ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

บทบาท “ตึกพระเจ้าเหา” อนุสรณ์สถานรัฐประหารยึดอำนาจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

บทบาท “ตึกพระเจ้าเหา” อนุสรณ์สถานรัฐประหารยึดอำนาจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

ตึกพระเจ้าเหาในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ศูนย์บัญชาการรัฐประหารของพระเพทราชา (ภาพเล็ก) ภาพพิมพ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย เป.แบร์ทร็องด์ (P.Bertrand) จิตรกรชาวฝรั่งเศส พิมพ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในราว พ.ศ. 2230 จะสังเกตเห็นพระราชนิยมเปอร์เซียที่ปรากฏในฉลองพะรองค์ เช่น ผ้าโพกพระเศียร

ตึกพระเจ้าเหาในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี คืออนุสรณ์สถานรัฐประหาร-ยึดอำนาจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2231 ในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ฯ และอาจเชื่อมโยงในมุมเหมือนและมุมที่ต่างจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่เพิ่งผ่านมาแล้วบ้างก็ได้

ตึกพระเจ้าเหาตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก วังนารายณ์หรือพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรีชื่อพระเจ้าเหาฟังดูแปลก ยังไม่ได้ข้อยุติว่าเหาหมายถึงอะไร

เหา ในภาษาเขมร หมายถึง เรียกหา หรือ เรียกประชุม หรือ เรียกชุมนุม บางทีจะหมายถึง เฮาส์ (house) ในภาษาอังกฤษ หรืออาจมาจากคำว่า หาว ที่แปลว่า ฟ้า ก็ได้ และบางทีจะหมายถึงชื่อพระพุทธรูปที่เป็นประธานในอาคารนี้ก็ได้อีกเหมือนกัน (แต่จะไม่มีทางมีความหมายว่าเป็นแมลงขนาดเล็กดูดเลือด เกาะตามเส้นผมหรือขนเป็นอันขาด ทั้งไม่มีทางจะหมายถึงปลาทะเลขนาดเล็กเกาะอยู่กับปลาใหญ่ ที่เรียกว่าเหาฉลามหรือเหาทะเลเป็นแน่นอน) ในจดหมายเหตุฝรั่ง-นิโกลาส์ แชรแวส บันทึกว่าเป็นวัดที่งดงามพอใช้วัดหนึ่ง มีสวนดอกไม้และหมู่ต้นปาล์ม

อย่างไรก็ดี วันนี้ (ออนไลน์ : วันนี้หมายถึงเมื่อ 2550) มีป้ายโลหะของกรมศิลปากร ระบุว่าไม่ใช่วัดแต่เป็นหอพระประจำพระราชวัง พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ ถ้าท่านเข้าชมทางประตูพยัคฆาซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออก และเดินตรงไป ก็จะเข้าสู่พระราชฐานชั้นใน แต่ถ้าเลี้ยวซ้าย จะเห็นถังเก็บน้ำประปาขนาดใหญ่ ตึกสิบสองท้องพระคลังเรียงแถว 12 ตึก ข้างละ 6 ทางขวามือ แล้วก็จะถึงตึกเดี่ยวอีกตึกหนึ่ง คือตึกรับแขกเมือง เมื่อท่านเลี้ยวขวาเดินหน้าไปอีกหน่อย ซ้ายมือก็จะเป็นตึกพระเจ้าเหา ซึ่งห่างจากตึกรับแขกเมืองประมาณ 100 เมตรเท่านั้นเอง

ตึกพระเจ้าเหากว้าง-ยาวโดยประมาณ 15 x 20 เมตร ก่ออิฐถือปูน ผนังทั้ง 4 ด้านยังดีอยู่ เครื่องบนซึ่งน่าจะเป็นไม้ไม่มีแล้ว ก่อสร้างแบบสถาปัตยกรรมสกุลช่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ คือผนังด้านหน้าก่อสูงจนจรดอกไก่ เพื่อรับเครื่องไม้บนหลังคา กลางหน้าบันค่อนไปข้างบน เจาะเป็นช่องโค้งอาร์ค ระบายอากาศ

ซุ้มประตูหน้าต่างแบบเรือนแก้วฐานสิงห์ บัวปลายเสาเรียวยาว ฐานอาคารโค้งท้องสำเภาสัมพันธ์รับกับราวชายคา มีกำแพงแก้วรายโดยรอบ แต่สำหรับตึกพระเจ้าเหามีแนวกำแพงแก้วเพียง 3 ด้าน เพราะด้านขวาอาคารชิดกำแพงวังด้านใต้ ตัวอาคารมีประตูทางเข้าถึง 5 ประตู คือ ด้านหน้า 1 ประตู และด้านหลัง 2 ประตู กับประตูด้านข้างขนาดใหญ่อีกข้างละ 1 ประตู ทำให้ตัวอาคารดูโปร่ง ไม่ทึบแบบพระอุโบสถ จึงดูเหมาะเป็นที่ประชุมหรือที่ชุมนุม หรือหอพระมากกว่าอย่างอื่น ด้านซ้ายอาคาร มีน้ำพุเล็กๆ อ่างหนึ่ง บริเวณโดยรอบแม้จะไม่ได้มีสวนดอกไม้และหมู่ต้นปาล์มตามจดหมายเหตุ แต่ได้แต่งเป็นสนามเรียบร้อยสีเขียวสด ตัดกับตัวอาคารโบราณดูเจริญตาดี

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2231 ก่อนสมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จสวรรคต (วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231) ประมาณเกือบ 12 เดือน พระเพทราชาได้ประกาศยึดอำนาจ ณ ตึกพระเจ้าเหาแห่งนี้ ทำให้คณะรัฐประหารสำคัญอีกคณะหนึ่ง นำโดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายก ซึ่งรอเวลากระทำการงานใหญ่อยู่เช่นกันต้องพ่ายแพ้พลาดโอกาสไป

รายละเอียดเล็กๆ เพิ่มเติมให้เรื่องนี้กระจ่างขึ้นบ้างก็คือ เมื่อเริ่มต้นปีนั้น (2231) สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวร พระอาการทรุดหนักไม่อาจว่าราชการได้ โปรดให้พระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระเพทราชา จึงใช้ตึกพระเจ้าเหาประชุมว่าราชการแทนที่จะใช้ท้องพระโรงพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท หรือท้องพระโรงในพระที่นั่งจันทรพิศาล

วันหนึ่งขณะพระเพทราชาออกว่าราชการตามปกติ เมื่อขุนนางใหญ่น้อยมาประชุมพร้อมกันยังตึกพระเจ้าเหาอย่างเคย (ยกเว้นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์) โดยทันทีหลวงสรศักดิ์ผู้เป็นบุตรพระเพทราชา (แต่เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ) ได้ปรากฏตัวพร้อมอาวุธอย่างไม่มีใครคาดหมาย พร้อมประกาศท่ามกลางขุนนางทั้งปวงว่า บัดนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรหนักอยู่แล้ว ถ้าและพระองค์เสด็จสวรรคตไซร้ ตัวเราเป็นพระราชโอรสจะเอาราชสมบัติท่านทั้งหลายจะเข้าด้วยเราหรือไม่ ให้เร่งบอกมา ถ้าผู้ใดไม่เข้าด้วยเรา เราก็จะประหารชีวิตผู้นั้นเสีย

เสร็จแล้วหลวงสรศักดิ์ก็ให้สัญญาณ กลุ่มทหารคนสนิทที่เตรียมมาก็ยกอาวุธปิดช่องประตูหน้าต่างตึกพระเจ้าเหาโดยรอบ การรัฐประหารยกแรกเริ่มต้นแล้ว และนำไปสู่ความสำเร็จเสร็จสิ้นในยกต่อไปในที่สุด

บรรยากาศการเมืองช่วงนั้นตึงเครียดอย่างยิ่ง ประการหนึ่งก็คือ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่มีพระราชโอรสที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ และก็ไม่ทรงระบุถึงพระอนุชา 2 องค์ ซึ่งมีสิทธิธรรมดาตามประเพณี คือ เจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย ด้วย ทำให้เกิดการคาดหมายและข่าวลือไปต่างๆ นานา เช่น ลือกันว่าพระปีย์ ราชบุตรบุญธรรม ที่โปรดมากราวกับราชโอรสในอุดมคติ (ideal son) จะได้ราชสมบัติ พ่อพระปีย์ มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนไกร อยู่บ้านแก้ง พิษณุโลก ลือกันว่าได้ระดมผู้คนไว้จำนวนหนึ่งเพื่อการสนับสนุน และลือกันว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นผู้สนับสนุนให้พระปีย์ได้ราชสมบัติ รวมทั้งลือกันว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เองนั่นแหละจะยึดอำนาจเอาเสียเอง พระพุทธศาสนาจะถูกล้มล้าง!

ฝ่ายพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ จับตาดูการเคลื่อนไหวของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อย่างใกล้ชิด เจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้นแม้จะมีกำลังน้อยกว่า แต่มีอาวุธดีกว่า ทหารที่เป็นกำลังหลักของเขาคือทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอกและป้อมธนบุรี ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเอกเดส์ฟาร์จ และอีกบางส่วนประจำอยู่ที่ป้อมเมืองมะริด ในบังคับบัญชาของนายพลเดอ บูอัง ถึงแม้จะอยู่ไกลกว่าแต่ก็อาจมาสนับสนุนได้ทัน

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เชื่อมั่นว่าลำพังทหารฝรั่งเศสของนายพลเดส์ฟาร์จ ก็สามารถยึดอำนาจและปราบคู่แข่งได้ทั้งหมด สำหรับฝ่ายพระเพทราชา มีกำลังน้อย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประเมินว่าฝ่ายพระเพทราชาต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ จึงจะระดมกำลังพลได้พอ ถึงตอนนั้นก็สายไปแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ฯ เอง คล้ายทรงไม่เฉลียวพระทัยว่าฝ่ายพระเพทราชาจะมีกำลังพอยึดอำนาจได้เพราะขาดทั้งกำลังพลและอาวุธ บางทีพระองค์อาจทรงมั่นพระทัยในกำลังของราชองครักษ์ของพระองค์เอง ซึ่งมีกำลังถึง 3,000 คน (ประกอบด้วยชาติต่างๆ ถึง 12 ชาติ)

แม้พระเพทราชาจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ไม่อาจสั่งทหารราชองครักษ์เหล่านั้นได้ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเชื่อมั่นในกำลังทหารของฝ่ายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ด้วย บรรยากาศในเมืองลพบุรีห้วงเวลานั้นค่อนข้างเร่าร้อนสับสนด้วยข่าวลือต่างๆ กับการชิงไหวชิงพริบของแต่ละฝ่ายที่จะยึดอำนาจ ผู้เขียนจินตนาการว่าในห้วงบรรยากาศของการลงมือยึดอำนาจ ชาวบ้านทั้งหลายในตัวเมืองลพบุรีและใกล้เคียง น่าจะถูกรุกเร้าอารมณ์ด้วยสาระอันชวนฉงนสนเท่ห์ของเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งน่าจะถูกเขียนขึ้นโดยผู้ที่เข้าใจชีวิตจิตใจชาวบ้านอย่างดียิ่งและมีความฉลาดแหลมคมทางการเมือง

เนื้อหาเพลงยาวเหล่านี้ ได้ถูกเปิดเผยไว้ตามกำแพงวัดและหมู่บ้านร้านตลาด และน่าจะเป็นเช่นเดียวกับใบปลิวหรือโปสเตอร์ปลุกใจในปัจจุบัน ถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ฝ่ายที่จะกระทำการยึดอำนาจมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายพระเพทราชาและฝ่ายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และก่อนที่จะเล่าต่อไป ต้องขอย้อนภูมิหลังของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ย่อๆ พอสังเขป อันจะช่วยให้เห็นกลไกการยึดอำนาจของทั้ง 2 ฝ่าย ชัดเจนขึ้น

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์

ขอเริ่มที่ฝ่ายหลักก่อนดังนี้ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นชาวกรีก ชื่อจริงว่าคอนสแตนติน เยรากี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2190 ที่บ้านคัสโตด เกาะเซฟาโลเนีย บิดามารดาเป็นผู้ดีตกยาก มีอาชีพขายสุราและโดยประมาณอายุ 10 ปี เยรากีหนีออกจากบ้านไปเผชิญโชคกับกัปตันเรือสินค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง บ้างก็ว่าเยรากีไม่ได้หนีออกจากบ้าน แต่แม่ของเขาขายตัวเขาให้กับกัปตันชาวอังกฤษผู้นั้น ชื่อสกุลเยรากีแปลว่าเหยี่ยวนกเขา เขาจึงเปลี่ยนเสียใหม่ให้เข้ากับความเป็นอังกฤษว่า ฟอลคอน อันมีความหมายเดียวกัน

ฟอลคอนได้เรียนรู้การมีชีวิตเป็นกะลาสีเรือในฐานะผู้รับใช้อย่างปรุโปร่ง และรู้มากกว่ากะลาสีเรือธรรมดา ก็คือรู้เล่ห์เหลี่ยมของการค้าขายและเทคนิคการติดต่อประสานงานการเดินเรือสินค้ากับชาติต่างๆ รวมทั้งชีวิตชาวเรือที่เข้มข้นรุนแรงด้วย เมื่อฟอลคอนเป็นหนุ่ม ก็ติดตามกัปตันชาวอังกฤษชื่อซามูเอล ไวท์ มายังสถานีสินค้าในภาคตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ที่บันตัมในชวา และที่อยุธยาในสยาม เมื่อปีกกล้าขาแข็งพอมีเงินทุนบ้างก็ลองค้าขายด้วยเอง แต่ก็หมดตัวเพราะเรือสินค้าอับปางลง ตัวเขาเองก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด โชคดีมากที่เขาได้พบขุนนางสยามผู้หนึ่งที่เคยเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะเรืออับปางเช่นเดียวกัน และนี่ก็เป็นจุดหักเหชีวิตของฟอลคอนอย่างมาก

ขุนนางผู้นั้นได้พาเขาเข้าทำงานกับออกญาโกษาธิบดี หรือโกษาเหล็ก ซึ่งรับผิดชอบดูแลพระคลังสินค้าของหลวง ไม่นานนักฟอลคอนก็แสดงผลงานชิ้นโบว์แดงให้ปรากฏ กรณีตรวจสอบบัญชีหนี้สินการค้าขายระหว่างสยามกับบริษัทการค้าแห่งเปอร์เซีย จำเดิมระบุว่าฝ่ายสยามเป็นลูกหนี้ แต่เมื่อฟอลคอนตรวจเช็คบัญชีหนี้สินอย่างละเอียด ก็พบว่าฝ่ายสยามเป็นเจ้าหนี้ ได้เงินค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยกลับคืนมาอย่างไม่น่าเชื่อ ความสามารถตรงนี้ของเขาได้ถูกนำเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ฯ

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิไชเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์

ฟอนคอนเรียนรู้ภาษาไทยได้เร็ว สามารถพูดได้ทั้งแบบชาวบ้านร้านตลาดและแบบขุนนาง รู้จักใช้ราชาศัพท์อย่างคล่องแคล่ว กับรู้เรื่องประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าอย่างดียิ่ง นี่เป็นใบเบิกทางอย่างสำคัญที่จะกราบทูลถวายข้อมูลข่าวสารต่างๆ กับสมเด็จพระนารายณ์ฯ อย่างใกล้ชิดโดยไม่ต้องผ่านล่าม เป็นการถวายข้อมูลสายตรงและมีชีวิตชีวามาก โดนพระทัยในหลวงอย่างยิ่ง เขาจึงได้รับความประทับพระทัยจากในหลวงเต็มๆ

ในเวลาไม่นานนัก สมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้นทรงใฝ่รู้กิจการบ้านเมืองต่างประเทศมานานแล้ว มีพนักงานอ่านถวายเรื่องราวกับพระเจ้าแผ่นดินทุกๆ วัน เป็นงานที่นิโคลาส แชร์แวส บันทึกไว้ในจดหมายเหตุว่าเป็นงานหนักมากทีเดียว เพราะต้องอ่านอย่างตั้งใจคราวหนึ่งๆ นานนับชั่วโมง สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรอบรู้เรื่องจากเมืองจีน เมืองญวน และญี่ปุ่น รวมทั้งจากเปอร์เซียและอินเดียอย่างกว้างขวาง แต่น่าจะยังไม่ชัดเจนทางยุโรป ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อังกฤษ และฮอลันดา และอย่างเป็นพิเศษกับประเทศฝรั่งเศสโดยเฉพาะการศาสนา การค้า และการเมือง ชวนให้เชื่อได้ว่าฟอลคอนนี่เอง ได้ทำหน้าที่เป็นเอ็นไซโคลพีเดียเคลื่อนที่ให้กับในหลวง เขาจึงถูกเรียกเข้าเฝ้าบ่อยกว่าขุนนางสยามคนอื่น และเป็นที่โปรดปรานมาก

หากพระปีย์เป็นโอรสในอุดมคติ ฟอลคอนก็เป็นขุนนางในอุดมคติ (ideal nobleman) ของในหลวงเช่นเดียวกัน เขามีความรอบรู้และชาญฉลาดหลายอย่างที่ขุนนางสยามใหญ่น้อยไม่อาจตอบสนองในหลวงได้ เช่น คำตอบเกี่ยวกับการชักรอกเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่ต่อเสร็จใหม่ๆ ลงน้ำ ความรอบรู้ในการชักรอกตั้งเสาพระเมรุมาศขนาดใหญ่กลางสนามหลวง กับความสามารถในการชั่งน้ำหนักปืนใหญ่พระพิรุณ เป็นต้น บางทีขุนทางสยามชั้นผู้น้อยบางคนอาจรู้ดีเท่าๆ ฟอลคอน แต่ไม่สามารถแสดงความรอบรู้ได้ เพราะรู้ดีว่าจะมีผลร้ายตามมาอย่างไรที่รู้ดีเกินขุนนางผู้ใหญ่ หรือเจ้านายของตน คตินิ่งเสียตำลึงทองจึงมีความหมายมาก

ฟอลคอนเข้ารับราชการเมื่ออายุ 33 ปี ในตำแหน่งออกหลวงในทันที คือออกหลวงสุรสาคร (คล้ายเริ่มต้นรับราชการ ก็ขึ้นสัญญาบัตรเลย ไม่ต้องเสียเวลาไต่เต้าจากชั้นเล็กๆ) และไม่นานก็ได้รับตำแหน่งออกพระวิชาเยนทร์ และไม่นานอีกเช่นกันก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นออกญาหรือพระยาวิชาเยนทร์ พออายุ 39 ปีกว่า ก็ได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และตำแหน่งสมุหนายก (ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) เขารับราชการเพียง 7-8 ปี ได้เลื่อนชั้นสูงขึ้นเช่นนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา กับมีบ้านพักทรงฝรั่งก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ มีบันไดเวียนขึ้นหรูหรา ชวนให้น่าอิจฉามากทีเดียว

ขุนนางสยามชั้นสูงและพระสงฆ์สยามไม่ชอบฟอลคอนเหมือนกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งบาทหลวงฝรั่ง-พระเยซูอิต ก็ไม่สู้ไว้วางใจฟอลคอนมากนัก จะมีก็แต่บาทหลวงตาชาร์ดรูปเดียวเท่านั้นที่เข้ากันได้ดี แม้แต่ทหารฝรั่งเศส เช่น นายพลเดส์ฟาร์จ ผู้คุมป้อมบางกอก ซึ่งฟอลคอนเอาใจอย่างเป็นพิเศษ เพราะเขาเป็นกำลังหนุนให้ ท่านนายพลก็ไม่สู้จะวางใจเขาเช่นเดียวกัน ยิ่งนายร้อยโทฟอร์บัง ผู้รับราชการเป็นจอมพลเรือของสยามก็เป็นที่จงเกลียดจงชังกันกับฟอลคอนอย่างที่สุด

สำหรับท่านทูตฝรั่งเศส ซิมง เดอ ลาลูแบร์ นั้นหาความกลมกลืนลงตัวกับฟอลคอนไม่ได้เลย เขาใช้อำนาจข่มขู่ท่านทูตอย่างเกินขอบเขต ด้วยเหตุดังนี้ ฟอลคอนจึงถูกมองจากผู้คนที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วยเป็นไปในทางลบแทบทั้งหมด และเป็นผลร้ายที่ย้อนกลับมาทำลายชีวิตและความฝันของเขาเอง บางทีการเป็นมิตรกับใครยากเช่นนี้ อาจเป็นเพราะเขาไม่มีภาพดีๆ ของมนุษย์ (human figure) อยู่ในใจมากนัก เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้ตลอดมา กับต้องเผชิญโชคแบบต้องเอาตัวรอดชนิดคดในข้องอในกระดูก หรือเพราะเขามีบุคลิกแบบดูแอล เพอร์ซันแนลิตี (dual personality)*

พระเพทราชา

๑ พระเพทราชา (วัย ๕๖ ปี) ตามจินตนาการของจิตรกร (ม. วรพินิต) บนฐานของภาพจิตรกรรม วัดยม อยุธยา

คราวนี้กลับมาทางด้านพระเพทราชา ผู้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับฟอลคอนบ้าง ในหลายๆ กรณี มีความเห็นต่างจากฟอลคอน โดยเฉพาะการมอบป้อมที่บางกอกและมะริดให้อยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส ในที่ประชุมขุนนาง พระเพทราชาค้านอย่างแข็งขันในเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างเจ้าเมืองบางเมืองในอินเดีย ชวา และมลายู ที่ยอมให้กองกำลังทางยุโรปเข้าไปตั้งอย่างเป็นอิสระในที่สุดก็ถูกยึดครองโดยกองกำลังเหล่านั้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรับฟัง แต่ท้ายที่สุดแล้วกองกำลังทหารฝรั่งเศสก็ยังคงประจำอยู่ที่ป้อมทั้ง 2 แห่งตามแผนของฟอลคอนเช่นเดิม และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่พระเพทราชาเริ่มรู้สึกถึงความจำเป็นในการยึดอำนาจก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ จะเสด็จสวรรคต

สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนักเริ่มตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2231 และพระอาการโรคทำให้ทรงทรุดเร็วมาก (บางทีพระองค์ทรงมีโรคหลายชนิด เช่น ไอหืด ท้องมาน ปัปผาสะพิการ และโรคบุรุษ) โดยเฉพาะโรคไอหืดนั้น เคยทรงเป็นมาก่อนจนเกือบสิ้นพระชนม์ก็ครั้งหนึ่ง (ครั้งที่เดอ โชมองต์ มาถวายพระราชสาส์น) ประการหนึ่งโรคไอหืด (asthmatic cough) มักเกิดจากผลความสัมพันธ์กาย-ใจ (psychosomatic) ที่เปลี่ยนแปลง เช่น จิตใจไม่สบายกังวลเป็นทุกข์ ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงเจ็บป่วยได้ บางทีในห้วงเวลานั้นพระองค์อาจทรงอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก-ข้องคับใจ (frustration) เพราะเหตุผลของพระเพทราชาฟังดูดี แต่พระองค์ก็ไม่อาจทรงขัดความต้องการของฟอลคอน (คือไมตรีกับฝรั่งเศส) ดังนี้เป็นต้น

แรงแห่งความคับข้องใจนั้นเสริมพระโรคให้กำเริบขึ้นจนไม่สามารถทรงออกว่าราชการได้ ต้องให้พระเพทราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน พระเพทราชาด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน ได้ใช้ตึกพระเจ้าเหาเป็นที่ประชุมว่าราชการแทนที่จะเป็นท้องพระโรงของพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท หรือพระที่นั่งจันทรพิศาล และคล้ายจะตั้งใจโดยซื่อว่าเมื่อในหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จะอัญเชิญพระอนุชาขึ้นเสวยราชสมบัติต่อไป

ที่ตึกพระเจ้าเหา

แล้ววันหนึ่งขณะที่บรรดาขุนนางทั้งหลายพร้อมกันที่ตึกพระเจ้าเหา (ยกเว้นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์) หลวงสรศักดิ์ (บุตรบุญธรรมของพระเพทราชาแต่เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ฯ) ได้ระดมสมัครพรรคพวกพร้อมอาวุธรายอยู่โดยรอบตึกพระเจ้าเหาพร้อมประกาศจะเอาราชสมบัติในฐานะพระราชโอรส ต่อหน้าขุนนางใหญ่น้อยทั้งปวง ดังได้กล่าวแล้ว นี่คือการทำรัฐประหารยกแรกเริ่มต้นแล้ว ไม่มีขุนนางคนใดคัดค้านหรือแสดงความคิดเห็นแตกต่าง ที่ประชุมขุนนางตกตะลึงคิดไม่ถึงว่าหลวงสรศักดิ์จะประกาศยึดอำนาจ บรรยากาศในที่ประชุมเครียดเต็มที่ แต่บางทีจะพอคลี่คลายได้บ้างเมื่อหลวงสรศักดิ์พูดว่า จะยึดอำนาจและยกราชสมบัติให้บิดาของตนคือพระเพทราชา พระเพทราชา แม้จะมีบรรดาศักดิ์เพียงออกพระก็ตาม แต่เป็นที่เคารพนับถือของขุนนางใหญ่น้อยทั้งหลาย เป็นคนบุคลิกภาพดี และเป็นที่รักใคร่ชอบพอของสมเด็จพระสังฆราชแห่งลพบุรี (พระสังฆราชองค์นี้ จำพรรษาอยู่ที่วัดราชา ตั้งอยู่ห่างประตูวังด้านตะวันออกราว 400 เมตร และใกล้กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ)

หากราชสมบัติจะต้องตกไปอยู่ในมือของพระเพทราชาผู้เป็นเชื้อพระวงศ์เก่า ก็น่าจะพอสบายใจกว่าตกอยู่ในมือของโอรสลับผู้ซึ่งมีบุคลิกภาพไปในทางรุนแรงก้าวร้าว (จิตแพทย์อาวุโสท่านหนึ่ง เคยศึกษาย้อนหลัง ชี้ว่าพฤติกรรมของหลวงสรศักดิ์เป็นซาดิสม์)

พระเพทราชายังคงยืนยันว่า ราชสมบัติควรจะตกอยู่ในมือของพระอนุชาตามพระราชประเพณี ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ได้แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่า ได้วางกำลังของตนไว้โดยรอบพระราชวังแล้ว พร้อมกับที่ประตูเพนียด (ปัจจุบันอยู่ในค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) และกำลังอีกส่วนหนึ่งยึดตำหนักริมทะเลชุบศรไว้ นี่น่าจะเป็นกระบวนการยึดอำนาจยกที่ 2

หลวงสรศักดิ์ได้กำลังหนุนอีก 300 คน จากขุนนางมอญผู้หนึ่ง กำลังทหารนี้น่าจะเป็นกำลังทหารราชองครักษ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของขุนนางมอญผู้นั้น ฝ่ายเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็มีแผนยึดอำนาจอยู่แล้วเช่นกัน โดยจะให้ทหารฝรั่งเศสภายใต้การสั่งการของนายพลเดส์ฟาร์จ ที่ตกลงไว้แล้วกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ทำนองว่าเมื่อมีหมายด่วนบอกไป ให้รีบยกกองกำลังมาทันที เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ค่อนข้างไว้ใจนายพลเดส์ฟาร์จ เพราะองครักษ์ของฟอลคอนคนหนึ่งเป็นบุตรชายของนายพลเดส์ฟาร์จ มียศเป็นนายพันตรี แต่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประเมินกำลังฝ่ายพระเพทราชาต่ำไป ด้วยเชื่อมั่นว่าพระเพทราชาไม่มีกำลังพอ กว่าจะรวบรวมกำลังผู้คนได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์

ขณะเดียวกันก็มั่นใจในอาวุธสมัยใหม่ของกองกำลังฝรั่งเศส ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก หากกำลังชาวบ้านสยามของพระเพทราชาโดนยิงด้วยกระสุนเพียงไม่กี่ลูกก็ย่อมจะล้มตายเป็นใบไม้ร่วงถอยหนีไป ฝ่ายตนก็จะยึดอำนาจได้โดยง่าย สมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็เช่นเดียวกัน พระองค์ไม่ทรงเชื่อเลยว่า ขุนนางที่ทรงลิดรอนอำนาจเกือบหมดสิ้น จะมีความสามารถยึดอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์จากพระองค์ได้ ทั้งเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ช้าไปเสียแล้ว!

การยึดอำนาจยกที่ 3 ก็คือพระเพทราชาทำให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ตกใจเมื่อปรากฏว่าขุนนางสยาม พระสงฆ์ และชาวบ้าน ออกมาชุมนุมกันทั้งเมือง จับอาวุธมีดพร้าเท่าที่จะหาได้ตรงไปยังพระราชวังโดยเฉพาะพระสงฆ์ แม้วัดในเมืองลพบุรีจะมีไม่มากขึ้นหลักร้อยเท่าที่อยุธยา แต่เฉพาะในเขตเมืองก็มีวัดไม่น้อยกว่า 40 วัด และวัดที่อยู่ในกำแพงเมืองชั้นในก็มีถึง 20 วัด หากได้กำลังวัดละ 20-30 รูป ก็เกือบจะเกินพอแล้ว ตรงนี้บางทีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะมองข้ามไปหรือคิดไม่ถึง

สำหรับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์แล้ว โชคร้ายกำลังเล่นงานเขาอย่างหนัก นั่นคือ นายพลเดส์ฟาร์จไม่ยกกองกำลังขึ้นมาตามนัดด้วยใจอันโลเลของเขา หายนะกำลังคืบคลานเข้าหาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อย่างเงียบๆ แต่เขาก็ไม่หวั่นไหวมากนักโดยได้ส่งทหารลงไปเร่งรัดและเฝ้ารออย่างอดทน!

การยึดอำนาจยกที่ 4 เริ่มรุนแรงเข้มข้นขึ้น ข่าวลือและพลังกระตุ้นแนวร่วม (พระสงฆ์และชาวบ้าน) ทำนองว่าฝรั่งจะทำอันตรายต่อพระพุทธศาสนา สมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ต่างชาติจะครองเมืองเหล่านี้ ทำให้แนวร่วมร้อนรนมากขึ้น ยิ่งได้แรงกระตุ้นจากเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา แนวร่วมก็ยิ่งร้อนจนถึงกับเข้าล้อมบ้านบิดาพระปีย์ (ขุนไกรสิทธิศักดิ์) คือบ้านที่อยู่ลพบุรี ถูกค้นถูกปล้น และถูกทำลาย ผู้คนวุ่นวายทั่วเมือง!

เจ้าพระยาศรีสาครได้รับมอบหมายจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ไปเชิญเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เข้าเฝ้า เจ้าพระยาผู้นี้เป็นผู้ที่นับถือและเคยมีบุญคุณต่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มาก่อน หากเป็นผู้อื่นแม้จะได้รับหมายสั่งมา เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็คงไม่ยอม ดังนั้นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์กับทหารอังกฤษที่ติดตาม 15 คน และทหารฝรั่งเศสอีก 2-3 คน พร้อมเพื่อนชาวโปรตุเกส อาวุธครบมือตรงไปยังพระราชวัง ก่อนหน้านั้นเล็กน้อย เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ส่งคนไปเร่งรัดนายพลเดส์ฟาร์จ ซึ่งให้คำตอบว่ายกกองทหารขึ้นมาไม่ได้เพราะไม่สบาย แต่ก็ได้เตรียมที่พักไว้ให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์และครอบครัว หากจะหลบภัยไปอยู่ที่บางกอก เจ้าพระยาวิชาเยนทร์รู้สึกในทันทีว่าฝันสลาย แผนยึดอำนาจแสนสวยของเขาพังทลาย

กระนั้นก็ยังมีใจเสี่ยงภัยสู้ตามวิสัยชอบเสี่ยงของเขา จึงเมื่อถึงประตูพระราชวังก็ได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปได้เฉพาะเจ้าพระยาวิชาเยนทร์เท่านั้น ส่วนผู้ติดตามให้รออยู่ด้านนอก นั่นก็คือจุดจบของ เหยี่ยวนกเขาŽ ที่โบยบินลัดฟ้าข้ามน้ำข้ามทะเลมาแต่ไกล ได้สิ้นอิสรภาพโดยง่าย ทหารที่คุ้มกันชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และเพื่อนชาวโปรตุเกส พอประเมินได้ว่าอะไรเกิดขึ้นแล้วก็เผ่นหนีเอาตัวรอดกันไปคนละทิศละทาง

เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ถูกนำตัวไปประหารชีวิต ณ วัดซาก นอกเมืองลพบุรี ด้านตะวันออก ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เดินเข้าสู่หลักประหารอย่างไม่หวาดหวั่น ก่อนเพชฌฆาตจะลงดาบ เขาได้ถอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เซ็นต์มิเชล ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับไม้กางเขน 2 อัน ที่ได้รับพระราชทานจากพระสันตะปาปา เมื่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ถูกจัดการเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ถึงคิวพระปีย์บ้าง

สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระประชวรหนักมากขึ้นและทรงรู้สึกว่าภัยกำลังคืบคลานเข้ามา จึงให้นิมนต์พระสงฆ์จากภายนอกเข้ามาในพระราชวัง โดยถวายพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท เพื่อให้เป็นพระอุโบสถและกระทำการบวชข้าราชการฝ่ายในทั้งหมดที่รับใช้ใกล้ชิดประมาณ 15 คน เป็นพระพ้นจากภัยรัฐประหารไปได้ ยกเว้นพระปีย์แต่ผู้เดียวที่ยังคงรับใช้อย่างซื่อสัตย์ต่อไป โดยรุ่งอรุณของวันนั้น ตามบันทึกของบาทหลวงเดอ แบส ว่าพระปีย์เดินออกมาล้างหน้าที่ประตูกำแพงแก้ว หลวงสรศักดิ์สั่งให้คนผลักพระปีย์ตกลงไป พระปีย์ตกใจร้องขึ้น “ทูลกระหม่อมแก้ว ช่วยด้วย!”

สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงได้ยินด้วยความโทมนัสอย่างยิ่ง ทรงร้องถามออกไปว่า “ใครทำอะไรกับไอ้เตี้ยเล่า” พระปีย์ผู้นี้รู้ว่าเข้ารีตแล้วและเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ตั้งใจจะอัญเชิญให้เป็นผู้ได้รับราชสมบัติต่อไป

พระมหากษัตริยาธิราชแห่งกรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โดย De L’Armessin ปี ค.ศ. ๑๖๘๘ (พ.ศ. ๒๒๓๑)

ยกสุดท้ายของการยึดอำนาจ

แล้วยกสุดท้ายของการยึดอำนาจก็มาถึงเมื่อพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์เข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลว่าจะอัญเชิญพระอนุชาเสวยราชสมบัติต่อไป ทรงฟังและสังเกตอากัปกิริยาของบุคคลทั้งสอง ก็เข้าพระทัยได้ในทันทีว่าทั้งคู่ได้ยึดอำนาจแล้ว ทรงพระพิโรธจัด จับเอาพระแสงดาบข้างพระที่บรรทม ทรงพยายามยืนขึ้นหมายประหารชีวิตบุคคลทั้งสอง แต่เพราะทรงทุพพลภาพหนักอยู่แล้ว ก็ทรุดลง พระแสงดาบตกจากพระหัตถ์ แล้วมีพระดำรัสอย่างเจ็บปวดว่า “เทพเจ้าผู้รักษาบวรพุทธศาสนา จงไว้ชีวิตอีกสักเจ็ดวัน จะขอดูหน้าไอ้ขบถสองคนพ่อลูกคู่นี้ให้จงได้” แล้วก็ทรงโทมนัสน้อยพระทัยเป็นที่ยิ่ง กับทรงสาปแช่งต่างๆ นานา (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวว่าคำสาปแช่งต่างๆ นั้น บังเกิดผลจริงแก่สองพ่อลูกในเวลาต่อมา)

สำหรับฉากสาปแช่งต่างๆ นานานี้ บางหลักฐานระบุว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ มิใช่ใช้พระแสงดาบ แต่ใช้พระแสงปืนเลยทีเดียว “สมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นเจ้าเสด็จพระบรรทมอยู่ ยื่นพระหัตถ์คลำเอาพระแสงปืน เผยอพระองค์จะลุกขึ้น ก็ลุกขึ้นมิได้ กลับบรรทมหลับพระเนตร…” สำหรับวันที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จสวรรคต ตรงกับวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ในพระนารายณ์ราชนิเวศน์

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) มีการกล่าวถึงการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์ฯ โดยพิสดารออกไป กล่าวคือฝ่ายผู้กระทำการยึดอำนาจคล้ายจะเร่งรัดให้เสด็จสวรรคตเร็วขึ้น แม้ในขณะนั้นอยู่ในนาทีที่จะเสด็จสวรรคตอยู่แล้ว ความว่า “…พระราชรักษาให้เรียนถามพญาเพทราชา พญาสุรศักดิ์ ว่าพร้อมหรือยัง บอกว่าพร้อมแล้ว ขุนองค์อยู่งานถอนนิ้วมือขึ้นจากพระองค์ พระโอษฐ์งับก็นิ่งไป ณ วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 เวลา 10 ทุ่ม เสด็จนิพพาน”

การยึดอำนาจกระทำการรัฐประหารเริ่มยกแรก ณ ตึกพระเจ้าเหาและสิ้นสุดยกสุดท้ายแล้ว ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ซึ่งอยู่ห่างจากตึกพระเจ้าเหาราว 300 เมตร เท่านั้นเอง ภารกิจหนักของนักรัฐประหารก็คือ จะรักษาอำนาจที่ยึดมานั้นได้นานเท่าไร

ถึงวันนี้ ตึกพระเจ้าเหาจึงคล้ายเป็นอนุสรณ์สถานของการยึดอำนาจรัฐประหารในบ้านเรา ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง…

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ตำราพระโอสถพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2493.

ขจร สุขพานิช. ออกญาวิไชยเยนทร์ การต่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2506.

เจริญ ไชยชนะ. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2523.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. ไทยรบพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2514.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.

พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม 2. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2504.

พระวิเชียรปรีชา (น้อย). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : องค์การค้าคุรุสภา, 2504.

ศุภรัตน์ เลิศพานิชย์กุล. เยรากี-เหยี่ยวนกเขา. กรุงเทพฯ : อนาคต, 2522.

สันต์ ท. โกมลบุตร. บันทึกความทรงจำของบาทหลวงเดอ แบส เกี่ยวกับชีวิตและมรณกรรมของก็องสตังซ ฟอลคอน. พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์, 2508.

De la Loubere. Historical Relation of the Kingdom of Siam. Bangkok : White Lotus, 1986.

Hutchinson, E.W. 1688 Revolution in Siam. Hong Kong : University Press, 1968.

______. Adventurers in Siam in the Seventeenth Century. Bangkok : D.D. Books, 1985.

Gervaise, Nicolas. The Natural and Political History of the Kingdom of Siam Bangkok : White Lotus, 1989.

เชิงอรรถ

* เป็นบุคลิกภาพแบบผู้ป่วยโรคประสาทชนิดที่เรียกว่ามัลติเพิล เพอร์ซันแนลิตี (muliple Personalities)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 13 พฤษภาคม 2562

The post บทบาท “ตึกพระเจ้าเหา” อนุสรณ์สถานรัฐประหารยึดอำนาจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย appeared first on Thailand News.