ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

กำเนิดพจนานุกรมในโลก กำเนิดพจนานุกรมในไทย

กำเนิดพจนานุกรมในโลก กำเนิดพจนานุกรมในไทย

อิซิดอร์ ออฟ เซอวิลล์ นักบวชชาวสเปน ผู้จัดทำ Etymologicae พจนานุกรมที่มีเนื้อหามากถึง 20 เล่ม

พจนานุกรม คือ “น. หนังสือว่าด้วยถ้อยคำในภาษาใดภาษาหนึ่ง เรียงตามลำดับตัวอักษร โดยทั่วๆ ไปจะบอกความหมายและที่มาของคำเป็นต้นด้วย.” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554)

แล้ว “พจนานุกรม” ที่ใช้ค้นคว้าความหมายของคำต่างๆ เกิดขึ้นในโลกนี้ และในเมืองไทยเกิดขึ้นเมื่อใด เราจึงมีพจนานุกรม… ที่คุ้นเคยใช่ในปัจจุบัน

มานิตา ศรีสิตานนท์ เหลืองกระจ่าง ค้นคว้าและเรียบเรียงเรื่องนี้ไว้ใน “พจนานุกรมสร้างชาติ: อุดมการณ์รัฐไทยในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิต” (มติชน, 2565) ซึ่งในที่นี้คัดย่อมาเพียงบางส่วนดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

ประวัติการจัดทำพจนานุกรมภาษาต่างประเทศ

ยุคแรกของการจัดทำพจนานุกรมเริ่มต้นเมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา โดยมีการบันทึกคำศัพท์และความหมายลงศิลาจารึกในช่วง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล ตามหลักฐานที่ยังคงหลืออยู่ประมาณ 30,000 ชิ้นในสุเมเรีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิรัก)

ในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาลมีการบันทึกคำศัพท์โดยจัดเรียงตามหัวข้อพร้อมให้คำอธิบายคำศัพท์ที่ยากแก่การทำความเข้าใจในภาษาจีน ส่วนในภาษากรีกยุคแรกมีนักปราชญ์รวบรวมคำศัพท์และอธิบายความหมาย เช่น โฮเบอร์ และต่อมา อริสโตฟานส์ ออฟไบเซนเทียม ผู้อำนวยการห้องสมุดที่ อเล็กซานเดรีย รวบรวมจัดทำพจนานุกรมภาษากรีก Lexis นอกจากนี้ยีงมีพจนานุกรมภาษาละติน De Significatu Verborum (‘On the Meaning of Words’) ที่รวบรวมโดยมาร์คัส เวอร์เรียส ฟลาคคัส (Marcus Verrius Flaccus) นักไวยากรณ์ชาวโรมันในปีที่ 20 ก่อนคริสกาล [1]

ยุคกลางของพจนานุกรมเกิดขึ้นพร้อมกับวัฒนธรรมการเขียนก่อนที่จะมีการพิมพ์ การเขียนเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ เช่น Etymologicae โดยอิซิดอร์ ออฟ เซอวิลล์ (Isidore of Seville) ที่มีเนื้อหามากถึง 20 เล่ม ประกอบด้วย 448 บท การสำเนาพจนานุกรมภาษาละตินช่วงยุคกลางจะจัดทำด้วยการคัดลอก โดยยังมีต้นฉบับหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ Derivationes โดยฮูโกติโอ ออฟ บิซา (Hugotio of Pisa) ที่เขียนขึ้นในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 12 และ Catholicum โดยจอห์น ออฟ เจนัว (John of Genoa) ใน ค.ศ. 1286 เป็นหนังสือเล่มแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1460 [2]

นอกจากพจนานุกรมแล้ว ความสนใจในคำศัพท์ยังแสดงให้เห็นผ่านการเขียนอธิบายคำศัพท์ในหน้าหนังสือ ทั้งที่เป็นการแทรกคำอธิบายระหว่างบรรทัด (intralinear glosses) หรือการอธิบายขอบหน้า (marginal glosses) และในยุคนี้มีการอธิบายที่มาคำศัพท์ภาษาอังกฤษโดยเทียบเคียงกับภาษาละติน นั่นหมายความว่าในยุคนี้ได้เริ่มมีการจัดทำพจนานุกรม 2 ภาษาขึ้น เช่น Glossary โดยแอลฟริก (Aelfric) ที่พัฒนาจาก Etymologicae ของอิซิดอร์ ออฟ เซอวิลล์ โดยจัดทำเพื่อใช้สอนภาษาละตินแก่นักบวชนิกายเบเนดิกต์ พจนานุกรมเล่มนี้รวบรวมคำศัพท์ 1,300 คำ โดยคำต้นเป็นภาษาละตินที่เทียบเคียงกับภาษาอังกฤษ ให้คำอธิบาย และจัดเรียงตามหัวข้อ เช่น สัตว์ป่า อวัยวะในร่างกาย

ต่อมาในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 จอห์น การ์แลนด์ (John Garland) ได้จัดทำหนังสือสอนภาษาละติน Dictionarius (หมายความว่า ‘a collection of dictions or sayings’-หนังสือรวบรวมคำศัพท์และคำพังเพย) หนังสือเล่มนี้ ประมวลคำศัพท์ภาษาละตินเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ และยังมีพจนานุกรมเล่มอื่นๆ ที่สำคัญและเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำพจนานุกรมสมัยใหม่ เช่น พจนานุกรมภาษาอิตาเลียนสำหรับการเรียนภาษาละติน Elementarium โดยปาปิอุส (Papius) ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 นำเสนอคำศัพท์ตามลำดับตัวอักษร

พจนานุกรมภาษาละติน-ฝรั่งเศส โดยฟีร์แมง เลอ แวร์ (Firmin le Ver) ที่รวบรวมคำศัพท์กว่า 45,000 คำ ใน ค.ศ. 1440 และพจนานุกรม Universel Vocabulario en latin y en romance โดยอัลฟองโซ เดอ ปาเลนเซีย (Alfonso de Palencia) ใน ค.ศ. 1490 พจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ละตินเล่มแรก Promptorium Parvolurum sive Clericum (the ‘storehouse for children and clerics’ – คำศัพท์สําหรับเยาวชนและนักบวช) รวบรวมคำศัพท์กว่า 10,000 คำ จัดเรียงตามลำดับอักษร โดยกาล์ฟริดัส แกรมมาติคัส (Galfridus Grammaticus) นักบวชชาวอังกฤษ [3]

หลังจากนั้นเป็นเวลากว่าศตวรรษ พจนานุกรมมีบทบาทต่อการศึกษาเป็นหลัก Latin-English Dictionary ได้รับการตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1538 โดยเซอร์โธมัส อีเลียต (Sir Thomas Elyot) ที่ให้คำอธิบายโดยละเอียดและแม่นยำจากการค้นคว้าในห้องสมุด Royal Library of Henry VIII ต่อมายังมี Shorte Dictionarie for Young Beginners โดยจอห์น วิธาลส์ (John Withals) ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1556

ครั้น ค.ศ. 1574 จอห์น แบเรต์ (John Baret) ตีพิมพ์ Alvearie พจนานุกรม 3 ภาษา คือ ภาษาละติน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก และ 6 ปีต่อมาได้เพิ่มภาษากรีกอีกหนึ่งภาษา เมื่อถึง ค.ศ. 1589 จอห์น ไรเดอร์ (John Rider) ได้ตีพิมพ์ Bibliotecha Scholastica พจนานุกรมภาษาอังกฤษ-  ละติน และละติน-อังกฤษ ซึ่งมีกลุ่มผ้ใช้เป็นพ่อค้า เสมียน นักปราชญ์ และช่างฝีมือ [4]

พจนานุกรมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เช่น การใช้ภาษาทางการ การรวบรวมคำศัพท์ที่สำคัญในรูปแบบที่เหมาะสมและใช้งานบ่อย ดังในพจนานุกรม New English Dictionary ของจอห์น เคอร์ซีย์ (John Kersey) ใน ค.ศ. 1702 อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมในยุคนี้ไม่เพียงแต่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับคำศัพท์ แต่ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่น เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเมือง ตลาด

ดังในพจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส คำและสิ่งของ ข้อคิดเห็นใหม่เกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศส สำนวน ภาษาภาพพจน์และภาพล้อ การออกเสียงคำศัพท์ยาก ประเภทของคำนาม ลักษณะคำกริยา คำศัพท์ใช้บ่อยทางศาสตร์และศิลป์ และการใช้งานภาษาฝรั่งเศสอื่นๆ (Dictionnaire François, Contenant les mots et les choses, plusieurs nouvelles remarques sur la langue française, ses expressions propres, figurées et burlesques, la prononciation des mots les plus difficiles, le genre des noms, le régime des verbes, avec les termes les plus communs des arts et des sciences: le tout tiré de l’usage et des bons auteurs de la langue française) โดยเซซาร์-ปีแอร์ ริเชเลต์ (César-Pierre Richelet) ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1680

ทั้งนี้มีข้อถกเถียงถึงข้อมูลที่ควรบรรจุในพจนานุกรมว่าไม่ควรบรรจุชื่อเฉพาะหรือข้อมูลทางภูมิศาสตร์ แต่ควรมุ่งเน้นไปที่คำศัพท์เพียงอย่างเดียว หรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ควรใส่คำศัพท์ง่ายๆ ที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว และในช่วงศตวรรษนี้เองที่สถาบันที่มีอำนาจในการบัญญัติคำศัพท์เริ่มปรากฏตัว และมีการตีพิมพ์พจนานุกรมที่เป็นผลงานของสถาบันเหล่านี้ เช่น พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานฝรั่งเศส (ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1635) ตีพิพม์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1694 ครั้งที่ 2 ใน ค.ศ. 1718 และครั้งที่ 3 ใน ค.ศ. 1740 พจนานุกรมในกลุ่มนี้มักถูกวิพากษ์ในเรื่องของการบัญญัติภาษาออกเป็นกฎซึ่งเป็นการมองข้ามภาษาที่ใช้ในบริบทจริง [5]

พจนานุกรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เผยให้เห็นทิศทางใหม่ของการจัดทำพจนานุกรมที่ตรงข้ามกับการพยายามแทรกแซงภาษาในช่วงศตวรรษก่อน ยุคนี้ได้มีการค้นคว้าการใช้คำศัพท์ และเปลี่ยนแปลงจากการบัญญัติเป็นการอธิบายภาษาตามการใช้งาน เช่น Deutsches Wörterbuch ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1961 โดยเจ็คอบและวิลเฮล์ม กริมม์ (Jacob and Wilhelm Grimm) ที่เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1838 ด้วยการรวบรวมคำศัพท์กว่า 350,000 คำ ด้วยการขอให้อาสาสมัครจากทั่วประเทศอ่านหนังสือและส่งข้อความที่ไม่เข้าใจกลับมาเพื่ออธิบายความหมายและบรรจุลงในพจนานุกรม

พจนานุกรม OED (Oxford English Dictionary) เป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชนผู้ใช้ภาษาอังกฤษ โดยใช้เวลารวบรวมและค้นคว้าคำศัพท์จากข้อความที่ส่งมาจากอาสาสมัครนานถึง 25 ปีพจนานุกรมฉบับนี้ตีพิมพ์เนื้อหาครึ่งแรกใน ค.ศ. 1884 และตีพิมพ์เนื้อหาส่วนสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 1928

ในยุคนี้มีการจัดพิมพ์พจนานุกรมที่จัดทำขึ้นโดยนักปราชญ์หลายเล่ม เช่น American Dictionary of the English Language ของโนอาห์ เว็บสเตอร์ (Noah Webster) ถือเป็นเล่มที่สำคัญเพราะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการในการจัดทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน และมีการรวบรวมคำศัพท์ที่เผยให้เห็นถึงจิตวิญญาณของสหรัฐอเมริกา เช่น คำว่า “congress, senate, assembly” เนื่องจากเป็นการอธิบายถึงแนวคิดที่มีเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำพจนานุกรมในฐานะ “อนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์” ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของชาติผ่านพจนานุกรม [6]

ประวัติศาสตร์การเขียนพจนานุกรมภาษาต่างประเทศแสดงให้เห็นลักษณะอย่างหนึ่งของการเขียนพจนานุกรมภาษาต่างประเทศ ในช่วงแรกพบว่างานพจนานุกรมส่วนใหญ่เป็นงานที่ทำโดยบุคคล ยังไม่มีองค์กรที่เข้ามารับหน้าที่กำหนดมาตรฐานภาษาโดยตรง และบทบาทสำคัญของพจนานุกรมก็เป็นการให้คำอธิบายเกี่ยวกับคําศัพท์เพื่อใช้ในการเรียน การติดต่อสื่อสารเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของฝรั่งเศสนั้น เนื่องจากว่าในปลาย ค.ศ. 1620 ได้มีการก่อตั้งสำนักภาษาฝรั่งเศสเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ทางภาษาให้เป็นระเบียบแบบแผนจึงส่งผลต่อการวิจารณ์พจนานุกรมของริเชเลต์ที่บรรจุคำศัพท์ที่มีการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ภาพรวมของบริบทการจัดทำพจนานุกรมในประเทศไทย

หนังสือคำศัพท์ภาษาไทยมีประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปนานถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 2199-2231) ที่เรียกว่าจินดามณี เป็นหนังสือรวบรวมคำศัพท์ และแบบเรียนภาษาไทย สำหรับการแต่งฉันทลักษณ์และให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติสำหรับการเข้ารับราชการ

หลังจากนั้น มีหนังสือคำศัพท์เล่มอื่นๆ ที่จัดทำขึ้นโดยมิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยอยุธยาตอนปลาย-ต้นรัตนโกสินทร์ เช่น พจนานุกรมไทย (พ.ศ. 2207-2239) ของหลุยส์ ลาโน พจนานุกรมไทย (พ.ศ. 2385) ของ เจ. เทเลอร์ โจนส์ พจนานุกรมไทย (พ.ศ. 2389) ของเจ คัสแวล และ เจ. เอช. แชนด์เลอร์ พจนานุกรมละติน-ไทย (พ.ศ. 2397) และ หนังสือ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท (พ.ศ. 2397) ของปาลเลอกัวซ์ พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย (พ.ศ. 2408) ของหมอยอร์ช แมกฟาแลนด์ อักขราภิธานศรับท์ (พ.ศ. 2416) ของหมอบรัดเลย์ ลิปิกรมายน ภาษาไทย-อังกฤษ (พ.ศ. 2434) ของ อี. บี. มิเชล และศริพจน์ ภาษาไทย (พ.ศ. 2439) ของบทหลวงชองหลุยส์ เวย์ เป็นฉบับปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มเติมเนื้อหาจากหนังสือ สัพะ พะจะนะ พาสา ไท [7]

สำหรับพจนานุกรมภาษาไทยที่จัดทำโดยราชการไทยเผยแพร่ครั้งแรกใน พ.ศ. 2434 คือ พจนานุกรม ลำดับแลแปลศัพท์ที่ใช้ในหนังสือไทย ฉบับ ร.ศ. 110 ตามพระดำริของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาในขณะนั้น โดยรวบรวมคำศัพท์จากหนังสือทั้งที่เป็นวรรณกรรมและวรรณคดีที่มีอยู่ โดยมีพระเถระ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการเป็นผู้รับผิดชอบในการคิดค้น แปลความหมายคำศัพท์ พจนานุกรมนี้มีคำศัพท์ 16,146 คำ และนิยมใช้เป็นแบบแผนการเขียนการอ่าน [8]

หลังจากนั้นได้มีการจัดพิมพ์พจนานุกรมเป็นคำแปลศัพท์ภาษาไทยสำหรับเขียนคำใช้ให้ถูกต้องตัวสะกด ฉบับ ร.ศ. 120 เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2444 และปทานุกรมสำหรับโรงเรียน พ.ศ. 2463 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำและตีพิมพ์พจนานุกรมเพื่อใช้อ้างอิงสําหรับการเขียนคำให้ถูกต้อง ใน พ.ศ. 2470 จึงได้มีการจัดพิมพ์หนังสือปทานุกรม ออกจำหน่ายและใช้ในราชการ

แต่เนื่องจากข้อบกพร่องและความผิดพลาดหลายประการ จึงมีการชำระหนังสือปทานุกรมโดยคณะกรรมการชำระปทานุกรม หลังการจัดตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้น พ.ศ. 2476 งานชำระปทานุกรมจึงถูกโอนมาให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2493

และเปลี่ยนชื่อปทานุกรมเป็น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 ถือเป็นพจนานุกรมฉบับแรกของราชบัณฑิตยสถาน บรรจุคำศัพท์ประมาณ 20,000 คำ

เชิงอรรถ :

[1] Lynda Mugglestone, Dictionaries: A Very Short Introduction (New York: Oxford University Press, 2011), p. 20.

[2] Ibid., p. 21.

[3] Ibid., pp. 21-23.

[4] Ibid., pp. 23-25.

[5] Ibid., pp. 31-33.

[6] Ibid., pp. 34-38.

[7] กระลำภักษ์ แพรกทอง, วิวัฒนาการของพจนานุกรมไทย เอกสารประกอบนิทรรศการเรื่อง “วิวัฒนาการของพจนานุกรมไทย” เนื่องในโอกาส ฉลองวันสถาปนาราชบัณฑิตยสถานครบ 70 ปี (ม.ป.ท., 2547).

[8] กระทรวงศึกษาธิการ, พจนานุกรม (ร.ศ. 120) (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ คุรุสภาลาดพร้าว, 2541).

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กรกฎาคม 2565

The post กำเนิดพจนานุกรมในโลก กำเนิดพจนานุกรมในไทย appeared first on Thailand News.