ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“พระแก้วมรกต” ในพระราชวังหลวงที่พนมเปญต่างกับไทยไหม วัสดุในพระวิหารมูลค่าเท่าใด

“พระแก้วมรกต” ในพระราชวังหลวงที่พนมเปญต่างกับไทยไหม วัสดุในพระวิหารมูลค่าเท่าใด

วัดพระแก้วมรกต ในพระบรมราชวังจตุมุขมงคล กัมพูชา (ภาพจากหนังสือ “เขมรสมัยหลังพระนคร”)พระบรมราชวังจตุมุขมงคล กรุงพนมเปญ กัมพูชา มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ในบรรดารายชื่อนี้มี “วัดพระแก้วมรกต” หรือ “วัดอุโบสถรตนาราม” เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในพระราชวัง ซึ่งมีพระพุทธรูป “พระแก้วมรกต” ประดิษฐานบนบุษบก

เมืองพนมเปญ (หรือชื่อเก่าว่า “เมืองจตุมุข”) เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกัมพูชา สมัยก่อนมีเจ้าพญายาตและกษัตริย์องค์ต่อมาใช้เมืองนี้เป็นราชธานี ขณะที่พระราชวังจตุมุขมงคลนี้สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2408 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้านโรดิมบรมรามเทวาวตาร (ครองราชย์ พ.ศ. 2403-2447) และปรับปรุงเปลี่ยนหลายครั้งในเวลาต่อมา รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ อธิบายในหนังสือ “เขมรสมัยหลังพระนคร” ว่า ปีนั้นเป็นปีที่สมเด็จพระนโรดมเริ่มเสด็จมาประทับที่พระราชวังพัก กรุงพนมเปญ

อีกหนึ่งสิ่งก่อสร้างสำคัญในพระบรมราชวังจตุมุขมงคล คือ “วัดพระแก้วมรกต” หรือ “วัดอุโบสถรตนาราม” รศ.ดร. ศานติ บรรยายว่า เป็นวัดในพระราชวังหลวงเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดในพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา หรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ

การออกแบบแผนผังวัดพระแก้วมรกตเป็นฝีมือของออกญาเทพนิมิต (รส) มีสถาปนิกชาวฝรั่งเศสชื่อ Alavigne ดูแลความถูกต้องในการสร้าง สถาปนิกชาวฝรั่งเศสนาม Andrilleux และช่างเขมรเป็นผู้ก่อสร้างและประดับตกแต่งจนแล้วเสร็จสมโภช เมื่อ พ.ศ. 2446 ผศ.ดร. ศานติ อ้างอิงข้อมูลจากฝั่งกัมพูชาว่า คิดเป็นเงินทั้งหมดห้าแสนเรียล

เมื่อถึงสมัยสมเด็จพระนโรดมสีหนุ วัดพระแก้วมรกตถูกบูรณะ เมื่อปี 2505 – 2513 โดยปกติแล้ว วัดในพระบรมราชวังแห่งนี้ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา แต่มีเฉพาะช่วงที่สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงผนวช พระองค์ประทับจำพรรษา 1 พรรษา

สิ่งก่อสร้างภายในบริเวณวัดล้วนมีความสำคัญเฉพาะตัว อาทิ พระวิหารพระแก้วมรกต เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร แรกเริ่มสร้างจากไม้และอิฐ แต่เมื่อมีการบูรณะในภายหลังจึงเริ่มปรับเปลี่ยนหลายครั้งโดยรักษารูปแบบทางสถาปัตยกรรมเดิมไว้

องค์ประกอบที่น่าสนใจในวัดนี้ไม่ใช่มีแค่เชิงโครงสร้าง รศ.ดร.ศานติ อธิบายรายละเอียดว่า พื้นของพระวิหารปูเสื่อที่ทำจากเงินบริสุทธิ์ 5,329 แผ่น แต่ละแผ่นมีน้ำหนัก 1.125 กิโลกรัม ประดับหินอ่อนนำเข้าจากอิตาลี รวมแล้วเป็นเงินทั้งหมด 20 ล้านเรียล

ขณะที่พระพุทธรูป “พระแก้วมรกต” ที่ประดิษฐานบนบุษบก ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอธิบายว่า หล่อขึ้นจากแก้วคริสตัลสีเขียวจากฝรั่งเศส โดยอ้างอิงจากข้อมูลใน “นิราศนครวัด” พระนิพนธ์ในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ข้อความตอนหนึ่งว่า

“กลางพระอุโบสถ มีฐานชุกชีตั้งบุษบกรองพระแก้วที่ห้างปักกะราต์ฝรั่งเศส ข้อนี้ทราบมานานแล้ว มาได้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อเห็นตัวจริงว่าตั้งใจจะจำลองให้เหมือนพระแก้วมรกตที่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระนโรดมเห็นจะให้ไปสืบและวัดมาดู ได้ขนาดเท่ากัน แต่รูปสัณฐานนั้นผิดกันห่างไกล สีแก้วมรกตที่ฝรั่งหล่อเขียวใสเป็นอย่างขวดเขียวสี่เหลี่ยม ที่มักใช้ใส่น้ำอบกันแต่ก่อน เครื่องประดับก็ทำแต่ทองครอบพระเกตุมาลา และติดรัศมีต่อขึ้นไปสองข้างบุษบก ตั้งลับแลแบ่งปันที่เป็นข้างหน้าในอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในกรุงเทพฯ…”

ในพระวิหารพระแก้วมรกตยังมีพระพุทธรูป “พระชินรังสีราชิกนโรดม” ฉลองพระองค์สมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร รศ.ดร. ศานติ อธิบายว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2447 โดยสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ (สีสุวัตถิ์) ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตาร ช่วงก่อนพระองค์ทิวงคต

พระพุทธรูปองค์นี้สร้างจากทองคำ 90 กิโลกรัมนับรวมทั้งฐานและฉัตร ประดับเพชรพลอย 2,086 เม็ด เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดอยู่ที่มงกุฎมีขนาด 25 มิลลิเมตร ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบรรยายว่า แต่งเครื่องเพชรพลอยอย่างใหม่ ฝีมือฝรั่ง ซึ่งเป็นของสมเด็จพระนโรดมทรงพระอุทิศไว้ ฝีมือสร้างงดงาม

ศานติ ภักดีคำ. เขมรสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2562

https://www.silpa-mag.com

The post “พระแก้วมรกต” ในพระราชวังหลวงที่พนมเปญต่างกับไทยไหม วัสดุในพระวิหารมูลค่าเท่าใด appeared first on Thailand News.