กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง
สามปีหลังการสถาปนาราชวงศ์จักรีเมื่อ พ.ศ. 2325 ปัตตานีมิได้ส่งเครื่องบรรณาการให้แก่กรุงสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงส่ง พระยาราชบังสัน (แม้น) นำทัพเรือเข้าโจมตีปัตตานี เรือรบสยามแล่นตามลำคลองปาแปรีอันเป็นสาขาของแม่น้ำปัตตานีไปจนถึงประตูเมือง สุลต่านปัตตานีไม่ยอมจำนน พระยาราชบังสันสั่งให้เรือรบยิงถล่มประตูเมือง กระสุนปืนใหญ่ตกในเมืองหลายนัดทำให้ชาวเมืองปัตตานีล้มตายกันมาก ที่สุดปัตตานีก็ยอมแพ้ต่อสยาม[1] ใน พ.ศ. 2351 พระองค์โปรดให้เจ้าเมืองสงขลาเป็นผู้ดูแลควบคุมปัตตานีแทนเจ้านครศรีธรรมราช และดินแดนนั้นก็กลายเป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามัน ยะลา สายบุรี และระแงะ[2]
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่งเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2444 เมื่อรัฐบาลสยามออกกฎข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง ข้อบังคับนี้ระบุว่า รัฐบาลจะแต่งตั้งปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมืองไปช่วยพระยาเมืองทั้งหลายปกครองตามพระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 จะส่งพนักงานสรรพากรไปเก็บภาษีอากรตามระเบียบกระทรวงการคลัง แม้ว่าในส่วนครอบครัวและศาสนาจะเคารพประเพณีอิสลามว่าด้วยการแต่งงานและสืบตระกูล แต่ก็จะส่งผู้พิพากษาไปตัดสินคดีตามพระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ. 114 ที่สำคัญคือจะส่งข้าหลวงใหญ่ประจำบริเวณให้ไปตรวจราชการทั้งภายในเมือง และที่เกี่ยวกับต่างประเทศต่างพระเนตรพระกรรณให้ “เป็นไปโดยเรียบร้อยตามพระราชประสงค์”[3]
รายงานของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2542) ระบุว่า นับแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงประมาณ พ.ศ. 2445 เกิดการต่อสู้เพื่อให้ปัตตานีเป็นอิสระจากการปกครองของสยามถึง 6 ครั้ง คือ กรณี ตนกูลัมมิเด็น พ.ศ. 2329, ระตูปะกาลัน พ.ศ. 2349, นายเซะ และเจะบุ พ.ศ. 2364 และ พ.ศ. 2369, เจ้าเมืองหนองจิก พ.ศ. 2370, เจ้าเมืองปัตตานี (ตนกูสุหลง) พ.ศ. 2374 และ ตนกูอับดุลกาเดร์ (พระยาวิชิตภักดีฯ) พ.ศ. 2445[4] ซึ่งเป็นจุดจบแห่งยุคสมัยรายาปัตตานี เพราะไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งเชื้อสายเจ้าเมืองปัตตานีขึ้นครองเมืองอีกต่อไป
หลังจากนั้น 4 ปี รัฐบาลสยามก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงการบริหารราชการหัวเมืองปักษ์ใต้เป็น 4 เมือง คือ ปัตตานี ยะลา สายบุรี และระแงะ
วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452 สยามลงนามใน “สัญญากรุงเทพฯ” ยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้อังกฤษ โดยฝ่ายอังกฤษรับรองว่าจะให้รัฐบาลสหพันธรัฐมลายูจัดการหนี้สินที่รัฐเหล่านั้นมีกับรัฐบาลสยามให้เรียบร้อย กับยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและอำนาจกงสุลในสยาม ส่วนคนในบังคับอังกฤษก็ได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนพื้นเมือง เว้นแต่ไม่ต้องเป็นทหารเท่านั้น[5]
ในสายตาของนักประวัติศาสตร์บางคน สนธิสัญญานี้เป็นผลดีต่อไทยในแง่ของความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศ แม้จะต้อง “เสียดินแดนมลายู 4 รัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 15,000 ตารางไมค์ และพลเมืองกว่าห้าแสนคนให้อังกฤษก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ดินแดนที่เป็นคนไทยแท้ๆ”[6] อันที่จริงสนธิสัญญานี้ทำให้สุลต่านมลายูบางองค์ โดยเฉพาะที่กลันตันและตรังกานูโกรธเคืองมากจนปรารภกับนาย Arthur C. Adams ที่ปรึกษาการคลังอังกฤษประจำไทรบุรีว่า “ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับการขายลูกวัว ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งไม่มีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้”[7]
ใน พ.ศ. 2459 เกิดการปกครองท้องที่เป็นจังหวัดในมณฑลปัตตานี เวลานั้นสายบุรียังนับเป็นจังหวัดหนึ่ง จนกลายมาเป็นจังหวัดเช่นในปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2476 โดยเปลี่ยนสายบุรีให้กลายเป็นอำเภอหนึ่งของปัตตานีไปในที่สุด[8]
เตช บุนนาค เริ่มต้นข้อเขียน “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ. 121” ว่า “ในรัชกาลอันยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453) ปี ร.ศ. 121 หรือ พ.ศ. 2445 เป็นปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์รุนแรงบังเกิดขึ้นมากผิดปกติ”[9] เหตุการณ์ที่ว่า “รุนแรง” นั้นได้แก่ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2444 จนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2445 ทางภาคเหนือเกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 ทั้งสองเหตุการณ์รัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ในปีเดียวกันพระยาแขกเจ้าเมือง ตานี ยะหริ่ง สายบุรี ระแงะ รามันห์ ยะลา และหนองจิก “ก็แสดงท่าทีว่าได้คบคิดขบถอยู่บ้างเหมือนกัน แต่รัฐบาลสามารถระงับเหตุการณ์ไว้ได้ก่อน เรื่องจึงมิได้ลุกลามขึ้นเป็นขบถเช่นที่อื่น”[10]
คำอธิบายปรากฏการณ์ “ขบถ ร.ศ. 121” โดยเฉพาะกรณีพระยาแขกทั้งเจ็ด “คบคิดขบถ” อาจสรุปได้ว่า เป็นปฏิกิริยาของท้องถิ่นต่อการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ โดยอาศัยการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 ส่วนเหตุผลแห่งการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ก็คือความจำเป็นที่ต้องปรับรูปสยามให้เป็นรัฐชาติสมัยใหม่ เพื่อโต้ตอบกับอิทธิพลอำนาจของจักรวรรดินิยมฝรั่งที่แวดล้อมประเทศอยู่
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส เมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองมลายู ใน พ.ศ. 2434 ว่า “เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้…หากเราต้องสูญเสียหัวเมืองเหล่านี้ให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก อย่างไรก็ตาม การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้”[11]
อันที่จริงในสมัยนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกลงทำปฏิญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส 1896 (พ.ศ. 2439) ที่จะให้สยามเป็นรัฐกันชน แม้ทั้งสองประเทศจะยอมรับรองเอกราชและอธิปไตยของสยามเหนือบริเวณลุ่มเจ้าพระยา เพชรบุรี แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง แต่ก็ปล่อยดินแดนทางตอนใต้ไว้โดยปราศจากหลักประกันใดๆ[12]
เหตุการณ์พระยาแขก “คบคิดขบถ” นี้ มีคำอธิบายว่าเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลส่วนกลางส่งข้าราชการเข้าไปปกครองตามระบบเทศาภิบาล ทำให้ “ผู้นำของหัวเมืองทั้งเจ็ดไม่พอใจเพราะถูกริดรอนอำนาจลงอย่างมาก”[13] แต่เมื่อย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวเมืองทั้งเจ็ด เมื่อ พ.ศ. 2444 ก็พอเข้าใจได้ว่า ความไม่พอใจของผู้นำและผู้คนในท้องถิ่นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นทั้งในด้านการบริหารปกครองเมือง การคลัง การติดต่อกับต่างประเทศ ตลอดจนการศาล ให้อำนาจเหล่านี้ย้ายตำแหน่งแห่งที่จากมือของเจ้าเมืองในท้องถิ่นมาขึ้นต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ
ในแง่นี้บางคนจึงสรุปว่า เหตุแปรเปลี่ยนเกิดขึ้น “เมื่อสี่จังหวัดภาคใต้ถูกรวมเข้าไปในประเทศไทยเมื่อปี 2445” และเห็นว่า “ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ถือกำเนิดมาโดยบรรดาอดีตเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งต้องเสียสิทธิพิเศษไป เจ้าผู้ครองนครคนแรกที่ตั้งตัวเป็นกบฏคือ พระยาวิชิตภักดี (อับดุลกอเดร) อดีตเจ้าผู้ครองนครปัตตานีคนสุดท้ายซึ่งได้ต่อต้านรัฐบาลเมื่อปี 2444”[14]
เตช บุนนาค ผู้ศึกษา “ขบถ ร.ศ. 121” โดยตรง เห็นว่ากรณีพระยาแขกทั้งเจ็ด เมื่อ พ.ศ. 2445 นั้นยังไม่ใช่ขบถ เป็นแต่เพียง “คบคิดขบถ” ยังไม่เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะทางกรุงเทพฯ ยับยั้งไว้ได้ก่อนจึงมิได้มีใครเจ็บใครตายดังเช่นการปราบปรามด้วยกำลังทหารในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในสายตาของผู้คนอีกมากได้ถือว่าเกิด “กบฏ” ขึ้นแล้ว และเพราะถือว่าเกิด “กบฏ” ก็อาจเข้าใจต่อไปด้วยว่าเกิดความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในสายตาของผู้เขียนประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี กลับเห็นว่าเหตุการณ์เมื่อ ค.ศ. 1902 หรือ พ.ศ. 2445 นี้สำคัญต่ออนาคตของปัตตานีเป็นอย่างยิ่ง Syukri เขียนว่า “ปี ค.ศ. 1902 เป็นปีที่เมืองปะตานีสูญเสียอำนาจอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการสูญเสียอธิปไตยของบรรดารายาและชาวเมืองปะตานี สิทธิเสรีภาพและความเป็นเอกราชอยู่ใต้อำนาจของพระเจ้ากรุงสยามโดยสิ้นเชิง นับเป็นปีแห่งอัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี”[15]
ข้าพเจ้าสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้คนอย่าง Syukri รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ “อัปยศที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองปะตานี” จริงอยู่สิ่งที่มากับข้อบังคับสำหรับปกครองบริเวณ 7 หัวเมือง หมายถึงการสิ้นสุดของเอกราชปัตตานี แต่นอกจากเหตุผลในเชิงโครงสร้างแห่งความพ่ายแพ้ของหัวเมืองซึ่งมีอดีตเป็นอาณาจักรต่อรัฐชาติสมัยใหม่แล้ว ยังจะมีคำอธิบายอื่นต่อความรู้สึก “อัปยศที่สุด” นี้หรือไม่
เพื่อตอบคำถามนี้คงต้องย้อนไปพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับปัตตานี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 ที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งขุนนางสำคัญคือพระยาศรีสิงหเทพมาเจรจากับเจ้าเมืองมลายู เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจของเจ้าเมืองที่เกิดขึ้น จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ที่เต็งกู อับดุลกาเดร์ถูกจับ ข้าพเจ้าจะพิจารณาเหตุการณ์นี้จากเอกสารของฝ่ายนักวิชาการมาเลย์มุสลิมที่ตีพิมพ์ในมาเลเซีย โดยเฉพาะงานของ Nik Anuar Nik Mahmud (1999) ซึ่งอาศัยหลักฐานเอกสารชั้นต้นมาสร้างภาพเหตุการณ์การเจรจานี้ได้อย่างน่าสนใจ และน่าจะช่วยให้เข้าใจทั้ง “ความอัปยศที่สุด” และความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจริง” ในกรณีนี้ และปัญหาที่ “ความจริง” นี้ส่งผลต่อปัญหาความรุนแรงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวลาต่อมาได้
ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2440 รัฐบาลสยามทำสัญญาลับกับรัฐบาลอังกฤษ เหตุผลฝ่ายไทยคือสัญญาอังกฤษ-ฝรั่งเศส พ.ศ. 2439 เท่ากับปล่อยให้ตอนใต้ของไทยปราศจากหลักประกัน ในขณะที่อังกฤษเห็นความจำเป็นจะสกัดกั้นอิทธิพลของเยอรมนีไม่ให้ก้าวเข้ามาทางตอนใต้ของไทย
สัญญาฉบับนี้ระบุว่า ไทยจะไม่ยอมให้ชาติหนึ่งชาติใดเช่าซื้อ หรือถือกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนไทยตั้งแต่ตำบลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอังกฤษก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนอังกฤษสัญญาว่าจะให้ความคุ้มครองทางทหารต่อไทยหากถูกรุกรานจากชาติอื่น [16] ในสายตาของฝ่ายมลายูมุสลิม สัญญาลับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลสยามจัดการเปลี่ยนแปลงในหัวเมืองภาคใต้ได้สะดวกขึ้น
กรุงเทพฯ ส่งพระยาสุขุมนัยวินิตมาเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลที่ปัตตานี สิ่งแรกที่พระยาสุขุมฯ ดำเนินการคือ จัดเก็บภาษีอากรฝิ่นและเหล้าใหม่[17] โดยแบ่งรายได้ครึ่งหนึ่งให้กรุงเทพฯ ต่อมามีการเก็บภาษีที่ดินโดยไม่มีใบรับรอง ทำให้เก็บภาษีได้ปีละหลายครั้ง ใน ค.ศ. 1900 เริ่มเก็บภาษีส่งออกและนำเข้าโดยแบ่งให้ฝ่ายเจ้าเมืองมลายูเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายคัดค้านระบบภาษีเช่นนี้มาแต่ต้น เพราะเห็นว่าสิทธิในการจัดเก็บภาษีเป็นของเจ้าเมืองไม่ใช่รัฐบาลสยาม
พระยาสุขุมนัยวินิต
เมื่อเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดินขึ้นเป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ในปี ค.ศ. 1898 กรุงเทพฯ ก็ตัดไม่ให้รายได้ส่วนนี้แก่เจ้าเมืองปัตตานีคนใหม่ อีกทั้งรัฐบาลสยามยังได้เลื่อนการแต่งตั้งท่านเป็นเจ้าเมืองปัตตานีอย่างเป็นทางการออกไปอีก 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งเจ้าเมือง พระยาสุขุมนัยวินิตเกณฑ์กำลังทหารกว่า 600 คนมาบีบบังคับการเสียภาษีของประชาชน ยิ่งกว่านั้นข้าหลวงใหญ่ผู้นี้ยังห้ามไม่ให้เจ้าเมืองลงโทษประชาชนที่ขาดละหมาด (นมัสการ) วันศุกร์ และห้ามประชาชนบริจาคทานให้มัสยิดอีกด้วย[18]
แม้เมื่อเต็งกูกามารุดดินได้เป็นเจ้าเมืองปัตตานีในที่ “พระยาวิชิตภักดี” แล้ว ก็ยังไม่สามารถร้องเรียนให้รัฐบาลกรุงเทพฯ แก้ปัญหาทุกข์ร้อนต่างๆ ของปัตตานีได้ จึงร้องเรียนไปยังนาย Frank Swettenham ข้าหลวงใหญ่อังกฤษที่สิงคโปร์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1901 ในจดหมายร้องเรียนนั้นระบุว่า การกดดัน ก่อกวนของรัฐบาลสยามที่กระทำต่อปัตตานี “กำลังนำไปสู่ความพินาศของบ้านเมืองของข้าพเจ้า”[19] แต่เพราะอังกฤษประสงค์จะสร้างสัมพันธ์อันดีกับสยาม จึงไม่ได้ให้ความช่วยเหลือดังที่เจ้าเมืองประสงค์
๑ Frank Swettenham
๒ พระยาศรีสหเทพ ปลัดทูลฉลองมหาดไทย
เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน จึงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆ ที่วังจาบัง ตีกอ ในปัตตานี เพื่อหารือถึงแนวทางดำเนินการต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบที่จะก่อขบถ โดยวางแผนไว้ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1901 หลังจากได้อาวุธจากสิงคโปร์ โดยหวังว่าเมื่อหัวเมืองทางใต้ลุกฮือขึ้น ฝรั่งเศสจะเข้าตีสยามจากอินโดจีนทางเหนือ สยามคงต้องยอมปล่อยหัวเมืองมลายูให้เป็นอิสระ[20]
แต่ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1901 Swettenham ได้พบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์ที่สิงคโปร์ เขาได้แนะนำรายาปัตตานีให้อดทน ให้หาทางออกที่ไม่ใช้ความรุนแรง และให้คำมั่นว่าหากฝ่ายปัตตานีทำตาม เขาจะปรึกษากับรัฐบาลอังกฤษให้หาทางคืนอำนาจให้รายาปัตตานี เต็งกูอับดุลกาเดร์ คล้อยตามความเห็นของข้าหลวงอังกฤษผู้นี้ จึงยกเลิกแผนจะก่อขบถ ขณะเดียวกัน Swettenham ก็ได้ห้ามส่งอาวุธจากสิงคโปร์มายังเมืองต่างๆ ในปัตตานี[21] กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ส่งข่าวดังกล่าวให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์จึงทรงส่งพระยาศรีสหเทพ[22] มายังปัตตานีเพื่อสืบความ
วันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) พระยาศรีสหเทพและคณะเดินทางมาถึงปัตตานี ได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์ทันที รายาปัตตานีได้อธิบายให้พระยาศรีสหเทพทราบถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เจ้าเมืองมลายูทั้งหลายไม่พอใจข้าหลวงเทศาภิบาล ปัญหาที่ประชาชนต้องประสบเพราะการกดขี่ของข้าราชการสยาม ตลอดจนผลกระทบต่อสถานภาพของเจ้าเมือง รายาปัตตานีเสนอทางออกว่า สยามควรให้ปัตตานีปกครองตนเองเช่นเดียวกับรัฐเคดาห์ ใช้กฎหมายท้องถิ่นเป็นหลักในการปกครองและใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทางราชการ[23]
วันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1901 พระยาศรีสหเทพได้เข้าพบเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้ขอให้รายาปัตตานีลงชื่อในหนังสือฉบับหนึ่ง ซึ่งเขียนด้วยภาษาไทย โดยแจ้งกับรายาปัตตานีว่า เนื้อหาในหนังสือฉบับนี้เป็นข้อร้องเรียนต่างๆ และแนวทางแก้ไขปัญหาของเต็งกูอับดุลกาเดร์ เพื่อจะนำเสนอต่อองค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
รายาปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อในหนังสือนั้น เพราะเขียนเป็นภาษาไทย พระยาศรีสหเทพให้คำมั่นว่า หนังสือนี้มิใช่หนังสือสัญญาและรายาจะไม่ถูกผูกมัดจากเนื้อหาในหนังสือดังกล่าว เต็งกูอับดุลกาเดร์ยังคงปฏิเสธไม่ยอมลงนาม จนที่สุดพระยาศรีสหเทพให้เจ้าหน้าที่แปลหนังสือนั้น และอ่านให้รายาปัตตานีฟัง หลังจากอ่านแล้ว พระยาศรีสหเทพได้ให้คำมั่นอีกครั้งหนึ่งว่า ฝ่ายปัตตานีจะไม่มีข้อผูกมัดใดๆ จากหนังสือดังกล่าว และยังสามารถแก้ไขได้ในภายหลังหากรายามีประสงค์
๑ พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เจ้าเมืองยะหริ่ง
๒ อังกูสุลัยมาน บินอังกูซอและห์ เจ้าเมืองยะลาคนสุดท้าย
๓ เต็งกูอับดุลมุตตอลิบ บินเต็งกูอับดุลกอเดร์ หรือพระยาสุริยะสุนทรฯ เจ้าเมืองสายบุรีคนสุดท้าย
เมื่อได้ฟังคำมั่นรับรองแข็งแรง ที่สุดเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน รายาปัตตานีก็ยอมลงนามในหนังสือนั้น พระยาศรีสหเทพจึงออกเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ เมื่อไปถึงสิงคโปร์ พระยาศรีสหเทพแจ้งให้ Swettenham ทราบว่า ปัญหาปัตตานีคลี่คลายแล้ว เพราะเต็งกูอับดุลกาเดร์ ยอมรับระเบียบการปกครองแบบใหม่ของรัฐบาลสยามในการเจรจานั้น[24]
แต่ที่ปัตตานี หลังจากพระยาศรีสหเทพจากไป เต็งกูอับดุลกาเดร์ ได้ให้คนของตนแปลหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นภาษามลายู ท่านตกใจเป็นล้นพ้น เมื่อพบว่าเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากที่พระยาศรีสิงหเทพได้อ่านให้ฟัง แม้ว่าหนังสือนั้นจะเป็นหนังสือที่จะส่งถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจริง แต่เนื้อหากลับเป็นว่า รายาปัตตานีเห็นชอบและยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เพื่อความมั่นคงของปัตตานี และเห็นชอบให้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของสยามที่มีอำนาจเด็ดขาดทุกเรื่องในปัตตานี[25]
เมื่อรู้ว่าตนถูกหลอก รายาปัตตานีก็ให้คนของตัวเดินทางไปพบพระยาศรีสหเทพที่สิงคโปร์เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้ทราบ พระยาศรีสหเทพเตรียมกลับมาพบกับเต็งกูอับดุลกาเดร์อีกครั้งหนึ่ง ในที่ประชุมหารือระหว่างเจ้าเมืองมลายูต่างๆ ที่หนองจิกเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 ในการประชุมนี้พระยาศรีสหเทพได้ขอไม่ให้รายาปัตตานีแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นให้เจ้าเมืองอื่นๆ ในที่ประชุมได้ทราบ[26]
แต่รายาปัตตานีไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่หนองจิกในครั้งนั้นโดยอ้างว่าป่วย ในที่ประชุมพระยาศรีสหเทพได้ขอให้เจ้าเมืองต่างๆ ที่มา ยอมรับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 เจ้าเมืองทั้งนั้นปฏิเสธเว้นแต่เจ้าเมืองยะหริ่งที่สนับสนุนรัฐบาลสยาม
ก่อนกลับกรุงเทพฯ พระยาศรีสหเทพได้เดินทางมาพบรายาปัตตานี และขอให้ท่านรับรองพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 รายาปฏิเสธอีก และได้ส่งหนังสือคัดค้านไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รัฐบาลสยามก็ไม่ได้ใส่ใจ ครั้นวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1901 รายาปัตตานีก็ได้รับหนังสือแจ้งจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า ข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมือง ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2445)
เต็งกูอับดุลกาเดร์ได้พยายามต่อรองกับรัฐบาลสยามเพื่อยอมให้ปัตตานีปกครองตนเองได้เช่นที่เคยเป็นมา แต่การเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วและอดีตไม่หวนคืนมา
ต้นเดือนมกราคม ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) รายาปัตตานีได้ร้องเรียนไปยังข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง เรียกร้องให้อังกฤษขอให้สยามปลดปล่อยปัตตานีให้เป็นอิสระ ทั้งยังแจ้งกับ Swettenham ด้วยว่า หากอังกฤษไม่ให้ความร่วมมือ ชาวปัตตานีก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะก่อขบถหรือขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปอื่นๆ[27]
ข้าหลวงอังกฤษประจำสิงคโปร์เห็นว่า ปัญหาในปัตตานีจะกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงร่วมมือกับอังกฤษคลี่คลายปัญหา พระพุทธเจ้าหลวงปฏิเสธข้ออ้างที่ว่า รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจกับปัญหาในปัตตานี และทรงเห็นว่าการขบถจะเกิดขึ้นได้ก็เพียงเพราะเจ้าเมืองมลายูได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจยุโรปเท่านั้น อันที่จริงกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดจะร่วมมือกับอังกฤษ อีกทั้งไม่พอใจการปฏิเสธข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมืองของเจ้าเมืองมลายูที่นำโดยรายาปัตตานี และไม่พอใจการที่รายาปัตตานีขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ
ดังนั้นเช้าวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) พระยาศรีสหเทพในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้รายาปัตตานีทราบว่า ท่านจะมาถึงปัตตานีในตอนบ่ายสามโมง และขอให้รายาปัตตานีเข้าพบ
หลังทำพิธีละหมาด (นมัสการ) บ่าย (อัสริ) เต็งกูอับดุลกาเดร์พร้อมด้วยคณะ 20 คน ได้เดินทางมาพบพระยาศรีสหเทพยังที่พักซึ่งมีตำรวจสยามคุ้มกันอยู่ถึง 100 คน พระยาศรีสหเทพขอให้รายาปัตตานีเข้าไปในห้อง แล้วได้อ่านข้อบังคับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ. 2445 ให้ท่านฟัง และขอให้ท่านลงนาม เต็งกูอับดุลกาเดร์ไม่ยอมลงนามอีกและขอเจรจากับรัฐมนตรีมหาดไทยซึ่งประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ รายาปัตตานีไม่ประสงค์จะทำการผิดพลาดเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว พระยาศรีสหเทพยืนยันขอให้ท่านลงนาม ให้เวลาท่าน 5 นาที ไม่เช่นนั้นจะถูกถอดถอนออกจากการเป็นเจ้าเมือง เต็งกูอับดุลกาเดร์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามตามคำของพระยาศรีสหเทพ ท่านจึงถูกจับในที่นั้น[28]
ในเวลานั้นผู้ติดตามรายาปัตตานีแสดงท่าทีไม่ยอมให้ท่านถูกจับ จะชิงตัวเสียจากการควบคุมของพระยาศรีสหเทพ แต่รายาปัตตานีเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้ประชาชนต้องเสียเลือดเนื้อ เพราะตระหนักดีว่ามีกำลังน้อยกว่ามาก ท่านจึงถูกจับนำตัวมายังสงขลา ไม่กี่วันหลังจากนั้น เจ้าเมืองระแงะและเจ้าเมืองสายบุรีก็ถูกจับด้วย และนำตัวมายังพิษณุโลก ถูกพิพากษาจำคุก 3 ปีในข้อหา “ขัดคำสั่ง” พระมหากษัตริย์สยาม ผู้เฒ่าผู้แก่ปัตตานีที่ยังอยู่เล่ากันว่า รายาปัตตานีถูกขังไว้ที่บ่อในวัดแห่งหนึ่งของจังหวัดพิษณุโลก[29]
ต่อเมื่ออดีตรายาปัตตานี “สารภาพความผิดและสัญญาว่าจะไปอยู่ทำมาหากินอย่างไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งปวง…จะไม่เกี่ยวข้องแก่การบ้านเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นอันขาด” พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงอนุญาตให้กลับไปปัตตานีได้[30]
เมื่อเดินทางไปถึงปัตตานี มีราษฎรประมาณ 500 คน นั่งเรือ 80 ลำ ไปรับที่ปากน้ำ อีกประมาณ 2,000 คน ยืนต้อนรับอยู่บนตลิ่งสองข้างแม่น้ำตานี มีฝ่ายศาสนาอีกกว่าร้อยคนรอรับอยู่ที่บ้าน และหลังจากนั้นก็มีราษฎร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นร้อยๆ คนไปเยี่ยมอดีตรายาปัตตานีผู้นี้ไม่เว้นแต่ละวัน สภาพการณ์นี้ทำให้รัฐบาลกังวลถึงกับต้องส่งเรือรบลำหนึ่งไปทอดสมอที่ปากน้ำเมืองปัตตานี[31]
เต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดินอพยพไปพำนักอยู่ในรัฐกลันตัน ในเวลาต่อมาและสิ้นชีวิตที่นั่น เมื่อ พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1933)
คงต้องกล่าวว่า ภาพของ “ความจริง” เกี่ยวกับกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง “คบคิดขบถ” เมื่อพิจารณาจากเอกสารฝ่ายมลายูมุสลิมเป็นหลัก จะมีรายละเอียดที่สำคัญมากมาย ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ ซึ่งมีอำนาจมากกว่า กับปัตตานีซึ่งเคยเป็นเมืองประเทศราชและกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นหัวเมือง และต่อมาเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งคงเห็นได้ชัด ปัญหาความละเอียดอ่อนทางความสัมพันธ์กับมหาอำนาจยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษก็ออกจะเด่นชัด ปัญหาการสร้างรัฐชาติไทยผ่านการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กรุงเทพฯ ชนิดที่ส่งผลลดทอนอำนาจในท้องถิ่นก็ปรากฏให้เห็น
แต่ที่น่าสนใจและไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันนัก คือรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นและรายละเอียดของการที่เหตุการณ์จบลง คงกล่าวได้ว่าพระยาศรีสหเทพมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ วิธีการที่ท่านใช้คือการลวงให้รายาปัตตานีลงนามในหนังสือยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองของตนเอง และเมื่อรายาปัตตานีประจักษ์ว่าตนถูกหลอกและประท้วงแสดงความไม่เห็นด้วย ที่สุดก็ต้องถูกจับและบังคับด้วยกำลังให้ยินยอม เหตุการณ์จบลงโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
ในขณะที่เอกสารของนักวิชาการฝ่ายไทยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรายาปัตตานีไม่ได้รับความร่วมมือจากอังกฤษ เจ้าเมืองอื่นๆ รวมทั้งราษฎรในปัตตานีก็ไม่มีทีท่าว่าจะก่อจลาจลเพราะ “เป็นสุขมาก”[32] แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องอธิบายว่าเหตุใดราษฎรจึงพากันมาต้อนรับยินดีกับรายาเมื่อท่านเป็นอิสระกลับมาสู่ปัตตานี ถึงขนาดรัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องส่งเรือรบมาเฝ้าระวัง ในส่วนเอกสารของฝ่ายมลายูปัตตานีระบุต่างออกไปว่า รายาปัตตานียินยอมถูกจับเพราะเห็นแก่ประชาชนของตนไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ[33]
Syukri สรุปกรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองนี้ไว้ในบทสุดท้ายของหนังสือประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานีว่า “ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) ราชอาณาจักรสยามได้ยกเลิกราชวงศ์มลายูปะตานีด้วยการใช้อุบายต่างๆ ตั้งแต่นั้นมารัฐปะตานีได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสยามไทยโดยปริยาย”[34]
สิ่งที่เกิดขึ้นกับปัตตานีในรอบร้อยปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อใส่ใจกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระของปัตตานี เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ความจริง” กับความรุนแรง แต่ไม่ว่าความรุนแรงจะส่งผลให้ “ความจริง” ที่ปรากฏในแต่ละยุคแต่ละตอนเป็นเช่นไร
เหตุการณ์ปลาย พ.ศ. 2444 และต้น พ.ศ. 2445 ที่มักถูกเรียกกันว่า “ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง” หรือ “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ” ในฐานะเหตุการณ์ที่เป็นสิ่งอ้างอิงซึ่งจะแปรสภาพเป็นบริบททางประวัติศาสตร์ของปัตตานี ไม่ว่าจะในฐานะชัยชนะแห่งการปฏิรูปการปกครองของสยาม หรือ “ความอัปยศอย่างที่สุด” ของผู้คนจำนวนหนึ่งในปัตตานี ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยประวัติศาสตร์แห่งความลวงที่ทิ้งร่องรอยไว้กับสังคมไทยเป็นเวลาร่วมหนึ่งศตวรรษ
งานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของข้าพเจ้าเรื่องความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ มีทั้งหมด 6 บท (ไม่นับบทนำและบทสรุป) โดยมุ่งพิจารณาผลของความรุนแรงต่อการจัดการ “ความจริง” เกี่ยวกับความรุนแรงนั้นเอง งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดวิจัยใหญ่เรื่องการจัดการ “ความจริง” ในสังคมไทย ที่มีสมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าคณะวิจัย (ทั้งหมดมีงานวิจัย 6 เรื่อง) ได้รับความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ส่วนที่ว่าด้วยเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองนี้อยู่ในบทที่ 2 เรื่อง “การศึกษาปัตตานี : หนึ่งทศวรรษภูมิทัศน์วิชาการ (2534-2543) ในหนึ่งศตวรรษประวัติศาสตร์การปกครองปัตตานี”
ข้าพเจ้าขอขอบคุณอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม แห่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ และคุณสะรอนี ดือเระ ผู้ช่วยวิจัยที่ทำหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง
เชิงอรรถ :
1 ครองชัย หัตถา. ปัตตานี : การค้าและการเมืองการปกครองในอดีต. (ปัตตานี : โครงการปัตตานีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี, 2541), หน้า 112-113.
2 เพิ่งอ้าง. หน้า 114.
3 เตช บุนนาค. “พระยาแขกหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ. 121,” ใน ขบถ ร.ศ. 121. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2524), หน้า 59-60. ข้อความในอัญประกาศอยู่ในหน้า 60
4 คณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภา. รายงานการพิจารณาฯ ศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ. บทที่ 2 หน้า 14-15.
5 เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงสิ้นสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2542), หน้า 154-155. ทวีศักดิ์ เผือกสม ได้ให้ความเห็นว่าไม่เคยมีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เพราะเงื่อนไขในการยกเลิกข้อหนึ่งคือ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ประมวลกฎหมายโดยสมบูรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ควรต้องตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “สัญญากรุงเทพฯ” (1909 หรือ 2452) ฉบับนี้ให้สัตยาบันกันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2453 ที่กรุงลอนดอน ในสัญญายังมีอีกข้อหนึ่งกำหนดให้โอนดินแดนทั้งสี่ ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หลังจากที่ให้สัตยาบัน
6 เพิ่งอ้าง. หน้า 155.
7 อ.บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 164-165. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี : ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของปัตตานีและบทสนทนาระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่นในการเขียนประวัติศาสตร์” (เอกสารต้นฉบับ, กำลังจะตีพิมพ์), หน้า 44.
8 ครองชัย หัตถา. ปัตตานี. หน้า 117-118. และ รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิก. หน้า 51-58.
9 เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. หน้า 57.
10 เพิ่งอ้าง. หน้า 58
11 ชารอม อาหมัด. ความสัมพันธ์ระหว่างเคดาห์กับสยาม (2528). หน้า 119-120. อ้างถึงใน ครองชัย หัตถา. ปัตตานี. หน้า 111.
12 เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. หน้า 128-131.
13 ปิยนาถ บุนนาค. นโยบายการปกครองของรัฐบาลไทยต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516). (กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิจัย ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534), หน้า 74. น่าสนใจที่ปิยนาถมิได้กล่าวถึงเหตุการณ์พระยาแขก “คบคิดขบถ” เอาไว้เลย เพียงกล่าวว่า รายาปัตตานี สายบุรี และระแงะมีปฏิกิริยาต่อต้านนโยบายของรัฐบาลกรุงเทพฯ
14 อิมรอน มะลูลีม. วิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทยกับมุสลิมในประเทศ : กรณีศึกษากลุ่มมุสลิมในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อิสลามิคอะเคเดมี, 2538), หน้า 140. คงไม่ต้องกล่าวว่าในปี พ.ศ. 2445 นั้นทั้ง “จังหวัด” และ “ประเทศไทย” ล้วนยังไม่เกิดทั้งคู่
15 อิบรอฮีม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปะตานี. (ปัตตานี : โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2541), หน้า 43. โปรดพิจารณาข้อความนี้ในฉบับภาษาอังกฤษได้จาก Syukri. History of the Malay Kingdom of Patani (Sejarah Kerajaan Melayu Patani). Conner Bailey and John N. Miksic (trans.). (Athens, Ohio : The Center for International Studies, Ohio University, 1985), p.62.
16 เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. หน้า 149-151.
17 Nik Anuar Nik Mahmud. Sejarah Perjuangan Melayu Patani, 1785-1954. (Bangi, : Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysis, 1999), p.28. (In Malay)
18 Mohd. Zamberi A. Malek. Harimau Malaya : Biografi Tengku Mahmood Mahyiddeen. (Bangi, : Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysis, 1999), p.25. (In Malay)
19 อ.บางนรา. ปัตตานี : อดีต-ปัจจุบัน. หน้า 85-87. อ้างถึงใน ทวีศักดิ์ เผือกสม. “อยุธยาในเงื้อมมือของปัตตานี,” หน้า 43.
20 Nik Anuar Nik Mahmud. Sejarah Perjuangan Melayu Patani. p.31.
21 Ibid.
22 ทวีศักดิ์ เผือกสม ให้ความเห็นว่า ท่านพระยาศรีสหเทพผู้นี้น่าจะเป็น “ปลัดทูลฉลองมหาดไทย” เมื่อแรกข้าพเจ้าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระยาศรีสิงหเทพ เมื่อตรวจสอบต้นฉบับของ Nik Anuar Nik Mahmud อีกครั้งหนึ่งก็พบว่าเป็นพระยาศรีสหเทพ ต้องขอบคุณอาจารย์ทวีศักดิ์ เผือกสม ไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
23 จดหมายลับของ Swettenham ถึง CO, Rahsia และ Sulit ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 อ้างถึงใน Ibid., pp.32-33
24 Ibid., p.33.
25 Ibid.
26 Ibid.
27 จดหมายของรายาปัตตานีถึง Swettenham ลงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1902 อ้างถึงใน Ibid., p.37.
28 Ibid., p.39.
29 รัตติยา สาและ. การปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกที่ปรากฏในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2544), หน้า 54.
30 เตช บุนนาค. ขบถ ร.ศ. 121. หน้า 97.
31 เพิ่งอ้าง. หน้า 97-98.
32 เพิ่งอ้าง. หน้า 92-94.
33 อิบรอฮีม ชุกรี. ประวัติราชอาณาจักรมลายูปตานี. หน้า 42.
34 เพิ่งอ้าง. หน้า 44.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2560
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post กรณีเจ้าแขกเจ็ดหัวเมือง การเริ่มต้นความจริงเกี่ยวกับปัตตานี ด้วยประวัติศาสตร์แห่งการลวง appeared first on Thailand News.