ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ผ่าตำนานรัก เมื่อนางเมรีได้พระรถเสนเป็นผัว นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์เป็นลูก

ผ่าตำนานรัก เมื่อนางเมรีได้พระรถเสนเป็นผัว นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์เป็นลูก

…การที่นางเมรีและนางพันธุรัตเผชิญหน้ากับภาวะความเปล่าเปลี่ยว เป็นความทุกข์ทางใจอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อโชคชะตานำพาให้นางทั้งสองพบกับมนุษย์ แล้วใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยที่นางเมรีได้พระรถเสนเป็นผัว และนางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์เป็นลูก ถึงแม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็เท่ากับเป็น “ทิพย์โอสถ” ชุบย้อมใจนางให้อิ่มเอมเป็นล้นพ้น

นางเมรียามที่ครองคู่กับพระรถเสน นางอยู่ในสถานะเมียแก้ว ความประพฤติของนางถอดแบบจากสตรีผู้แสนซื่อ นางเมรีเทิดทูนผัวไว้บนเศียรเกล้า มีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ผัวมิให้มีความทุกข์ใดมาแผ้วพาน ความสุขที่นางมอบให้ผัวนั้นเกินร้อย แม้เมื่อมีเหตุให้หวาดระแวงว่าผัวจะทอดทิ้ง นางก็ไม่สำแดงอาการวิตกจนเกินเหตุ เพราะกลัวผัวจะเข้าใจตัวนางผิดไป

นางซ่อนความวิตกนี้ไว้ในใจเพื่อพิสูจน์ความหวาดระแวงให้คลี่คลายเสียก่อน ดังกรณีที่นางตื่นบรรทมแล้วหวาดหวั่นใจด้วยพระรถเสนมิได้นอนอยู่แนบข้าง นางกำชับให้เหล่านางสนมเที่ยวค้นหาพระรถเสนอย่างเงียบๆ มิให้ท้าวเธอล่วงรู้ ทั้งนี้เพราะ “เกลือกว่าอยู่รู้ความจะขุ่นเคือง จงยักเยื้องแยบคายชม้ายดู”

นอกจากนี้นางเมรียังรอบคอบพอที่จะย้ำเตือนสาวสนมอีกด้วยว่า “แม้นท้าวไปชมสนมใน อย่าทำให้ท้าวไทเธออดสู แต่เอาเหตุมาแจ้งแสดงกู ค้นดูบัดนี้อย่าวุ่นวาย”

หรือในคราวที่ทั้งสองเที่ยวชมสวน แล้วพระรถเสนหักกิ่งมะม่วงหาวมะนาวโห่ ซึ่งเป็นสิ่งของสำคัญยิ่งในเมืองมาร นางเมรีคิดไปเองว่าเป็นวิสัยที่ผัวเคยคะนองมาก่อน แม้จะอยู่ในสายตาของนางโดยตลอด แต่นางมิได้โกรธเคืองและกล่าวตำหนิแต่อย่างใด “ถึงกระนั้นคำหนึ่งเท่ากึ่งก้อย ข้าน้อยมิได้เคืองในเบื้องสมาน หมายใจว่าจะเป็นจอมกระหม่อมมาร ถึงเกินการก็ไม่กริ่งประวิงใจ”

ด้วยเหตุที่นางเมรีคำนึงถึงจิตใจผัวมาก่อนความรู้สึกตัว อีกทั้งยังเอาอกเอาใจผัวไปเสียทุกอย่าง เมื่อนางติดตามมาพบพระรถเสน นางจึงไม่วายตั้งคำถามด้วยความสงสัยในความผิดที่นางก่อ “โทษน้องนี้เป็นไฉนไม่มีผิด หรือบพิตรควรร้างเสน่หา ไม่มีข้อเคืองขัดพระอัชฌา อนิจจานี้หรือว่าปรานี”

นางเมรีน่าจะติดใจในความผิดที่พระรถเสนหนีจากไป เพราะนางย้ำอยู่หลายครั้ง “อันโทษน้องนี้ไซร้มิได้มี ควรหรือพระมาหนีไปเด็ดดาย” จะมีที่นางเมรีกล่าวประชดประชันพระรถเสนก็เพราะความอัดอั้นตันใจจนต้องพรั่งพรูออกมาเป็นคำพูดตัดพ้อด้วยความโศก ดังที่นางตั้งข้อกังขาถึงความยอกย้อนในความรักที่พระรถเสนมอบให้ “กระนี้หรือว่ารักสมัครสมร จนม้วยมรณ์ดับเบญจขันธ์ขัย ขอขอบคุณผ่านฟ้าสัจจาใจ ที่ว่าไว้สมสิ้นทุกสิ่งอัน”

นางเมรีเป็นผู้ที่จดจำความสุขอันแสนฉ่ำชื่นในห้วงอดีตที่ว่า “ยามเคยปรีดิ์เปรมเกษมสันต์ แสนสนิทพิสวาทไม่ขาดวัน เป็นมหันตมโหโอฬาฬาร” ได้อย่างไม่มีวันลืม ความสุขอันอบอวลอยู่ในใจนางเมรีไม่ว่าจะรำพันถึงพระรถเสนแง่มุมใด นางก็มักก่อรูปความคิดด้วยการอ้างถึงช่วงเวลาอดีตที่ “เคย” สุข และ “ยาม” พลอดรักกับพระสวามี

คำกลอนอันโดดเด่นทางวรรณศิลป์ตอนหนึ่งเปิดเผยห้วงอารมณ์นางเมรี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีความสุขอย่างเต็มที่กับพระรถเสน กวีใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์เน้นย้ำคำว่า “เคย” ไว้ต้นวรรคด้วยรูปแบบกลบทบุษบงแย้มผกา เพื่อย้ำความหมายถึงอดีตอันแสนสุข ทั้งเคย “ถนอมกล่อม” เคย “ประสานสุรเสียง” เคย “หยอกเย้ายียวน” เคย “เยื้อนยิ้มริมช่องบัญชร” เคย “สรวลโสมนัส” เคย “แสนพิสวาท” เคย “ร่วมรสฤดี” และเคย “มีมาโนช” อันน่ายินดี

นอกจากนี้กวีใช้คำที่เป็นกระสวนคู่กัน คือคำว่า “ยาม-เคย” เพื่อเจาะจงช่วงเวลาแห่งความสุขล้นของบุคคลทั้งสอง ทั้งใน ยาม “เสวย” เคย “เสวยบรมสุข” ยาม “สนุก” เคย “สนิทเสน่หา” และยาม “สรง” เคย “สรงสุคนธา” ความสุขที่นางเมรีรำพันถึงนี้เรียกได้ว่าเป็นยอดสุดของประสบการณ์รักอันแสนหวานชื่น อย่างไรก็ตาม คำกลอนต่อมาลงท้ายด้วยคำว่า “โอ้” อันเป็นเสียงที่เปล่งออกมาอย่างหดหู่ใจ เสียงครวญนี้ตัดกลับมา ณ ช่วงเวลา “ป่านฉะนี้หนา” โดยเร็วพลัน พร้อมกับสิ่งที่นางเมรีคาดการณ์แล้วว่าปัจจุบันที่อยู่โดยไร้ความสุขนั้น “จะเนานาน” ดังคำกลอนต่อไปนี้

เคยถนอมกล่อมแก้วสุดามาร
เคยประสานสุรเสียงสำเนียงนวล
เคยหยอกเย้ายียวนชวนเสน่ห์
กำหนดเล่ห์อาลัยประโลมสงวน
เคยเยื้อนยิ้มริมช่องบัญชรชวน
เคยสรวลโสมนัสเปรมปรีดิ์
เคยแสนพิสวาทสว่างศรี
เคยสองร่วมรสฤดีดี
เคยมีมาโนชเปรมปรา
ยามเสวยเคยเสวยบรมสุข
ยามสนุกเคยสนิทเสน่หา
ยามสรงเคยสรงสุคนธา
โอ้ป่านฉะนี้หนาจะเนานาน [14]

ส่วนนางพันธุรัตนั้น ความสุขของนางคือการสวมบทบาทความเป็นแม่ และอิ่มใจในความรักที่มีต่อ พระสังข์ นางพันธุรัตเป็นแม่เลี้ยงประเภทที่ตามใจลูกทุกอย่าง นางไม่เคยเกรี้ยวกราด ต่อว่าหรือกล่าวตำหนิติเตียนพระสังข์เลยแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามนางจะลงโทษพี่เลี้ยงสถานหนักหากไม่ดูแลหรือปล่อยปละละเลยพระสังข์ให้คลาดสายตา เช่นเดียวกับในคราวที่นางจากวังไปหากินในป่า นางก็จะรีบกลับมาหาลูกด้วยใจที่เป็นห่วง ความรักที่นางพันธุรัตมอบให้พระสังข์จึงไม่มีวันคลี่คลาย

ถ้าแจกแจงความห่วงหาอาทรที่นางมีต่อพระสังข์เป็นปริมาณตัวเลขได้ โดยกำหนดปริมาณสูงสุดที่หลักร้อย นางน่าจะให้ลูกเกินไปถึงหลักพัน มองจากจุดนี้ เราจะเห็นว่าถึงแม้นางพันธุรัตจะไม่ใช่แม่แท้ๆ ของพระสังข์ แต่ความรักที่นางมอบให้นั้นก็ยิ่งใหญ่ทดแทนความรักที่พระสังข์เพรียกหาแม่แท้ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งได้

เมื่อนางพันธุรัตจะรับพระสังข์ซึ่งเป็นมนุษย์เข้าเมือง ตัวบทบรรยายไว้ชัดเจนว่านางยักษ์และเหล่าบริวารต่าง “นิมิตกาย” เพื่อ “ให้เป็นมนุษย์สุดสิ้น” ในส่วนนางพันธุรัตนั้น “เข้าที่นฤมิตบิดเบือนกาย เฉิดฉายโสภาอ่าองค์”

ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความอุ่นใจให้แก่พระสังข์เมื่อเห็นร่างอันเป็นมายาของนาง สิ่งที่ดูจะเสริมความมั่นใจนางพันธุรัตให้รับพระสังข์มาเลี้ยงอย่างสนิทใจ ก็คือความเชื่อในบุญอำนาจวาสนาที่เกื้อหนุนกัน ดังคำอธิษฐานที่ว่าหากพระสังข์ “จะมาเป็นลูกข้าในครานี้ เทวัญจันทรีจงเล็งแล ขอให้ลอยเข้ามาถึงฝั่ง เหมือนหนึ่งยังข้าเห็นให้เป็นแน่” และทันทีที่นางตั้งจิตอธิษฐานจบลง “สำเภาลอยเลื่อนเคลื่อนคลา ไม่ทันพริบตาเข้ามาใกล้ เกยยังฝั่งพลันทันใด บัดใจเห็นทั่วทุกตัวมาร” วินาทีที่นางพันธุรัตพบหน้าพระสังข์ เป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความปีติ และทำให้นางเชื่อในสารของท้าวภุชงค์หนักแน่นยิ่งขึ้นว่ากุมารผู้นี้มีบุญจริง “แม่นยำเหมือนคำท้าวนาคิน เสร็จสิ้นทุกสิ่งไม่กริ่งใจ”

การที่นางพันธุรัตได้พระสังข์เป็นลูก เหมือนได้ของขวัญล้ำค่าที่ฟ้าเบื้องบนประทานมาให้ นางไม่ลังเลที่จะมอบเมืองทั้งเมืองให้พระสังข์ครอบครอง “พ่ออย่าได้กังขาราคี พระบุรีจะให้แก่ลูกยา” เมื่อนางพาพระสังข์เข้าเมืองแล้วก็ไม่รอช้าที่จะเฉลิมฉลองสมโภชบุตรเลี้ยงอย่างยิ่งใหญ่ เนื้อหาบทละครสังข์ทองตอนนี้ เราจะเห็นถึงความรักที่นางพันธุรัตมีต่อพระสังข์ว่าสุขล้นเพียงไร ยามที่นางอุ้มพระสังข์ใส่ตัก ดวงใจของนางเบิกบาน เป็นความรู้สึกที่เรียกได้ว่าผู้มีประสบการณ์ความเป็นแม่คนจะซาบซึ้งใจเป็นที่สุด

จูบพลางนางอุ้มขึ้นใส่ตัก
ความรักแสนสุดเสน่หา
ดังดวงฤทัยนัยนา
แล้วสั่งมหาเสนาใน
ท่านจงเร่งรัดจัดแจง
ตกแต่งพาราอย่าช้าได้
จะสมโภชลูกแก้วแววไว
บาดหมายกันไปอย่าได้ช้าบ [15]

ด้วยเหตุที่นางพันธุรัตหมายใจจะเลี้ยงดูพระสังข์อย่างดีที่สุด สภาวะแวดล้อมลูกเลี้ยงของนางจึงต้องเอื้อต่อความสุขอย่างเต็มที่ด้วย ดังการจัดแจงผู้ดูแลรับใช้ และให้ความบันเทิงเพลิดเพลินมิให้พระสังข์รู้สึกเบื่อหน่าย “แล้วจัดแจงนักเทศน์ขันที นางนมทั้งสี่พี่เลี้ยง กำนัลนางมโหรีขับไม้ สำหรับให้ขับกล่อมพระเนื้อเกลี้ยง” ยิ่งกว่านั้น นางพันธุรัตยังมอบอำนาจความเป็นใหญ่ในเวียงวังให้พระสังข์ถืออาญาสิทธิ์ตามใจปรารถนา “แม่มอบพระสังข์ให้ทั้งเวียงวัง ใครทุ่มเถียงจงเฆี่ยนฆ่าตี”

ความผูกพันใกล้ชิดระหว่างนางพันธุรัตกับพระสังข์ดำเนินต่อเนื่องมาจนกระทั่งพระสังข์เจริญวัยขึ้น ตัวบทบรรยายชีวิตนางพันธุรัตในช่วงนี้ว่า “นางค่อยเคลื่อนคลายสบายใจ จะใคร่ไปเที่ยวป่าพนาสัณฑ์”

วิสัยยักษ์กับพื้นที่ป่านั้นเป็นของคู่กัน เพราะพื้นที่ป่าเป็นแหล่งอาหารดิบสดอันโอชะของยักษ์ ในกรณีของนางพันธุรัตก็เช่นกัน เราจะเห็นว่าเมื่อพระสังข์ถึงวัยที่มีความเป็นส่วนตัวและมีวุฒิภาวะมากขึ้นแล้ว นางก็หมดห่วงและเห็นโอกาสที่จะปลีกตัวออกไปหากินสัตว์ป่าตามวิสัยเผ่าพันธุ์ของนาง

คราหนึ่งเมื่อนางพันธุรัตกลับมาจากป่า ประจวบกับเป็นช่วงที่พระสังข์ล่วงละเมิดคำสั่งไปยังสถานที่ต้องห้าม แล้วแอบเอานิ้วชี้จุ่มลงในบ่อทอง เช็ดเท่าไรก็ไม่ออกจึงจำต้องพันผ้าปิดซ่อนไว้ นางพันธุรัตเห็นเข้าก็ตื่นตระหนักเป็นที่ยิ่ง “ผ้าผูกนิ้วถูกอะไร เป็นไรหรือพ่อจงบอกมา”

ฝ่ายพระสังข์กลบเกลื่อนความผิดของตัว โดยอ้างว่า “ทำผิดลูกกลัวพระแม่ตี ลูกนี้ไม่มีอัชฌาสัย จับมีดเข้ามาผ่าไม้ บาดเลือดซับไหลฝนไพลทา” เหตุการณ์นี้นางพันธุรัตมิได้หวาดระแวงแคลงใจถึงสิ่งอื่นใด นอกจากกังวลแต่ความเจ็บปวดที่ลูกได้รับ “จะมากหรือน้อยแม่ขอดู นิ่งอยู่หาทำให้เจ็บไม่ กำมิดปิดซ่อนแม่ทำไม บาดแผลน้อยใหญ่ไฉนนา” แสดงให้เห็นว่าในยามที่พระสังข์อ้างว่าเจ็บนี้ นางก็เป็นห่วงลูกเป็นทุกข์เป็นร้อนแทน สองดวงเนตรของนางจึงคลอไปด้วยน้ำตา เพราะความอาทรที่นางมีให้พระสังข์จนหมดสิ้น

ขณะเดียวกันความรู้สึกที่สั่นคลอนจิตใจก็แปรเปลี่ยนเป็นความเหี้ยมโหด เมื่อพี่เลี้ยงไม่ดูแลลูกนางให้ดี บทลงโทษอันรุนแรงจึงเกิดขึ้น “ให้มัดตีพี่เลี้ยงนางใน” โดยบังอาจปล่อยปละพระสังข์ให้รอดพ้นสายตา “มึงไม่นำพาเอาใจใส่ ให้เล่นมีดเล่นพร้าผ่าไม้ ตีให้บรรลัยประเดี๋ยวนี้” เหตุการณ์นี้สงบลง เพราะพระสังข์อ้อนวอนให้นางพันธุรัตยกโทษให้เหล่าพี่เลี้ยง “มิให้ต้องตีชิงไม้ไว้” ได้ทันท่วงที

ทั้งนางเมรีและนางพันธุรัตมีอุปนิสัยเหมือนกันในข้อที่ว่า ยอมทุ่มเทความรักทั้งหมดเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก นางเมรีถ้าเชิดชูพระรถเสนให้โลกรู้ว่าเป็นคนรัก นางก็คงสลักข้อความจารึกทำนองที่ยอมอุทิศตนเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ต่อผัวไปจนวันตาย

ส่วนนางพันธุรัต แม้จะไม่มีทายาทโดยตรง แต่เมื่อนางรับพระสังข์มาเลี้ยงแล้ว ก็ประกาศเป็นที่รับรู้ในเมืองยักษ์ว่ากุมารน้อยผู้นี้เป็นบุตรของนาง มีอำนาจเต็มที่รองจากนาง น่าคิดว่าความสัมพันธ์ที่ดูผิดแผก ต่างเผ่าพันธุ์ ไม่น่าจะเชื่อมสายสัมพันธ์กันนี้ เป็นการละเมิดคติเตือนใจว่าด้วยความรักระหว่าง “มนุษย์” กับ “ยักษ์” อันเป็นสิ่งต้องห้ามใช่หรือไม่…

เชิงอรรถ :

[14] ล้อม เพ็งแก้ว. พระรถนิราศ สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน)?. น. 52-53.

[15] บทละครนอกรวม 6 เรื่อง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, (กรุงเทพฯ : บรรณาคาร, 2465), น. 71.

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “จากนางเมรีถึงนางพันธุรัต : ความต่างที่ไม่ต่าง” เขียนโดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post ผ่าตำนานรัก เมื่อนางเมรีได้พระรถเสนเป็นผัว นางพันธุรัตเลี้ยงพระสังข์เป็นลูก appeared first on Thailand News.