2 ตุลาคม 2432 วันประสูติพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาเจ้าดารารัศมี
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี (วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประสูติแต่เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 เป็นพระราชบุตรีองค์ที่ 73 ในรัชกาลที่ 5
ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2429 ในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารนั้น มีธรรมเนียมมาแต่โบราณที่เจ้าประเทศราชจะต้องมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ขณะนั้นจึงเสด็จมายังกรุงเทพฯ โดยมีพระราชธิดาคือเจ้าดารารัศมีเสด็จตามมาด้วย รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าให้เจ้าดารารัศมีเข้ามารับราชการฝ่ายใน
กระทั่งเจ้าดารารัศมีได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ในปีเดียวกัน ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 (นับศักราชแบบใหม่ตรงกับ พ.ศ. 2430) ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความว่า “วันนี้เจ้าดารารัศมี ธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้านครเชียงใหม่ถวาย โปรดให้เรือหลวงไปรับ”
ต่อมาเมื่อเจ้าดารารัศมีประสูติกาลพระราชธิดาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 แล้วนั้น รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีพิธีขึ้นพระอู่เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2432
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
รายละเอียดพิธีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ 5 สรุปความได้ว่า เวลาเช้าเลี้ยงพระที่ตำหนักที่ประสูตรนั้น เวลาค่ำสองทุ่มเศษ รัชกาลที่ 5 และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จลงสมโภชตามโบราณราชประเพณีทั้งแบบไทยและลาว มีบายศรีพื้นเมืองอย่างเชียงใหม่ ทั้งบายศรีโต๊ะเงิน บายศรีโต๊ะทอง รัชกาลที่ 5 พระราชทานสมโภชสำหรับพระอู่เป็นทองคำหนัก 5 ตำลึง เงินราง 6 แท่ง เงินวางข้างพระอู่ 10 ชั่ง ขันลงยาสำหรับหนึ่ง กาทองคำกาหนึ่ง แต่เงิน 100 ชั่งได้งดไว้พระราชทานวันอื่น
แต่รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริว่า ด้วยพระญาติวงศ์ของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีมากันพรั่งพร้อมเป็นการครึกครื้น จึงโปรดพระราชทานเงินเพิ่มอีก 100 ชั่ง รวมเป็น 200 ชั่ง และโปรดให้ทำ “ชื่อเงิน ชื่อทอง ชื่อนากอย่างลาว” สำหรับผูกพระหัตถ์ข้างละ 3 ข้อ พระบาทข้างละ 3 ข้อ จากนั้นทำพิธีผูกข้อไม้ข้อมือตามประเพณีทางเหนือ
จากนั้นรัชกาลที่ 5 พระราชทานพระนามว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” แปลว่า “ผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่” เป็นอันเสร็จพิธีขึ้นพระอู่ โดยรัชกาลที่ 5 ตรัสเรียกพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ว่า “ลูกหญิงวิมลนาค” ปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาวรพงศ์ วันที่ 9 พฤศจิกายน ร.ศ. 128 ว่า
“นางดาราโทรเลขลงมาบอกว่า รูปพระเจ้ากาวิโรรสสุริวงษ รูปดเจ้าอุษา และรูปพระเจ้าอินทรวิไชยานน รูปเจ้าเทพไกรสร รูปลูกหญิงวิมลนาคที่ติดอยู่ที่เรือนในวัง อยากให้เอามาติดที่เรือนใหม่ให้เรียกกุญแจเรือนที่คุณท้าวศรีสัจจา”
เมื่อเจ้าดารารัศมีได้ฉายพระรูปพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสีส่งขึ้นไปถวายพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ก็ทำให้พระองค์ทรงปลื้มปิติเป็นอย่างมาก พระองค์โปรดให้มีการจัดขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ไปรับพระรูปที่จวนของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ข้าหลวงพิเศษที่เชียงใหม่ ปรากฏในบันทึกของพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตความว่า
“…พระเจ้านครเชียงใหม่ เจ้าอุปราช เจ้านายบุตรหลานหลายคนมาพร้อมกันที่ที่พักข้าพระพุทธเจ้าๆ ได้เชิญพระรูปให้ดูพร้อมกัน พระเจ้านครเชียงใหม่ดูพระรูปแล้วกลั้นน้ำตาไม่ได้ คิดถึงเจ้าทิพเกสร (พระมารดาเจ้าดารารัศมี-ผู้เขียน) พูดว่าพระขนงนั้น ‘แม่แม่เฒ่าทีเดียว’ เจ้านายตนอื่นอยู่ข้างปิติยินดีเชยชมกันมาก…”
ส่วนขบวนแห่ก็จัดกันอย่างยิ่งใหญ่ บริเวณคุ้มเจ้าหลวงนครเชียงใหม่ก็ประดับประดาอย่างสวยงาม บรรดาเจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชการแต่งกายเต็มยศ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ สวมครุยและชฎาขึ้นรับพระรูปบนเกยแล้วเข้ากอดพระรูปอย่างปลื้มปริ่ม จากนั้นในเวลาบ่ายมีการเชิญพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ที่คุ้มหลวง
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ยังได้จัดงานเลี้ยงมื้อค่ำ เชิญบรรดากงสุลและฝรั่งในเชียงใหม่อีกด้วย และจัดให้มีการละเล่น เช่น มวย ละคร บ่อนป๊อก มีการโปรยผลกัลปพฤกษ์หรือการโปรยทาน ซึ่งฉลองสมโภชกันถึง 4 วัน 4 คืน
อ้างอิง :
จิรวัฒน์ อุตตมะกุล. (2548). พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.
จิรชาติ สันต๊ะยศ. (2551). พระราชชายาเจ้าดารารัศมี. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ตุลาคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post 2 ตุลาคม 2432 วันประสูติพระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาเจ้าดารารัศมี appeared first on Thailand News.