พระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสยอมทำสัญญา คืน “ตราด” ให้สยาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)
ในวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 หรือในปีพุทธศักราช 2450 รัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส ได้ตกลงทำสัญญาแบ่งปันดินแดนกันขึ้นใหม่ ตามสัญญาฉบับนี้มีใจความว่า “ฝรั่งเศสยอมคืนจังหวัดตราดและเกาะทั้งหลาย ภายใต้แหลมลิงลงไปจนถึงเกาะกูดให้แก่รัฐบาลสยาม”
ก่อนที่จะมีการรับส่งดินแดนให้แก่กันตามความในสัญญาข้อนี้ รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายจึงแต่งตั้งให้มีข้าหลวงออกไปส่งและรับมอบดินแดนคืนต่อกัน ณ จังหวัดตราด โดยรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้กำหนดว่า การรับและส่งคืนดินแดนให้แก่กันนั้นจะกระทำกัน ณ จังหวัดตราด ในวันที่ 6 กรกฎาคม ร.ศ. 126 หรือในปีพุทธศักราช 2450
เหตุที่เป็นปีพุทธศักราชเดียวกัน แต่ระยะเวลาจากวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 ถึง 6 กรกฎาคม ร.ศ. 126 ห่างกันไม่ถึง 4 เดือน เพราะปีรัตนโกสินทรศก 125 ได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449-วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2450 ส่วนปีรัตนโกสินทรศก 126 จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 เมษายน พ.ศ. 2450-วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2451 ฉะนั้นหากนับตามปีรัตนโกสินทรศกเป็นที่ตั้ง ปีนี้ก็ย่อมต้องถือว่าก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 แห่งหนังสือสัญญาที่ฝรั่งเศสทำขึ้นว่าด้วยการคืนจังหวัดตราดให้กับสยามประเทศ หลังจากที่ได้ครอบครองมาตั้งแต่ ร.ศ. 112
ในช่วงเวลาที่มีการรับและส่งคืนจังหวัดตราดนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมิได้ประทับอยู่ในประเทศไทย หากแต่เสด็จฯ เยือนทวีปยุโรปเป็นครั้งที่ 2 นัยหนึ่งเพื่อรักษาพระองค์ และอีกนัยหนึ่งเพื่อลงนามในหนังสือสัญญาฉบับดังกล่าวกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส ดังบันทึกจดหมายเหตุที่พันเอก หม่อมนเรนทรราชา บันทึกไว้ในการเสด็จเยือนทวีปยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า
“วันที่ 21 มิถุนายน 126 เวลาเช้า 5 โมง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ให้มงสิเออร์ปิชง เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ นำเครื่องอิศริยาภรณ์มาถวาย เพื่อได้พระราชทานแก่เจ้านายแลข้าราชการ คือ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ วรพินิต เลยองโดเนอร์ ชั้นที่ 1
หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์ กฤษฎากร เลยองโดเนอร์ ชั้นที่ 2
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เลยองโดเนอร์ ชั้นที่ 3
หม่อมนเรนทรราชา เลยองโดเนอร์ ชั้นที่ 4
ส่วนเจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์นั้น ได้รับเครื่องอิศริยาภรณ์ฝรั่งเศสชั้นสูงอยู่แต่เดิมแล้ว ประธานาธิบดี จึงให้ซองบุหรี่ทองคำประดับเพ็ชร เปนที่รลึกซอง 1
อนึ่งวันนี้รัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศส ได้ตกลงแลกเปลี่ยนหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกัน เปนสัมพันธมิตรสนิทยิ่งขึ้น”
อันสอดคล้องกับบันทึกประกอบพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
“ในเวลาเมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยุโรปนั้น รัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสปรึกษาหาทางที่จะปรองดองระงับเหตุบาดหมางกันมาแต่ก่อน ด้วยเรื่องคนในบังคับฝรั่งเศส และเรื่องเขตแดน ได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันเมื่อวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 ฝ่ายไทยยอมยกเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และเมืองศรีโสภณ อันเป็นหัวเมืองเขมรให้แก่ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสยอมให้คนชาวตะวันออกในบังคับฝรั่งเศสอยู่ในอำนาจศาลไทย และยอมคืนเมืองตราดให้แก่ไทยกับทั้งยอมถอนทหารที่ได้มาตั้งอยู่ในเมืองจันทบุรีถึง 12 ปีนั้นกลับไปไม่ล่วงล้ำเกี่ยวข้อง แดนไทยดังแต่ก่อน หนังสือสัญญานี้ได้รับอนุมัติในปาลิเมนต์ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ร.ศ. 126” [1]
เวลาเมื่อตกลงกันได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในยุโรป จึงมีพระราชประสงค์ จะเสด็จไปเยี่ยมเยือนประชาชนชาวเมืองตราด และเสด็จต่อไปยังเมืองจันทบุรีในคราวเดียวกัน ดังพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า
“ความคิดจรูญ (พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร-กองบรรณาธิการ) [2] มาต่อไปอีกว่าควรจะไปเมืองตราศ ความคิดเขากัดแก้มเข้าทีมาก จึงเหนพร้อมกันว่าเข้าทีดีนัก ลงมือร่างโทรเลขแต่ปาริศจะมาส่งถึงเธอ [สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพ] ที่นี่ ฉัน [รัชกาลที่ 5] เหนอยู่ว่าคงจะเปนความลำบากชิงกันกับการรับรองที่กรุงให้เธอพว้าพวัง แต่ไม่ควรจะให้เปนการปรกาศ ให้เปนแวะเยี่ยมคือขึ้นไปมีคนประชุมรับพร้อมกันแล้วสปิชอไรก็กลับเท่านั้น เหนเปนเข้าทีนักหนา เปนเราไปแลกเอาคืนมาได้ก็รีบแวะไปทีเดียว ฝรั่งเศสจะเหนเปนดิมอนสเตรชันอย่างไรก็ไม่ได้ เพราะเปนการแลกเปลี่ยนกันโดยดี เมื่อคิดเพลินไปถึงต้องแวะเกาะกรดาดเก็บหอยแลลูกกรบวย” [3]
นอกจากนี้แล้วยังมีพระราชหัตถเลขาถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ที่ทรงส่งเป็นประจำทุกวัน ดังนี้
“พระราชหัตถเลขาฉบับที่ 40
คืนที่ 184
ในระหว่างทางจากปารีสมาลูเซิน
วันพฤหัศบดี 26 กันยายน ร.ศก 126
…
แลอยากจะขยับเลื่อนวันในอิตาลีให้น้อยเข้า ครั้นกะวันมีเหลือเกือบจะพอไถลไปเมืองตราดแลเมืองจันท บุรีได้ จึงได้คิดตัดอิยิปต์เข้าไป อิกตอนหนึ่งก็ได้พอดี ความประสงค์เช่นนี้ เพื่อจะตัดเวลาที่อยู่เปล่าๆ รำคาญใจให้น้อยลง ทั้งจะได้ไปเมืองตราดให้พบกับราษฎรทัน ใจด้วย ได้ตอบโทรเลขชาวเมืองตราดที่มีมาเมื่อรับเมือง ว่าจะไปเยี่ยม ถ้าได้ไปเสียในเวลากลับนี้ดูราษฎรจะเปนที่ยินดีว่าพ่อรักใคร่เอื้อเฟื้อเมืองแถบนั้นไม่ได้ไปมาสิบสามสิบสี่ปีแล้ว แลไม่เคยได้รับเสมา [4] แจกเหมือนเมืองอื่นเลย ถ้าได้ไปแจกเสมา 2 เมืองนั้นก่อนจะเปนที่พอใจ เปนอันมาก” [5]
จากพระราชประสงค์ที่จะแวะเยี่ยมราษฎรที่เมืองตราดและจันทบุรี ทำให้หมายกำหนดการเสด็จนิวัตพระนครของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กล่าวคือ ในคราวแรกเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระ ราชดำเนินถึงปีนังโดยเรือซักเซนแล้ว พระองค์จะทรงเปลี่ยนเรือพระที่นั่งมาเป็นเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล้วกลับ เข้าสู่พระนครในทันที แต่เมื่อมีหมายรับสั่งที่จะแวะเยี่ยมราษฎรที่เมืองตราดก่อน พระองค์ก็ทรงงดหมายกำหนดการในบางส่วนออกไป เพื่อร่นวันเวลาถึงปีนังให้เร็วเข้า เพื่อจะเพิ่มหมายกำหนดการในการแวะเยี่ยมราษฎรที่เมืองตราดและจันทบุรี แล้วจึงค่อยเสด็จนิวัตพระนคร
ในการจัดเรือพระที่นั่งมหาจักรี ออกไปรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวนี้ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงนิพนธ์เรื่องการรับเสด็จครั้งนี้ ความว่า [6] (จัดย่อหน้าใหม่-กองบรรณาธิการ)
“เมื่อเรือพระที่นั่งจักรี จะออกไปรับเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2450 ที่เกาะปีนังนั้น เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในที่มีหน้าที่ถวายพระราชปฏิบัติอยู่ในพระที่นั่งอัมพรสถาน ได้เสด็จไปกับเรือพระที่นั่งจักรีเป็นการส่วนพระองค์ ข้าพเจ้า [หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล] อยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล ราชเลขานุการิณี จึงเลยได้ไปตามเสด็จในครั้งนั้นด้วยเมื่อมีอายุได้ 12 ปี จำได้ว่าเรือพระที่นั่งจักรีลำเก่านั้นกว้างใหญ่ มีม่านกั้นกลางลำเป็นฝ่ายหน้ากับฝ่ายใน สำหรับข้าพเจ้าและหญิงเหลือนั้น วิ่งเข้าออกได้ตลอดลำเพราะเป็นเด็ก จึงรู้สึกสนุกนัก
เวลากินเวลานอนก็เข้าไปอยู่ข้างใน พอคิดถึงเสด็จพ่อก็วิ่งไปเฝ้าได้ในข้างหน้าคือทางหัวเรือ ถ้ามีคลื่นก็นอนเมาไปเรื่อยๆ วันที่ 6 พฤศจิกายน เวลาราว 18 น. เรือเมล์ชื่อ ‘แซกซั่น’ ซึ่งเสด็จมาถึงเกาะปีนังนั้น เรายืนเกาะแคมเรือพระที่นั่งจักรี ดูการรับเสด็จกันเป็นแถวด้วยความตื่นเต้น เพราะเห็นเรือลำใหญ่อย่างมโหฬาร ในเวลานั้นเปิดไฟสว่างจ้าลอยลำเข้ามาจอดในอ่าวเดียว กัน ผู้คนบนเรือนั้นกำลังเดินพลุกพล่าน ทางเรือเราก็เห็นเจ้านายผู้ชาย มีเสด็จพ่อ [สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ] และกรมหลวงชุมพรฯและกรมหลวงสิงหวิกรมฯ [พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ] และข้าราชการ 2-3 คนแต่งเต็มยศ ลงเรือกรรเชียงออกจากเรือพระที่ นั่งจักรีไปยังเรือแซกซั่นนั้น เสียงปืนยิงสลุตทั้งบนฝั่ง ทั้งจากเรือพระที่นั่งจักรีดังกึกก้อง เราเด็กๆ ทั้งตกใจทั้งตื่นเต้นราวกับหัวใจจะกระโดดออกมาข้างนอก เสียงสลุตสงบแล้วราว 1 ชั่วโมง เรือกรรเชียงพระที่นั่งก็มาถึง จำได้ว่าเห็นพระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายที่ตามเสด็จทรงสดใสพระพักตร์แดงๆ กันทุกพระองค์ เสด็จเข้าประทับในห้องเสวย เบิกฝ่ายข้าราชการที่ไปรับเสด็จเข้าเฝ้ากันทั่วถึง
เรือออกข้ามทะเลไปเมืองจันทรบุรี และเมืองตราด ซึ่งได้คืนมาจากคดี ร.ศ. 112 ใหม่ๆ แล้วจึงเสด็จกลับกรุงเทพพระมหานคร ในระยะทางกลางทะเลนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระ ราชทานของฝากแก่ผู้ไปรับเสด็จแทบทุกคน ข้าพเจ้าและหญิงเหลือ [หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ดิศกุล] ก็ได้รับพระราชทานเสมา ทรงผูกพระราชทานเอง”
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยือนราษฎรที่เมืองตราดและจันทบุรี ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ พระยามหาอำมาตยาธิบดี ก็ได้บันทึกไว้ในหนังสือเรื่องจันทบุรีเช่นกัน ความว่า [7]
“เมื่อรัฐบาลไทย ได้รับมอบหมายจังหวัดตราด คืนจากรัฐบาลฝรั่งเศสกลับมาเป็นพระราชอาณาเขตตามเดิมในปี พ.ศ. 2450 (ร.ศ.126) นั้นแล้ว เป็นระหว่างเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง) กำลังเสด็จประพาสอยู่ในยุโรป เมื่อความได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จมาประพาสเยี่ยมชาวจังหวัดตราดและจันทบุรี ก่อนที่จะเสด็จกลับคืนสู่พระมหานคร เมื่อการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมที่จังหวัดตราดเป็นการเสร็จแล้ว จึงได้เลยเสด็จมาประพาสจันทบุรีอีกวาระหนึ่ง
การเสด็จประพาสที่จังหวัดจันทบุรี ทางฝ่ายบ้านเมืองได้ดำเนินการจัดรับเสด็จดังนี้ คือวันที่ 14 พฤศจิ กายน พ.ศ.2450 อันเป็นวันที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีกลับจากตราดถึงหน้าเกาะจุฬา ปากน้ำจันทบุรีนั้นเวลากลางคืน จึงประทับแรมในเรือพระที่นั่งที่ปากน้ำจันทบุรี ในคืนวันนั้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ (หัวแหลมตึกแดง) และที่บนยอดเขาแหลมสิงห์ เจ้าพนักงานได้ตบแต่งตามประทีป โคมไฟ และจุดดอกไม้เพลิงต่างๆ ถวายให้ทอดพระเนตรตลอดคืน”
ฉะนั้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน…(พ.ศ. 2549-กองบรรณาธิการ) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ เยี่ยม ราษฎรที่เมืองตราด ซึ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองตราดครั้งสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ท่าน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเหตุการณ์ในวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเมืองตราด ในจดหมายเหตุประกอบการเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปครั้งที่ 2 ความว่า
“…เวลาเช้า 3 โมงครึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องจอมพลทหารเรือธรรมดา เสด็จพระราช ดำเนินจากเรือพระที่นั่งมหาจักรีประพาสเมืองตราด โดยเรือกลไฟขนาดย่อม ซึ่งกรมทหารเรือได้จัดมาเตรียมไว้ถวาย เวลาเช้า 5 โมงถึงปากน้ำเมืองตราด เรือแล่นขึ้นไปตามลำน้ำ มีผู้ใหญ่บ้านและราษฎรลงเรือลอยลำเป็นแถวกันคอยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นอันมาก พอเรือพระที่นั่งผ่านมา ก็พากันโห่ถวายพระพรชัยมงคล และประโคมพิณพาทย์ แจวเรือตามขบวนหลวงขึ้นมา
เวลา 5 โมง 40 นาที เรือพระที่นั่งเทียบท่าต้นทางขึ้นไปเมืองตราด มีข้าราชการมณฑลจันทบุรี และข้าราช การประจำเมืองตราด แต่งเต็มยศขาวประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มาพร้อมกันเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากเรือพระที่นั่งสู่พลับพลาท่าเรือ พระสงฆ์ที่ประชุมพร้อมอยู่ในปะรำติดกับพลับพลานั้น สวดคาถาถวาย พระพรชัยมงคล ข้างฝั่งซ้ายตรงข้ามกับท่าเรือ มีพระสงฆ์ลงมาเจริญพระพุทธมนต์เหมือนกัน ครั้นพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้ว พระบริรักษภูธร [8] ผู้ว่าราชการเมืองตราด อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินโดยทางสถล มารค พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนเดินตามเสด็จต่อไป มีตำรวจภูธรนำหมวด 1 และตามเสด็จหมวด 1 เวลาเที่ยง 15 นาที ถึงจวนผู้ว่าราชการเมืองเสด็จประทับร้อน
เวลาเที่ยง 45 นาที เสด็จพระราชดำเนินจากจวนผู้ว่าราชการเมืองไปยังพลับพลา ซึ่งพระสงฆ์กับข้า ราชการฝ่ายบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์ มาชุมนุมคอยเฝ้าอยู่พร้อมกันเป็นอันมากล้น หลามตั้งแต่หน้าพลับพลาเต็มถนนตลอดไปจนถึงสนาม เมื่อเสด็จถึงพลับพลาแล้ว พระสงฆ์ประมาณ 150 รูปมีพระญาณวราภรณ์ [9] เจ้าคณะมณฑลจันทบุรี เป็นประธาน ประชุมพร้อมกันอยู่บนปะรำต่อกับพลับพลาข้างซ้ายนั้น เจ้าอธิการเจ้ง ว่าที่เจ้าคณะรองอ่านคำถวายพระพรชัย มงคล แทนพระสงฆ์เมืองตราด แสดงความปีติยินดีในการที่ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเมืองตราด”
นอกจากคำถวายชัยมงคลของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ก็ยังมีคำถวายชัยมงคลของประชาชนชาวเมืองตราดด้วยอีกฉบับหนึ่ง โดยมีความตอนหนึ่งว่า
“…จำเดิมแต่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ทราบความ ตามโทรเลขที่พระราชทานมาแต่ในเวลาเสด็จประพาสอยู่ ณ ประเทศยุโรป เมื่อ ณ เดือนกันยายน ทรงพระกรุณาดำรัสว่าจะเสด็จมา ให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เฝ้าถึงเมืองตราดนี้ ก็ได้พากันตั้งหน้าหมายตาคอยด้วยความยินดีที่จะได้ประสบมงคลสมัยอันนั้นอยู่ [10] แต่มิได้คาดเลยว่าจะทรงพระราชอุตสาหะ เสด็จมาในเวลาขากลับจากประเทศยุโรป ก่อนได้เสด็จคืนยังพระราชนิเวศน์มนเทียรสถานในพระราชธานี ที่ได้เสด็จจรจากพรากไปแล้วเป็นช้านาน ที่สู้ทรงทรมานพระองค์เสด็จมาทั้งนี้ จะพึงคิดเห็นได้แต่ด้วยเหตุอย่างเดียว คือว่าทรงพระเมตตาแก่ชาวเมืองตราด เหมือนอย่างบิดาที่มีความอาวรณ์ระลึกถึงบุตรแล้ว และมิได้คิดแก่ความลำบากยากเข็ญอย่างไร สู้ฝ่าฝืนทุรประเทศทางกันดารไป เพื่อแต่ที่จะได้เห็นหน้าบุตรเป็นที่ตั้ง…”
แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสตอบ มีความตอนหนึ่งว่า
“…ครั้นเมื่อเราได้รับโทรเลขจากเมืองตราดในเวลาที่เราอยู่ในประเทศยุโรป เป็นสมัยเมื่อเราได้มาอยู่รวมกันอีกจึงมีความยินดีอย่างยิ่ง มีความปรารถนาที่จะใคร่ได้มาเห็นเมืองนี้และเจ้าทั้งหลาย เพื่อจะได้ระงับความลำบากอันใดซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยความเปลี่ยนแปลง และเพื่อจะได้ปรากฏเป็นที่มั่นใจแก่เจ้าทั้งหลายว่าการทั้งปวงจะเป็นที่มั่นคงยืนยาวสืบไป เจ้าทั้งหลายผู้ที่ได้ละทิ้งภูมิลำเนาจะได้กลับเข้ามาสู่ถิ่นฐาน และที่ได้ละเว้นการทำมาหากินจะได้มีใจอุตสาหะทำมาหากินให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อนและทวียิ่งขึ้น ซึ่งเจ้าทั้งหลายคิดเห็นว่าเราเหมือนบิดาที่พลัดพรากจากบุตร จึงรีบมาหานั้นเป็นความคิดอันถูกต้องแท้ ขอให้เชื่ออยู่ในใจเสมอสืบไปในเบื้องหน้าดังเช่นที่คิดเห็นในครั้งนี้ ว่าเราคงจะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป ย่อมยินดีด้วยในเวลามีความสุข และจะช่วยปลดเปลื้องอันตรายในเวลามีภัยได้ทุกข์…”
หากพิจารณาจากถ้อยคำทั้งหมดให้ถ้วนถี่ก็จะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรักและห่วงใยราษฎรของพระองค์มากเพียงใด พระเมตตาที่ให้ราษฎรดุจบิดาห่วงหาบุตรนั้น มิได้เป็นแต่เพียงถ้อย คำที่ตรัสออกมาเท่านั้น แต่จากพระราชหัตถเลขาที่ส่งถึงบุคคลต่างๆ ไม่ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดลก็ดี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ดี ล้วนเป็นความตั้งพระทัยที่จะเสด็จไปปลอบขวัญราษฎรของพระองค์ให้คลายทุกข์ คลายเศร้าหมอง โดยแท้จริง
และใช่เฉพาะราษฎรที่เมืองตราดเท่านั้น แต่ราษฎรทั่วทุกถิ่นที่ได้เข้ามาพึ่งความร่มเย็นแห่งพระบรมโพธิสมภารต่างก็ประจักษ์ในความจริงในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ว่าทรงเอาพระทัยใส่ในราษฎรของพระองค์ ดังบิดาห่วงหาบุตรเพียงใด นี่เองจึงเป็นที่มาแห่งพระราชสมัญญานาม “พระปิยมหาราช”…
เชิงอรรถ :
[1] ยุวดี ศิริ. ซุ้มรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง. (กรุงเทพมหานคร : มติชน, 2549), น. 33.
[2] ขณะนั้นพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร มีพระยศเป็นหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ดำรงตำแหน่งราชทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส
[3] สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. จดหมายเหตุประกอบเรื่องไกลบ้าน. (พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505), น. 2. (อัดสำเนา)
[4] เหรียญเสมาที่ระลึกเสด็จกลับจากยุโรปครั้งที่ 2 ลักษณะเหรียญเป็นรูปอาร์ม หรือใบเสมา ปั๊มหูในตัว มีห่วง ด้านหน้ายกขอบเส้นลวด 2 ชั้น ตรงกลางเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์ทางขวาของเหรียญ ทรงเครื่องเต็มยศทหารมหาดเล็ก มีพระปรมาภิไธยอยู่เบื้องบน “จุฬาลง กรณ์” เบื้องล่าง “บรมราชาธิราช” ด้านหลังมีข้อความว่า “เสด็จกลับจากยุโรป ร.ศ. 126” (หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเสนาะ จันทร์สุริยา)
[5] พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล. ไกลบ้าน. (โรงพิมพ์คุรุสภา, 2497), น. 354.
[6] พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ประชุมพระนิพนธ์. (กรุงเทพ มหานคร : บำรุงบัณฑิต, ม.ป.ป.), น. 145-146.
[7] สมาคมชาวจันทบุรี. สารคดีเกี่ยวกับเมืองจันทบุรี รวบรวมจากหนังสือชุมนุมชาวจันทบุรี พ.ศ. 2507-2513. (ม.ป.ท., 2515).
[8] พระบริรักษภูธร (ปิ๋ว บุนนาค)
[9] พระญาณวราภรณ์ (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์ ณ กรุงเทพ) วัดบวรนิเวศวิหาร
[10] ในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ได้ลงข่าวการเตรียมการรับเสด็จ ความว่า “ได้มีผู้ส่งข่าวมายังเราแสดงความว่าที่เมืองจันทรบุรีเวลานี้ข้าหลวงเทศาภิบาล กำลังจัดการที่จะรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งเมืองจันทรบุรีแลเมืองตราด…พวกจีนพ่อค้าจะได้ตั้งโต๊ะบูชาโดยเตมกำลัง แต่ตลาดแถวบลทั้งสองข้างทางจะปลูกปรำคาดด้วยผ้าแดงผ้าขาวตลอดไปถึงพลับพลา แต่จีนเทียนซุยซึ่งเปนผู้มีชื่อเสียงดังนั้นจะเปนหัวน่าในพักพวกของตนจะได้จัดการรับเสด็จโดยเตมกำลัง ในการคราวนี้บรรดาข้าราชการแต่งเตมยศ ภรรยาข้าราชการจะได้แต่งประกวดประชันกันเตมที่ แต่ภรรยาข้าราชการนั้นเกี่ยวในการเลี้ยงด้วย ราษฎร พลเมือง เมืองจันทรบุรีแลเมืองตราด มีความชื่นชมยินดีคอยพระมะหากรุณานับว่าเปนโชกใหญ่ ซึ่งราษฎร พ่อค้า นายห้าง จะได้เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทคราวนี้”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ปีที่ 100 เมื่อฝรั่งเศสยอมทำสัญญาคืนตราดให้สยาม พระพุทธเจ้าหลวงตรัส ‘จะเป็นเหมือนบิดาของเจ้าเสมอตลอดไป’ ” เขียนโดย ยุวดี ศิริ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2564
https://www.silpa-mag.com
The post พระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสยอมทำสัญญา คืน “ตราด” ให้สยาม appeared first on Thailand News.