แนวคิดเรื่องเขตแดนสมัยใหม่ จากภาพเขียนภายในพระอุโบสถ “วัดเบญจมบพิตร”
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอกและวัดประประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือเป็นวัดสำคัญในกรุงเทพฯ ที่ชาวไทยรู้จักกันดี รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะรู้จักในชื่อ “The Marble Tample” จากการที่พระอุโบสถประดับด้วยหินอ่อนอย่างดีจากอิตาลี จึงเป็นวัดที่มีทั้ง มูลค่า และคุณค่า อย่างมหาศาลในแง่ของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและมรดกทางภูมิปัญญาที่สำคัญยิ่งของไทย
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม นอกจากจะเป็นวัดไทยที่วิจิตรงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบไทยจารีตโดยการออกแบบของ “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” หรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระอารามหลวงแห่งนี้ยังถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายโลกทัศน์ของชนชั้นนำสยามในยุคเปลี่ยนผ่านจากรัฐจารีตแบบโบราณมาสู่รัฐสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์ในยุครัชกาลที่ 5 เพราะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ถูกบรรจงใส่รายละเอียดความเป็นสถาปัตยกรรมไทยอย่างปราณีตและสร้างร่วมสมัยกับช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครอง ทรงเริ่มนโยบายรวมศูนย์พระราชอำนาจที่กระจัดกระจายให้เข้าสู่ส่วนกลางเพื่อสร้างรัฐสมัยใหม่เรียกว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายเรื่อง “แนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร” ในหนังสือ การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม (มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2550) ไว้ว่า ถ้าพิจารณาเฉพาะในงานสถาปัตยกรรมแบบจารีตจะพบว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงใส่พระทัยในการสร้างงานสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนามากที่สุดเพียงแห่งเดียวคือวัดเบญจมบพิตร ซึ่งได้เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2442 จวบจนสิ้นสุดรัชกาลก็ยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจากเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการก่่อสร้างที่ยังเหลืออยู่จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเข้ามาดูแลในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดแทบจะทุกขั้นตอนในการออกแบบ…
ทรงมีจดหมายกล่าวชมเชยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ไว้ตอนหนึ่งว่า
“….ฉันไม่ได้นึกจะยอเลย แต่อดไม่ได้ ว่าเธอเป็นผู้นั่งอยู่ในหัวใจฉันเสียแล้วในเรื่องทำดิไซนเช่นนี้….”
ข้อความในจดหมายย่อมยืนยันได้เป็นอย่างดีว่างานออกแบบของเจ้าฟ้าพระองค์นี้สามารถถ่ายทอดแนวคิดต่าง ๆ ขององค์รัชกาลที่ 5 ได้อย่างสมบูรณ์ตรงพระราชประสงค์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ งานออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงเท่ากับเป็นเสมือนการศึกษาความคิดในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมขององค์รัชกาลที่ 5 ด้วยในอีกทางหนึ่ง
…งานสถาปัตยกรรมวัดเบญจมบพิตรก็เหมือนกระจกบานใหญ่ที่สุดที่สามารถสะท้อนความคิดและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้กระบวนการสถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราช…จากการศึกษาพบว่าวัดเบญจมบพิตรได้สะท้อนแนวคิดดังกล่าวอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวพระอุโบสถ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการออกแบบวางผังทางสถาปัตยกรรม ลวดลายประดับต่าง ๆ บนหน้าบัน หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูปภายในพระระเบียง จนอาจกล่าวได้ว่าพระอุโบสถแห่งนี้ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามได้ทำหน้าที่สะท้อนอุดมคติของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด…
ภาพเขียนภายในพระอุโบสถ : ภาพสะท้อนอุดมคติเรื่องพื้นที่และเขตแดนสมัยใหม่
แม้ว่าภาพเขียนผนังทั้ง 8 ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรจะมิใช่ภาพที่เกิดจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยตรง อีกทั้งยังถูกเขียนขึ้นภายหลังเป็นเวลามากแล้วก็ตาม แต่ภาพทั้งหมดก็เกิดขึ้นในพระดำริของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้นำทางความคิดที่สำคัญที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้หนึ่ง ดังนั้นความคิดของพระองค์ก็เปรียบเสมือนภาพสะท้อนความคิดความเชื่อของชนชั้นนำสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นอย่างดี
ภาพเขียนทั้ง 8 ช่อง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกำหนดให้เขียนเป็นภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญ 8 องค์ โดยกำหนดให้เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2485 ภาพสถูปเจดีย์ทั้ง 8 องค์ที่กำหนดขึ้นให้เขียนขึ้นมีดังนี้ พระมหาธาตุเมืองละโว้ พระธาตุพนม พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระเจดีย์ชัยมงคลพระนครศรีอยุธยา พระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัย พระปฐมเจดีย์ พระมหาธาตุหริภุญชัย และพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียง ภาพเจดีย์ที่ถูกวาดขึ้นนั้นถือเป็นจอมเจดีย์ที่สำคัญที่สุดในประเทศสยาม ตามการอธิบายแบบรัฐชาติสมัยใหม่สมัยรัชกาลที่ 5
ประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับมุมมองความคิดในเรื่องพื้นที่ถือครองและขอบเขตของพระราชอาณาจักรตามอุดมคติแบบใหม่ที่ยึดขอบเขตดินแดนตามที่เป็นจริง มิใช่ขอบเขตพระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์มีอำนาจเหนือเพียงแต่ในนามเช่นในอดีต กล่าวคือภาพเขียนสถูปเดดีย์ทั้ง 8 เป็นภาพสะท้อนการถือครองพื้นที่ในอุดมคติใหม่ของสยามที่แสดงขอบเขตชัดเจนตามที่เป็นจริงเชิงประจักษ์ตามระเบียบโลกสมัยใหม่
ภาพเขียนในพระอุโบสถ จากภาพคือพระปฐมเจดีย์ (ซ้าย) และพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (ขวา) (ภาพจากหนังสือ “การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม”, มติชน)
ซึ่งหากลองย้อนกลับไปพิจารณาบริบททางสังคมสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่า ขอบเขตประเทศสยามยังเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนและแน่นอนดังในปัจจุบัน สถูปเจดีย์บางองค์เช่นพระธาตุหริภุญชัยที่เมืองลำพูนยังถือว่าเป็นสถูปเจดีย์ที่อยู่ในเขตประเทศราชฝ่ายเหนือของสยาม ซึ่งยังมิได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสยามอย่างเต็มที่ พระธาตุหริภุญชัยของลำพูนยังถือว่าอยู่ในดินแดนที่เป็นเมืองใน “มณฑลลาวเฉียง” หรือแม้กระทั่งพระธาตุพนมเองก็คือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์ในเมืองนครพนมซึ่งเป็นเมืองอยู่ใน “มณฑลลาวพวน” ซึ่งหัวเมืองเหล่านี้ยังถือกันมาจนสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็น เมืองลาว
ประเทศราชหล่านี้ในอุดมคติเดิมของสยามไม่ได้ถือว่าเป็นราชอาณาจักรสยาม แต่ถือว่าเป็น “เมืองลาว” ที่ขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ดังที่ยังมีหลักฐานปรากฎอยูในอักขราภิธานศัพท์ของหมดบรัดเลย์กล่าวไว้อย่างชัดเจน แต่ด้วยอุดมคติในเรื่องพื้นที่และเขตแดนอย่างใหม่ภายใต้อุดมคติรัฐชาติเรื่องรัฐชาติแบบตะวันตก ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติและดินแดนขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงของพระราชอำนาจอันเป็นไปตามกฎเกณฑ์สมัยใหม่
พระราชประสงค์ในการสร้างความกลมกลืนทางเชื้อชาติและดินแดนดังกล่าว ยังปรากฎในเห็นจากการที่ทรงเปลี่ยนชื่อมณฑลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ลาว เป็นใช้ชื่อตาม ทิศ แทนเช่น “มณฑลลาวเฉียง” กลายเป็น “มณฑลพายัพ” และ “มณฑลลาวพวน” กลายเป็น “มณฑลอุดร” ซึ่งเป็นกุศโลบายในการสร้างเอกภาพทางเชื้อชาติและดินแดนขึ้นให้กลายมามีฐานะที่อยู่ใต้พระราชอาณาจักรสยามเหมือนกันหมด มีแต่ไทย ไม่มีลาว
ด้วยเหตุนี้ ภาพเขียนสถูปเจดีย์ทั้ง 8 ในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรจึงเป็นผลผลิตจากแนวคิดและอุดมคติดังกล่าวที่สืบเนื่องมาโดยลำดับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพสถูปเจดีย์ทั้งหมดก็เป็นการสะท้อนอุดมคติเรื่องพื้นที่และอาณาเขตที่จริงตามความเป็นจริงและตามกฎระเบียบอย่างใหม่ของโลกสมัยใหม่ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระราชอำนาจและพระราชอาณาเขตของสยามภายใต้พระราชอำนาจของพระองค์ว่า ทิศเหนือมีพระราชอำนาจครองคลุมดินแดนประมาณไหน ทิศใต้ถึงประมาณไหน และทิศตะวันออกประมาณไหน โดยใช้สัญลักษณ์สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญของท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นตัวบ่งชี้
ตัวอย่างในการใช้งานศิลปะและสถาปัตยกรรมทางศาสนาเป็นตัวกำหนดขอบเขตดินแดนสยามเห็นได้ชัดจากกรณีของวัดชลธาราสิงเห (วัดพิทักษ์แผ่นดินไทย) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2452 ซึ่งเหตุการณ์นั้นเป็นผลมาจากที่อังกฤษพยายามอ้างสิทธิ์ปกครองเหนือจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน แต่รัชกาลที่ 5 ได้ยกหลักฐานทางศิลปะและสถาปัตยกรรมขึ้นโต้แย้งว่า
“….ศิลปะในวัด และวัดเป็นสถานที่ของพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาประจำชาติของชาวสยาม แผ่นดินนี้ ก็ควรเป็นสยามประเทศ…”
จากหลักฐานทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมได้ทำให้อังกฤษต้องยอมรับในที่สุด และจึงได้มีการกำหนดเขตแดนใหม่โดยนำเอาแม่น้ำโกลก ตรงบริเวณที่ไหลผ่านตากใบ (แม่น้ำตากใบ) เป็นเส้นแบ่งสำคัญ
ซึ่งในกรณีภาพเขียนของวัดเบญจมบพิตรนี้ก็เป็นการสะท้อนแนวความคิดในลักษณะเช่นเดียวกันคือใช้งานสถาปัตยกรรมทางศาสนาเป็นหลักฐานยืนยัน (ส่วนหนึ่ง) ถึงสิทธิเหนือดินแดนและอาณาเขตประเทศสยาม ซึ่งแม้ว่าในกรณีภาพเขียนวัดเบญจมบพิตรจะมิได้เป็นการกำหนดชี้ชัดลงไปในรายละเอียดที่ถูกต้องแบบแผนที่ก็ตาม แต่นั่นก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงมุมมองของชนชั้นนำสยามในยุคนั้น ที่มีต่อโลกและความเป็นประเทศว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากน้อยเพียงใด และแสดงให้เห็นการออกแบบภายในของพระอุโบสถวัดเบญฐจมบพิตรแห่งนี้ได้เป็นตัวแบบที่ดีที่สุดที่สะท้อน จักรวาลทัศน์สมัยใหม่ และ อุดมคติเรื่องรัฐสมัยใหม่ ของชนชั้นนำสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อยู่ภายใต้แนวคิดแบบรวมศูนย์ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งแนวคิดแบบใหม่ดังกล่าวได้เข้ามาแทนที่ จักรวาลทัศน์แบบไตรภูมิ และแนวคิดการเมืองแบบ พระเจ้าราชาธิราช ที่เคยถูกสะท้อนในงานสถาปัตยกรรมแบบจารีตในอดีตมาแล้วนั่นเอง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2565
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post แนวคิดเรื่องเขตแดนสมัยใหม่ จากภาพเขียนภายในพระอุโบสถ “วัดเบญจมบพิตร” appeared first on Thailand News.