ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“กรรณะ” วีรบุรุษฝ่ายอธรรม คู่ปรับอรชุนผู้ถูกกีดกันจากชาติกำเนิดในศึกมหาภารตะ

“กรรณะ” วีรบุรุษฝ่ายอธรรม คู่ปรับอรชุนผู้ถูกกีดกันจากชาติกำเนิดในศึกมหาภารตะ

ภาพวาด กรรณะ ในห้วงศึกมหาสงคราม ณ ทุ่งกุรุเกษตร จากมหาภารตะ

หลายคนคงจะได้ยินชื่อมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ของอินเดียอย่าง “มหาภารตะ” มาไม่มากก็น้อย หากใครติดตามเรื่องราวมหากาพย์ขนาดยาวเรื่องนี้อย่างแท้จริงจะพบว่ามีเรื่องราวให้ศึกษาต่างๆ มากมายทั้งวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ รวมถึงปรัชญาการใช้ชีวิต และจิตวิญญาณ ฯลฯ นอกเหนือไปจากมหาสงครามที่ห้ำหั่นกัน ระหว่างสองพี่น้อง ตระกูลเการพ (กุรุ) และปาณฑพ (ปาณฑุ) ณ ทุ่งกุรุเกษตร มหาสงครามที่ว่านี้สร้างความหายนะแก่ดินแดนชมพูทวีปอย่างมหาศาล

เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ฝากชื่อเสียงของ 5 พี่น้องตระกูลปาณฑพ ในฐานะวีรบุรุษ ที่สามารถเอาชนะพี่น้องตระกูลเการพลงได้ ยอดนักรบที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดคงจะได้แก่ “อรชุน” นักแม้นธนูมือฉมังของฝ่ายปาณฑพ

ส่วนตัวผมเองนั้นได้ยินชื่อมหากาพย์นี้มาตั้งนานแล้ว จนกระทั่งได้มาอ่านฉบับที่ อ.กรุณา กุศลาสัย แปล จากนั้นก็อ่านเทียบกันดูอีกครั้งประมาณสอง-สามสำนวน (ของอ.วีระ และบทละครของปีเตอร์ บรุค) รวมถึงการที่ได้ดูซีรีย์มหาภารตะ (ออกอากาศทางช่อง 5) ทำให้ผมรู้สึกประทับใจกับเรื่องราวในมหากาพย์เรื่องนี้มากขึ้น จากเท่าที่ติดตามมาผมไปสะดุดอยู่กับตัวละครตัวหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้ฝ่ายพระเอก บุคคลที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เรื่องราวในมหากาพย์ดำเนินไปอย่างน่าครุ่นคิด…. ด้วยอุปนิสัย ทะเยอทะยาน เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เสียสละ และยึดมั่นในสัจธรรม จนถึงเรื่องอื่นๆ ที่ไม่สามารถกล่าวได้ทั้งหมด นามของเขาคนนั้นคือ “กรรณะ” คู่ปรับของอรชุน

ในมหากาพย์เล่าว่า กรรณะ หรือ ราธียะ เป็นบุตรของสุริยะเทพกับนางกุนตี (กรรณะจึงมีศักดิ์เป็นพี่ใหญ่ของ 5 พี่น้องตระกูลปาณฑพ และมีเกราะวิเศษติดตัวมาด้วยตอนกำเนิด) นางกุนตีไม่สามารถรับไว้เลี้ยงดูได้เนื่องจากต้องเข้าพิธีสมรสกับเจ้าชายปาณฑุจึงได้ทิ้งทารกกรรณะไว้ที่ริมน้ำ จนกระทั่งสารถีได้นำไปเลี้ยงจนเติบใหญ่ เมื่อถึงเวลาที่พอจะได้ร่ำเรียนวิชา กรรณะได้พยายามจะเข้าไปศึกษาศิลปวิทยาจากสำนักของโทรณาจารย์ (สำนักเดียวกับเจ้าชายสองตระกูลแห่งหัสตินาปุระเการพและปาณฑพกำลังศึกษาอยู่) แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากโทรณาจารย์ไม่สอนวิชาให้แก่คนที่วรรณะต่ำกว่า

เมื่อไร้หนทางที่จะเข้าร่ำเรียนจากที่แห่งนี้เขาจึงประกาศว่าเขาจะมาอีกและจะมาในฐานะที่เก่งกว่าศิษย์ของโทรณาจารย์ทุกคน (โดยเฉพาะอรชุนศิษย์รักของโทรณาจารย์) จากนั้นเขาจึงเดินทางเสาะแสวงหาอาจารย์จนกระทั่งได้ไปพบกับ ปรศุราม กรรณะจึงได้ปลอมตัวเป็นพราหมณ์เข้าไปศึกษาศิลปวิทยาจาก ปรศุราม เขาเรียนรู้วิชาจากปรศุรามจนแตกฉานหลายอย่างโดยเฉพาะการยิงธนู

จนกระทั่ง ปรศุราม จับได้ว่าเขาปลอมตัวเป็นพราหมณ์ เพื่อมาร่ำเรียนวิชากับตน จึงได้ขับไล่กรรณะหนีไป พร้อมกับสาปให้กรรณะลืมเวทที่ได้ร่ำเรียนมาเมื่อยามที่กรรณะต้องการมากที่สุด กรรณะจึงกราบลาอาจารย์ไปนับแต่นั้น (บางสำนวนกล่าวว่าปรศุรามไม่ได้กีดกันเรื่องชาติกำเนิด แต่รับไม่ได้ที่กรรณะปลอมตัวมาหลอกตนเองเพื่อเรียนวิชา จึงได้เผลอตัวสาปกรรณะไป)

เหตุการณ์ต่อมาหลังจากที่พี่น้องเการพและปาณฑพร่ำเรียนวิชาสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นก็เป็นการแสดงวิชาที่ร่ำเรียนมาแก่ราชวงศ์และประชาชนชาวหัสตินาปุระให้ได้ชื่นชมพร้อมกัน แต่ขณะนั้นเองบุรุษผู้ไม่ได้รับเชิญนามว่า กรรณะ ปรากฏตัวขึ้นพร้อมท้าประลองธนูกับเจ้าชายอรชุน แต่ก็ถูกคัดค้าน เนื่องจากการประลองนั้นคนที่จะประลองด้วยต้องเป็นวรรณะกษัตริย์ด้วยกันเท่านั้น ความสามารถของกรรณะถูกกีดกันด้วยชาติกำเนิดอีกครั้ง

เขาถูกเยาะเย้ยจากประชาชนและราชวงศ์ (โดยเฉพาะ ภีม พี่รองของพวกปาณฑพ) ทุรโยทน์ พี่ใหญ่แห่งตระกูลเการพผู้ไม่ถูกกันกับ 5 พี่น้องปาณฑพจ้องมองเหตุการณ์ทั้งหมด จึงมีความประสงค์จะได้กรรณะมาเป็นพวกของตน เนื่องจากเขาเห็นรัศมีที่เฉิดฉายบนใบหน้าของกรรณะ พร้อมทั้งคาดว่าฝีมือคงไม่ธรรมดาแน่ถึงได้กล้ามาท้าประลองกับเจ้าชายอรชุน ทุรโยทน์จึงได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการที่จะเอากรรณะมาช่วยเหลือตนในการกำจัดพี่น้องปาณฑพ เขาจึงผูกมิตรกับกรรณะพร้อมกับแต่งตั้งกรรณะเป็นกษัตริย์ครองแคว้นอังคะที่เป็นเมืองขึ้นของหัสตินาปุระ ที่ขณะนั้นยังไร้ราชาปกครอง

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น กรรณะ กับ ทุรโยทย์ จึงเป็นสหายร่วมสาบานกัน กรรณะสาบานว่าจะรับใช้ทุรโยทน์ตราบสิ้นชีวิต ทุรโยทน์เองก็นับว่าเป็นความโชคดีที่ได้มีสหายคู่ใจอย่างกรรณะ หลายครั้งหลายคราที่ทุรโยทย์พยายามที่จะลอบทำร้ายพี่น้องปาณฑพด้วยความริษยา แต่ก็บ่อยครั้งที่กรรณะมาห้ามไว้ “ข้าศรัทธาในการห้ำหั่นกับศัตรูด้วยวิธีการซึ่งๆ หน้า มากกว่าที่จะใช้ด้วยวิธีเล่ห์กลเพทุบาย ในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลใบนี้เราจะเอาชนะและครอบครองได้ก็ด้วยความกล้าหาญเปิดเผย ไม่ใช่ด้วยการใช้เล่ห์กลเพทุบายใดๆ ทั้งนั้น” คำกล่าวของกรรณะ

แต่ทุรโยทน์ก็พยายามว่าแผนลอบสังหารพี่น้องตระกูลปาณฑพจนได้ โดยการออกอุบายให้พี่น้องเหล่านั้นไปพักที่เมืองใหม่จากนั้นทุรโยทท์ก็ทำการเผาเมืองนั้นให้วอดวาย โชคดีที่ครั้งนั้นพวกปาณฑพพร้อมนางกุนตีผู้เป็นแม่รู้ทันจึงหนีรอดออกมาได้ หลังจากที่รอดออกมาพวกเขาก็ปลอมตัวเป็นพราหมณ์อาศัยอยู่ในป่า จนกระทั้งต่อมาเป็นพิธีสยุมพรเลือกคู่ของ นางเทราปตี ธิดาแห่งเมืองปัลจาละ[1] กษัตริย์ทั่วทั้งสารทิศเข้าร่วมพิธีนี้กันอย่างมากมาย รวมถึงหัสตินาปุระ (เการพ ปาณฑุ และกรรณะ) การประลองคือ ผู้เข้าประลองจะต้องยิงธนู ให้ถูกตาของปลาจำลองที่แขวนอยู่บนอากาศ ข้างล่างมีแอ่งน้ำอยู่ตรงกลาง โดยให้ผู้ประลองมองดูปลาจากเงาในแอ่งน้ำนั้น และปล่อยลูกศรให้ถูกตาปลาจำลองที่อยู่บนอากาศ

ผลปรากฏว่ายังไม่มีใครทำได้แม้เจ้าชายบางคนยกธนูยังไม่ขึ้นด้วยซ้ำ พิธีนี้ พระกฤษณะ[2] แห่งกรุงทวารกาได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย เมื่อถึงเวลาที่กรรณะจะต้องลงไปแสดงฝีมือ เขายกธนูขึ้นสายอย่างง่ายดายพร้อมที่จะทำการยิง แต่ขณะที่เขากำลังจะปล่อยลูกศรออกไปสู่เป้า นางเทราปตี กล่าวออกมาว่า “จะไม่ยอมแต่งงานกับลูกสารถี” ถึงแม้ตอนนี้กรรณะจะเป็นกษัตริย์แต่ก็ยังถูกเหยียดหยามเพราะชาติกำเนิดอีกครั้ง และผู้ที่ชนะในพิธีสยุมพรก็คือเจ้าชายอรชุนคู่ปรับของกรรณะซึ่งปลอมตัวมาในรูปพราหมณ์หนุ่ม

จากพิธีสยุมพรในครั้งนั้น นี้เป็นเหตุให้กรรณะกับนางเทราปตี ไม่ค่อยจะถูกชะตากัน กรรณะเคยเรียกนางว่าผู้หญิงแพศยาในคราวเล่นสกา ที่ฝ่ายปาณฑพแพ้สกาจนต้องถูกเนรทศออกจากป่าและทุหศาสันก็เปลื้องผ้าสาลีของนางเทราปตีสร้างความแค้นเคืองแก่พวกปาณฑพอย่างมาก เรียกได้ว่าการเล่นสกาในครั้งนั้นเป็นเหตุสำคัญแห่งมหาสงครามครั้งยิ่งใหญ่หลังจากที่ความขัดแย้งของสองสองตระกูลก่อตัวมานาน

ก่อนเกิดศึกมหาสงคราม ณ ทุ่งกุรุเกษตร กรรณะถอดเกราะวิเศษให้พระอินทร์ที่ปลอมตัวเป็นพราหมณ์มาขอ โดยแลกเกราะกับหอกศักติซึ่งเป็นอาวุธวิเศษที่ปลิดชีพคนได้แค่ดอกเดียวแต่ว่าใช้ได้ครั้งเดียว (บางสำนวนกล่าวว่าพระอินทร์นำเกราะไปให้อรชุน เนื่องจากอรุชุนเป็นบุตรของกุนตีกับพระอินทร์) เมื่อครั้งสงครามกำลังก่อตัวนางกุนตีขอร้องให้กรรณะมาอยู่กับฝ่ายปาณฑพหลังจากนางรู้ว่ากรรณะเป็นบุตรตน แต่กรรณะปฏิเสธเพราะความซื่อสัตย์ที่เขามีต่อทุรโยทน์ “ข้าได้เคยสาบานไปแล้วว่า..ข้าจะทำทุกอย่างเพื่อทุรโยทน์..แม้สิ่งที่ทำนั้นจะเหมือนกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ข้าก็ยินดี..”

ในระหว่างสงครามนั้น กรรณะ ต้องการจะใช้หอกกศักติต่อสู้กับอรชุน แต่ด้วยเล่ห์กลของพระกฤษณะที่ใช้ฆโฎตกัจลูกของภีม ออกอุบายให้มารับคมอาวุธแทนอรชุน ดังนั้นกรรณะจึงหมดอาวุธวิเศษที่ใช้งานได้ครั้งเดียวไป แต่กระนั้นเขาก็ไม่เคยหนีศัตรูเขาดาหน้าเข้าห้ำหั่นกับอรชุน ทั้งสองสู้รบกันอย่างดุเดือด ในระหว่างที่เขากำลังรบกับอรชุนล้อรถรบของเขาติดหลุมโคลนไม่สามารถวิ่งต่อไปได้ เขาขอพักการต่อสู้จากนั้นจึงลงไปพยายามที่จะยกล้อรถของเขาให้ขึ้นมาแต่ไม่สามารถขยับล้อรถได้ กระทั่งพระกฤษณะเห็นว่านี้เป็นโอกาสเหมาะในการสังหารเขาจึงบอกให้อรชุนรีบลงมือสังหารเสียในตอนนี้เพราะหากสู้กันซึ่งๆหน้าแล้วยากนักที่จะสังหารเขาได้ แม้ว่ากรรณะจะพยายามร่ายเวทแต่เขาก็ไม่สามารถจำได้ อรชุนจึงยกคันธนูขึ้นตามคำสั่งและปล่อยศรเสียบคอของกรรณะ

การตายของกรรณะ เรื่องราวการเสียชีวิตของกรรณะมีสองรูปแบบ หนึ่งคือเขาตายทันทีหลังจากอรชุนยิงศรอันจาลิกา (หัวลูกศรทรงจันทร์เสี้ยว) ตัดศีรษะเขา เขาถูกเปิดเผยว่าเป็นพี่คนโตของปาณฑพหลังสงครามสิ้นสุดโดยกุนตี อีกรูปแบบหนึ่งคือเขานอนรอความตายต่อไป หลังสงครามสิ้นสุด สุริยะเทพแปลงกายเป็นขอทานมาหากรรณะที่กำลังจะตาย ขอทานจำแลงขอบริจาคทานจากเขา กรรณะตอบว่า เราหมดสิ้นทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรจะให้อีกแล้ว ขอทานตอบกลับไปว่า ในปากของเธอ มีฟันทองอยู่ นึกได้ดังนั้นกรรณะไม่รีรอ เอาก้อนหินกระแทกปากและเอาฟันทองที่หลุดร่วงให้ขอทานไป สุริยะเทพซึ้งในน้ำใจของกรรณะและพาเขาขึ้นสวรรค์

กล่าวได้ทั้งชีวิตของกรรณะเขาเป็นคนที่เสียสละค่อนข้างมากแม้กระทั่งความสุขส่วนตัวเพื่อมิตรภาพถ้าเอาเข้าจริงแล้วเขาจะมีคุณธรรมมากกว่าพวกปาณฑพด้วยซ้ำไป บางครั้งก็มีกล่าวว่ากรรณะเลือกข้างผิดที่ไปเข้ากับทุรโยทน์ซึ่งผมเองก็ตอบไม่ได้ว่าถูกหรือผิด แต่ก็เป็นเป็นธรรมดาที่ฝ่ายชนะนั้นต้องเป็นพระเอกส่วนผู้แพ้ก็เป็นพวกอธรรมไป แต่ว่าต่อให้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็นธรรมะกับอธรรมแค่ไหนก็ตาม วีรบุรุษคนหนึ่งที่มหาภารตะปิดบังไม่ได้ถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่นอกจากภีษมะแล้ว ความมีใจสู้เป็นชายชาติทหารและนักรบคนหนึ่งนั้นก็คือ กรรณะ ในวรรณคดีของไทยมีการเปรียบเทียบคุณธรรมของพระบรมไตยโลกนาถกับกรรณะในลิลิตยวนพ่ายไว้ว่า… “พระทรงปรตยาคพ้ยง พระกรรณ พระหฤๅทัยทยมสินธุ์ เชี่ยวซรึ้ง”

ถึงตอนนี้คงจะไม่มากเกินไปหากจะกล่าวว่า กรรณะ คือวีรบุรุษผู้มีคุณธรรม ในมหาภารตะ อย่างแท้จริง

เชิงอรรถ

[1] จะว่าไปแล้วพิธีสยุมพรในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเจ้าชายอรชุนโดยเฉพาะคงจะไม่ผิดนัก เนื่องจากคนที่เก่งธนูมีสองคนดังที่กล่าวมา นางเทราปตีเองก็ประกาศว่าจะไม่แต่งงานกับลูกสารถีเพราะตนเองรักกับเจ้าชายอรุชุนตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเมื่ออรชุนปรากฏตัวขึ้นในรูปของพราห์มนางก็ไม่ได้คัดค้านอะไร ผลก็เป็นไปตามคาดอรชุนยิงศรเข้าเป้าสำเร็จ นางเทราปตีจึงได้สมรสกับอรชุนแต่ว่าพี่น้องปาณฑพสัญญาว่ามีอะไรต้องแบ่งปันกันฉะนั้นนางเทราปตีจึงได้สมรสกับพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคน

[2] พระกฤษณะ อวตารปางที่ 8 ของพระนารายณ์

เอกสารอ้างอิง

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. (2555).ศึกมหาภารตะ. กรุงเทพ:สยาม.

ปราโมทย์ สกุลรักษ์ความสุข. ความเปรียบเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในวรรคดียอพระเกียรติสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น. ปริญญานิพนธ์ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาภาไทยมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2554.

ปีเตอร์ บรุค เขียน จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา แปล. (2544). บทละครแปล = The Mahabharata : a play based upon the Indian classic epic. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.

วีระ ธีรภัทร. (2553). เรื่องเล่าจากมหากาพย์ มหาภารตะ เล่ม 4 ตอนอวสานสงคราม ทุ่งกุรุเกษตร. กรุงเทพ : โรนิน.

พิสุทธิ์พงศ์ เอ็นดู. (2556). อินเดีย : เรื่องเล่าจากมหาภารตะนคร. ปทุมธานี : บ้านฟ้าตะวัน.

วิสุทธ์ บุษยกุล. “ชื่อบุคคลสำคัญในมหาภารตะที่มีกล่าวถึงในบทยอพระเกียรติสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถในเรื่องยวนพ่าย” วารสารภาษาและวรรณคดีไทย 14 (ธ.ค. 2540) หน้า 128-140.

ซีรีย์ มหาภารตะ ทางช่อง 5

Why Karna Deserved More Respect Than Other Warriors In The Mahabharata เว็บไซต์ เข้าถึงได้ที่ http://allindiaroundup.com/news/why-karna-deserved-more-respect-than-other-warriors-in-the-mahabharata/

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 27 ตุลาคม 2561

The post “กรรณะ” วีรบุรุษฝ่ายอธรรม คู่ปรับอรชุนผู้ถูกกีดกันจากชาติกำเนิดในศึกมหาภารตะ appeared first on Thailand News.