ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“ศึกโนนโพ” ปราบกบฏผีบ้าผีบุญ สมัยรัชกาลที่ 5

“ศึกโนนโพ” ปราบกบฏผีบ้าผีบุญ สมัยรัชกาลที่ 5

ในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช เป็นสมัยที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกกำลังแข่งขันกันแสวงหาอาณานิคมกันอย่างสุดเหวี่ยง ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจนักล่าเมืองขึ้นประเทศแล้วประเทศเล่า จนแทบจะไม่มีเหลือ พระองค์ท่านต้องทรงรับพระราชภาระอันหนักหน่วง และมากมายอย่างที่สุด เพื่อให้ไทยเรารอดพ้นจากอุ้งเล็บของนักล่าเมืองขึ้นที่เงื้อง่าอยู่ตลอดเวลา

ความยิ่งใหญ่และมากมายแห่งพระราชภาระของพระองค์ท่านที่ทรงต่อสู้กับศึกภายนอกนี้ ทำให้เราแทบจะลืมศึกภายในรัชสมัยของพระองค์เสีย แม้ว่าจะเป็นเพียง “ศึกย่อย” ก็ตามที

ศึกดังกล่าวคือ ศึกโนนโพ หรือที่รู้กันในชื่อ การปราบกบฏผีบ้าผีบุญ

เริ่มศึกโนนโพ
“…เมื่อปีชวด ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ปรากฏว่ามีลายแทง (หนังสือจารใบลาน) เป็นคำพยากรณ์ว่า ถึงกลางเดือนหกปีฉลู จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง หินแฮ่ (หินลูกรัง) จะกลายเป็นเงินเป็นทอง ฟักเขียวฟักทองจะกลายเป็นช้างม้า ควายทุยเผือกและหมูจะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคน ท้าวธรรมิกราช (ผู้มีบุญ) จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ใครอยากพ้นเหตุร้ายก็ให้คัดลอกบอกความลายแทงให้รู้กันต่อ ๆ ไป ถ้าใครเป็นคนบริสุทธิ์ ไม่ได้กระทำชั่วบาปกรรมใด ๆ แล้ว ให้เอาหินแฮ่มาเก็บรวบรวมไว้ รอท้าวธรรมิกราชมาชุบเป็นเงินเป็นทองขึ้น ถ้าใครได้กระทำชั่วต่าง ๆ แต่เพื่อแสดงตนให้เป็นคนบริสุทธิ์แล้ว ก็ต้องมีการล้างบาป โดยจัดพิธีนิมนต์พระสงฆ์มารดน้ำมนต์ให้ ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าควายทุยเผือกเสียก่อนกลางเดือนหก อย่าทันให้มันกลายเป็นยักษ์ต่าง ๆ นานา ผู้ที่เป็นสาวยังโสดก็ให้รีบมีผัว มิฉะนั้นยักษ์จะกินหมด…” (จากฝั่งขวาแม่น้ำโขง ของ เติม สิงหัษฐิต)

ลายแทงหรือข่าวลือดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อประชาชนพลเมืองทั่วทั้งมณฑลอีสานในสมัยนั้นต่างพากันหลงเชื่อและลงมือทำการต่าง ๆ อันมีลักษณะถือว่า จะเป็นภัยร้ายแรงต่อบ้านเมือง เช่น การฆ่าหมู ฆ่าควายทุยเผือก การแตกตื่นไปเก็บหินแฮในที่ไกล ๆ จนแทบจะไม่เป็นอันทำมาหากิน เป็นต้น

ในเวลาเดียวกันก็มีผู้ฉวยโอกาสจากข่าวลือนี้ ตั้งตนเป็นผู้วิเศษขึ้นในถิ่นต่าง ๆ หลายคน ตั้งสำนักเกลี้ยกล่อมผู้คนให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกได้แห่งละมาก ๆ

ในบรรดาผู้ตั้งตนเป็นผู้วิเศษดังกล่าวนี้ คนสำคัญที่สุดคือ องค์มั่น ตั้งเกลี้ยกล่อมผู้คนที่อยู่เมืองโขงเจียม เมื่อต้น ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445) ได้สมัครพรรคพวกประมาณ 200 คน แล้วยกพวกจากโขงเจียมมาเกลี้ยกล่อมผู้คนที่เมืองเขมราฐอีก ได้ฆ่าท้าวโพธิสาร กรมการเมืองตาย แล้วจับตัวพระเขมรัฐเดชนารักษ์ ผู้รักษาราชการเมืองไปเป็นประกัน จับขึ้นแคร่แห่ประจานไปจนถึงบ้านสะพือใหญ่ อำเภอตระการพืชผล อุบลราชธานี ตั้งสำนักเกลี้ยกล่อมผู้คนได้ประมาณพันคน แล้วสั่งเกณฑ์อาวุธต่าง ๆ เช่น ปืนแก๊ป ปืนคาบศิลา ดาบ มีด ตลอดจนเสบียงอาหารจะยกมาตีเอาเมืองอุบลฯ

ในสมัยดังกล่าวนี้เป็นสมัยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลอีสาน พระองค์ทรงสดับตรับฟังข่าวเกี่ยวกับลายแทงและผลที่เกิดตามมาอยู่ตลอดเวลา ตอนแรกก็ทรงคิดว่าคงเป็นเพียงคนบางคนหรือบางกลุ่มคิดหากินด้วยการหลอกลวงประชาชนเท่านั้น ไม่ช้าก็จะสงบไปเอง แต่เมื่อทรงเห็นว่าเหตุการณ์ทำท่าจะลุกลามไปใหญ่ พระองค์จึงตรัสสั่งทางโทรเลข ให้พลตรีหม่อมเจ้าศรีใสเฉลิมศักดิ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารนครราชสีมาในเวลานั้นจัดทหารไปสืบและระงับเหตุการณ์ทางด้านเมืองยโสธร

พลตรีหม่อมเจ้าศรีใสฯ ได้จัดทหารแบ่งเป็นสองสาย โดยให้พระสุรราช คุมพล 300 ไปจากเมืองบุรีรัมย์ พระสุรฤทธิ์ คุมพล 320 ไปจากนครราชสีมา โดยมีร้อยเอกเฟืองและร้อยโทบุดเป็นผู้ช่วย เกณฑ์กำลังที่เมืองยโสธรได้อีก 520 คน โดยมีท้าวขัตติยะเมืองยโสธรเป็นนายหมวด ออกเดินทางจากยโสธรไปจนถึงบ้านห้วยแซง พบผู้มีบุญคนหนึ่งชื่อองค์ขาว (เพราะนุ่งขาวห่มขาว) เกิดการต่อสู้กันขึ้น เพราะองค์ขาวไม่ยอมให้ทางการบ้านเมืองจับตัว ในที่สุดท้าวขัตติยะจับองค์ขาวได้นำมาให้พระสุรฤทธิ์ พระสุรฤทธิ์สั่งให้ประหาร ตัดหัวไปเสียบประจานไว้ทางทิศตะวันตกบ้าน แล้วยกพลต่อไปถึงบ้านกุดกว้าง พักสืบข่าวพวกกบฏอยู่สองวันแล้วยกกำลังต่อไปจนถึงสกลนคร จึงได้รับคำสั่งให้ยกทัพกลับ

ทางด้านบ้านสะพือนั้น เสด็จในกรมได้ตรัสสั่งให้ ม.ร.ว.ร้าย คุมตำรวจครึ่งหมวดกับคนนำทางออกไปสืบดูเหตุการณ์ ได้ประจันหน้ากับพวกผีบุญที่ออกมาสืบดูลู่ทางที่จะไปเมืองอุบลฯ เกิดการต่อสู้กันขึ้น พวกของ ม.ร.ว.ร้าย มีกำลังน้อยกว่า เป็นเหตุให้ต้องล่าถอยกลับอุบลฯ เข้ากราบทูลเสด็จในกรมให้ทรงทราบ

ชัยชนะครั้งนี้ทำให้พวกผีบ้าผีบุญเกิดฮึกเหิมได้ใจ ระดมสมัครพรรคพวกได้มากขึ้น จะยกมาตีเมืองอุบลฯ ใครไม่ยอมมาด้วยก็ให้ฆ่าเสีย พวกผีบ้าผีบุญก็ได้ชื่อว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดินนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ฉายร่วมกับพระโอรสและพระธิดา (จากซ้ายไปขวา) หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิงจงใจถวิล, หม่อมเจ้าธานีเสิกสงัด ชุมพล, หม่อมเจ้าชมิยบุตร ชุมพล, หม่อมเจ้าประสบประสงค์ ชุมพล, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (ทรงเก้าอี้นั่ง), หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล และ หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2534)
ศึกโนนโพระเบิด
เสด็จในกรมได้ตรัสสั่งให้พันตรี หลวงสรกิจพิศาล ผู้บังคับการทหารอุบลฯ จัดทหารออกไปสืบดูเหตุการณ์ หลวงสรกิจได้จัดให้ร้อยตรีหรี่กับพลทหารหนึ่งโหล พร้อมอาวุธปืนครบมือ ออกไปสืบดูเหตุการณ์ตามรับสั่ง ไปเสียทีแก่พวกผีบ้าผีบุญที่ค่ายบ้านสะพือนั่นเอง เลยถูกฆ่าตายหมด มีทหารเพียงสองคนที่รอดมานำความกราบบังคมทูลเสด็จในกรม

นอกจากนี้พวกผีบ้าผีบุญยังได้ยกกำลังไปจับท้าวกรมช้าง กรมการเมืองอุบลฯ ที่โปรดให้ออกไปรักษาการอยู่ที่เมืองพนานิคม ฆ่าอีกด้วย

ชัยชนะของผีบ้าผีบุญครั้งนี้ ทำให้ได้สมัครพรรคพวกเพิ่มขึ้นอีกราว 1,500 คน จึงได้รวบรวมกำลังพลจะยกไปตีเอาเมืองอุบลฯ จะปลงพระชนม์เสด็จในกรมก่อนแล้วจึงจะขึ้นนั่งเมือง

เมื่อเสด็จในกรมได้ทรงทราบจากทหารสองคนที่รอดมากราบทูล จึงตรัสสั่งนายร้อยเอกหลวงชิตสรการ (จิตร มัธยมจันทร์) ผู้บังคับการทหารปืนใหญ่ กับนายสิบพลทหารประมาณ 100 คน มีปืนใหญ่ 2 กระบอก และปืนเล็กยาวครบมือออกไปปราบกบฏครั้งนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้พระอุบลการประชานิต (บุญชู พรหมวงศานนท์) ข้าหลวงบริเวณ กับพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฏ) ผู้รักษาราชการเมือง จัดกำลังทางฝ่ายบ้านเมืองสมทบกับทหาร พระอุบลการฯ ได้สั่งให้พระสุนทรกิจวิมล (คูณ สังโขบล) กับเพียซามาตย์ (แท่ง) เป็นนายกองฝ่ายบ้านเมือง เคลื่อนกำลังทหารและพลเรือนออกจากเมืองอุบลฯ เมื่อ 2 เมษายน 2444

ในวันที่สามของการเดินทางก็มาถึงบ้านสะพือใหญ่ในเวลากลางคืน ร.อ.หลวงชิตฯ ได้ให้กำลังพลส่วนหนึ่งตั้งที่ดงบ้านสา อีกส่วนหนึ่งพักอยู่ห่างหมู่บ้าน และค่ายของพวกผีบ้าผีบุญราว 50 เส้น จัดให้พระสุนทรกิจวิมลเป็นปีกขวา เพียซามาตย์เป็นปีกซ้าย ให้ตั้งปืนใหญ่ไว้ใต้ซุ้มไม้ในป่าทึบ ใกล้ทางเลี้ยวที่ตรงจากบ้านสะพือมาเมืองอุบลฯ ซุ่มกองกำลังไว้ในป่าสองข้างทาง มุ่งจู่โจมขณะที่พวกผีบ้าผีบุญผ่านเส้นทางนั้น

แก่งสะพือ อุบลราชธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2534)
วันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 09.00 น. พวกผีบ้าผีบุญยกกองกำลังของตัวออกมา มุ่งไปตามเส้นทางที่ร.อ.หลวงชิตฯ ซุ่มปืนใหญ่และทหารไว้

ร.อ.หลวงชิตฯ ได้สั่งให้ทหารปืนเล็กยาวหมวดหนึ่งขยายแถวออกยิงทำเป็นต้านทานไว้ แล้วทำเป็นถอยไป หลอกให้พวกผีบ้าผีบุญมุ่งมาตามทางที่มีการพรางไว้นั้น พอเข้าระยะวิถีกระสุนปืนใหญ่ ร.อ.หลวงชิตฯ ก็สั่งให้ยิงออกไป 1 นัด โดยตั้งระยะยิงให้ลูกปืนใหญ่ตกเลยกองกำลังของพวกผีบ้าผีบุญไปก่อน และเป็นสัญญาณแก่ปีกซ้ายด้วย

พวกผีบุญเห็นลูกปืนใหญ่ไม่ถูกพวกของตัวก็พากันกำเริบดีใจ โห่ร้องเต้นแร้งเต้นกากันใหญ่ เชื่อในอิทธิฤทธิ์ขององค์มั่นว่าเป็นผู้วิเศษจริง จึงได้คลาดแคล้วจากลูกปืนใหญ่ ต่างโห่ร้องวิ่งกรูเข้าต่อสู้กับทหาร

ร.อ.หลวงชิตฯ ได้สั่งให้ปืนใหญ่ยิ่งไปอีกเป็นลูกที่สอง คราวนี้ถูกระหว่างกลางพวกผีบ้าผีบุญพอดี ทำให้ล้มตายกันระเนระนาด ส่วนทหารปืนเล็กสั้นยาวและปีกซ้าย-ขวา ก็ตีโอบและระดมยิงเข้ามาอีก ทำให้กองกำลังของพวกผีบ้าผีบุญที่ตามหลังมาต้องหยุดชะงัก

พอปืนใหญ่นัดที่สามถูกยิงออกไปอีกทำให้พวกผีบ้าผีบุญล้มตายกันในตอนนี้ประมาณ 300 คน พวกที่เหลือต่างก็วิ่งหนีเอาชีวิตรอด

ในช่วงเวลาแห่งการสัประยุทธ์นี้ องค์มั่นนุ่งขาวห่มขาว เดินประนมมือ เสกเป่ามากลางไพร่พล เมื่อเห็นพวกตนต้องล้มตายลงอย่างมากมายก่ายกอง เห็นไม่ได้การเลยปลอมตัวเป็นชาวบ้าน หลบหนีไปกับพรรคพวกราว 10 คน กองกำลังทางฝ่ายบ้านเมืองพยายามติดตามอย่างกวดขัน แต่ไม่ทัน มาทราบในตอนหลังว่าข้ามโขงไปแล้ว

เหตุการณ์ระหว่างการต่อสู้ทั้งหมดนี้ผู้เขียนอาศัยข้อความจากหนังสือ ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ของคุณเติม สิงหัษฐิต ตามที่ได้อ้างถึงมาแล้ว

มีสิ่งที่ควรกล่าวเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คืออาวุธที่ใช้ในการปราบกบฏครั้งนี้น่า จะมีปืนกลแบบเก่ารวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 กระบอก เพราะผู้เขียนได้เห็นปืนชนิดนี้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีข้อความบอกไว้ว่า เป็นปืนที่เคยใช้ในสงครามกลางเมือง (Civil War) ในอเมริกา และเคยใช้ปราบกบฏผีบ้าผีบุญด้วย

ส่วนมงกุฎซึ่งที่แท้ก็คือหมวกหนีบนั้น ผู้เขียนเข้าใจว่าองค์มั่นอาจได้มาจากทหารฝรั่งเศสในสมัยนั้น ทั้งปืนและหมวกมีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอฝากท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ไว้พิจารณา

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (ขวา) และหม่อมเจ้าประสบประสงค์ เสด็จทอดพระเนตรผีบุญ ณ ทุ่งศรีเมือง เมืองอุบลราชธานี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2534)
เมื่อการปราบพวกกบฏที่โนนโพสิ้นสุดลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ จึงโปรดให้มีตราสั่งไปทุกหัวเมืองว่า ให้เจ้าหน้าที่สืบจับพวกผีบ้าผีบุญซึ่งยังมีกระเส็นกระสายอยู่ หรือผู้ที่สมรู้ร่วมคิดการร้ายครั้งนี้ส่งไปยังเมืองอุบลฯ โดยด่วน อย่าได้ให้มีการหลบหนีได้เป็นอันขาด หากผู้ใดปกปิดพวกเหล่าร้ายและหลบหนีไปได้ จะเอาโทษแก่ผู้ปกปิดและเจ้าหน้าที่หัวเมืองนั้น ๆ อย่างหนัก

สมัครพรรคพวกของผีบ้าผีบุญที่จับได้ที่บ้านสะพือนั้น มีเป็นอันมาก จนคุกตะรางที่จะคุมขังมีไม่พอ เจ้าหน้าที่ได้จองจำไว้ที่ทุ่งศรีเมือง 2-3 วัน ต้องกรำแดดกฝนตายเสียในระหว่างคุมขังก็มี ได้รับการตัดสินปล่อยตัวหรือภาคทัณฑ์ก็มี เพราะเหตุเป็นเพียงผู้หลงผิด คงเหลือจำคุกแต่น้อย

ในบรรดาผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษในครั้งนี้ที่สำคัญ ๆ มี 8 คน ในจำนวนนี้คนหนึ่งเป็นบรรพชิตที่ได้รับการผ่อนผันจากการลงอาญาของทางฝ่ายบ้านเมือง อีกคนตายระหว่างคุมขังก่อนพิพากษาโทษ คงเหลือ 6 คน ที่ต้องรับคำพิพากษา ของคณะกรรมการตุลาการถึงขั้นประหารชีวิต

การประหารชีวิตพวกกบฏในครั้งนี้ ทำให้เมอร์ซิเออร์ ลอร์เรน (M. Lorraine) ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลสยาม ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ ณ เมืองอุบลฯ ได้ทูลถามเสด็จในกรมว่า “พระองค์มีอำนาจอย่างไรในการที่มีรับสั่งให้ประหารชีวิตคน ก่อนได้รับพระบรมราชานุญาต”

เสด็จในกรมทรงตอบว่า “ให้นำความกราบบังคมทูลดู”

ศึกโนนโพได้ถึงกาลอวสาน ด้วยประการฉะนี้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กันยายน 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post “ศึกโนนโพ” ปราบกบฏผีบ้าผีบุญ สมัยรัชกาลที่ 5 appeared first on Thailand News.