ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

โฆษกรัฐบาลเผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 65 ขยายตัวร้อยละ 14.52 ตอบรับรัฐบาลเปิดประเทศ-ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ

โฆษกรัฐบาลเผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 65 ขยายตัวร้อยละ 14.52 ตอบรับรัฐบาลเปิดประเทศ-ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ

วันนี้ (30 กันยายน 2565) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 9.04 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 ประกอบกับสถานการณ์การผลิตกลับมาปรับตัวดีขึ้นตอบรับรัฐบาลเปิดประเทศช่วยฟื้นการบริโภคในประเทศ นั้น คาดการณ์ได้ว่าดัชนี MPI หลังจากนี้จะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง
นายอนุชาฯ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่าสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.78 สำหรับภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 99.81 ขยายตัวร้อยละ 2.72 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 8 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43 จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งซื้อและเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าดัชนี MPI หลังจากนี้จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว 
ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 ติดต่อกัน จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ โดยมีเพียงอุตสาหกรรมบางกลุ่มปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 18,213.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 21 การนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการผลิต ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางชะลอตัวลง สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 8.7 ลดลงจากเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.5
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนสิงหาคม 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ (1) ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 63.37 จากผลิตภัณฑ์รถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก หลังมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โรงงานต้องปิดชั่วคราว และมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ (2) น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.60 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นหลัก หลังการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (3) เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 54.62 ตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โรงงานสามารถผลิตและส่งสินค้าได้ตามปกติ ในขณะที่ปีก่อนมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (4) ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.61 จากผลิตภัณฑ์ integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก หลังจากได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลก เนื่องจากเป็นอุปกรณ์สำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ (5) จักรยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 131.01 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ 
นายอนุชาฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สอศ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) คาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ภาคการผลิตขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ ข้อพิพาทระหว่างประเทศ รวมทั้งประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติ และคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ที่คาดว่าอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ และต้องเผชิญต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน และประเทศจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์และข้อพิพาทระหว่างประเทศในช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ปกติ ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ปัญหาการขาดแคลนชิป ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรมไทย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย นอกเหนือจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าส่งออกที่สำคัญของไทย
“จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ จนส่งผลให้ดัชนี MPI เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น คาดว่าดัชนี MPI หลังจากนี้ก็ยังจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับผลที่ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7-3.2 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง” นายอนุชาฯ กล่าว

ที่มา : 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More