กรมพระยาดำรงฯ “สันนิษฐาน” ที่มาพระเจดีย์ 3 องค์ ที่ด่านเจดีย์ 3 องค์
ด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจบุรีเป็นพื้นที่สุดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ซึ่งในอดีตเป็นเส้นทางเดินทัพของไทยและพม่า ที่ด่านแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์ 3 องค์อีกด้วย แล้ว “พระเจดีย์ 3 องค์” นี้มีที่มาอย่างไร สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระนิพนธ์ไว้ใน “ประชุมพระนิพนธ์เบ็ดเตล็ด” (องค์การค้าคุรุสภา, พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504) ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)
เมื่ออ่านลายพระหัตถ์ตรัสถามเรื่องพระเจดีย์ 3 องค์ ตรงที่ต่อแดนพม่า หม่อมฉันนึกได้ว่าเคยเห็นเรื่องสร้างพระเจดีย์นั้นในหนังสือพระราชพงศาวดาร แต่เมื่อไปค้นดูได้ความว่าเป็นแห่งอื่นต่างหากมี เรื่องราวเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราช เมืองหงสาวดี กองทัพในกระบวนตามเสด็จไม่ทันหลายกอง สมเด็จพระนเรศวรฯ จะให้ประหารชีวิตพวกนายทัพเหล่านั้น
แต่สมเด็จพระวันรัตนทูลขอชีวิตไว้จึงโปรดให้พวกที่มีความผิดไปตีเมืองทวายและเมืองตะนาวศรีแก้ตัว เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปตีเมืองทวาย พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพไปตีเมืองตะนาวศรีเมื่อ พ.ศ. 2136 ตีได้เมืองทั้ง 2 นั้นแล้ว กองทัพเจ้าพระยาจักรียกกลับมาจากเมืองทวายทาง “ด่านขมองส่วย” ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า
“ถึงตำบลเขาสูงช่องแคบแดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทวายต่อกันหาที่สำคัญมิได้ จึงให้เอาปนในเต้าไพร่พลทั้งปวงสมกันเข้าเป็นใบสอก่อพระเจดีย์ฐานสูง 6 ศอกพอ (ชั่ว) หุงอาหาร สุกก็สำเร็จ แล้วยกเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา” ดังนี้
เรื่องนี้แม้มิใช่พระเจดีย์ 3 องค์ที่ตรัสถามก็เป็นเค้ากับวินิจฉัยที่จะทูลต่อไปข้างหน้า จึงคัดเอามากล่าวไว้ ส่วนพระเจดีย์ 3 องค์นั้นเมื่อหม่อมฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระยาประสิทธิสงคราม (นุช) ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีเคยพรรณนาลักษณะให้หม่อมฉันฟังว่า ดูรูปทรงสัณฐานเป็นแต่กองหินยิ่งกว่าพระเจดีย์ และที่สร้างพระเจดีย์ 3 องค์นั้นก็สร้างในแดนไทยห่างเข้ามาจากสันเขาที่ต่อแดนพม่าได้ฟังเล่าอย่างนั้นหม่อมฉันจึงมิได้พยายามไปดูพระเจดีย์ 3 องค์
แต่เมื่อสักสองสามปีมานี้ พระองค์หญิงอดิศัยสุริยาภาได้เสด็จไปถึงพระเจดีย์ 3 องค์และฉายพระรูปมาประทานหม่อมฉัน (เสียดายค้นหารูปนั้นไม่พบเมื่อเขียนจดหมายนี้) พิจารณาดูในรูปฉายก็เห็นอย่างหินกองโดยจำนงจะให้เป็นรูปพระเจดีย์เช่นพระยากาญจนบุรีว่า หามีที่สังเกตว่าลักษณะจะเป็นพระเจดีย์อย่างใดไม่ แต่ก็ไม่น่าประหลาดใจ ด้วยสร้างในป่าเปลี่ยวชายแดนเช่นนั้น ใครจะเอาช่างไปตั้งแรมทำอย่างประณีต
แต่ตามคำเล่าของพระยากาญจนบุรีซึ่งว่าสร้างห่างแดนเข้ามาในแผ่นดินไทยนั้น ฟังเป็นหลักได้อย่างหนึ่งว่าพระเจดีย์ 3 องค์เป็นของไทยสร้าง ถ้าหากไทยกับพม่าร่วมมือกันทำเป็นวัตถุที่หมายเขตแดนก็คงสร้างตรงสันเขาอันเป็นเขต ถ้าพม่าทำโดยลำพังก็คงสร้างในแดนพม่า นี่ไทยทำโดยลำพังจึงสร้างในแดนไทย แต่จะสร้างเมื่อใด และสร้างเพราะเหตุใด ได้แต่พิจารณาและสันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่มีอยู่ชอบกล ดังทูลต่อไปนี้
อันทางเดินในระหว่างเมืองมอญกับเมืองไทย (ภายใต้มณฑลพายัพ) มี 2 ทางมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทางสายเหนือเดินแต่เมืองเมาะตะมะมายังเมืองตากทางด่านแม่สอด (แต่โบราณเรียกด่านแม่ละเมา) ทางสายใต้เดินแต่เมืองเมาะตะมะมายังเมืองกาญจนบุรีทางพระเจดีย์ 3 องค์
ทางสายใต้คือทางด่านพระเจดีย์ 3 องค์นั้นมีหลักฐานปรากฏว่าใช้มาตั้งแต่สมัยเมื่อเมืองนครปฐมเป็นราชธานี เพราะมีปราสาทหินสร้างในสมัยนั้นปรากฏอยู่ที่เมืองสิงห์ทางแม่น้ำน้อยแขวงจังหวัดกาญจนบุรี และที่พงตึกแขวงจังหวัดราชบุรี อันอยู่ในระหว่างทางเดินสายนี้ แต่ทางสายเหนือเห็นจะมาใช้มากต่อเมื่อสมัยเมืองพุกามแผ่อาณาเขตเข้ามาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีซากเมืองที่สร้างในสมัยนั้นปรากฏอยู่หลายเมือง เช่นเมืองชากังราวและเมืองตากเก่าเป็นต้น ล้วนตั้งรายริมแม่น้ำพิงทางฝั่งตะวันตก เมื่อสมัยกรุงสุโขทัยคงมากับเมืองกาญจนบุรีทางด่านแม่สอดสายเหนือเช่นเดียวกับเมื่อถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาไปมาทางพระเจดีย์ 3 องค์เป็นพื้น ที่ว่ามานี้ส่อให้เห็นว่าพระเจดีย์ 3 องค์คงเป็นของกรุงศรีอยุธยาสร้าง
คราวนี้จะพิจารณาว่าสร้างพระเจดีย์ 3 องค์เพราะเหตุใด ข้อนี้เผอิญหม่อมฉันพบโบราณวัตถุให้ความรู้ดังจะทูลต่อไปนี้ จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ในรัชกาลที่ 6 หม่อมฉันขึ้นไปเที่ยวมณฑลพายัพอีกครั้งหนึ่ง ขากลับมาทางเรือจากเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้นหม่อมฉันพ้นหน้าที่ในการปกครองแล้ว จึงเอาใจใส่แต่ในการตรวจของโบราณตลอดทางที่เรือล่องมา
เมื่อลงมาถึงอำเภอเมืองฮอด (เมืองรอด) ซึ่งถึงอยู่ที่ราบในแดนเชียงใหม่ต่อเชิงภูเขาสูงซึ่งต้องเดินข้ามลงมาทางใต้ ทางเรือก็ต้องล่องผ่านแก่งในระหว่างภูเขาหลายวันจึงถึงที่ราบในอาณาเขตเมืองตาก หม่อมฉันขึ้นไปดูเมืองฮอดเห็นมีพระเจดีย์โบราณขนาดใหญ่ฝีมือทำอย่างประณีตสร้างรายอยู่ในตำบลเดียวกันหลายองค์ ดูราวกับเมืองฮอดเคยเป็นเมืองใหญ่มาแต่ก่อน แต่เมื่อไต่ถามถึงภูมิลำเนา ปรากฏว่าไม่มีทำเลไร่นาที่จะทำให้พอเลี้ยงผู้คนพลเมืองในเมืองใหญ่ได้ จึงคิดว่าพระเจดีย์งามๆ เหล่านั้นเห็นจะเป็นของเจ้านายที่ครองเมืองเชียงใหม่สร้างด้วยเหตุอย่างอื่น ถามหาเหตุก็ไม่มีใครรู้ คิดก็ไม่เห็น มาจนพบโบราณวัตถุซึ่งมิได้คาดว่าจะมีที่เมืองตาก จึงได้เค้ามูลการสร้างพระเจดีย์ที่เมืองฮอด
เมื่อหม่อมฉันลงมาถึงเมืองตากนึกขึ้นถึงความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าเมื่อครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2317 เวลาประทับอยู่ที่เมืองตากเสด็จไปยังวัดดอยแก้ว ตรัสถามพระสงฆ์ (เจ้าอธิการ) ว่ายังจำได้หรือไม่ เมื่อพระองค์ยังเป็นพระยาตากจะแปลงโคมแก้วทำเป็นพระเจดีย์ เสด็จไปเสี่ยงทายที่วัดนั้น ว่าถ้าจะได้สำเร็จพระโพธิญาณในอนาคตขอให้ต่อยจุกโคมขาดอย่าให้ตัวโคมแก้วร้าวรานบุบสลาย ก็เป็นไปดังอธิษฐาน
พระถวายพระพรว่ายังจำได้อยู่ หม่อมฉันถามพวกกรมการถึงวัดดอยเขาแก้ว เขาบอกว่าเป็นวัดร้างอยู่บนเนินเขาแก้ว ทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำพอง ตรงข้ามกับที่ตั้งเมืองตาก และที่ตั้งจวนของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อเป็นพระยาตากก็ยังปรากฏอยู่ที่ตำบลสวนมะม่วงใกล้ๆ กับเชิงเขาแก้วนั้น หม่อมฉันจึงข้ามไปดู เห็นตรงที่ตั้งจวนเป็นที่ว่างไม่มีอะไร เดินต่อไปไม่ไกลนักก็ขึ้นเนินเขาวัดดอยแก้ว
พอหม่อมฉันเห็นวัดก็เกิดความประหลาดใจด้วยพระอุโบสถซึ่งเหลืออยู่แต่ผนัง ประตูหน้าต่างทำซุ้มจระนำอย่างแบบวัดหลวง ก็รู้ได้ในทันทีว่าเป็นของพระเจ้ากรุงธนบุรี สร้างเมื่อเสวยราชย์แล้วมิใช่โบสถ์เดิมที่เสด็จไปทรงอธิษฐานเมื่อยังเป็นพระยาตาก พวกกรมการเขาบอกว่าตามไหล่เขาดอยแก้วทางใต้ยังมีวัดเก่าอีกหลายวัด หม่อมฉันก็เลยไปดู เห็นมี 3 หมู่อยู่ใกล้ๆ กัน
วัดสุดข้างเหนือเหลือพระเจีดย์กลมองค์ 1 ขนาดสูงเมื่อบริบูรณ์สัก 8 วา วัดที่อยู่กลางก่อเป็นแท่นสี่เหลี่ยมรีสูงสัก 2 ศอกเศษ บนแท่นนั้นมีพระเจดีย์กลม 2 องค์เคียงกันขนาดย่อมกว่าพระเจดีย์ที่กล่าวมาแล้ว วัดอยู่ข้างใต้มีพระอุโบสถเป็นแบบวัดหลวงเช่นว่ามาแล้ว กับกำแพงแก้วล้อมรอบ พอเห็นกำแพงแก้วหมอ่มฉันก็พิศวง ด้วยมีซุ้มโพลงสำหรับตั้งตะคันตามประทีป รูปร่างเหมือนอย่างซุ้มที่พระราชวังเมืองลพบุรี เห็นตระหนักว่าต้องเป็นวัดหลวงสร้างครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ชวนให้เห็นต่อไปว่าวัดที่อยู่แนวเดียวกันอีก 2 วัดก็น่าจะเป็นวัดหลวง ก็เกิดปัญหาว่าเพราะเหตุใดจึงมีวัดหลวงอยู่ที่เขาดอยแก้วเป็นหลายวัดเช่นนั้น
หม่อมฉันคิดค้นแล้วไปสอบในหนังสือพระราชพงศาวดารจึงเห็นเหตุ ด้วยปรากฏว่าเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินเสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ 3 ครั้ง คือสมเด็จพระชัยราชาธิราชตีได้เมื่อ พ.ศ. 2081 ครั้ง 1 สมด็จพระนเรศวรมหาราชโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2143 ครั้ง 1 แต่ได้เมืองเชียงใหม่โดยมิต้องรบเพราะพระเจ้าเชียงใหม่สารวดี ซึ่งเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ออกมาถวายบังคมยอมอ่อนน้อมโดยดี ต่อมาถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นไปตีได้เมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2205 อีกครั้ง รวมเป็น 3 ครั้งพอเหมาะกับจำนวนและสมกับลักษณะของวัดทั้ง 3 ที่พรรณามาเมื่อได้หลักเช่นนั้นก็อาจจะกล่าวได้ต่อไปว่า
ที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสร้างวัดเขาดอยแก้วนั้นเพราะเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้จึงสร้างอนุสรณ์ตามเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินแต่ปางก่อนได้เคยทำมาในกรณีย์เช่นเดียวกัน และยังเลยตีปัญหาได้ต่อไปถึงพระเจีดย์ที่มีอยู่หลายองค์ ณ เมืองฮอดในแดนเชียงใหม่ ว่าพระเจ้าเชียงใหม่ตนใดที่ได้ลงมารบพุ่งหัวเมืองไทยมีชัยชนะกลับไปสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ ณ เมืองฮอด อันเป็นเมืองปลายแดนเช่นเดียวกับเมืองตาก
คิดถึงมูลแห่งความประสงค์ซึ่งสร้างเจดีย์วัตถุเป็นอนุสรณ์ไว้ปลายแดนดังกล่าวมา เห็นคงอยู่ใน 3 อย่างนี้ คือความยินดีที่มีชัยชนะอย่าง 1 ความยินดีที่ได้กลับบ้านเมืองโดยปลอดภัยอย่าง 1 ถ้าหากว่าได้บนบานอธิษฐานไว้ก็เป็นการใช้บนด้วยอีกอย่าง 1 ถ้าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเป็นจอมพล เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครก็ดำรัสสั่งให้คิดแบบอย่างสิ่งของซึ่งจะสร้างเป็นอนุสรณ์ แต่ถ้าจอมพลหรือแม่ทัพที่ไปมีชัยชนะและที่ได้กลับบ้านเมืองมิได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะทำเช่นนั้นไม่ได้
แต่ความยินดีที่มีชัยและที่ได้กลับบ้านเมืองโดยปลอดภัยหรือที่ได้บนบานอธิษฐานไว้มีอยู่ก็ย่อมอยากสร้างอนุสรณ์ตามสามารถจะทำได้ จะมาทำเมื่อถึงบ้านเมืองผู้คนก็แยกย้ายกันไปหมด ต้องทำในเวลาที่ผู้คนอยู่พรักพร้อมกัน อันนี้เห็นว่าเป็นมูลที่ชักชวนให้เอาก้อนศิลามาก่อสร้างพระเจดีย์ไว้ ดังเช่นเจ้าพระยาจักรีครั้งสมเด็จพระนเรศวรฯ สร้าง ณ ที่ต่อแดนเมืองทวาย พึงคิดเห็นได้โดยง่ายว่าพระเจดีย์เช่นเจ้าพระยาจักรีสร้างนั้นเป็นพระเจดีย์แต่ชื่อแต่รูปสัณฐานคงเป็นอย่างกองหินสูงๆ เท่านั้น เพราะไม่มีเวลาจะรั้งรออยู่ได้ช้า และไม่สามารถจะทำได้เมื่อภายหลังเช่นของหลวง พิเคราะห์อีกอย่างหนึ่งได้ว่าที่สร้างในแผ่นดินไทย (เหมือนพระเจดีย์ 3 องค์) คงตรงกับความยินดีหรือใช้บนที่ปลอดภัยกับบ้านเมือง พอเข้าเขตแดนก็สร้างอนุสรณ์ใช้บน
อาศัยวินิจฉัยที่พรรณานานา หม่อมฉันเห็นว่าพระเจดีย์ 3 องค์นั้น 1. มิได้สร้างเป็นเครื่องหมายเขตแดน 2. มิใช่ของหลวงสร้าง 3. เป็นของแม่ทัพไทยที่ยกออกปรบชนะพม่ากลับมาสร้างไว้ 4. ที่สร้างเป็น 3 องค์คงเป็นเพราะกองทัพยกตามกันมา 3 กอง กองมาถึงก่อนสร้างไว้องค์ 1 แล้วกองมาภายหลังด็สน่งกองละองค์เรียงกันต่อไป 5. แต่จะสร้างเมื่อไรไม่มีหลักที่จะลงความเห็น เพราะอาจจะมีพระเจดีย์ 3 องค์อยู่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรฯ แล้วเจ้าพระยาจักรี จึงเอาอย่างไปสร้างที่ต่อแดนทวายก็ได้ หรือแม่ทัพภายหลังเอาอย่างพระเจดีย์ของเจ้าพระยาจักรีมาสร้างพระเจดีย์ 3 องค์ก็เป็นได้เหมือนกัน
ที่กล่าวกันมาว่าพระเจดีย์ 3 องค์รูปทรงเป็นพระเจดีย์มอญนั้น อาจจะเป็นเพราะธรรมดาการกองดินหินก่อเป็นพระเจดีย์ต้องทำฐานกว้างรูปจึงคล้ายพระเจดีย์มอญก็ได้ หรือตกแต่งดัดแปลงเมื่อภายหลังก็ได้ เพราะเมื่อรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ให้พวกมอญไปตั้งระวังด่านทางอยู่มาก จัดเป็นเมืองขึ้นตั้งอย่างแม่น้ำน้อยถึง 7 เมือง ถ้าหากเจดีย์ 3 องค์พังทลายในสมัยนั้น เปรียบว่าพม่ารื้อเสียเมื่อเข้ามาตีเมืองไทยคราวรบกันที่ลาดหญ้าหรือท่าดินแดงเป็นต้นก็อาจจะมีท้องตราสั่งให้พวกมอญ 7 เมืองไปก่อสร่างให้คืนดี เพราะพระเจดีย์ 3 องค์เป็นสิ่งสำคัญของชื่อที่เรียกทางสายนั้น
พวกที่ไปทำการปฏิสังขรณ์เป็นมอญก็ก่อสร้างเป็นอย่างรูปพระเจดีย์มอญ อย่างนี้ก็เป็นได้เหมือนกัน หรืออีกนัยหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นยิ่งกว่าอย่างอื่น คือ เมื่อรัชกาลที่ 3 เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ คชเสนี) เป็นแม่ทัพยกผ่านไปมาทางพระเจดีย์ 3 องค์หลายครั้ง เจ้าพระยามหาโยธาอาจจะเป็นผู้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ 3 องค์ด้วยความศรัทธา หรือใช้บนก็เป็นได้ แต่เจ้าพระยามหาโยธาก็เป็นมอญ จึงปฏิสังขรณ์ตามเห็นงามอย่างมอญ
ที่ว่านี้มิได้เคยเห็นพระเจดีย์ 3 องค์ด้วยตาตนเอง จึงได้แต่คาดคะเนฯ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2565
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post กรมพระยาดำรงฯ “สันนิษฐาน” ที่มาพระเจดีย์ 3 องค์ ที่ด่านเจดีย์ 3 องค์ appeared first on Thailand News.