7 ตุลาคม 2463 “เรือหลวงพระร่วง” เรือรบลำแรกของไทย มาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา
ในปี 2457 ประเทศไทยได้มีการจัดซื้อเรือรบสำหรับการป้องกันพระราชอาณาจักรทางทะเล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2457 เพื่อเป็นผู้ดำเนินการเรี่ยไรเงินจากประชาชนทั่วประเทศ สำหรับจัดหาเรือรบดังกล่าว และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์) เป็นสภานายกและเหรัญญิก ของสมาคมฯ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบด้วย 80,000 บาท, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ 40,000 บาท และได้เงินที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวายเมื่อครั้งจัดงานพระราชพิธีทวีธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งยังเหลือจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 116,324 บาท
แม้แต่ย่าเหล่-สุนัขทรงเลี้ยง ที่เสียชีวิตไปก่อน (เมื่อปี 2456) ก็ยังบริจาค
โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 100 บาท เข้าร่วมสมทบการซื้อเรือรบในนามของย่าเหล่ เมื่อรวมกับเงินที่เรี่ยไรทั่วประเทศแล้ว ได้จำนวนเงินทั้งหมด 3,514,604 บาท 1 สตางค์ จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็น “ข้าหลวงพิเศษ” ออกไปเลือกสรรจัดซื้อ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
แล้วก็ได้ข้อสรุปที่เรือพิฆาตตอร์ปิโด้ จากสหราชอาณาจักร
เรือดังกล่าวมีชื่อเดิมว่า เรเดียนท์ เป็นเรือของอังกฤษ เคยใช้รบในสงครามโลกครั้งที่ 1 สร้างที่ บริษัท ทอร์นิครอฟท์ เมืองเซาธัมพ์ตัน สหราชอาณาจักร เมื่อกุมภาพันธ์ 2460 มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน, ความเร็ว 35 นอต, อาวุธประจําเรือ ได้แก่ ปืนใหญ่ขนาด 102 มิลลิเมตร จํานวน 3 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 76 มิลลิเมตร จํานวน 1 กระบอก ปืนขนาด 40 มิลลิเมตร จํานวน 2 กระบอก ปืนขนาด 20 มิลลิเมตร จํานวน 2 กระบอก ตอร์ปิโด 21 นิ้ว จํานวน 4 ท่อ รางปล่อยระเบิดลึกและแท่นยิงระเบิดลึก จํานวน 2 แท่น และกําลังพลประจําเรือ 135 นาย
ถือว่าเป็นเรือรบที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น
การนำเรือหลวงพระร่วงกลับมาประเทศไทยนั้น กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงกำหนดเส้นทาง และทรงนำเรือกลับโดยพระองค์เอง โดยออกเดินทางจากประเทศอังกฤษในวันที่ 20 กรกาคม 2463 ถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาในวันที่ 7 ตุลาคม 2463 รวมเวลาประมาณ 90 วัน ซึ่งในเวลานั้นเทคโนโลยีที่จะช่วยในการเดินเรือ มีเพียงเรดาร์ และเครื่องวิทยุสำหรับติดต่อราชการ การนำเรือหลวงกลับด้วยพระองค์เป็นพระอัจฉริยภาพโดยแท้จริง
ในงานเลี้ยงฉลองเรือหลวงพระร่วง ที่ สมาคมสหทัยสมาคม (9 ตุลาคม 2463) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่รับสั่งชมกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ว่า
“…ส่วนกรมหลงชุมพร ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า เป็นนายทหารเรือไทยคนแรก ที่นำเรือรบไทยมาจากต่างประเทศได้ และที่ยากมากปานใด ในการนำมานั้น ท่านทั้งหลายคงพอจะเดาได้ เมื่อทราบว่าบรรดาลูกเรือนั้น เป็นชาวต่างประเทศทั้งนั้น และที่นำมาได้โดยสวัสดิภาพ ก็แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นผู้ชำนาญทะเลจริงๆ นับว่าสมควรที่จะได้รับความขอบใจ ของข้าพเจ้าและท่านทั้งหลาย…”
ส่วนชื่อ “พระร่วง” นั้น พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 6 ถึงเจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร ตอนหนึ่งว่า “ส่วนเรือที่สั่งเข้ามาตามความคิดนั้น เจ้าพระยาอภัยราชา ขอให้เราคิดนามให้เราได้นึกถึงนามวีรกษัตริย์ อันเป็นที่นับถือของชาวไทย ทั่วไปคือ ‘พระร่วง’ ซึ่งถือกันโดยทั่วไปว่า ‘ขลัง’ ”
เรือหลวงพระร่วงขึ้นระวางประจําการเพื่อใช้ราชการกองทัพเรือ ตั้งแต่ 11 ตุลาคม 2463 – 19 มิถุนายน 2502 ก็ปลดระวางประจําการ รวมเป็นเวลาถึง ๓๙ ปี ในภารกิจเพื่อความมั่นคงของประเทศทางทะเลตามเจตนารมย์ในการซื้อเรือหลวงพระร่วงตั้งแต่ต้น นอกจากนี้เรือหลวงพระร่วงยังทำหน้าสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือรับพระศพกรมหลวงชุมพรฯ กลับกรุงเทพฯ
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 40 วันที่ 23 พฤษภาคม 2466 ลงข่าว นายพลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวง ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์แล้ว ในประกาศข่าวสิ้นพระชนม์ดังกล่าวนั้น ตอนหนึ่งแถลงว่า “วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม เจ้าพนักงานได้เชิญพระศพเสด็จกลับโดยเรือเจนทะเล สู่กรุงเทพมหานคร แล้วเปลี่ยนเรือเชิญพระศพลงสู่เรือพระร่วงที่บางนา แล่นขึ้นมาตามลําแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดอยู่ท่าน่าวัดราชาธิวาส เวลา 1 นาฬิกาก่อนเที่ยง เชิญพระศพขึ้นรถพยาบาลของ สภากาชาดสยามไปสู่วังของท่าน…”
ด้วยเป็นรับสั่งก่อนสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ-นายทหารเรือไทยคนแรก กับเรือหลวงพระร่วง-เรือรบของไทยลำแรก
ข้อมูลจาก
คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี. ประชุมภาพประวัติศาสตร์ทหารและตำรวจ พิมพ์ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี, เมษายน 2525
ถ.ถุง. “เรือหลวงพระร่วง เรือของปวงชนชาวไทย” , นาวิกศาสตร์ ปีที่ 95 เล่มที่ 11 พฤศจิกายน 2555
วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2561
เรือหลวงพระร่วง http://www.info.ru.ac.th สืบค้นเมื่อ 4 ตุลาคม 2562
เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ตุลาคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post 7 ตุลาคม 2463 “เรือหลวงพระร่วง” เรือรบลำแรกของไทย มาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา appeared first on Thailand News.