ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“ปาลเลอกัวซ์” พระอาจารย์ของ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ผู้กระชับความสัมพันธ์สยาม-ตะวันตก

“ปาลเลอกัวซ์” พระอาจารย์ของ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ผู้กระชับความสัมพันธ์สยาม-ตะวันตก

ภาพนักแสดงปาลเลอกัวซ์ ในภาพยนต์บุพเพสันนิวาส ๒ (ภาพจาก youtube เถลิงเปิดตัว แถลงข่าว กลางกรุง | บุพเพสันนิวาส ๒ GDH)

การแสวงหาอาณานิคมที่รุนแรงมากขึ้น เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนช่วงศตวรรษที่ 19 ตรงกับในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จึงจะสังเกตได้ว่านับตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ทัศนคติของชาวไทยได้เกิดความหวาดระแวงต่อชาติตะวันตกที่รุนแรงมากขึ้น ดังจะเห็นความขัดแย้งระหว่างมิชชันนารีกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ที่มีผลให้ให้มิชชันนารีถูกขับออกนอกประเทศ

การล่าอาณานิคมและเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตกได้ทำให้พระเจ้าแผ่นดินในช่วงต้นรัตนโกสินทร์เริ่มเห็นความสําคัญที่จะพัฒนาประเทศให้มีความทัดเทียมกับชาติตะวันตก เพื่อที่จะไม่ให้ชาติตะวันตกใช้ข้ออ้างว่าจะนำพาประเทศที่ล้าหลังไปสู่ความเจริญ

การปรับปรุงประเทศเริ่มมีขึ้นอย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และปรากฏผลชัดเจนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยทั้งสองพระองค์ทรงใช้พวกมิชชันนารีเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับชาติตะวันตกทั้งหลาย เพื่อนำวิทยาการความรู้ต่างๆ เข้ามาในประเทศ

สาเหตุหนึ่งที่พระองค์ทรงเลือกใช้พวกมิชชันนารีก็คือ ความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อกันระหว่างพวกมิชชันนารีกับพระเจ้าแผ่นดิน อันมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่คราวที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส ส่วนมิชชันนารีปาลเลอกัวซ์ยังมิได้เป็นพระสังฆราช

ในขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎทรงกำลังศึกษาวิทยาการต่างๆ อยู่ เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงความสามารถรอบรู้ของปัลเลอกัวซ์ จึงได้ทรงขอให้ช่วยสอนวิทยาการต่างๆ เพิ่มเติม คือ ภูมิศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ดาราศาสตร์, ภาษาฝรั่งเศส และภาษาลาติน ซึ่งการเยี่ยมเยียนไปมาระหว่างกันได้สร้างความเข้าใจและมิตรภาพขึ้นมา

ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงได้แจ้งแก่พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ว่า บัดนี้ไม่มีอุปสรรคอันใดขัดขวางมิให้พวกมิชชันนารีที่ถูกเนรเทศไปเกือบสองปีแล้ว กลับเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1851 (พ.ศ. 2394) มิชชันนารีที่ถูกเนรเทศทั้งหมดจึงได้กลับเข้ามาในประเทศอีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่งวันที่ 21 กุมพาพันธ์ ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้พระสังฆราชปัลเลอกัวมาเข้าเฝ้า ในระหว่างที่พระสังฆราชปาลเลอกัวซ์เข้าเฝ้าและมีการสนทนากัน พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่าทรงอนุญาตให้พวกคริสตังทุกคนไม่ต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยาอีกต่อไป รวมไปถึงการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างเป็นทางการว่า

“การเบียดเบียนศาสนาเป็นวิธีการไม่ดี เราเห็นควรปล่อยให้ทุกคนมีเสรีภาพที่จะถือศาสนาใดๆ ที่ตนสมัคร เมื่อพวกท่านสอนให้คนเข้าศาสนาที่ใดมีจำนวนพอสมควร ก็จงบอกให้เราทราบ เราจะจัดให้เขามีหัวหน้าคริสตัง มิให้พวกเจ้าเมืองรังแกเขาได้”

ดังนั้น การต่อต้านศาสนาคริสต์ในสยามจึงได้เงียบสงบไป และทางมิชชันนารีกับพระเจ้าแผ่นดินยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผลจากการที่มีความสัมพันธ์ที่ดีนี้จึงเป็นเหตุให้ได้รับความไว้วางใจจากทางพระเจ้าแผ่นดินให้นำเอาวิทยาการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ เนื่องจากไม่ได้จำกัดการเดินทางอีกต่อไป

การปรับปรุงประเทศจึงได้พัฒนาเรื่อยมา โดยมีการปฏิรูปสำคัญที่ส่งผลต่อทัศนคติชาวไทยคือ “การศึกษา” อันจะทำให้ชาวไทยมีความเข้าใจศาสนาคริสต์และคริสตังมากขึ้น การปฏิรูปการศึกษานี้ได้เปิดโอกาสให้ราษฎรสามัญสามารถเข้ารับการศึกษาแบบใหม่นี้ได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะราชวงศ์หรือข้าราชการผู้ใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิที่จะศึกษาในโรงเรียนรัฐบาล ดังที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า

“…เจ้านายตั้งแต่ราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไปตลอดถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนเสมอกันไม่ว่าเจ้าว่าขุนนางว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดขึ้นให้เจริญจงได้…”

ผลจากการปรับปรุงระบบการศึกษาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ไม่ใช่เพียงแค่อ่านออกเขียนได้ หรือได้รับความรู้ต่างๆ แต่ยังช่วยในเรื่องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม ระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติที่อพยพมาทั้งที่มาก่อนหน้าและที่เพิ่งมาถึง ซึ่งตามโรงเรียนจะมีหลักสูตรให้เรียนทั้งภาษาไทยและเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทย ทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกว่าตนไม่ได้แปลกแยกไปจากชาวไทยส่วนชาวไทยที่ได้รับการศึกษา หรืออย่างน้อยได้ติดต่อกับชาวตะวันตกในระดับชั้นต่างๆ เริ่มมีความนิยมและชื่นชมชาวตะวันตกว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้มีความเจริญหรือศิวิไลซ์

อ้างอิง :

เคียว อุค ลี. (2539). การเผยแพร่ศาสนาคริสต์กับการตอบสนองของชาวพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างค.ศ. 1511-1990. สารนิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำนักงานสารสาสน์. (2510). ประวัติพระศาสนจักรสากลและพระศาสนจักรในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สํานักงานสารสาสน์.

เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ. (2555). รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปสังคมสยาม และหมายเหตุมรกดความทรงจ าของโลก. กรุงเทพฯ : สยามความรู้

เสรี พงศ์พิศ. (2527). คาทอลิกกับสังคมไทย : สี่ศตวรรษแห่งคุณค่าและบทเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโกมลคีมทอง.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 กรกฎาคม 2565

https://www.silpa-mag.com

The post “ปาลเลอกัวซ์” พระอาจารย์ของ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ผู้กระชับความสัมพันธ์สยาม-ตะวันตก appeared first on Thailand News.