ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ทำไม ร.6 ไม่โปรดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูข้อมูลจากหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ โอรสองค์เล็ก

ทำไม ร.6 ไม่โปรดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูข้อมูลจากหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ โอรสองค์เล็ก

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับหมู่ราชองครักษ์

ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 มีเรื่องราวเบื้องหลังที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีข้อกังขาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระองค์ไม่โปรดสมเด็จฯ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานที่มาที่ไปอย่างหลากหลาย ขณะที่ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล โอรสองค์เล็กในกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานสัมภาษณ์กรณีนี้ไว้ด้วย

ศ. หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงประทานสัมภาษณ์เรื่องนี้และตีพิมพ์ครั้งแรกใน “โลกหนังสือ” (ฉบับเดือนกรกฎาคม 2525) และปรากฏเนื้อหานี้อีกครั้งในบทความ “ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” โดย บุญยก ตามไท ใน “ศิลปวัฒนธรรม” (ฉบับเดือนมิถุนายน 2528)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ข้อมูลกรณีนี้ มีตั้งแต่การลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ทรงประทานสัมภาษณ์ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงไว้ใจบิดา (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มาก รัชกาลที่ 5 ทรงมอบหมายเรื่องที่เกี่ยวพันกับแนวคิดใหม่ในสมัยนั้นให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องต่างๆ จึงมาอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงพยาบาล และกรมป่าไม้ก็อยู่ที่มหาดไทย

ครั้นรัชกาลที่ 6 เสด็จกลับจากยุโรปที่ทรงศึกษาแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงทูลรัชกาลที่ 5 ว่า ป่าไม้ควรจะไปอยู่กระทรวงเกษตร เพราะตอนนั้นมีกระทรวงเกษตรแล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบ ใจความสื่อสารว่า “ป่าไม้นั้นมีเงินมาก เกี่ยวกับเงินมาก กระทรวงมหาดไทยจะยอมหรือ” ซึ่งหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ตั้งข้อสังเกตว่า “อาจทำให้รัชกาลที่ 6 ท่านสงสัย”

สืบเนื่องต่อมา รัชกาลที่ 6 ทรงมีลายพระหัตถ์สั่งเสนาบดีกระทรวงวัง ในสมุดจดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตอนหนึ่งว่า

“…(นี่เป็นคำสั่ง (ห้าม) อีกชั้น 1.-ถ้าท่านเสนาบดีจะคิดเลือกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพเปนผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์, ให้เสนาบดีกระทรวงวังคัดค้านด้วยประการทั้งปวงจนสุดกำลัง, เพราะข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นมาว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ไม่มีศาสนา, ไม่มีศีล, ไม่มีธรรม, วัน 1 อาจพูดอย่างหนึ่ง, อีกวันหนึ่งอาจกลับกลอกเสียก็ได้, และข้าพเจ้าจะลืมไม่ได้เลย ว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้ ได้เคยลิเอาราชอาณาเขตต์ของพระราชวงศ์จักรีไปขายฝรั่งเสีย 3-4 คราวแล้ว.

ถ้าให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นี้เปนผู้สำเร็จราชการ ลูกข้าพเจ้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ได้.)”

ในบทความของบุญยก ตามไท หยิบยกรับสั่งของหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ซึ่งมีรับสั่งถึงเนื้อความในหนังสือข้างต้น โดยหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ทรงรับสั่งว่า ได้ฟังจากพี่สาวที่เล่าว่า เมื่อตอนที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ระหว่างนั้นเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษหวังเอา 4 รัฐภาคใต้ ที่ประชุมเสนาบดีเห็นว่าต้านไว้ไม่อยู่เป็นแน่ เลยยอมยก 4 รัฐภาคใต้แก่อังกฤษไป

“ตอนนั้นสโตรเบลล์ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินอยู่ ดูเหมือนจะเป็นชาวอเมริกัน สโตรเบลล์ ก็เสนอในที่ประชุมเสนาบดีว่า หากไหน ๆ ก็จะต้องยก 4 รัฐภาคใต้ให้อังกฤษไป ก็ให้ขอกู้เงินอังกฤษมาสร้างทางรถไฟลงไปภาคใต้เสียด้วย เราจะได้ประโยชน์เพราะอังกฤษก็คงต้องคิดดอกเบี้ยถูก แล้วก็ที่ประชุมก็ตกลงกันจะเอาตามนั้น พ่อผมก็คงเห็นด้วยเพราะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

แล้วทีนี้เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับมาจากยุโรป ทรงทราบเรื่องก็ทรงกริ้วมาก ทีนี้เผอิญระหว่างนั้น สโตรเบลล์อยู่ระหว่างการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่อเมริกา แล้วก็ให้บังเอิญตายลงระหว่างทาง เมื่อรัชกาลที่ 5 กลับมา และทรงกริ้วเรื่องนี้ ก็มีรับสั่งกับพ่อผม ซึ่งรัชกาลที่ 6 ได้ยินด้วยว่า ‘แล้วกัน กรมดำรง ทำอย่างนี้ก็เสียบ้านเสียเมืองหมดน่ะซิ’ พอผมเองก็บอกว่า ตอนเล่าเรื่องให้ลูกๆ ฟังน่ะนะ ว่า ‘แล้วพ่อจะไปซัดคนที่ตายแล้วได้อย่างไร ว่าเป็นความคิดของสโตรเบลล์ พ่อก็เลยต้องนิ่งเฉยเสีย’

อันนี้อาจจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงไม่ไว้พระทัยพ่อผม แล้วก็ยังมีอีก มีคนไปหนุนกันหลายอย่าง เรื่องที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงไม่วางพระทัยพ่อผม มีคนไปชี้ให้รัชกาลที่ 6 มองว่า ตอนต้นรัชกาลของท่าน พ่อผมกับกรมหลวงนครไชยศรี แม่ทั้งคู่เป็นพี่น้องกัน แต่คนหนึ่งเป็นเมียรัชกาลที่ 4 อีกคนเป็นเมียรัชกาลที่ 5 แล้วก็มีคนไปยุยงรัชกาลที่ 6 ว่า คนหนึ่งเขาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อีกคนหนึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เขาจะเอาแผ่นดินเสียเมื่อไรก็ได้ ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งให้รัชกาลที่ 6 ทรงระแวงพ่อผมได้

แต่เรื่องเหล่านี้ในส่วนที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ทรงระแวงหรือทรงไม่โปรดอะไรพ่อผมนั้น พ่อผมไม่เคยเล่าให้ลูกๆ ฟัง คนโบราณก็อย่างที่ผมย้ำว่า ความกตัญญูมีสูง และวังวรดิศที่หลานหลวงนี่ วังของพ่อผมนะ ตอนสร้างพระพันปี แม่ของรัชกาลที่ 6 ออกเงินให้ครึ่งหนึ่ง และรัชกาลที่ 6 ออกให้ครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็มีบุญคุณผูกพันกันอยู่ และพระพันปีเอง ก็โปรดและนับถือพ่อผมมาก”

พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเอ่ยถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังมีในพระราชนิพนธ์ “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6” ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพ.ศ. 2466 ก่อนเสด็จสวรรคต 2 ปี โดยใช้พระนามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ” เนื้อความในช่วงเหตุการณ์ “ประชุมเสนาบดี” วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ทรงบรรยายว่า

“การนัดประชุมครั้งที่ 3 นี้ ได้นัดเสนาบดีเข้าไปทุกคน เพื่อบอกเล่าให้ทราบกำหนดงานบรมราชาภิเษก, กับปรึกษาราชการต่างๆ โดยมากในการประชุมกรมดำรงเป็นผู้พูดมากกว่าผู้อื่นๆ และคืนนี้ก็เปนเช่นนั้น”

นอกจากนี้ ในบทนิพนธ์ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)” ที่หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงนิพนธ์ไว้ เล่าบรรยากาศความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ช่วง พ.ศ. 2464 ว่า

“…เมื่อเด็จพ่อทรงเข้าไปเป็นกรรมการคลังในตอนปลาย พ.ศ. 2464 แล้วก็เป็นอันเรียกว่ากลับดีกัน, แม้ไม่เหมือนอย่างเก่า.”

อ้างอิง :

บุญยก ตามไท. “ห้วงแห่งชีวิตและงานบางเสี้ยวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ,”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ (มิถุนายน 2528)

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6. (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561

ราม วชิราวุธ. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 มกราคม 2562

https://www.silpa-mag.com

The post ทำไม ร.6 ไม่โปรดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดูข้อมูลจากหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ โอรสองค์เล็ก appeared first on Thailand News.