สอบหลักฐาน สืบหา “พระมเหสี” ในสมเด็จพระนเรศ ที่หลักฐานไทยไม่เคยกล่าวถึง
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาที่ถูกชำระเรียบเรียงขึ้นในสมัยศรีอยุทธยาตอนปลายจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มักจดบันทึกเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศ (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า สมเด็จพระนเรศวร) ไว้แต่เฉพาะเรื่องการศึกสงครามกับอาณาจักรเพื่อนบ้านข้างเคียง จนมองข้ามเรื่องราวส่วนพระองค์ที่เกี่ยวเนื่องกับเจ้านายฝ่ายในหรือ “หลังบ้าน” ในภาษาชาวบ้านสามัญยุคปัจจุบัน
แม้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาจะมิได้กล่าวถึง “หลังบ้าน” หรือพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศไว้เลย แต่เรื่องราวของบรรดาพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศกลับไปปรากฏอยู่ในเอกสารต่างชาติถึง 5 ฉบับด้วยกัน คือ จดหมายเหตุบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา ของสเปน, จดหมายเหตุฟานฟลีตของฮอลันดา, พงศาวดารละแวกของเขมร, คำให้การขุนหลวงหาวัด และพงศาวดารของพม่า
สมเด็จพระอัครมเหสีของสมเด็จพระนเรศในจดหมายเหตุสเปน
History of the Philippines and Other Kingdom เป็นจดหมายเหตุสเปนที่บาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา (Marcelo de Ribadeneira, O.F.M.) เขียนขึ้นจากคำบอกเล่าของบาทหลวงนิกายฟรานซิสกัน ที่เคยพำนักอยู่ในพระนครศรีอยุทธยาระยะหนึ่ง ซึ่งพรรณนาถึงกรุงพระนครศรีอยุทธยาในห้วง พ.ศ. 2125 ปลายรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2112-33) และตั้งแต่ พ.ศ. 2139 ในต้นรัชสมัยสมเด็จพระนเรศ (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-48)
เนื้อความตอนหนึ่งกล่าวถึงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งมีสมเด็จพระอัครมเหสีและพระราชโอรสผู้ทรงพระเยาว์โดยเสด็จมาด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์นี้หมายถึงสมเด็จพระนเรศแล้ว ข้อถกเถียงเรื้อรังเกี่ยวกับเรื่องที่สมเด็จพระนเรศมีพระราชโอรสหรือไม่นั้นจะยุติลงในฉับพลันทันที จดหมายเหตุบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา เล่าว่า
“…ครั้งหนึ่งบาทหลวงนิกายฟรานซิสกันได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินประทับในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งประดับประดาแล้วล้วนไปด้วยพระปฏิมากร เพื่อจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนพระอารามแห่งหนึ่ง มีเรือสี่ลำแล่นล่วงหน้าไปก่อนเรือพระที่นั่ง เพื่อเป็นการค้ำประกันความปลอดภัยของพระเจ้าแผ่นดิน เรือเหล่านี้บรรทุกผู้คนเป่าแตรเงินเล็กๆ เพื่อป่าวประกาศการเสด็จพระราชดำเนินถึง บรรดาเรือล้วนมีรูปทรงวิจิตรพิสดารและแกะสลักอย่างน่าพิศวงด้วยรูปปฏิมาประดับประดาอย่างหรูหรา ก่อเกิดความรู้สึกประทับใจถึงโขลงช้างที่ลอยเหนือน่านน้ำ ด้วยเรือเหล่านี้ลอยเลื่อนไปเบื้องหน้าและท้ายเรือโลดทะยาน
เรือสี่ลำเหล่านี้หยุดที่พระอารามแห่งหนึ่งบนชายฝั่ง เพราะพวกเขาคาดหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเจริญพระพุทธมนต์และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ตามติดมาอย่างใกล้ชิดเรือสี่ลำนั้นเป็นเรืออื่นๆ อีกหลายลำที่ใหญ่กว่านั้น แต่ละลำบรรทุกผู้คนมากมายที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบประเภทต่างๆ เรือแต่ละลำมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก 1 คน แล้วจากนั้นเป็นพระราชกุมารพระองค์เยาว์ที่สุดในพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จปรากฏพระองค์ในเรือพระที่นั่งที่ตกแต่งอย่างหรูหรามาก ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลใน สมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์ และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลำอื่นที่ตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในออกมาสู่โลกภายนอกได้ โดยที่คนภายนอกไม่เห็นคนภายใน
สุดท้ายที่มาถึงในกระบวนพยุหยาตราโดยชลมารคคือองค์พระมหากษัตริย์ ประทับในเรือพระที่นั่งขนาดกว้างใหญ่ที่ดูแต่ไกลเหมือนนกกระยางตัวมหึมาที่แผ่ปีกอันกว้างใหญ่ออกมา เป็นเรือพระที่นั่งปิดทองทั้งองค์ และโดยที่ฝีพายมีเป็นจำนวนมาก อิริยาบถในการพายของพวกเขาจึงดูเหมือนนกตัวใหญ่เหินลมเหนือท้ายเรือพระที่นั่ง พระเจ้าแผ่นดินประทับเหนือพระราชบัลลังก์ เคียงข้างพระองค์เป็นสาวน้อยผู้เลอโฉมข้างละ 2 คนคอยถวายอยู่งานโบกพัด เพื่อให้พระองค์ทรงสดชื่นจากความร้อนระอุของดวงอาทิตย์ ทันทีที่เรือพระที่นั่งหยุดลง ฝูงชนก็ผลักดันกันไปข้างหนึ่งและหมอบราบลง และยกมือขึ้นประนมในลักษณาการศิโรราบจนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินผ่านไป แล้วเรือพระที่นั่งของพระราชกุมารผู้ทรงพระเยาว์ก็ติดตามมาพรั่งพร้อมด้วยเหล่าขุนนางชั้นสูง
เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินถึงพระอาราม พระองค์ได้รีบเสด็จไปถวายเครื่องราชสักการะแด่พระปฏิมากรทั้งหลาย และหลังจากนั้นพระองค์ได้เสด็จลงสรงสนานกลางสระน้ำใสในปริมณฑลของพระอาราม บรรดาเจ้าพนักงานภูษามาลาและชาวที่ได้อัญเชิญน้ำสรงปริมาณหนึ่งไว้เพื่อสักการบูชา และพวกเขาได้อยู่งานถวายพระมูรธาภิเษก จนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่พระราชวัง”
จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน ยุทธหัตถี ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุทธยา
แม้เรื่องราวของเหตุการณ์จะไม่อาจระบุได้อย่างแน่ชัดว่า พระเจ้าแผ่นดินสยามที่เสด็จฯ ทางชลมารคครั้งนั้นเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชผู้พ่อหรือสมเด็จพระนเรศผู้ลูกกันแน่ แต่เหตุการณ์ในลำดับถัดไปกลับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยในการไขปริศนาในข้อนี้ได้ จดหมายเหตุบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา เล่าต่อไปว่า
“บรรดาบาทหลวงของนิกายฟรานซิสกันของเราได้มีโอกาสอันหายากยิ่งในการที่ได้เห็นการเสด็จออกรับแขกเมืองจากกัมพูชา ได้มีการสร้างบ้านพักทันทีสำหรับคณะราชทูต เป็นบ้านพักที่กว้างขวางและตกแต่งประดับประดาอย่างหรูหรา ใกล้ที่พักนั้นเป็นหอสูงทรงแคบที่พวกเขาได้จารึกชื่อและความเป็นมาของคณะราชทูตกัมพูชาโดยจารเป็นตัวอักษรเขมร ด้วยพิธีกรรมอันเอิกเกริกตามควรแก่ฐานะของคณะราชทูต พวกเขาได้กระตุ้นให้ฝูงชนโบกธงทิว แกว่งไกวหอก ถือคันธนูและธนู เมื่อการทั้งหลายทั้งปวงเตรียมพร้อมสรรพแล้ว ทหารนักล่า 6,000 คน และทหารธนู 12,000 คน ได้ตั้งแถวเรียงรายตามชายฝั่งน้ำ เพื่อต้อนรับการมาถึงของคณะราชทูต แตรเดี่ยวเล็กและแตรทองเหลืองดังกังวานขึ้นในอากาศ เมื่อราชทูตขึ้นบก ราชทูตมีข้าราชสำนักชั้นสูงติดตามไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งประทับรอคอยเขาอยู่อย่างสง่างาม”
เมื่อนำเอาเหตุการณ์ในจดหมายเหตุสเปนมาสอบเทียบเคียงกับพระราชพงศาวดารฯ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ของไทย พบว่ารัชกาลสมเด็จพระนเรศมีการกล่าวถึงพระราชพิธีอาสวยุทธและการต้อนรับคณะทูตกัมพูชาที่เดินทางมาถวายเครื่องราชบรรณาการยังราชสำนักศรีอยุทธยา ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ที่พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จฯ ทางชลมารคและการเสด็จออกรับทูตกัมพูชาในจดหมายเหตุสเปน ความว่า
“ลุศักราช 945 ปีมะแมศกเบญจศก สมเด็จพระนเรศเป็นเจ้า ครั้นเสร็จการพระราชพิธีอาสวยุทธแล้ว มีพระราชบริหารสั่งให้เกณฑ์ทัพเตรียมไว้ และพลฉกรรจ์ลำเครื่องแสนหนึ่ง ช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อย กำหนดเดือนอ้ายจะยกไปตีกรุงกัมพูชาธิบดี…
ลุศักราช 949 ปีกุนนพศก ราชบุตรนักพระสัฏฐาผู้เป็นพญาละแวก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จไปปราบ ขณะเมื่อทหารข้าหลวงเข้าเมืองละแวกในเพลากลางคืนนั้น ราชบุตรมาอยู่หน้าที่ ครั้นทัพไทยเข้าเมืองได้แล้วความกลัวก็มิได้ไปหาบิดา หนีออกจากหน้าที่กับบ่าวประมาณ 30 คน เข้าป่า พากันหนีไปถึงแดนเมืองล้านช้าง ครั้นรู้ข่าวว่ากองทัพหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับไปกรุงพระมหานครศรีอยุทธยาแล้ว ก็พากันกลับมายังเมืองละแวก เสนาบดีที่เหลืออยู่กับสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรจึงพร้อมกันยกพระราชบุตรท่านขึ้นราชาภิเษกเป็นพญาละแวกครอบครองแผ่นดินแทนบิดา
พญาละแวกครั้นได้ครองสิริสมบัติแล้ว ก็อุตสาหะบำรุงสมณพราหมณาจารย์โดยยุติธรรมราชประเพณีมาได้เดือนเศษ จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีกระวีมุขทั้งหลายว่า แต่ก่อนพระราชบิดาเราไปกระทำเสี้ยนหนามต่อกรุงพระมหานครศรีอยุทธยา มิได้เกรงพระเดชเดชานุภาพ สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์อันทรงอิศวรภาพดุจสุริยเทวบุตรจันทรเทวบุตรอันมีรัศมีสว่างโลกธาตุ ความพินาศฉิบหายจึงถึงพระองค์แลญาติประยูรวงศ์ในกรุงกัมพูชาธิบดี แลครั้งนี้เราจะทำดุจพระบิดานั้นมิได้ ว่าจะอ่อนน้อมขอเอาพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้ากรุงเทพมหานครศรีอยุทธยาเป็นที่พึ่งที่พำนัก ความสุขสวัสดีจะได้มีแก่เรา ท่านทั้งหลายจะเห็นประการใด เสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวงกราบทูลว่า ซึ่งพระองค์ดำรัสนี้ควรนัก ขอพระราชทานให้แต่งดอกไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการ มีพระราชสาสน์ไปอ่อนน้อมโดยราชประเพณีเมืองขึ้นเมืองออกกรุงเทพมหานครแล้ว ความสิริสวัสดีพิพัฒนมงคลก็จะบังเกิดมีไปตราบเท่ากัลปาวสาน
พญาละแวกได้ฟังดังนั้นยินดีนัก จึงให้แต่งดอกไม้ทองเงิน จัดเครื่องราชบรรณาการเป็นอันมาก แล้วแต่งลักษณะราชสาสน์ให้ออกญาวงศาธิบดี พระเสน่หามนตรี หลวงวรนายก เป็นทูตานุทูตจำทูลพระราชสาสน์ คุมเครื่องราชบรรณาการมา
ครั้นถึงด่านปราจีนบุรี กรมการก็คุมทูตานุทูตเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร เสนาบดีนำเอากิจจานุกิจกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวดำรัสให้เบิกทูตเฝ้า ณ มุขเด็จหน้าพระที่นั่งมังคลาภิเษก ตรัสพระราชปฏิสันถาร 3 นัดแล้ว พระศรีภูริปรีชาก็อ่านพระราชสาสน์ในลักษณะนั้นว่า ข้าพระองค์ผู้ครองกรุงอินทปัตถ์กุรุรัฐราชธานี ขอถวายบังคมมาแทบพระวรบาทบงกชมาศ สมเด็จพระผู้จอมมงกุฎราชกรุงทวาราวดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน ด้วยพระบิดาข้าพระองค์มิได้รักษาขอบขัณฑเสมาโดยราชประเพณี กระทำพาลทุจริตมิได้รู้จักกำลังตนกำลังท่าน มาก่อเกิดเป็นปรปักษ์แก่กรุงเทพมหานคร อุปมาดังจอมปลวกมาเคียงเขาพระสิเนรุราชบรรพต มิดังนั้นดุจมิคชาติตัวน้อยองอาจยุทธนาการด้วยพญาราชสีห์อันมเหศวรศักดานุภาพก็ถึงแก่กาลพินาศจากไอสุริยสวรรยานั้น ก็เพื่อผลกรรมอันได้กระทำมาแต่ก่อน แลข้าพระองค์ครองแผ่นดินเมืองละแวกครั้งนี้จะได้เอาเยี่ยงอย่างพระบิดานั้นหามิได้ จะขอเอาพระเดชเดชานุภาพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ปกเกล้าปกกระหม่อมดุจฉัตรแก้วแห่งท้าวมหาพรหม อันมีปริมณฑลกว้างขวางร่มเย็นไปทั่วจักรวาล ข้าพระองค์ขอถวายสุวรรณหิรัญรัตนมาลาบรรณาการมาโดยราชประเพณี สืบไปตราบเท่ากัลปาวสาน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟัง ก็มีพระทัยเมตตาแก่พระสุธรรมราชา พญาละแวกองค์ใหม่เป็นอันมาก สั่งให้ตอบพระราชสาสน์ไปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้อาฆาตจองเวรแก่ราชบุตรนัดดานักพระสัฏฐาหามิได้ แลซึ่งบิดาท่านเป็นไปจนถึงกาลนิราลัยนั้น ก็เพื่อเวรานุเวรแต่อดีตติดตามมาให้ผลเห็นประจักษ์ แลให้พญาละแวกองค์ใหม่นี้ครอบครองไพร่ฟ้าประชาราษฎรโดยยุติธรรมราชประเพณีพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อนนั้นเถิด แล้วสั่งให้เจ้าพนักงานตอบเครื่องราชบรรณาการ แล้วพระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่ทูตานุทูตโดยสมควร อยู่สามวันทูตก็กราบถวายบังคมลาไปยังกรุงกัมพูชาธิบดี”
การพระราชพิธีอาสวยุทธที่กระทำกันใน จ.ศ. 945 ปีมะแมเบญจศก (พ.ศ. 2126) นั้นน่าจะผิด เพราะปีศักราชดังกล่าวยังคงอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชผู้พ่อ แต่เมื่อสอบกับพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์แล้ว ควรปรับเป็น จ.ศ. 955 มะเส็งศก (พ.ศ. 2136) ช้ากว่ากัน 10 ปี ดังนั้นการต้อนรับทูตกัมพูชาใน จ.ศ. 949 ปีกุนนพศก (พ.ศ. 2130) ควรปรับปีศักราชให้ช้าตามไปด้วยอีก 10 ปีเช่นกัน จึงควรเป็น จ.ศ. 959 ปีระกานพศก (พ.ศ. 2140) โดยทั้งสองเหตุการณ์จะอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศทั้งสิ้นตรงตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฯ พระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้า พระองค์ที่ 4 (สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) เล่าถึงการพระราชพิธีอาสยุชแข่งเรือ (อาสวยุทธ) ไว้ว่า
“เดือน 11 การอาสยุชพิทธี มีหม่งครุ่มซ้ายขวา ระบำหรทึกอินทเภรีดนตรี เช้าธรงพระมหามงกุฎราชาประโภค กลางวันธรงพระสุพรรณมาลา เอย็นธรงพระมาลาสุกหร่ำสภักชมภู สมเดจ์พระอรรคมเหสีพระภรรยาธรงพระสุวรรณมาลา นุ่งแพรลายทองธรงเสื้อ พระอรรคชายาธรงพระมาลาราบนุ่งแพรดารากรธรงเสื้อ ลูกเธอหลานเธอธรงศิรเพศมวยธรงเสื้อ พระสนมใส่สนองเกล้าสภักสองบ่า สมรรถไชยเรือต้นสรมุกขเรือสมเดจ์พระอรรคมเหสี สมรรถไชยไกรสรมุกขนั้นเปนเรือเสี่ยงทาย ถ้าสมรรถไชยแพ้ไซ้เข้าเหลีอเกลีออี่มศุกขเกษมเปรมประชา ถ้าสมรรถไชยชำนะไซ้จะมียุข”
ส่วนพระราชโอรสผู้ทรงพระเยาว์ที่ตามมาในกระบวนเสด็จฯ ทางชลมารคของสมเด็จพระนเรศและสมเด็จพระอัครมเหสีนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพระองค์คงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนเรศที่ประสูติแต่สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์เดียวกันนี้เอง พระองค์จึงควรมีฐานันดรศักดิ์เป็นที่ “สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” รัชทายาทผู้มีสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ศรีอยุทธยา โดยจะเป็นรองก็แต่สมเด็จเอกาทศรุทรอิศวร (สมเด็จพระเอกาทศรถ ครองราชย์ พ.ศ. 2148-53) ซึ่งสมเด็จพระนเรศทรงยกย่องให้เกียรติพระอนุชาร่วมพระชนนีผู้นี้ให้มีฐานะสูงส่งเสมอด้วยพระองค์ ดังพบพระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดารเรียกสมเด็จพระนเรศและสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวรรวมกันว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์”
“พระมณีรัตนา” พระอัครมเหสีของสมเด็จพระนเรศในคำให้การขุนหลวงหาวัดของพม่า
คำให้การขุนหลวงหาวัด (พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ) ความจริงเป็นเอกสารฉบับเดียวกับคำให้การชาวกรุงเก่า (พงศาวดารไทยตามฉบับพม่า) ตามต้นฉบับในหอเมืองร่างกุ้งของพม่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า หลังจากกองทัพพม่าตีพระนครศรีอยุทธยาแตกใน พ.ศ. 2310 พม่าได้จดคำให้การของเชลยศึกที่เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยศรีอยุทธยา โดยอาศัยล่ามมอญที่รู้ภาษาไทยจดคำให้การเป็นภาษามอญ แล้วค่อยแปลเป็นภาษาพม่าในภายหลัง ซึ่งปัจจุบันได้ข้อยุติแล้วว่าคำให้การชาวกรุงเก่าเป็นเอกสารฉบับเดียวกับโยธยา ยาสะเวง (พงศาวดารอยุทธยา) ของพม่า ได้เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชพระราชบิดาใน จ.ศ. 952 ปีขาลโทศก (พ.ศ. 2133) ความว่า
“ส่วนพระนเรศวรนั้น ก็เข้าไปกรุงศรีอยุทธยา ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐาน อันอัครมหาเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง จึงทำการปราบดาภิเษกแล้วเชื้อเชิญขึ้นให้เสวยราชสมบัติ จึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้วจึงถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง 5 และเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง 5 ทั้งเครื่องราชูปโภคทั้งปวงอันครบครัน แล้วจึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัตรสมญา แล้วฝ่ายในกรมจึงถวายพระมเหษีพระนามชื่อพระมณีรัตนา แล้วถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น แล้วครอบครองราชสมบัติเมื่อจุลศักราช 952 ปีขาลโทศก อันพระเอกาทศรถนั้นก็เปนที่มหาอุปราช”
เมื่อคราวที่สมเด็จพระนเรศเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในกรุงพระนครศรีอยุทธยาใน พ.ศ. 2133 กรมฝ่ายในได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “พระมณีรัตนา” ขึ้นเป็นพระอัครมเหสี พร้อมด้วยพระสนมอีกจำนวนหนึ่ง ตามทรรศนะของข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระนางคงเป็นเจ้าหญิงที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ละโว้สายสุพรรณภูมิของสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช (ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. 2091-2106 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2110-12) และสมเด็จพระมหินทราธิราช (ครองราชย์ครั้งแรก พ.ศ. 2106-10 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2112) โดยอาศัยการเทียบเคียงจากพระนามของ “พระรัตนมณีเนตร” เจ้านายฝ่ายในสมัยสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราชที่มีพระนามคล้ายคลึงกัน
คำให้การขุนหลวงหาวัดเล่าถึงเรื่องราวของพระรัตนมณีเนตรว่า
“ครั้นต่อมาพระเจ้าล้านช้างได้ทรงทราบว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยามีช้างเผือกถึง 7 ช้าง จึงทรงจัดพระราชธิดามีนามว่ารัตนมณีเนตร กับเครื่องบรรณาการให้ทูตจำทูลพระราชสาสน์เจรีญทางพระราชไมตรีเข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา มีใจความในพระราชสาสน์ทูลขอช้างเผือกด้วย พระมหาจักรวรรดิ์ก็พระราชทานช้างเผือกพังให้ กิตติศัพท์อันนั้นทราบไปถึงพระเจ้าหงษาวดีๆ ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาไม่อยู่ในยุติธรรม ไปผูกไมตรีกับพระเจ้าล้านช้าง ให้ช้างเผือกพังไปกับพระเจ้าล้านช้าง เมื่อทำสัตย์สาบานกับเรานั้นว่านอกจากเราแล้วจะไม่ให้แก่ใครเลย ตรัสแล้วก็ให้พวกพลทหารไปคอยซุ่มสกัดทาง คอยแย่งชิงช้าง ซึ่งพระมหาจักรวรรดิ์พระราชทานไปแก่พวกล้านช้าง เมื่อทูตเมืองล้านช้างนำช้างไปถึงที่พวกหงษาวดีซุ่มอยู่ พวกหงษาวดีก็ออกสกัดฆ่าฟันพวกล้านช้างแย่งชิงเอาช้างเผือกพังไปได้ นำไปถวายพระเจ้าหงษาวดี…”
เรื่องที่พระเจ้าล้านช้างถวาย “พระรัตนมณีเนตร” พระราชธิดาแด่พระมหาจักรวรรดิ์พระเจ้าแผ่นดินศรีอยุทธยา เพื่อแลกเปลี่ยนกับช้างเผือกนั้น แท้ที่จริงมีเค้าโครงเรื่องมาจากเหตุการณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ศรีสัตนาคนหุตทูลขอ “พระเทพกษัตรเจ้า” (พระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดารเรียก “พระเทพกษัตรีย์”) พระราชธิดาในที่ประสูติแต่ “พระสุริโยทัย” พระอัครมเหสีที่สิ้นพระชนม์กับคอช้างแทนพระราชสวามีในศึกหงสาวดี จ.ศ. 910 วอกศก (พ.ศ. 2091) ซึ่งเป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ สำหรับเป็นที่พระอัครมเหสี (เอกอัครราชกัลยาณี) ของพระองค์เมื่อ จ.ศ. 925 กุนศก (พ.ศ. 2106)
ภาพประกอบเนื้อหา – พระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร และสิ้นพระชนม์บนคอช้าง (ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)
แต่ขณะนั้น “พระเทพกษัตรเจ้า” ประชวรอย่างหนัก สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช จึงทรงตัดสินพระทัยส่ง “พระแก้วฟ้า” พระราชธิดาที่ประสูติแต่พระสนมไปแทน แต่เมื่อทางสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงทราบว่าเจ้าหญิงศรีอโยทธยาที่ส่งไปมิใช่ “พระเทพกษัตรเจ้า” จึงแต่งทูตนำ “พระแก้วฟ้า” มาส่งคืนยังราชสำนักศรีอโยทธยาใน จ.ศ. 926 ชวดศก (พ.ศ. 2107) แล้วขอพระราชทาน “พระเทพกษัตรเจ้า” อีกครั้งตามที่พระองค์ได้ทรงตั้งพระทัยไว้แต่แรก พระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เล่าว่า
“ศักราช 925 กุนศก…ในปีเดียวนั้น พระเจ้าล้านชางให้พระราชสาส์นมาถวายว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้า แลทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พระเจ้าหล้านช้าง แลครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้าทรงพระประชวร จึงพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระแก้วฟาพระราชบุตรีให้แก่พระ (เจ้า) หลานชาง
ศักราช 926 ชวดศก พระเจ้าล้านช้างจึงให้เชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าพระราชบุตรีลงมาส่งยังพระนครษรีอยุทธยา แลว่าจะขอสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระเทพกระษัตรเจ้านั้น แลจึงพระราชทานสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าไปแก่พระเจ้าล้านช้าง ครั้งนั้นพระเจ้าหงษารู้เนื้อความทั้งปวงนั้น จึงแต่งทัพมาซุ่มอยู่กลางทาง แลออกชิงเอาสมเด็จพระเทพกระษัตรเจ้าได้ ไปถวายแก่พระเจ้าหงษา…”
เชลยศึกศรีอยุทธยาเมื่อครั้งเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 เริ่มลืมเลือนเรื่องที่สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชกษัตริย์ศรีสัตนาคนหุต (พระเจ้าล้านช้าง) ส่งทูตมาทูลขอ “พระเทพกษัตรเจ้า” จากสมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราชไปเสียบ้างแล้วในบางส่วน จึงเล่าผิดเพี้ยนปนเปกันไปว่า สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชทรงเป็นผู้ส่งพระราชธิดามาถวายแด่สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิวรราชาธิราช ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า “พระรัตนมณีเนตร” เป็นพระนามที่แปลงมาจากพระนามของ “พระแก้วฟ้า” อย่างแน่นอน
การที่ “พระมณีรัตนา” มีพระนามคล้ายคลึงกับ “พระรัตนมณีเนตร” (พระแก้วฟ้า) นั้น อาจมีนัยยะสำคัญบางประการที่บ่งบอกว่า พระนางเป็นเจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ที่สืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์เก่าของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชและสมเด็จพระมหินทราธิราช มากกว่าที่จะเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือจากราชวงศ์สุโขทัย (พระร่วง) ด้วยกันกับสมเด็จพระนเรศ
การที่สมเด็จพระนเรศทรงอภิเษกสมรสกับพระมณีรัตนาเจ้าหญิงจากราชวงศ์ละโว้สายสุพรรณภูมิ อาจมีส่วนในการสร้างเสริมสิทธิธรรมในราชบัลลังก์ศรีอยุทธยา ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเพิ่งทรงสถาปนาขึ้นใหม่ภายหลังจากที่พิชิตกรุงพระนครศรีอโยทธยาได้สำเร็จใน พ.ศ. 2112 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการจรรโลงสถาบันกษัตริย์ภายใต้การปกครองของราชวงศ์สุโขทัย (พระร่วง) จากหัวเมืองฝ่ายเหนือให้หยั่งรากมั่นคง
ด้วยความที่ “พระมณีรัตนา” และ “พระรัตนมณีเนตร” มีพระนามคล้ายคลึงกันอย่างมากจนแทบแยกกันไม่ออก ข้าพเจ้าจึงสงสัยว่า “พระมณีรัตนา” อาจเป็นบุคคลเดียวกับ “พระรัตนมณีเนตร” คือ “พระแก้วฟ้า” พระขนิษฐาต่างพระมารดาของ “พระวิสุทธิกษัตรีย์” (มีพระนามเดิมว่า “พระสวัสดิราช”) พระนางจึงมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉาของสมเด็จพระนเรศ และพระนางอาจกินตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีอีกทางหนึ่งด้วยก็เป็นได้? เพราะไม่พบหลักฐานยืนยันว่า “พระแก้วฟ้า” ถูกพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนำตัวไปยังราชสำนักหงสาวดีเมื่อคราวเสียกรุงใน พ.ศ. 2112
มณีจันทร์ ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคยุทธหัตถี (ภาพจากคลิป “ราชาภิเษก ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” จาก Youtube : Sahamongkolfilm International Co.,Ltd)
“โยธยามี้พระญา” พระมเหสีอยุทธยาของสมเด็จพระนเรศในพงศาวดารพม่า
เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2094-2124) ทรงพิชิตเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. 2101 พระองค์ทรงปล่อยให้เจ้านายเชียงใหม่ยังคงปกครองบ้านเมืองอยู่ตามเดิม จนกระทั่งพระนางวิสุทธิเทวีเจ้าสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2121 การสืบทอดสันตติวงศ์ในเมืองเชียงใหม่เกิดขาดช่วง พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจึงโปรดให้ “อนรธาเมงสอ” พระราชโอรสเสด็จไปเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงใหม่แทน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกพระองค์ว่า “ฟ้าสาวัตถีนรธามังคอย”
พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอ (ครองราชย์ พ.ศ. 2121-50) เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองที่ประสูติแต่ “ราชเทวี” พระมเหสี ซึ่งมีนามเดิมว่า “สิ่นทวยละ” เป็นพระธิดาของจตุคามณิแห่งดีแปยิน พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองโปรดให้พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสออภิเษกสมรสกับ “เซงพยูเชงเมดอ” (แปลว่ามารดาเจ้าช้างเผือก) พระธิดาของพระเจ้าแปรตะโดธรรมราชาพระอนุชาของพระองค์
พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอมีพระราชโอรสธิดาด้วยมารดาเจ้าช้างเผือกทั้งสิ้น 3 พระองค์ด้วยกัน
1. “เมงตุลอง” (พระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดารเรียกพระองค์ว่า พระทุลอง) หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองทรงสวรรคตใน พ.ศ. 2124 และพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงพระเชษฐาไม่ทรงพระปรีชาสามารถเยี่ยงพระราชบิดา พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอจึงหันมาสวามิภักดิ์ต่อราชสำนักศรีอยุทธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศเสด็จยกทัพขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีเป็นครั้งที่ 2 พระองค์มีพระราชกำหนดให้พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอยกทัพโดยเสด็จไปในราชการสงครามด้วย แต่พระองค์ทรงติดขัดเรื่องที่ออกญารามเดโชข้าหลวงศรีอโยทธยาที่ขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองเชียงแสนได้เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้เป็นกำลังจำนวนมาก ทำให้เจ้าเมืองล้านนาต่างพากันกระด้างกระเดื่องต่อพระองค์จนไม่อาจทิ้งเมืองไปได้ จึงมีรับสั่งให้เมงตุลองพระราชโอรสคุมทัพเชียงใหม่ไปช่วยราชการสงครามแทนพระองค์
หลังเสร็จศึกหงสาวดีครั้งที่ 2 เมงตุลองได้เสด็จลงมาประทับอยู่ยังราชสำนักศรีอโยทธยา และพระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับพระธิดาองค์โตของสมเด็จพระนเรศ ครั้น “พระมหาเทวี” พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอทรงขอพระราชทานเมงตุลองกลับขึ้นไปแต่งการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพพระมหาเทวียังเมืองเชียงใหม่ แล้วส่ง “พระไชยธิป” พระอนุชาของเมงตุลองมาเป็นตัวจำนำแทน
2. “พระไชยธิป” พระอนุชาของเมงตุลอง (พระทุลอง) ปรากฏพระนามอยู่ในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับความพิสดารของไทย แต่ไม่ปรากฏพระนามในพงศาวดารพม่า สันนิษฐานว่าพระองค์น่าจะเป็นพระอนุชาร่วมอุทรของเมงตุลอง พระองค์ทรงมาประทับยังพระนครศรีอโยทธยาในฐานะตัวจำนำแทนพระเชษฐา
3. “โยธยามี้พระญา” พระราชธิดาองค์โตของพระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในคำอธิบายพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระราชหัตถเลขาว่า พระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอทรงถวายพระราชธิดาให้แก่สมเด็จเอกาทศรุทรอีศวรในคราวเดียวกับที่เปลี่ยนเอาพระไชยธิปมาเป็นตัวประกันแทนเมงตุลอง ภายหลังพระนางได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศ พงศาวดารพม่าจึงมักเรียกพระนางว่า โยธยามี้พระญา แปลว่ามเหสีอยุทธยา
เรื่องราวของโยธยามี้พระญา (มเหสีอยุทธยา) พบมีบันทึกอยู่แต่ในพงศาวดารพม่า และน่าเสียดายที่เรื่องราวของพระนางค่อยๆ เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยและพม่า ภายหลังจากที่พระนางเสด็จมาประทับอยู่ยังราชสำนักศรีอยุทธยาในฐานะพระมเหสีของสมเด็จพระนเรศ
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี
“เจ้าขรัวมเหสีจันทร์” พระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศในจดหมายเหตุฟานฟลีตของฮอลันดา
จดหมายเหตุฟานฟลีต (The Historical Account of the War of Succession Following the Death of King Pra Interajasia, 22nd King of Ayuthian Dynasty) เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำพระนครศรีอยุทธยาเรียบเรียงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1604 (นับอย่างไทยโบราณอยู่ในห้วง พ.ศ. 2182) ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2172-99) ได้กล่าวถึงพระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศ (พระองค์ดำ) ไว้ในเหตุการณ์เมื่อครั้งพระอินทราชา (พระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ พ.ศ. 2154-71) กริ้วพระหมื่นศรีสรรักษ์ (พระเจ้าปราสาททอง) และน้องชาย (สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาธิราชครองราชย์ พ.ศ. 2199) ที่ไปทำร้ายพระยาแรกนาขวัญ
“ขณะนั้นออกญากลาโหมเพิ่งมียศเป็นพระหมื่นศรีสรรักษ์ และมีอายุประมาณ 18 ปี วันหนึ่งเมื่อมีการทำพิธีนี้เขาได้อยู่ที่ชนบทนั้นด้วย โดยมากับน้องชายซึ่งบัดนี้เป็นฝ่ายหน้าหรือมหาอุปราช ทั้ง 2 คนขี่ช้างมีบ่าวไพร่ติดตามมาหลายคน และได้โจมตีพระยาแรกนาอย่างดุเดือด ดูเหมือนว่ามีเจตนาจะฆ่าพระยาแรกนาและกลุ่มผู้ติดตามทั้งหมดด้วย ฝ่ายองครักษ์เห็นดังนั้นก็เข้าต่อสู้ป้องกันพระเจ้าแผ่นดินปลอม ต่อต้านสองขุนนางหนุ่ม และขว้างก้อนหินไปถูกน้องชายได้รับบาดเจ็บ พระหมื่นศรีสรรักษ์ก็ถอดดาบและโถมเข้าสู้อย่างดุเดือด จนพระยาแรกนาและองครักษ์จำต้องถอยหนี พระยาแรกนากลับมายังพระราชวังและนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นโดยพระหมื่นศรีสรรักษ์เป็นผู้ก่อ
พระเจ้าอยู่หัวกริ้วเป็นกำลังถึงเรื่องความชั่วร้ายที่ได้เกิดขึ้น พระองค์รับสั่งให้ค้นหาตัวพระหมื่นศรีสรรักษ์ และให้นำมายังพระราชวัง แต่คนชั่วผู้นี้รู้ตัวดีว่ามีผู้ติดตามจับ จึงซ่อนตัวอยู่ในโบสถ์กับบรรดาพระสงฆ์ และไม่กล้าเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินในขณะที่ทรงพิโรธหนัก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินไม่อาจลงโทษให้สมกับพระอารมณ์ขุ่นเคืองได้ ออกญาศรีธรรมาธิราชจำต้องได้รับผลการกระทำนี้ พระองค์รับสั่งว่าจะประหารชีวิตเขาถ้าหากไม่นำตัวบุตรชายมาเฝ้า
พระหมื่นศรีสรรักษ์เมื่อทราบข่าว จึงออกจากที่หลบซ่อนมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว และทูลขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ถูกมหาดเล็กจับตัวไว้ พระเจ้าแผ่นดินทรงฟันเขา 3 ทีที่ขาทั้ง 2 ข้าง จากหัวเข่าลงมาถึงข้อเท้า แล้วพระองค์จับเขาโยนเข้าไปในคุกใต้ดิน รับสั่งให้พันธนาการไว้ด้วยโซ่ตรวนที่ส่วนทั้ง 5 ของร่างกาย พระหมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำขังอยู่ในคุกมืดเป็นเวลา 5 เดือน จนกระทั่งเจ้าขรัวมณีจันทร์ (Zian Croa Mady Tjan) ชายาม่ายของพระเจ้าอยู่หัวในพระโกศ คือพระ Marit หรือพระองค์ดำ ได้ทูลขอ จึงได้กลับเป็นที่โปรดปรานอีก”
จดหมายเหตุฟานฟลีตในฉบับแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเรียกพระนามพระชายาม่ายของสมเด็จพระนเรศ (พระมะริด) ว่า “เจ้าขรัวมณีจันทร์” (Zian Croa Mady Tjan) พึงสังเกตว่าพระนามนี้ดูคล้ายคลึงกับ “พระมณีรัตนา” พระอัครมเหสีที่ปรากฏอยู่ในคำให้การขุนหลวงหาวัด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นบุคคลเดียวกัน
แต่เมื่อสอบย้อนกลับไปยังต้นฉบับภาษาฮอลันดาโบราณพบว่า เยเรเมียส ฟาน ฟลีต จดพระนามพระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศว่า “Tjau Croa Mahadijtjan” แตกต่างจากฉบับแปลภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างเห็นได้ชัด ข้าพเจ้าเห็นควรแปลถ่ายพระนามของพระนางเป็นภาษาไทยว่า “เจ้าขรัวมเหสีจันทร์” มากกว่า “เจ้าขรัวมณีจันทร์” ตามฉบับแปลภาษาไทย
ด้วยเหตุนี้เจ้าขรัวมเหสีจันทร์จึงน่าจะเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระนเรศคนละพระองค์กับ “พระมณีรัตนา” ในคำให้การขุนหลวงหาวัด เยเรเมียส ฟาน ฟลีต กล่าวถึงเจ้าขรัวมเหสีจันทร์แค่เพียงครั้งเดียว โดยมิได้กล่าวถึงภูมิหลังความเป็นมาของพระนาง
แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า เจ้าขรัวมเหสีจันทร์ผู้นี้ต้องมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับพระหมื่นศรีสรรักษ์ (พระเจ้าปราสาททอง) อย่างแน่นอน เพราะมิเช่นนั้นพระนางผู้เป็นเจ้านายฝ่ายในชั้นผู้ใหญ่คนสำคัญคงไม่กล้าออกหน้าให้การช่วยเหลือพระหมื่นศรีสรรักษ์ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ให้พ้นโทษอย่างแน่นอน ซึ่งข้อสงสัยนี้ต้องสอบค้นหาความจริงกันต่อไป
เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์นำข้าราชการไพร่พลบุกเข้าพระราชวังกลางดึก ประกาศยึดอำนาจจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ต่อมาปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร วาดในสมัยรัชกาลที่ ๕)
“พระเอกกษัตรีย์” พระมเหสีเชลยศักดิ์ของสมเด็จพระนเรศในพงศาวดารละแวกของเขมร
พงศาวดารละแวก ฉบับแปล จ.ศ. 1170 พระองค์แก้วเจ้านายเขมรได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งโปรดให้ขุนสาราบรรจงปลัดกรมอาลักษณ์พระราชวังบวรฯ แปลเป็นภาษาไทยใน จ.ศ. 1170 (พ.ศ. 2351) กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศยกทัพไปตีเมืองละแวกได้สำเร็จใน จ.ศ. 956 ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) สมเด็จพระราชโองการ พระบรมราชารามาธิราชธิบดี (นักพระสัตถา) กษัตริย์กัมพูชาหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองศรีสันธร ส่วนพระศรีสุริโยพรรณพระอนุชาผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปโยราชออกถวายบังคมยอมแพ้ สมเด็จพระนเรศจึงนำตัวพระศรีสุริโยพรรณและพระราชวงศ์เขมรกลับมาเป็น “เชลยศักดิ์” ยังพระนครศรีอยุทธยา ภายหลังสมเด็จพระนเรศโปรดให้แต่งตั้ง “พระเอกกษัตรีย์” พระราชธิดาในพระศรีสุริโยพรรณเป็นพระมเหสีใน จ.ศ. 957 ปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2138)
“ครั้น ณ ปีมะเมียฉศก (พ.ศ. 2137) สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า พระองค์ได้สมบัติในเมืองละแวก สมดุจหนึ่งพระทัยปรารถนาแล้ว พระองค์ก็เลิกกองทัพกลับมาศรีอยุทธยา แล้วพระองค์ให้นำมาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณกับพระมเหสี พระราชบุตร พระราชธิดา และพระศรีไชยเชษฐ พรรคพวกพระศรีสุริโยพรรณเข้ามาอยู่เมืองกรุงศรีอยุทธยาด้วย ให้ตั้งบ้านอยู่นอกกำแพงกรุง และเมื่อพระนเรศเป็นเจ้านำเอาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณนั้นมา พระชันษาพระศรีสุริโยพรรณนั้นได้ 38 ปี แล้วจึงสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้านำเอาพระราชธิดาพระศรีสุริโยพรรณพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเอกษัตรี เป็นพระมเหสีพระนเรศวรเป็นเจ้า ในปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2138)”
แต่เอกสารฝ่ายไทยอย่างพระราชพงศาวดารฯ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ซึ่งให้ข้อมูลที่แม่นยำกว่ากล่าวว่า เหตุการณ์เมื่อคราวเสียเมืองละแวกให้แก่กองทัพสมเด็จพระนเรศนั้นเกิดขึ้นใน จ.ศ. 955 มะเส็งศก (พ.ศ. 2136) ปีศักราชเร็วกว่าพงศาวดารละแวก 1 ปี
“ศักราช 955 มะเส็งศก… ณ วัน 6ฯ102 ค่ำ เวลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 6 บาท เสด็จพยุหบาตราไปเอาเมืองละแวก แลตั้งทัพชัยตำบลบางขวด เสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพญาศรีสุพรรในวัน 1ฯ14 ค่ำนั้น”
ด้วยเหตุนี้เหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศโปรดให้แต่งตั้ง “พระเอกกษัตรีย์” ขึ้นเป็นที่พระมเหสี ในพงศาวดารละแวก เมื่อ จ.ศ. 957 ปีมะแมสัปตศก (พ.ศ. 2138) ควรปรับปีศักราชให้เร็วกว่าตามไปด้วย 1 ปี การสถาปนา “พระเอกกษัตรีย์” เป็นพระมเหสีควรเกิดขึ้นใน จ.ศ. 956 ปีวอกฉศก (พ.ศ. 2137)
หลังจากสมเด็จพระนเรศพิชิตเมืองละแวกได้ใน พ.ศ. 2136 อาณาจักรกัมพูชาก็ขาดเสถียรภาพ เกิดการแย่งชิงราชสมบัติภายในกลุ่มเจ้านายเขมรจนถึงขั้นเป็นจลาจล ส่งผลให้เมืองละแวกว่างกษัตริย์ลง ในที่สุด สมเด็จพระเทวีกษัตรีย์และขุนนางเขมรได้แต่งพระราชสาสน์เข้ามากราบบังคมทูลสมเด็จพระนเรศ เพื่อขอพระราชทานพระศรีสุริโยพรรณ (ครองราชย์ พ.ศ. 2144-61) กลับไปครองราชสมบัติเมืองละแวก พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) เล่าว่า
“ลุศักราช 952 ปีขาลโทศก ในเมืองละแวกไซร้ เมื่อพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยกทัพหลวงเสด็จไปปราบราชศัตรูในเมืองละแวก แลเทเอาครัวอพยพทั้งปวงเสด็จมายังกรุงพระนครแล้ว อยู่ภายหลังมาจึงลูกพญาละแวกซึ่งหนีไปอยู่เมืองล้านช้างนั้นก็คืนมายังเมืองละแวก ประมูลไพร่พลทั้งปวง ได้เป็นพญาละแวกแล้วแต่งดอกไม้เงินทองเครื่องบรรณาการมาถวายทุกปีมิได้ขาด ครั้นพญาละแวกนั้นพิราลัยไซร้ หาผู้จะปกครองแผ่นดินเมืองละแวกนั้นมิได้ จึงสมณะพราหมณาจารย์แลมุขมนตรีทั้งปวงแต่งดอกไม้เงินทอง แลเครื่องบรรณาการมาถวายบังคมพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ขอพระสุพรรมาธิราชผู้น้องพญาละแวกก่อนนั้นไปครองแผ่นดินเมืองละแวก”
พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องราชาบริโภคสำหรับพระมหากษัตริย์ ให้เอาพระศรีสุพรรมาธิราชไปเป็นพญาละแวก แลตรัสให้พญาสวรรคโลก พญาพันธารา แลพลทหารสามพันเอาพระศรีสุพรรมาธิราชไปส่งถึงเมืองละแวก โดยทางเรือปีขาลโทศกนั้น”
แม้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาจะระบุถึงเหตุผลที่สมเด็จพระนเรศทรงตัดสินพระทัยส่งพระศรีสุริโยพรรณศัตรูเก่ากลับไปครองราชย์เป็นกษัตริย์กัมพูชา แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า “พระเอกกษัตรีย์” พระมเหสีเชลยศักดิ์ ผู้นี้น่าจะคงมีส่วนในการเพ็ดทูลโน้มน้าวพระทัยให้สมเด็จพระนเรศตัดสินพระทัยส่งพระบิดาของพระนางไปเสวยราชสมบัติยังเมืองละแวก นอกจากนี้พระนางอาจเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินนโยบายการเมืองระหว่างประเทศของราชสำนักศรีอยุทธยาและกัมพูชาไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
พระนเรศ และพระเอกาทศรถ ในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคยุทธนาวี (ภาพจากคลิป “ตัวอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 3 ยุทธนาวี (Official Tr.)” จาก Youtube : Sahamongkolfilm International Co.,Ltd)
“หลังบ้าน” สมเด็จพระนเรศ
ตามทรรศนะของข้าพเจ้า หากคำให้การขุนหลวงหาวัดยังพอมีข้อเท็จจริงตกตะกอนนอนก้นอยู่บ้าง สมเด็จพระอัครมเหสีในสมเด็จพระนเรศที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุสเปนคงเป็นพระองค์เดียวกับ “พระมณีรัตนา” โดยสมเด็จพระนเรศมีพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระนางด้วย 1 พระองค์ และพงศาวดารพม่ายังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า สมเด็จพระนเรศทรงมีพระราชธิดาอีก 1 พระองค์ พระนางได้อภิเษกสมรสกับเมงตุลอง (พระทุลอง) พระราชโอรสของพระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอ แสดงว่าสมเด็จพระนเรศมีพระราชโอรสธิดาเท่าที่สอบค้นได้อย่างน้อย 2 พระองค์
“โยธยามี้พระญา” (มเหสีอยุทธยา) เจ้าหญิงพม่าผู้เป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่อนรธาเมงสอ พระนางทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนเรศด้วยเหตุผลทางการเมืองเป็นสำคัญ
“เจ้าขรัวมเหสีจันทร์” ในจดหมายเหตุฟานฟลีตนั้น พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม และพระนางคงมีบทบาทสำคัญในราชสำนักฝ่ายในมิใช่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นคนละพระองค์กับ “พระมณีรัตนา” พระอัครมเหสี
ทางด้าน “พระเอกกษัตรีย์” พระมเหสีเชลยศักดิ์ในพงศาวดารละแวกนั้นไม่เป็นปัญหาให้ต้องขบคิด เพราะเอกสารเขมรระบุชัดว่า พระนางเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณกษัตริย์เมืองละแวก
แม้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยาจะมุ่งเน้นแต่จดบันทึกพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ จนมองข้ามบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ “หลังบ้าน” พระมเหสีคู่พระบารมีทั้ง 4 พระองค์ของสมเด็จพระนเรศ แต่เรื่องราวของพระนางกลับมิได้เลือนหายไปตามกาลเวลา โดยมีเอกสารต่างชาติต่างภาษาเป็นเครื่องยืนยันถึงความมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ศรีอยุทธยาที่ถูกบดบังจากเมฆหมอกแห่งความไม่รู้มาเนิ่นนานหลายศตวรรษ
หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ แกะรอย “หลังบ้าน” สมเด็จพระนเรศในเอกสารต่างชาติ เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2550
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2563
Source: https://www.asiasport.com/
The post สอบหลักฐาน สืบหา “พระมเหสี” ในสมเด็จพระนเรศ ที่หลักฐานไทยไม่เคยกล่าวถึง appeared first on Thailand News.