ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สสจ.ลำปาง เผยแนวทางปฏิบัติ หลังปรับระดับโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้

สสจ.ลำปาง เผยแนวทางปฏิบัติ หลังปรับระดับโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคมนี้

นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (คกก.) ได้มีการประชุมและพิจารณาเห็นชอบให้ปรับระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยในระยะต่อไปวัคซีนโรคโควิด-19 จะกลายเป็นวัคซีนประจำปีเหมือนไข้หวัดใหญ่ และอาจมีการพิจารณาจัดสรรให้ฟรีกับกลุ่มเสี่ยง (กลุ่ม 608) ที่จะมีอาการรุนแรง หรือกลุ่มที่พิจารณาว่ามีความจำเป็นเฉพาะ

ข้อแนะนำสำหรับประชาชน เมื่อโควิด-19 เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวเหมือนการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ถ้ายังไม่ป่วยควรป้องกันตนเอง หากรู้ว่าสถานที่ใดมีความเสี่ยงก็ต้องหลีกเลี่ยงสถานที่นั้น หากติดเชื้อโควิด-19 และรับวัคซีนแล้วจะมีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถรักษาตามอาการ ควรดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปยังคนอื่น โดยเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด หากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจมีโอกาสเสี่ยงอาการรุนแรงและต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว

การรักษาพยาบาลผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการการรักษาได้เช่นเดิม ตามสถานพยาบาลที่มีสิทธิทั้งบัตรทอง สวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม เป็นการปรับระบบเหมือนกับการเข้ารับการรักษาโรคอื่น โดยโรงพยาบาลจะประเมินความเสี่ยงว่าเป็นกลุ่ม 608 หรือไม่ หากไม่มีความเสี่ยง ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPSI) กักตัวที่บ้าน ซึ่งจะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มไม่มีอาการ ให้แยกกักที่บ้านได้ไม่ต้องกินยาเลยก็หายได้ โดยกลุ่มนี้จะไม่ให้ยาต้านไวรัส หากมีไข้จะพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจร

กลุ่มอาการน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ อัตราหายใจ 20 ครั้งต่อนาที และไม่มีปัจจัยเสี่ยง ดูแลที่บ้านได้ พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งหากให้ใน 4 วันแรก จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไม่แย่ลง

กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง 608 และมีอาการเล็กน้อย ปอดอักเสบแต่ไม่ต้องให้ออกซิเจน สามารถดูแลที่บ้าน หรือรักษาในโรงพยาบาล ต้องให้ยาต้านไวรัสที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ตามอาการของผู้ป่วยและปริมาณยาที่มีใน รพ. เช่น โมลนูพิราเวียร์ แพกซโลวิด ฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมเดสซิเวียร์ ซึ่งจะต้องให้ตามแนวทางที่กำหนด

กลุ่มปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ ออกซิเจนปลายนิ้วมือต่ำกว่า 94 % ต้องรักษาในโรงพยาบาลจะให้ยาเรมเดซิเวียร์ที่มีผลศึกษาว่าให้ผลดีมาก โดยเป็นยาฉีดที่ต้องให้ในโรงพยาบาลเท่านั้น

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More