ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ญาติออกญาวิไชเยนทร์โผล่ โต้ประวัติสายตระกูลเป็นขุนนาง

ญาติออกญาวิไชเยนทร์โผล่ โต้ประวัติสายตระกูลเป็นขุนนาง

ออกญาวิไชเยนทร์ (บ้างเรียกพระยาวิไชยเยนทร์) หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน

ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนเมษายน 2540 อาจารย์ภูธร ภูมะธน เขียนเล่าประสบการณ์ที่ได้พบกับ “ญาติ” ของออกญาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางต่างชาติสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) ถึง 2 คราวด้วยกันไว้ในบทความชื่อ “ญาติออกญาวิชาเยนทร์โผล่ โต้ประวัติสายตระกูลเป็นขุนนาง แจงหลักฐานตั้งแต่สมัยพระนารายณ์”

การพบทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นได้อย่างไร, มีหลักฐานหรือข้อมูลอะไรที่น่าสนใจ ฯลฯ อาจารย์ภูธร ภูมะธนเล่าไว้ดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ใครจะนึกว่าอยู่ดีๆ ในยุคสมัยนี้จะได้พบกับใครสักคนแล้วแนะนำตัวเองว่าข้าพเจ้า [อาจารย์ภูธร ภูมะธน] นั้นมีนามสกุลเดียวกับออกญาวิไชเยนทร์ และเป็นญาติกับออกญาวิไชเยนทร์ ฝรั่งตาน้ำข้าวผู้มีชีวิตโลดแล่นยิ่งนักเมื่อสามร้อยปีก่อน ในราชอาณาจักรสยาม

ครับเป็นเรื่องจริงที่ผมได้พบมาโดยไม่คาดฝัน และได้พบกับสิ่งไม่คาดฝันมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อได้มีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวของเขา ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

วันหนึ่งของ พ.ศ. 2533 ผมได้ไปธุระที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ เมืองลพบุรี ได้พบกับหัวหน้าพิพิธภัณฑ์โดยบังเอิญ ในขณะที่เธอเดินมากับฝรั่งผู้ชายคนหนึ่ง เธอได้แนะนำผมให้รู้จักโดยบอกว่า ฝรั่งผู้นี้มาสอบถามเรื่องออกญาวิไชเยนทร์ ขอให้ผมได้ช่วยรับไปอธิบายให้ฟังด้วย

ฝรั่งผู้นั้นได้แนะนำตนเองว่ามีนามสกุลเดียวกับออกญาวิไชเยนทร์ คือนามสกุล เยรากี (GERAKIS, GERACHI) บรรพบุรุษเป็นชาวกรีก แต่ปัจจุบันได้ย้ายถิ่นมาอาศัยอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ที่มาลพบุรีนี้เป็นการเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก อยากรู้เรื่องของออกญาวิไชเยนทร์ รวมทั้งสถานที่เกี่ยวข้องกับขุนนางฝรั่งผู้นี้

ผมเป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ได้ยินดังนั้นแทบขนหัวลุก เพราะยากนักที่จะทราบว่าบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยานั้นจะมีเชื้อสายตกหล่นตกทอดกันจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งออกญาวิไชเยนทร์ก็เป็นคนที่มีประวัติน่าศึกษาติดตาม ซึ่งมีผู้เขียนเรื่องราวของท่านผู้นี้ไว้หลายเล่มด้วยกัน ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ไม่น่าเชื่อว่าอีกมุมหนึ่งของโลกยังมีญาติของท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่

หนังสือชื่อ เยรากี เหยี่ยวนกเขา โดย รศ.ศุภรัตน์ เลิศพานิชย์กุล ได้ให้ประวัติของท่านผู้นี้อย่างละเอียดซึ่งพอสรุปได้ว่า ออกญาวิไชเยนทร์ เมื่อเด็กมีชื่อว่า คอนสแตนติโน เยรากี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2190 ที่เมืองคัสโตด เกาะเซฟาโลเนีย ประเทศกรีซ พออายุได้ 13 ปี ก็อำลาบ้านเกิดออกมาผจญชีวิตแสวงหาโชคลาภตามลำพัง โดยสมัครเป็นเด็กรับใช้ในเรือสินค้าของอังกฤษ ตั้งแต่ขัดรองเท้า ยกอาหาร ล้างจาน มีโอกาสท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ และด้วยความเฉลียวฉลาดและเป็นคนตั้งใจ จึงทำให้พูดภาษาอังกฤษ และภาษาโปรตุเกสได้

ต่อมาได้ย้ายมาทำงานกับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่เมืองบันตัม เกาะชวา ช่วงนี้ทำให้รู้ภาษามาเลย์อีกภาษา ต่อมาได้ลาออกจากบริษัทระยะหนึ่งเพื่อค้าขายส่วนตัวแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงกลับเข้าทำงานในบริษัทอีก จนถึง พ.ศ. 2221 จึงได้เดินทางมาที่กรุงศรีอยุธยา ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันออก ทำงานในบริษัทอินเดียตะวันวันออกของอังกฤษ สาขากรุงศรีอยุธยา พร้อมกับได้ลักลอบทำการค้าแสวงหาประโยชน์เข้าตัวด้วย

พ.ศ. 2223 ได้ลาออกจากบริษัทเข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้า ได้ทำงานหลายชนิดเป็นที่พอใจแก่ราชการ ได้รับตำแหน่งที่ ออกหลวงสุรสาคร เริ่มมีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์และได้กราบบังคมทูลเรื่องราววิทยาการ และความเจริญของโลกตะวันตกแก่พระองค์

ใน พ.ศ. 2228 ได้รับการเลื่อนยศเป็น ออกพระฤทธิกำแหงภักดี และได้แอบแฝงค้าขายกับกรมพระคลังสินค้าเพื่อหาประโยชน์เข้าตัวดังที่เคยชิน ทำให้ร่ำรวยมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถสร้างคฤหาสน์ได้ใหญ่โตโอ่อ่า ทั้งที่พระนครศรีอยุธยา และที่เมืองลพบุรี

ใน พ.ศ. 2228 ออกพระฤทธิกำแหงภักดี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ต้อนรับคณะทูตชุดแรก จากราชสำนักฝรั่งเศสและเป็นผู้แทนฝ่ายไทยเจรจาความเมือง จึงเป็นโอกาสทองสำหรับบุคคลอย่างเขา ในการฉกฉวยประโยชน์นี้ ด้วยการสร้างความสนิทสนมและประทับใจกับคณะทูต รวมทั้งได้พยายามหาช่องทางให้เป็นที่โปรดปรานจากราชสำนักฝรั่งเศส เพื่อประโยชน์อย่างน้อย 2 ประการ คือ หากเคราะห์ร้ายต้องถูกเนรเทศจากเมืองไทยก็สามารถอาศัยฝรั่งเศสเป็นที่พักพิง และอีกประการหนึ่งคือความคิดอันทะเยอทะยานอยากได้อำนาจมาเป็นของตนเอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต จึงได้วางแผนให้ฝรั่งเศสสนใจยึดครองอาณาจักรอยุธยา ด้วยการส่งกองทหารเข้ามา แล้วจะได้ใช้กองกำลังทหารนั้นเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจ

แผนชั่วร้ายนี้คงมิได้เป็นที่ระแคะระคายแก่สมเด็จพระนารายณ์ ตรงข้ามใน พ.ศ. 2230 เขากลับได้รับตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือนเป็นถึงที่ สมุหนายก ในราชทินนามว่า ออกญาวิไชเยนทร์ อย่างไรก็ตาม ขุนนางไทยกลุ่มหนึ่งที่มีพระเพทราชา (เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์) และอดีตเอกอัครราชทูตไทยที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสคือ ออกพระวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) พอจะทราบแผนการร้ายนี้ และโชคก็ไม่เข้าข้างออกญาวิไชเยนทร์โดยตลอด เพราะในระยะนั้นเองสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก แกนนำกู้ชาติทั้งสองท่านดังกล่าวจึงได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจของสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังเมืองลพบุรี

ออกญาวิไชเยนทร์ถูกจับและถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่วัดซาก ข้างทะเลชุบศร เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 เมื่อมีอายุเพียง 41 ปี เป็นการจบชีวิตนักผจญภัยผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกที่เริ่มชีวิตในวัยเยาว์ด้วยการร่อนเร่พเนจรตามท้องทะเลจนในที่สุดได้มาเป็นถึง สมุหนายก แห่งราชอาณาจักรสยาม พรั่งพร้อมด้วยเกียรติยศและเงินตรา แต่ในที่สุดต้องจบบทบาทของตนตั้งแต่อายุยังน้อยโดยถูกประหารชีวิต ถูกริบทรัพย์สมบัติ ครอบครัวล่มสลาย

ญาติของออกญาวิไชเยนทร์ผู้นี้จะมีนิสัยเหมือนหรือไม่เหมือนบรรพบุรุษของเขาหรือไม่ก็ตามผมไม่ใคร่จะสนใจ คงคิดเพียงแต่ว่าน่าจะมีสิ่งอันเป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์จากครอบครัวนี้ จึงสนใจรีบรับช่วงต่อจากหัวหน้าพิพิธภัณฑ์ นำไปชมสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับออกญาวิไชเยนทร์ที่เมืองลพบุรี จากนั้นก็ร่ำลากันโดยไม่ลืมแลกเปลี่ยนนามบัตรกันไว้เป็นที่ระลึก

มาถึงปลาย พ.ศ. 2537 ผมได้รับทุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสให้ไปศึกษาค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ก็ไม่ลืมที่จะนึกถึงเรื่องนี้ จึงรื้อนามบัตรออกมาดู เขียนจดหมายนัดพบเพื่อว่าอาจจะมีแง่มุมอะไรดีๆ ที่เก็บรักษาอยู่กับครอบครัวของเขา และก็คาดไม่ผิดเลย

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2537 ผมออกจากบ้านพักชานกรุงปารีสตอนตี 5 เศษ ไปขึ้นเครื่องบินภายในประเทศจากกรุงปารีสไปยังเมืองมาร์ซายส์ ซึ่งใช้เวลาบินเพียงหนึ่งชั่วโมง ออกกรุงปารีสอากาศมืดครื้มและหนาว พอถึงมาร์ซายส์แดดออกสว่างจ้า อากาศอบอุ่นสมกับเป็นเขตย่ายทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

มาดามเยรากี

ที่สนามบินเมืองมาร์ซายส์ ภรรยาของเขาซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกว่า มาดามเยรากี ก็ได้มาคอยต้อนรับ โดยบอกว่าสามีของเธอติดประชุมช่วงเช้า และได้มอบหมายให้มารับรองแทนโดยการพาเที่ยวชมสถานที่ที่น่าสนใจของเมืองมาร์ซายส์ก่อน จนถึงเวลาเที่ยงจึงจะกลับไปที่บ้านซึ่งสามีเธอจะคอยอยู่ที่นั่น และจะได้รับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน

มาดามเยรากีเป็นผู้หญิงวัยกลางคนอายุไม่น่าจะเกิน 55 ปี ท่าทางคล่องแคล่ว พูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี จากนั้นจึงนำผมไปชมโบสถ์ที่สำคัญๆ ทิวทัศน์ย่านชายทะเล ภูเขาย่านเก่าแก่ของเมืองจนถึงเวลาเที่ยงจึงนำไปยังบ้านพัก

บ้านของเธอตั้งอยู่ที่เชิงเขา มองจากสวนหน้าบ้านจะเห็นตัวเมืองและอ่าว ทำเลสวยเหมือนภาพในปฏิทินไม่มีผิด ผมชมเชยว่าโชคดีของครอบครัวเยรากี ที่มีบ้านพักในทำเลอันวิเศษดังกล่าว เธอรีบพยักหน้ารับว่าเป็นความจริง แถมยังเสริมต่อไปว่า บรรยากาศแบบชนบทของเมดิเตอร์เรเนียนที่เธออยู่นี้อีกเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถเดินทางสู่ความสมัยใหม่ของเมืองมาร์ซายส์ได้

เมื่อมาดามเยรากีนำผมไปถึงบ้านก็พบว่าญาติของออกญาวิไชเยนทร์ที่ผมเคยพบเมื่อ 4 ปีก่อน ยืนยิ้มคอยต้อนรับอยู่ที่ประตู ใส่สูทอย่างโก้ พร้อมบุตรสาวซึ่งเป็นด็อกเตอร์ทางประวัติศาสตร์และสนใจค้นคว้าประวัติของตระกูลเช่นกัน ผมนั้นลืมเลื่อนใบหน้าของแกเรียบร้อยแล้ว มาพบอีกทีก็เหมือนคนรู้จักใหม่

ได้คุยกันในเรื่องประวัติศาสตร์กันก่อนอาหารสักพักใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องความหมายของคำว่า “เยรากี” (GERAKIS) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ฟอลคอน (Falcon หรือ Hawk) อันแปลเป็นไทยว่า “เหยี่ยว” สำหรับออกญาวิไชเยนทร์นั้นในช่วงที่มารับราชการในราชสำนักสยาม ได้เปลี่ยนชื่อสกุลจากภาษากรีก เป็นภาษาอังกฤษโดยใช้คำว่า ฟอลคอน

ฉะนั้นในเอกสารของชาวตะวันตกมักจะเรียกจะชื่อบุคคลนี้ว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน

ญาติของออกญาวิไชเยนทร์ ผู้ที่ผมได้พบนั้นแกมีชื่อเต็มว่า จอง โคลด เยรากี (Jean Claude GERAKIS) ซึ่งต่อไปนี้ผมจะขอเรียก เมอซิเออร์เยรากี ปัจจุบันมีอายุ 62 ปี มีปู่เป็นชาวกรีกและเป็นเจ้าของสายการเดินเรือระหว่างกรีกกับยุโรปเหนือ ปู่อพยพอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนบิดานั้นเกิดในฝรั่งเศส ในเวลานี้ครอบครัวเขาพูดภาษากรีกกันไม่ได้อีกแล้ว อาชีพในปัจจุบันคือประกอบธุรกิจค้าไม้ระหว่างตะวันออกกับยุโรป รวมทั้งค้าไม้สักจากประเทศไทยด้วย

ได้พูดคุยกันตั้งแต่ก่อนรับประทานอาหารกลางวัน จนถึงบ่ายและย่ำค่ำเกือบสองทุ่มได้ประเด็น ที่น่าสนใจดังนี้ คือ

เรื่องประวัติของออกญาวิไชเยนทร์ ซึ่งโดยทั่วไปจะรู้จักกันดีว่า มีกำเนิดจากครอบครัวยากจน เป็นลูกกำพร้า ออกร่อนเร่พเนจรเพื่อความอยู่รอดของชีวิต และในที่สุดได้มารับราชการในราชอาณาจักรสยาม เป็นขุนนางที่กษัตริย์สยามโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง จนได้รับตำแหน่งสูงสุดเป็นถึง “สมุหนายก”

ประเด็นประวัติครอบครัวออกญาวิไชเยนทร์นี้ เมอซิเออร์เยรากีขอโต้แย้งพร้อมนำหลักฐานมายืนยันว่า เรื่องชาติกำเนิดของออกญาวิไชเยนทร์ที่รู้จักกันแพร่หลายนั้นผิดจากความจริง เพราะแท้จริงแล้วตระกูลเยรากีเป็นตระกูลชั้นสูงสามารถสืบประวัติตระกูลไปได้ไกลจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16

บิดาของออกญาวิไชเยนทร์นั้นชื่อ ดอน จิออ จิโอ เยรากี (Don Giorgio GERACHI) เป็นถึงข้าหลวงของเกาะเซฟาโลเนีย ส่วนมารดานั้นชื่อ ซานเนตตา โฟกา ซูปีอานาโต (Zannetta-FOCA-SUPIANATO) เธอมาจากครอบครัวชั้นสูงเช่นกัน เคยมีสมาชิกทางตระกูลของมารดาเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรไบแซนทีนถึงสององค์

ชื่อสกุลเยรากีนี้ได้บันทึกในหนังสือสมุดทอง (Golden Book) ซึ่งเป็นหนังสือรวมชื่อสกุลชั้นสูงของเกาะเซฟาโลเนียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1593 เพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว เมอซิเออร์เยรากีได้นำหนังสือที่มีชื่อประวัติของตระกูลนี้ที่พิมพ์ขึ้นใหม่เป็นภาษาฝรั่งเศส ทำนองหนังสือ Who is Who ให้ผมดูหน้าแรกเริ่มจากภาพตราประจำตระกูลที่เป็นรูปเหยี่ยวยืนอยู่ใต้มงกุฎฝรั่ง ดูแล้วขึงขังสมเป็นตระกูลชั้นสูงจริงๆ ด้านล่างบรรยายประวัติของสมาชิกในตระกูลตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เรื่อยมาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของออกญาวิไชเยนทร์

จากนั้นให้ผมดูภาพวาดสีน้ำมันเป็นรูปต้นไม้ที่มีกิ่งก้านสาขาและมีชื่อบุคคลกำกับ ซึ่งฝรั่งจะเรียกว่า แฟมิลี่ ทรี (Family Tree) ด้านข้างของรูปต้นไม้เป็นรูปโบสถ์ขนาดเล็กหลังหนึ่ง ซึ่งเมอซิเออร์เยรากีได้ อธิบายว่าเป็นโบสถ์ประจำตระกูลเยรากี บนเกาะเซฟาโลเนีย โบสถ์หลังดังกล่าวนี้ในปัจจุบันไม่เห็นแล้ว เพราะได้เกิดแผ่นดินไหวที่เกาะเซฟาโลเนีย ทำให้โบสถ์ต้องถล่มทลาย แต่ยังโชคดีที่มีรูปถ่ายของโบสถ์ก่อนเกิดแผ่นดินไหวและยังได้นำมาให้ผมชมด้วย

เรื่องของออกญาวิไชเยนทร์เป็นผู้ดีเก่า เป็นลูกข้าหลวงอะไรทำนองนั้น อาจจะเป็นเรื่องจริงตามหลักฐานที่เมอซิเออร์เยรากีนำมายืนยัน แต่เพื่อนนักประวัติศาสตร์คนหนึ่งของผมเล่าว่า เมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อนพวกฝรั่งร่ำรวยพยายามสืบสาวประวัติเรื่องราวของตระกูลของตนโดยการจ้างค้นคว้า จ้างเขียน ผู้รับจ้างเหล่านี้ต่างก็พยายามค้นคว้าและลากโยงตระกูลนั้นๆ สำคัญให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั้นก็คือพยายามลากโยงให้เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญๆ ของประเทศ หรือกษัตริย์พระองค์ต่างๆ และแน่นอนที่สุดจะไม่พยายามลากโยงให้เกี่ยวข้องกับทาสหรือไพร่ผู้ใดผู้หนึ่ง ฉะนั้นเรื่องทำนองนี้ต้องเชื่อหูไว้หู

ผมจึงถามเมอซิเออร์เยรากีต่อไปว่า แล้วเหตุไฉนหลักฐานฝรั่งจำนวนมากจึงบรรยายว่าออกญาวิไชเยนทร์มาจากครอบครัวชั้นต่ำ มีความทะเยอทะยาน และเป็นจอมวางหมากกล จนในที่สุดตนเองต้องรับเคราะห์กรรม เมอซิเออร์เยรากีตอบว่า เป็นเพราะข้อเขียนของ เคานต์เดอ ฟอร์บัง ซึ่งอยากจะเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์เช่นกัน แต่สู้ออกญาวิไชเยนทร์ไม่ได้ อิจฉาออกญาวิไชเยนทร์ เมื่อกลับมาฝรั่งเศสก็ได้เขียนเล่าเรื่องออกญาวิไชเยนทร์ เพื่อให้ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม

อีกทั้งเมื่อเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์โดยพระเพทราชาใน พ.ศ. 2231 นั้น ฝรั่งเศสต้องยอมแพ้กลับไป ออกญาวิไชเยนทร์ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ต่อการสร้างเงื่อนไขแห่งความสัมพันธ์ทั้งสอง จึงถูกตำหนิและทับถม แท้จริงแล้วออกญาวิไชเยนทร์มิใช่คนเลว และต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าวมาก

ถึงเช่นนั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่างหากที่ทรงไม่ฉลาดพอในการคัดเลือกคนมาปฏิบัติงานในสยาม คนเหล่านี้ต่างไม่ปรองดองกันและมาทะเลาะกันในสยาม ฝรั่งเศสจึงไม่สามารถบรรลุผลอันทะเยอทะยานยิ่งนั้นได้ พร้อมกับยังได้เหน็บต่อไปว่า ปราสาทของตระกูลเดอ ฟอร์บัง ก็อยู่ใกล้ๆ บ้านเขานี้เอง และเขาก็รู้จักบุคคลในตระกูลนี้ในปัจจุบันเป็นอย่างดี แต่ก็ทราบมาว่าตระกูลนี้เพิ่งจะขายปราสาทไปเมื่อเร็วๆ นี้ “เจ้าของโรงงานผลิตไวน์ที่วางบนโต๊ะนี้ไงเป็นผู้ซื้อไป”

ผมฟังแล้วรู้สึกอัศจรรย์ในเรื่องประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นอย่างยิ่งว่าเหตุไฉนที่เหตุการณ์ก็ได้ผ่านพ้นไปถึงสามร้อยปีเศษแล้ว แต่ยังมีตะกอนแห่งเงื่อนงำเป็นสายใยให้ผู้คนได้ถกเถียง เหน็บแนมนานนับศตวรรษจนถึงบัดนี้ และไกลสุดไกลจนถึงอีกขอบหนึ่งของโลก

จากนั้นบุตรสาวเมอซิเออร์เยรากีได้นำเอกสารเกี่ยวกับออกญาวิไชเยนทร์ที่เธอได้รวบรวมมาจากหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศสมาให้ดู และก็ใจดีอนุญาตให้ก๊อปปี้มาทั้งหมด บางเรื่องก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เช่นเรื่องบัญชีเครื่องราชบรรณาการที่สมเด็จพระนารายณ์ และพระราชธิดา รวมทั้งออกญาวิไชเยนทร์ได้พระราชทาน และให้กับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญๆ ของรัฐบาลฝรั่งเศส

สิ่งมีค่ายิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะได้พบในครอบครัวญาติของออกญาวิไชเยนทร์ ในครั้งนี้คือ ได้เห็นภาพเขียนสีน้ำมันขนาดสูง 110 ซ.ม. กว้าง 75 ซ.ม. เป็นภาพเขียนของเหตุการณ์คราวสมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคือ เมอซิเออร์ เชอวาเลีย เดอ โชมอง ทูลเกล้าฯ ถวายที่พระบรมมหาราชวังพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2228

ภาพนี้หากดูเผินๆ แล้วจะคล้ายกับภาพที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งจิตรกรเอกของไทยคนหนึ่งคือ “จำรัส เกียรติก้อง” ได้วาดไว้เมื่อ พ.ศ. 2509 โดยก๊อปปี้แบบจากภาพพิมพ์เก่าของฝรั่งเศส แต่หากได้พิจารณาในรายละเอียดแล้ว ภาพที่อยู่ในครอบครองของเมอซิเออร์เยรากีจะแตกต่างจากภาพที่แสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ นั้นก็คือท่านเอกอัครราชทูตถือพานถวายพระราชสาสน์โดยตรง มิใช่ถือพานที่มีด้ามยาว

ผมไม่เคยเห็นภาพแบบนี้ ณ ที่ไหนมาก่อน และคิดว่าสำหรับประเทศไทยแล้วคงจะมีค่าควรเมืองภาพดังกล่าวนี้แขวนอยู่ในห้องนั่เงล่นเหนือเปียโนในบ้านของเมอซิเออร์เยรากี

ผมได้ถามถึงประวัติที่มาของภาพดังกล่าว เมอซิเออร์เยรากีเล่าวว่า เป็นภาพที่ได้รับมรดกตกทอดจากบิดา ซึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าเป็นภาพที่บาทหลวงท่านหนึ่งได้เขียนขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา และเมื่อท่านเอกอัครราชทูตเชอวาเลีย เดอ โชมองเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2229 ออกญาวิไชเยนทร์ได้ฝากภาพนี้ไปด้วย เพื่อนำไปมอบให้กับครอบครัวของเขาที่เกาะเซฟาโลเนีย และได้เก็บรักษาอยู่ที่นั่น จนกระทั่งถึงรุ่นปู่ เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองมาร์ซายส์ก็ได้นำติดตัวมาด้วย

เมอซิเออร์เยรากีก็ได้ปลดรูปภาพจากผนังที่แขวนนำมาให้ผมถ่ายรูป ตอนที่ปลดลงมานั้นเกือบจะทำเอาแจกันกระเบื้องขนาดใหญ่โค่นล้ม เมื่อผมได้พิจารณาภาพอย่างใกล้ชิด ความรู้สึกแรกๆ ของผมซึ่งไม่ได้เป็นช่างเขียนภาพนั้นคือเป็นภาพเขียนที่เก่าแก่มาก แต่ฝีมือไม่ค่อยจัดจ้านนัก เมอซิเออร์เยรากีได้เล่าเสริมต่อไปอีกว่าเคยนำภาพนี้ไปให้ช่างซ่อมแซม ช่างบอกว่า เป็นภาพเก่าหากซ่อมและทำความสะอาด ก็จะยิ่งทำให้ภาพเสียหายมากยิ่งขึ้น

ผมค่อนข้างเชื่อในเรื่องประวัติของภาพดังที่เมอซิเออร์เยรากีเล่า คือเป็นภาพที่มีอายุอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์จริง พร้อมกับอยากจะเชื่อต่อไปอีกว่า ภาพของบุคคลต่างๆ น่าจะเป็นภาพเหมือนจริง เป็นต้นว่าภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนารายณ์ ภาพออกญาวิไชเยนทร์ที่แต่งกายแบบฝรั่งแต่หมอบกราบตามธรรมเนียมขุนนางไทย ภาพเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสคือ เมอซิเออร์เชอวาเลีย เดอ โชมอง ภาพบาทหลวงสังฆราชแห่งเมเตโลโปลิศ ผมกดชัตเตอร์ก๊อปปี้อย่างไม่ยั้งมือ ทั้งภาพสไลด์ ภาพสี และส่วนรายละเอียดต่าง ๆ

แต่อนิจจา เมื่อเดินทางกลับถึงดอนเมือง กระเป๋าซึ่งใส่ฟิล์มเอกสารที่ค้นหามาได้ กล้องถ่ายรูป ไม่ยอมตามลงมา กลับติดเครื่องไปยังไซ่ง่อน อีก 3 วันจึงกลับมาถึงดอนเมือง เมื่อรื้อออกดูปรากฏว่าถูกคุ้ยกระจาย กล้องถ่ายรูปหายไปรวมทั้งม้วนฟิล์มที่ถ่ายมาจำนวนหนึ่ง คงเหลือให้เห็นเป็นหลักฐานไม่กี่ภาพ ผมนั้นเดินทางด้วยการรับทุนจึงต้องใช้บริการของสายการบินแอร์ฟร้านซ์ แต่จนบัดนี้ก็ยังหาผู้รับผิดชอบต่อการสูญเสียในการทำงานครั้งนี้ของผมไม่ได้

ผมก็ขอโชว์รูปจะที่หลงเหลืออยู่ทั้งหมดในกระเป๋าที่ได้คืนมาให้ท่านผู้อ่านได้ชื่นชมมา ณ ที่นี้ และต้องขอแสดงความเสียใจที่ในจำนวนนี้ไม่มีรูปของเมอซิเออร์เยรากีอยู่ด้วย

ผมขอขอบคุณกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และโดยเฉพาะครอบครัวเยรากี ผู้มีส่วนทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมาบอกกล่าวกับทุกท่านได้

 

เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2565

https://www.silpa-mag.com

The post ญาติออกญาวิไชเยนทร์โผล่ โต้ประวัติสายตระกูลเป็นขุนนาง appeared first on Thailand News.