้างอิง :
จุฑามาศ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2561). กบฏนายสิบ. สถาบันพระปกเกล้า (ออนไลน์).
นายหนหวย. (2543). กบฏนายสิบ 2478. กรุงเทพฯ: มติชน.
โรม บุนนาค. (2549) คู่มือรัฐประหาร. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2565
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post “กบฏนายสิบ” หรือ “กบฏน้ำลาย” พังตั้งแต่ยังไม่เริ่ม แต่ไร้เอกสารเอาผิด appeared first on Thailand News.