ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“วชิรญาณภิกขุ” (ร. 4) ประกาศพระองค์ว่าเป็น “Crown Prince” ในจดหมายถึงพระสหายต่างชาติ

“วชิรญาณภิกขุ” (ร. 4) ประกาศพระองค์ว่าเป็น “Crown Prince” ในจดหมายถึงพระสหายต่างชาติ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตำแหน่ง “รัชทายาท” หรือเจ้านายผู้ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปนั้นค่อนข้างมีความคลุมเครือ เพราะรัชกาลที่ 3 ทรงไม่ตั้งพระราชโอรสองค์ใดขึ้นเป็น “เจ้าฟ้า” อันหมายถึงผู้มีศักดิ์และสิทธิ์สูงที่จะได้ครองราชย์ หรือการที่ไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) พระองค์ใหม่ หลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1) เสด็จสวรรคต

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้ครองราชย์มากที่สุดในแผ่นดินเห็นจะเป็น “วชิรญาณภิกขุ” พระนามของรัชกาลที่ 4 ขณะทรงผนวช โดยรัชกาลที่ 4 ในขณะนั้นเองก็ทรงมั่นพระทัยเรื่องความชอบธรรมของพระองค์ในการสืบราชสมบัติอยู่ไม่น้อย เพราะทรงอธิบายพระนาม “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ของพระองค์ว่ามีความหมายเดียวกับ “Crown Prince” อันเป็นตำแหน่งผู้สืบราชสมบัติตามแบบอังกฤษ

เทอดพงศ์ คงจันทร์ ผู้เขียน การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ ได้ศึกษาประเด็นการสืบราชบัลลังก์และการนิยามพระองค์ในฐานะรัชทายาทอันชอบธรรมของรัชกาลที่ 4 ในบทความ “พระจอมเกล้าฯ ‘Crown Prince’ พระองค์แรกแห่งสยาม” (ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2549) ดังนี้

จำเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าระบบการปกครองของกษัตริย์ไทยนั้นได้ยึดมั่นอยู่กับระบบ “วังหลวง” และ “วังหน้า” มาโดยตลอด ซึ่ง “วังหลวง” ก็คือพระมหากษัตริย์ และ “วังหน้า” ก็คือพระมหาอุปราช หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” นั่นเอง โดยที่ “วังหน้า” อาจจะเป็นพระอนุชาหรือพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ก็ได้ แล้วแต่พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง และ “วังหน้า” จะอยู่ในฐานะที่เป็นรัชทายาทเพื่อขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อไปเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต

ระบบการปกครองแบบ “วังหลวง” กับ “วังหน้า” นี้ มีข้อดีข้อด้อยอยู่ในตัว โดยข้อดีคือหากสมัยใดที่พระมหากษัตริย์และพระมหาอุปราชมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การปกครองบ้านเมืองของกษัตริย์ในสมัยนั้นก็จะมีความมั่นคงมากพอสมควร เนื่องจากขั้วอำนาจทั้งสองฝ่ายจะไม่มีความระแวงและเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อันนำมาสู่การสะสมไพร่พลของแต่ละฝ่ายที่จะทำให้สถานการณ์ในบ้านเมืองต้นตึงเครียดไปด้วย

แต่ตราบใดหรือในสมัยใดหากความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระมหาอุปราชมิได้เป็นไปด้วยดีดังที่กล่าวไปแล้ว ข้อด้อยของระบบ “วังหลวง” และ “วังหน้า” ก็จะปรากฏชัดและเป็นจุดอ่อนที่บ่อนทำลายความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมืองได้อย่างดียิ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน มีการสะสมไพร่พล เพื่อป้องกันการกำจัดจากอีกฝ่าย หรือในทางกลับกัน ก็อาจจะจ้องทำลายอีกฝ่ายอยู่ด้วยเช่นกัน

เห็นได้ว่าแม้แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์เอง ก็ได้เคยมีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการกระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรงระหว่าง “วังหลวง” กับ “วังหน้า” อยู่บ้าง ดังเช่น ความบาดหมางกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ถึงขั้นไพร่พลทั้ง 2 ฝ่าย จัดแจงยกปืนขึ้นพาดกำแพงวังเพื่อเตรียมจะสู้รบกัน

หรือคราวครั้งสุดท้ายก็คือ เหตุการณ์วิกฤตการณ์วังหลวงที่เป็นความบาดหมางกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ ที่มีต่างชาติเข้ามาแทรกแซงด้วย จนถึงขนาดมีการเสนอให้มีการให้มีการแบ่งการปกครองดินแดนสยามออกเป็น 3 ส่วน ด้วยกัน จนทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นถึงข้อด้อยและความไม่เหมาะสมของระบบ “วังหลวง-วังหน้า” จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกระบบการสืบทอดราชบัลลังก์แบบดังกล่าวเสีย และได้โปรดให้นำระบบสืบราชสันตติวงศ์ตามแบบประเทศอังกฤษมาใช้แทน โดยให้พระราชโอรสองค์โตที่ประสูติแต่พระมเหสีเป็นผู้รับสืบทอดราชสมบัติ โดยดำรงพระฐานะเป็น “สยามมกุฎราชกุมาร (Crown Prince)” และเป็นที่ทราบกันดีว่า “สยามกุฎราชกุมาร (Crown Prince)” พระองค์แรกของไทยก็คือ “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร”

อย่างไรก็ตาม หาย้อนประวัติศาสตร์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์กลับไปเพียงไม่กี่ปี เราจะพบได้ว่า ก่อนหน้าที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จะได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “สยามมกุฎราชกุมาร (Crown Prince)” ขึ้นอย่างเป็นทางการพระองค์แรกนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2391 ในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เคยมีพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงพระองค์หนึ่ง คือ “เจ้าฟ้ามงกุฏ” ขณะที่ทรงครองสมณเพศในพระฉายาว่า “วชิรญาณภิกขุ” ได้เคยทรงประกาศพระองค์ต่อมิตรชาวต่างประเทศผ่านทางพระลิขิตว่าพระองค์คือ “Crown Prince” แห่งสยามประเทศ ดังจะเห็นได้จากพระลิขิตฉบับลงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2391 ที่ทรงมีถึงนาย จี.ดับเบิลยู. เอ็ดดี้ พระสหายเป็นภาษาอังกฤษ ความว่า

“…But the name which my father, who predated His Majesty the present king of Siam, gave me and caused to be engraved in a plate of Gold is ‘Chau Fa Moungkut Sammatt Wongs’. Only the first three of these words, however, are commonly used in public Documents at the present time. ‘Mongkut’ means Crown. The name ‘Chau Fa Mongkut’ means ‘The High Prince of the Crown’ or ‘His Royal Highness the Crown prince’.

I prefer that my friends, when they write me letters, or send parcels to me, will use this name, with the letters ‘T.Y.’ prefixed as being that by which I am known in the Laws and Public Documents of Siam…”

โดยข้อความข้างต้นได้มีการแปลเป็นฉบับภาษาไทยว่า

“…แต่นามซึ่งสมเด็จพระชนกนาถของข้าพเจ้า คือ พระจ้าแผ่นดินสยามก่อนพระองค์เดี๋ยวนี้ พระราชทานข้าพเจ้า แลได้จารึกลงไว้ในแผ่นดินทองคำนั้น คือ ‘เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติวงศ์’ คำทั้งหมดนี้ คำต้นสามคำเท่านั้น เป็นคำซึ่งในเวลานี้มักใช้กันในหนังสือสำคัญทางราชการ มงกุฎ แปลว่า เคราน์ นามซึ่งเรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ จึ่งแปลว่า ‘เจ้าฟ้าผู้เป็นรัชทายาท’ เมื่อมิตรของข้าพเจ้าเขียนจดหมายหรือส่งห่อของมายังข้าพเจ้าๆ ชอบให้ใช้นามนี้ แลให้มีอักษร ท.ญ. นำหน้าเป็นที่หมายดั่ง ซึ่งเขาย่อมเรียกข้าพเจ้าอยู่แล้ว ตามกฎหมายและตามหนังสือสำคัญทางราชการแห่งสยาม…”

จากข้อความดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าขณะที่วชิรญาณภิกขุมีพระลิขิตฉบับดังกล่าวนั้น เป็นเวลาเมื่อ พ.ศ. 2391 อันเป็นเวลาก่อนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จะเสด็จสวรรคต เพียง 3 ปี เท่านั้น ฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงประกาศพระองค์เป็น “Crown Prince” แห่งสยาม หรือ “เจ้าฟ้าผู้เป็นรัชทายาท” ต่อพระสหายชาวต่างชาติ จึงเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าพระองค์ได้ทรงดำเนินนโยบายสร้างความชอบธรรมสำหรับการหวนกลับมาเป็นตัวเลือกสำหรับราชบัลลังก์อีกครั้ง หลังจากได้ทรงสร้างความนิยมเกี่ยวกับความรู้เท่าทันโลกของพระองค์ในหมู่เจ้าหนาย ขุนนาง และอาณาประชาราษฎร์มาแล้วระยะหนึ่ง

และย่อมเป็นข้อยืนยันได้อีกประการหนึ่งว่า แท้จริงแล้วพระองค์เองก็ยังทรงมีความมุ่งหวังในราชสมบัติอยู่บ้าง แม้ว่าขณะนั้นจะทรงครองสมณเพศอยู่ก็ตามที (โปรดดูเพิ่มเติมจาก เทอดพงศ์ คงจันทร์. การเมืองเรื่องสถาปนาพระจอมเกล้าฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2. มติชน. พ.ศ. 2548, หน้า 67-74.)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post “วชิรญาณภิกขุ” (ร. 4) ประกาศพระองค์ว่าเป็น “Crown Prince” ในจดหมายถึงพระสหายต่างชาติ appeared first on Thailand News.