ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เปลี่ยนโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เน้นมาตรการ DMHT

เปลี่ยนโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เน้นมาตรการ DMHT

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย พบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก ส่งผลให้ภาพรวมมีความปลอดภัยมากขึ้นผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงปกติ ซึ่งไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกว่าประสบความสำเร็จในการรับมือโควิด-19 จากอัตราการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตระดับต่ำ โดยปัจจุบันประชากรมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีแผนดูแลโควิด-19 หลังเป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งการเฝ้าระวัง แนวทางการรักษา และการจัดการวัคซีน ภายใต้ พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558 โดยใช้กลไก คณะกรรมการโรคติดต่อทั้งในระดับชาติ และระดับพื้นที่ การปรับเปลี่ยนการรักษากรณีติดเชื้อ กรณีติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องกักตัว แต่ให้เน้นมาตรการ DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัย-ล้างมือ

สำหรับการรักษายังคงรักษาฟรีตามสิทธิ สำหรับผู้ป่วยสีเขียว (ไม่มีอาการ และมีอาการน้อยแต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยง) เน้นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (เจอ แจก จบ) โดยผู้ติดเชื้อสามารถรับบริการทางการแพทย์ในการรักษาโรคโควิด-19 ทางระบบออนไลน์ หรือ Telemedicine ผ่าน 4 แอปพลิเคชั่น ได้แก่ Clicknic Totale Telemed MorDee และ Good Doctor ซึ่งจะมีบริการส่งยาฟรีถึงบ้าน

สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง หรือปอดบวมต้องรับออกซิเจนจะเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยใน ในกรณีที่ผู้ติดเชื้ออาการทรุดอย่างรวดเร็ว(อาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง) สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย (ซึ่งแตกต่างจาก UCEP ทั่วไปที่รักษาได้ 72 ชั่วโมงจากนั้นต้องส่งไปรักษาตามสิทธิ) ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

การฉีดวัคซีนประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. กำหนด โดยกลุ่มเฉพาะกลุ่ม 608 “ควร” ฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4-6 เดือน ได้ตามความสมัครใจ กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่าจะคงสถานะเฝ้าระวังไปอีก 1 ปี (ต.ค.65- ก.ย.66) โดยคาดว่าปี 2566 อาจมีการระบาดเกิดขึ้นตามฤดูกาลคล้ายไข้หวัดใหญ่ อาจพบการติดเชื้อเป็นระยะในบางพื้นที่ 1-3 ครั้งต่อปี ส่วนระบบเฝ้าระวังต่อจากนี้ใช้ 4 ระบบในการติดตามข้อมูลการระบาด ดังนี้ ยังมีการติดตามข้อมูลอย่างเป็นระบบ ประกอบด้วย 4 ระบบ คือ การเฝ้าระวังผู้ป่วยใน รพ. Hospital Base ซึ่งมีการดำเนินการแล้ว, การเฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน เช่น โรงเรียน ตลาด ชุมชน ศูนย์พักพิง มีทีมไปสอบสวนโรค และประกาศพิจารณาโรคระบาดเฉพาะพื้นที่, การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเฉพาะนอก รพ. เช่น โรงเรียน สถานศึกษา บ้านพักคนชรา ผับบาร์ แรงงานต่างด้าว และการเฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยขอให้มั่นใจว่าระบบรัดกุมได้มาตรฐานสากลสามารถตรวจจับการระบาดควบคุมโรคได้ทันท่วงที

ข้อมูล 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More