ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476

บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476

ภาพถ่ายประชาชนจำนวนมากมาต้อนรับทหารที่ไปปราบกบฏกลับถึงกรุงเทพฯ ที่หน้าสถานีหัวลำโพง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2476 (ภาพจากสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ พ.ศ. 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ : บรรณาธิการ. สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, 2558)

สำรวจบทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 เมื่อประชาชนร่วมบริจาค และอวยพรรัฐในการปราบกบฏ

“คนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย” นี่เป็นคำพูด ความคิดเห็นที่เราท่านได้พบ ได้เห็น ตั้งแต่เมื่อแรกมีประชาธิปไตยในไทยใน พ.ศ. 2475 ถึงไม่บ่อยแต่ไม่เคยจางหาย และขยายแนวคิดไปว่า “ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย”

ท่านคิดเห็นอย่างไรเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ตามสถานะ ข้อมูล ฯลฯ หากวันนี้อยากจะชวนท่านมาดูบทความหนึ่ง ที่ทำให้เห็นภาพประชาชนที่ “ใส่ใจ” และ “เอาใจช่วย” ที่มีต่อ “ประชาธิปไตย” กับบทความวิชาการที่ชื่อว่า “เมื่อสามัญชนหาญปราบกบฏ : บทบาทพลเมืองสยามในการปราบกบฏบวรเดช 2476” เขียนโดย ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคม 2559 นี้

ที่เรียกว่า “บทความวิชาการ” เพราะผู้เขียน (ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง) สืบค้นเอกสารชั้นต้นอย่างรอบด้าน ทุกเรื่องมีเอกสารอ้างอิง เอกสารที่อ้างอิงจำนวนมากเป็นเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นต้นกว่าครึ่งเป็นเอกสารราชการ ในที่นี้ขอยก 2-3 ตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟัง

ประชาชนจำนวนมากต้อนรับทหารกลับจากปราบกบฏ ที่หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2476 (ภาพจาก สมุดพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ : บรรณาธิการ.สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พ.ศ. 2558)

หนึ่งคือ พระมหาภู่ นาคสลับ วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลิขิตถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2476 ความว่า

การปราบกบฏไม่ใช่เรื่องของสงฆ์ แต่เรื่องของชาติเป็นเรื่องของทุกคน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเพื่อนร่วมชาติกับทุกคน พระมหาภู่ยังได้รายงานสถานการณ์ให้รัฐบาลทราบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เชื่อข่าวของพวกกบฏมากกว่า ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขการนำเสนอข่าวสาร และอำนวยพรมายังรัฐบาลว่า “อาตมาภาพนอกจากเอาใจช่วยรัฐบาลแล้ว ยังขออัญเชิญพระรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยอภิบาลปกป้องในกาลทุกเมื่อด้วย”

หนึ่งคือ นายพร้อม ทัพประพนท์ เสมียนอำเภอพานทอง ชลบุรีโทรเลข ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 17 ตุลาคม 2476 ได้แจ้งว่า เขาได้ขอลาหยุดงาน 7 วัน เพื่อเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ

สตรีชาวแก่งคอยที่สมัครไปช่วยปราบกบฏอยู่ในกองเสบียงที่ส่วน 2 (ภาพจาก สมุดพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 2 : ปราบกบฏ 2476. ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์:บรรณาธิการ.สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พ.ศ. 2558)

หนึ่งคือ นางปุ่น สุภาพันธ์ จังหวัดเพชรบุรีส่งจดหมายลงวันที่ 18  พฤศจิกายน 2476 ถึงนายกรัฐมนตรี บริจาคแหวนแต่งงานสมทบทุนให้รัฐบาลปราบกบฏ

“ดิฉัน เป็นราษฎรสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งไม่มั่งมีศรีสุขอย่างใด แต่ทั้งกายและใจของดิฉันเคารพมั่นคงในรัฐธรรมนูญซึ่งใต้เท้าได้เป็นประมุขนำมาหยิบยื่นให้ด้วยพลีชีวิต ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อประเทศต้องการเพื่อรักษารัฐธรรมนูญของชาติให้สถิตสถาพรอยู่ ดังนั้น ดิฉันได้ส่งแหวนมาพร้อมจดหมายนี้ 1 วง แม้จะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ ไม่มีราคาเท่าใดนัก แต่เป็นของมีค่าที่สุดของดิฉันสิ่งหนึ่ง เพราะเป็นแหวนวิวาห์ของดิฉัน…”

เอกสารบันทึกข้อมูลชาวจีนสยามย่านพลับพลาไชยร่วมกันบริจาคเงินปราบกบฏ (เอกสารหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

หนึ่งคือ นางส้มจีน รักภาระพิทักษ์ เจ้าของร้านสหธัญญาพานิช ขออนุญาตรัฐบาลอัดรูปถ่ายพวกกบฏจำหน่ายในราคาถูก เพื่อช่วยรัฐบาลในการจับกุมผู้ก่อกบฏมารับโทษ

นางส้มจีนกล่าวว่า “ดิฉันจะพยายามจำหน่ายให้ถูกที่สุด แม้จะเสียเวลาหรือขาดทุนบ้าง ดิฉันก็ยอม เพราะดิฉันเห็นแก่ชาติมากกว่า”

ยังมีกลุ่มบุคคลอีกจำนวนมากที่เข้าร่วมการปราบกบฏ เช่น พนักงานการรถไฟ, พลเมืองอาสา ที่ช่วยเหลือ, บริจาค, อวยพร ฯลฯ แก่รัฐบาลในการต่อสู้กับกบฏบวรเดช 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ตุลาคม 2559

https://www.silpa-mag.com

The post บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476 appeared first on Thailand News.