ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) กับสิทธิของผู้บริโภค

Service Charge (เซอร์วิสชาร์จ) กับสิทธิของผู้บริโภค

 

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อว่า “สคบ. ตอบแล้ว เซอร์วิสชาร์จ ผู้บริโภคต้องจ่ายหรือไม่” นั้น พันตำรวจเอก ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษก สคบ. ขอให้ข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อสาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มเติม ดังนี้

 

๑. ผู้บริโภคมีสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ในข้อที่ ๑ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ข้อที่ ๒ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ และข้อที่ ๔ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา

 

๒. Service charge คือค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบธุรกิจ เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการร้านอาหารที่ให้บริการเป็นพิเศษแก่ลูกค้า ซึ่งจะแตกต่างจากการให้ทิป (สินน้ำใจ) ที่ให้โดยสมัครใจ

 

๓. ในการให้บริการผู้ประกอบอาจคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าอาหาร ซึ่ง Service charge อาจเป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๖๙ พ.ศ. ๒๕๖๕ ข้อ ๙

 

๔. กรณีผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารเรียกเก็บ Service charge เป็นค่าใช้จ่ายอื่นตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๖๙ พ.ศ. ๒๕๖๕ ข้อ ๙ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วน โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาอาหาร เพื่อให้ลูกค้าทราบราคาค่าอาหารและค่า Service charge ที่จะสามารถตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมาย

 

๕. เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจควรปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่า Service charge ดังนี้

          ๕.๑ การแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น (Service charge) ผู้ประกอบธุรกิจควรแสดงไว้บริเวณหน้าร้านค้า เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนและสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเข้าใช้บริการในร้านอาหารหรือไม่

          ๕.๒ ค่าใช้จ่ายอื่นที่เรียกเก็บควรมีความชัดเจนโดยแสดงเป็นราคาต่อหน่วย หากมีการเรียกเก็บโดยคิดจากราคาค่าอาหารต้องมีการแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาอาหารในแต่ละรายการ

          ๕.๓ Service charge ที่เรียกเก็บ ควรกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยคำนึงถึงบริการที่เป็นพิเศษกว่าค่าบริการตามปกติ

 

๖. ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่แสดงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นหรือแสดงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น (Service charge) โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๖๙ พ.ศ. ๒๕๖๕ ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นดังกล่าวได้ และสามารถร้องทุกข์ต่อ กรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ประกอบธุรกิจได้https://www.ocpb.go.th/news_view.php?nid=13579&fbclid=IwAR3VyYo9fwqLX0gGRNyUJma7-bbiwxN0UEnlgD5WYY6oPt7aphjw0SIok0M

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More