ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิด” นัยของวาทะกรมพระยาดำรงฯ ต่อพระธิดา ครั้งเฝ้าเจ้าดารารัศมี

“กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิด” นัยของวาทะกรมพระยาดำรงฯ ต่อพระธิดา ครั้งเฝ้าเจ้าดารารัศมี

(ซ้าย) เจ้าดารารัศมี (ขวา) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

เมื่อครั้งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปเฝ้าพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระดำรัสว่า

“…กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ แม้กำเนิดท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน…”

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย นักเขียนและคอลัมนิสต์ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม วิเคราะห์ว่า พระดำรัสนี้มีนัยบางประการที่แสดงถึงความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ ต่อคนเมืองเหนือในช่วงเวลาที่อาณาจักรล้านนาอยู่ในสถานะประเทศราชของสยาม กษัตริย์ล้านนาเวลานั้นยอมรับอำนาจของสยามโดยมีหน้าที่ช่วยป้องกันราชอาณาเขตสยาม ถวายเครื่องราชบรรณาการทุก 3 ปี และส่งส่วยตามที่สยามมีประสงค์

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อาณาจักรล้านนาบางครั้งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า บางคราวตกเป็นประเทศราชของสยาม ตามสถานการณ์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ มีพระราชประสงค์สร้างความเป็นปึกแผ่น มิให้ล้านนาตกอยู่ในอำนาจของพม่าอีก จึงโปรดแต่งตั้งพระยากาวิละ เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราช แต่ทรงให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารงานบ้านเมือง ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย อธิบายว่า อาณาจักรล้านนาเจริญและมั่งคั่งสูงสุดในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ จากการให้สัมปทานป่าไม้

เมื่อมาถึงสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อาณาจักรล้านนาปรากฏปัญหาเพิ่มขึ้นทุกขณะจากปัญหาสัมปทานป่าไม้ ปรากฏคดีความต่างๆ ระหว่างชาวอังกฤษหรือคนในบังคับอังกฤษ กับกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ อังกฤษเรียกร้องให้รัฐบาลสยามเข้ามารับผิดชอบ ควบคุมปกครองล้านนาอย่างเด็ดขาด

เป็นเวลาเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาคด้วยระบบเทศาภิบาล ดึงอำนาจจากภูมิภาคเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อสะดวกในการควบคุมและปกครอง ครั้งนั้นอาณาจักรล้านนาได้เปลี่ยนสถานะจากเมืองประเทศราชเป็นมณฑลหนึ่งในสยาม คือมณฑลพายัพ

ในบทความ “พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระจริยาวัตรที่งดงาม เกลียวสัมพันธ์ 2 อาณาจักร” โดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2561 อธิบายสภาพเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า

“เมื่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าผู้ครองเมืองพระองค์ต่อมาไม่มีพระปรีชาสามารถเท่า ประกอบกับการคุกคามของอังกฤษที่พยายามเข้ามามีอำนาจในอาณาจักรล้านนา ทำให้เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยส่วนกลางมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งข้าราชการส่วนกลางที่เข้าใจในนโยบายเพื่อไปบริหารบ้านเมืองตามพระบรมราโชบาย แต่การณ์ก็มิได้เรียบร้อยดังพระราชประสงค์ เพราะความแตกต่างและความไม่สอดคล้องกันระหว่างสภาพพื้นฐานทางสังคมและจารีตประเพณีของชาวพื้นเมือง

ดังเช่น ในขณะที่ชาวล้านนามีความผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับจารีตประเพณีดั้งเดิม ซึ่งชาวเมืองหลวงกลับเห็นว่าเป็นสิ่งล้าหลังแสดงถึงความไม่เจริญ และเมื่อพยายามนำวิทยาการ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมตามแบบเมืองหลวงเข้ามาช่วยการจัดการบ้านเมืองตามหน้าที่และความตั้งใจจึงไม่ใคร่ได้ผล

ประการสำคัญที่ทำให้การปกครองล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือความรู้สึกถือตนว่าอยู่เหนือกว่าชาวบ้านทั้งด้านความเป็นผู้ที่เจริญกว่า และความเฉลียวฉลาดกว่า การปฏิบัติตนหรือการปฏิบัติงานจึงมักแฝงไว้ด้วยความดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งชาวเมืองเหนือสามารถรับความรู้สึกนี้ได้ จึงเกิดความไม่พอใจ ขัดแย้งกันถึงขั้นต่อต้าน มีการแบ่งแยกที่พักที่ทำการ โดยข้าราชการที่ส่วนกลางส่งมาต้องตั้งบ้านเรือนและที่ทำการรวมกับพวกมิชชันนารีและชาวตะวันตกตลอดจนพ่อค้าคนจีนอยู่ที่ริมน้ำปิง

ในขณะที่เจ้านายและราษฎรชาวเชียงใหม่อยู่แต่ในแนวกำแพงเมือง นอกจากจะแบ่งแยกที่อยู่อาศัยกันแล้ว บางครั้งยังมีการขัดแย้งกันถึงขั้นมีปากเสียง มีการด่าว่า และเรียกชาวกรุงเทพฯ ว่า ‘ชาวใต้’ ส่วนคำที่ข้าราชการส่วนกลางใช้เรียกชาวเหนือว่า ‘คนลาว’ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ชาวเหนือสามารถสัมผัสได้ว่าเป็นการเรียกอย่างดูแคลน ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ตรงกับพระราชประสงค์และพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ชาวเชียงใหม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชาวสยาม”

ด้วยสภาพเช่นนี้ การใช้ความผูกพันฉันเครือญาติ ซึ่งจะเป็นความผูกพันที่เหนียวแน่นและมั่นคง จึงกลายเป็นแนวทางที่ทรงพระราชดำริจะแก้ปัญหานี้ รัชกาลที่ 5 ทรงรับเจ้านางดารารัศมี พระธิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ประสูติแต่แม่เจ้าทิพเกสร เป็นพระราชชายา

ดังนั้นแล้ว เจ้านางดารารัศมี จึงทรงอยู่ในสถานะเสมือนหนึ่งทูตเชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงพระอัธยาศัย และพระสติปัญญาของเจ้าหญิงพระองค์นี้ว่า ในระหว่างประทับท่ามกลางข้าราชสำนักฝ่ายในแห่งกรุงสยาม จะทรงวางพระองค์นิ่งๆ ไม่โอ้อวด “—อมยิ้มในสิ่งที่ไม่มีสาระรอบตัวเองได้อย่างสบาย—”

สำหรับในราชสำนักระหว่างชาวเหนือด้วยกันแล้ว ทรงเป็นที่พึ่งของคนทุกข์ยาก ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำทั้งในทางราชการและส่วนตัว

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย อธิบายไว้ในบทความว่า

“ตลอดระยะเวลาที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีประทับอยู่ในพระราชสำนักฝ่ายในแห่งกรุงสยาม ทรงทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ของอาณาจักรทั้ง 2 อาณาจักร อันเป็นคุณประโยชน์ทั้งฝ่ายอาณาจักรล้านนา ซึ่งต้องพึ่งพาอำนาจบารมีพระมหากษัตริย์สยาม เพื่อรักษาสถานภาพของความเป็นเจ้านครเชียงใหม่

เพราะขณะนั้นกลุ่มชาวเมืองเหนือมีความขัดแย้งกันเอง ทำให้ทั้งกลุ่มแตกแยกไม่มีเอกภาพ พระบิดาของพระราชชายาจึงต้องทรงอิงอำนาจกลางอย่างใกล้ชิด โดยมีพระราชชายาพระธิดาทรงเป็นองค์เชื่อมสายสัมพันธ์นั้นให้สนิทแนบแน่นและมั่นคง ในขณะเดียวกันพระบรมราโชบายในการดึงอำนาจจากภูมิภาคมาสู่ส่วนกลางของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ดำเนินไปสู่ความสำเร็จอย่างราบรื่นก็ด้วยพระราชชายา เจ้าดารารัศมีทรงเป็นองค์ทำหน้าที่ผูกพันกันฉันเครือญาตินั่นเอง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ทรงอยู่ใกล้ชิดและล่วงรู้ทุกเหตุการณ์นับแต่ครั้งพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงนำพระธิดาองค์น้อยพระชันษาเพียง ๑๓ ปี เข้าเฝ้าถวายตัวในพระราชสำนักฝ่ายใน ครั้งนั้นได้ตรัสฝากฝังเจ้าหญิงกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ด้วยถ้อยคำที่บริสุทธิ์และจริงพระทัยว่า

‘—เสด็จเจ้า ข้าเจ้าฝากนังอึ่งด้วยเน้อ ถ้าทำอันหยังบ่ถูกบ่ต้อง เสด็จเจ้าก็จงเรียกตัวมาเกกหัวเอาเต๊อะ—‘ “

กล่าวได้ว่า พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ไม่เพียงมีพระจริยวัตรการปฏิบัติพระองค์งดงาม ยังทรงทำหน้าที่ทูตผูกพัน 2 อาณาจักรให้มั่นคงอย่างสมบูรณ์จนถึงเวลาที่ได้เสด็จกลับบ้านเกิดเมื่อพระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคต ทรงดำรงพระองค์อย่างสมพระเกียรติตลอดมา จึงเป็นที่มาสำคัญพระดำรัสในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า

“—กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ—”

หมายเหตุ : เรียบเรียงเนื้อหาจากบทความ “พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระจริยาวัตรที่งดงาม เกลียวสัมพันธ์ 2 อาณาจักร” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 เมษายน 2564

https://www.silpa-mag.com/

The post “กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิด” นัยของวาทะกรมพระยาดำรงฯ ต่อพระธิดา ครั้งเฝ้าเจ้าดารารัศมี appeared first on Thailand News.