ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม

“กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม

 

อาคารเรียนชุดแรกจำนวน 3 หลังของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ที่ถนนประมวญ โดยชั้นล่างจะเป็นห้องเรียนและสำนักงาน ส่วนชั้นบนจะเป็นที่พักครูใหญ่ ครูต่างประเทศและครูไทย

การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในเมืองไทยนั้นมีจุดเริ่มต้นมาตั้งในในสมัยอยุธยา โดยกลุ่มที่เข้ามาในช่วงแรกนั้นเป็นเป็นบาทหลวงชาวโปรตุเกสและชาวฝรั่งเศสซึ่งนับถือศาสนานิกายโรมันคาทอลิก หรือที่คนไทยเรียกว่า “คริสตัง” จากนั้น ในช่วงต้นรัชกาลที่ 3 คณะมิชชันนารีชาวอเมริกาได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ หรือที่คนไทยเรียกว่า “คริสเตียน” ให้กับคนไทย

ในกลุ่มคณะมิชชันนารีกลุ่มนี้ พบว่ามีมิชันนารีบางคนที่จบการศึกษาวิชาการแพทย์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น นอกจากการเผยแผ่ศาสนาแล้วก็ยังได้นำการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามารักษาชาวบ้าน มีการแจกยาและแจกคัมภีร์ไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ต่อมาชาวบ้านต่างเรียกขานมิชชันนารีกลุ่มนี้ว่า “หมอศาสนา”

ใน พ.ศ. 2378 หมอบรัดเลย์ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและได้เข้าร่วมกลุ่มกับมิชชันนารีที่เข้ามาก่อน ต่อมาในเวลา 2 ปีหลังจากการเข้ามาของหมอบรัดเลย์ คณะมิชชันนารีก็เริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือมีบ้านพักอาศัยเป็นหลักแหล่ง มีพื้นที่ใช้สอย ทำให้เกิดแนวคิดที่จะใช้พื้นที่ชั้นล่างของบ้านพักเป็นสถานที่เผยแผ่ศาสนา ควบคู่ไปกับการสอนหนังสือ ทั้งนี้การเรียนการสอนก็เริ่มขึ้นโดยแหม่มบรัดเลย์ได้สอนหนังสือให้กับเด็กหญิงในละแวกใกล้เคียง แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

ใน พ.ศ. 2390 คณะมิชชันนารีซึ่งประกอบด้วยนายสตีเฟน แมตตูน หรือที่คนไทยเรียกว่า “หมอมะตูน” และนายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ส เฮ้าส์ หรือเรียกแบบคนไทยว่า “หมอเหา” ก็ได้เดินทางเข้ามา กลุ่มมิชชันนารีกลุ่มนี้กล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีเอกชนหญิงและชายแห่งแรกขึ้นในสยาม กล่าวคือ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย นั่นเอง
(อ่าน “วัฒนาวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีหญิงแห่งแรกของสยาม)

การก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีชาย

โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยามถือกำเนิดขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คณะมิชชันนารีซื้อที่ดินได้สองแปลงด้านหลังวัดอรุณฯ ซึ่งคณะมิชชันนารีก็ได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างบ้านพักอาศัย ในขณะเดียวกันก็โปรดให้แหม่มมิชชันนารี 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคือแหม่มมะตูน เข้าไปสอนหนังสือให้กับผู้หญิงในพระบรมมหาราชวัง

ใน พ.ศ. 2395 หลังจากที่แหม่มมะตูนได้สอนหนังสือในพระบรมมหาราชวัง พร้อม ๆ กับให้ความรู้กับเด็กชายและหญิงบริเวณที่พักมาได้สักระยะหนึ่ง ก็ได้เปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการในหมู่บ้านมอญ โดยได้จัดทำหลักสูตร ตารางสอนและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งในช่วงแรกชาวบ้านและเด็กไม่คุ้นชินกับระบบการศึกษาเช่นนี้ บ่นว่ายาก ไม่อยากเรียน แหม่มมะตูนจึงให้เงินค่าจ้างเรียนกับเด็กคนละ 1 เฟื้อง

เพียงแค่ 17 วันหลังจากที่แหม่มมะตูนเปิดโรงเรียนในหมู่บ้านมอญ นายแพทย์เฮาส์ หรือหมอเหาก็ได้เปิดโรงเรียนสอนเด็กชาวจีนขึ้นที่บริเวณข้างวัดอรุณฯ และจากนั้นอีก 4 เดือน แหม่มมะตูนจึงได้ย้ายโรงเรียนที่หมู่บ้านมอญมารวมกับโรงเรียนของหมอเฮาส์ [เปิดสอนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2395 -ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย]

ต่อมาใน พ.ศ. 2400 โรงเรียนมิชชันนารีเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเรียนเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น หมอเฮาส์จึงได้ขยับขยายย้ายโรงเรียนมิชชันนารีจากเดิมอยู่ข้างวัดอรุณฯมาอยู่ที่บริเวณตำบลสำเหร่ ซึ่งมีชื่อเรียกใหม่อย่างเป็นทางการว่า “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” 

อาคารเรียนของ “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล”

ในขณะที่กิจการของโรงเรียนสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูลกำลังดำเนินไปอย่างดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปิดโรงเรียนแบบตะวันตกที่พระราชวังนันทอุทยาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่บุตรและข้าราชบริพารในราชสำนักในการไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทรงได้ทำการมอบหมายให้นายแพทย์ เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ทั้งนี้นายแพทย์ เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์เห็นว่าการจัดแผนการสำหรับโรงเรียนที่จะจัดตั้งนี้เป็นเรื่องที่ยากเกินกำลังตน จึงได้เดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อเสาะหาผู้ร่วมงาน และได้พบกัน นายจอห์น เอ. เอกิ้น และได้พากลับมาสอนทีี่ พระราชวังนันทอุทยาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรงเรียนที่สวนอนันต์”

นายจอห์น เอ. เอกิ้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสคูล และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน

หลังจากที่นายจอห์น เอ. เอกิ้นได้สอนหนังสือให้กับลูกท่านหลานเธอได้สักพักก็ตระหนักได้ว่า การสอนหนังสือให้เพียงแต่ลูกหลานเจ้านายนั้นไม่บรรลุจุดประสงค์การเผยแผ่ศาสนา จึงได้ขอลาออกเพื่อมาตั้งโรงเรียนชายที่ตำบลกุฎีจีน ใช้ชื่อว่า “บางกอกคริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งด้วยความสามารถของนายจอห์น เอ. เอกิ้นก็ทำให้กิจการโรงเรียนดำเนินไปอย่างราบรื่น มีนักเรียนเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น กระทั่งได้รับการอุปถัมป์โรงเรียนจากคณะมิชชันนารี

ในเวลาต่อมาขณะที่นายจอห์น เอ. เอกิ้นได้เข้ามาบริหารสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูลควบคู่ไปกับโรงเรียนที่ตนได้ก่อตั้งขึ้นนั้น ก็ได้เห็นถึงปัญหามลพิษทางเสียงและอากาศจากโรงสีที่อยู่ใกล้เคียงสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล จึงมีความคิดที่จะย้ายโรงเรียนไปยังพื้นที่ใหม่ คือที่ถนนประมวญซึ่งเป็นที่ดินที่ซื้อจากเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เพื่อนสนิทของนายจอห์น เอ. เอกิ้น

ใน พ.ศ. 2445 การก่อสร้างโรงเรียนเป็นอันแล้วเสร็จ คณะมิชชันนารีจึงได้ย้ายโรงเรียนที่ตำบลสำเหร่ รวมถึงโรงเรียนที่ตำบลกุฎีจีนมารวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยให้ชื่อกับโรงเรียนใหม่นี้่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนไฮสคูล” ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ใน พ.ศ. 2456

อ้างอิง :

บทความ “โรงเรียนมิชชันนารีชาย-หญิงแห่งแรกในสยาม กรุงเทพคริสเตียน-วัฒนาวิทยาลัย” เขียนโดย ผศ.ยุวดี ศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2554

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 สิงหาคม 2561

The post “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม appeared first on Thailand News.