ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ร่องรอย ตำนานเทพนิยายกรีก-โรมัน ในโบราณวัตถุที่ค้นพบในไทย-อินเดีย

ร่องรอย ตำนานเทพนิยายกรีก-โรมัน ในโบราณวัตถุที่ค้นพบในไทย-อินเดีย

ความนำ

เป็นที่รู้กันดีว่า อุษาคเนย์เคยค้าขายกับตะวันตก (อินเดียและโลกกรีกโรมัน) อย่างน้อย 2,000 ปีมาแล้ว หลักฐานชิ้นใหญ่ ๆ ที่มีชื่อเสียงคือ ชวาลาสำริดโรมัน พบที่พงตึก จังหวัดกาญจนบุรี (รูปที่ 1) และดินเผารูปคนใส่หมวกทรงกรวยกระดกไปข้างหน้า แบบชาวตะวันออกกลาง (รูปที่ 2)

(รูปที่ 1) ชวาลาสำริดโรมัน พบที่พงตึก จังหวัดกาญจนบุรี, (รูปที่ 2) ดินเผารูปคนใส่หมวกทรงกรวยกระดกไปข้างหน้าแบบชาวตะวันออกกลาง พบที่คูบัว จังหวัดราชบุรี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550)

ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา อาจารย์ ดร. บัญชา พงษ์พานิช ได้สะสมโบราณวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากที่ขุดพบตามเมืองท่าโบราณต่าง ๆ ในภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นของประเภทลูกปัดที่สวยงาม และน่าสนใจมาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นวัตถุไม่กี่สิบอันประเภทหัวแหวน และดวงตราแบบกรีก-โรมัน

ในบทความนี้ผมขอพูดถึงวัตถุเหล่านี้เพียงชิ้นเดียวดังนี้

หลักฐานที่ค้นพบใหม่

หลักฐานชิ้นนี้คือหัวแหวน (หรือดวงตรา?) ทำด้วยหินดำแข็ง (Jet?) ขนาดราวเท่าเล็บมือก้อย พบที่ภูเขาทอง จังหวัดระนอง ถ้าส่องดวงตรา? หรือหัวแหวน? นี้ด้วยแว่นขยาย จะเห็นว่าสลักเป็นรูปคน หมา และนกอินทรี (รูปที่ 3)

(รูปที่ 3) หัวแหวน? หรือดวงตรา? มีคน หมา และนกอินทรีเกาะตอไม้ (ภาพถ่ายดี ๆ ยังไม่มี เพราะวัตถุเล็กมาก ผมได้แต่วาดตามที่เห็นด้วยตาส่องแว่นขยาย) (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550)

คุณหมอชวนให้ผมดูแล้วถามว่า ตีความได้ไหม?

ผมตอบได้ทันทีว่า หากภาพประกอบด้วยคน หมา และนกอินทรี ก็น่าจะเป็นเทพนิยายของกรีกว่าด้วย “การลักพาของกนีมีด” (The Abduction of Ganymede) เทพนิยายมีความว่า

“ครั้งบรรพกาล Ganymede เป็นบุตรหัวหน้าเผ่าชาว Troy (ก่อนที่เมือง Troy เป็นบ้านเป็นเมือง) เป็นหนุ่มรูปงามที่สุดในโลก วันหนึ่งเขาผิวปากเรียกหมาตัวโปรดแล้วออกไปล่าสัตว์ในที่เปลี่ยวเพียงผู้เดียว พระเจ้าซีอุส (Zeus-พระยาแถน หรือพระอินทร์ของชาวกรีก) มองลงมาจากฟ้าแล้วเกิดเสน่หา จึงแปลงเป็นนกอินทรีลงไปชวน Ganymede ไปเป็นลูกสวาทและเป็นอมตะเทพบนสวรรค์ (รูปที่ 4) แล้วยังประดิษฐ์ไว้บนฟ้าให้เป็นหมู่ดาวกุมภาตลอดจนทุกวันนี้”

เทพนิยายกรีกโบราณล้วนแต่มีเชิงซุกซนสัปดน แต่เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องตีความว่าเป็นเรื่อง “เกย์” มันเข้าจำพวกนิทาน “ปราบบ้านชนะเมือง” มากกว่า เมื่อเผ่ากรีกบุกเข้าไปในยุโรป (ราว 3,000-4,000 ปีมาแล้ว) เขาก็ปราบปรามเผ่าพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน แล้วแต่งเทพนิยายอธิบายชัยชนะของตน พระเจ้าซีอุส (Zeus-พระยาแถน หรือพระอินทร์) ไปถึงที่ไหนก็เกลี้ยกล่อมหรือลักพานางเทวีประจำเผ่านั้น ๆ ให้เป็น “เมียน้อย” หรือ “นางสนม”

ในกรณี Ganymede, เผ่า Troy นับถือเทพบุรุษเป็นเจ้าเผ่า ดังนั้นเมื่อพระเจ้าซีอุสมาปราบก็ได้ชายรูปงามเข้าเป็นต้นห้อง คนโบราณยุคสำริดโดยมากไม่เดือดร้อน ไม่สนใจว่าใคร “เกย์” หรือ “ไม่เกย์”

แต่ยังมีหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ควรพิจารณาดังนี้

(รูปที่ 4) เทวรูแ Ganymede หนุ่มรูปงาม หมา และพระเจ้าซีอุสในร่างนกอินทรี, (รูปที่ 5) เทวรูปพระอิศวรปาง “ภิกษาฎนะ” (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550)

รูป Ganymede จำลองในอินเดีย?

ขอชวนท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบเทวรูปทั้งสองนี้

รูปที่ 4 คือ Ganymede ให้เห็นหนุ่มรูปงาม (ที่สวมหมวกทรงกรวยกระดกไปข้างหน้าอย่าง “ชาวตะวันออกกลาง) หมา และพระเจ้าซีอุสในร่างนกอินทรี เทพนิยายเรื่องนี้ได้เล่าสู่กันฟังแล้ว

ต้นฉบับเทวรูปนี้น่าจะเป็นงานของ Lysippus ประติมากรชั้นเอกราว 2,300 ปีก่อนปัจจุบัน แต่รูปที่เห็นอยู่คงเป็นรูปจำลองสมัยโรมันราว 2,000 ปีก่อนปัจจุบัน (งานของ Lysippus ถือว่างามที่สุด จึงถูกจำลองทั่วโลกกรีกโรมัน ทั้งในหินอ่อนและในสำริด ตั้งแต่ขนาดเท่าจริงเล็กลงจนถึงขนาดเหรียญกษาปณ์และหัวแหวน ดังนั้นเป็นไปได้ว่า รูปแบบเทวรูป (ที่เดิมเป็นของ Lysippus) อาจจะแพร่ออกนอกโลกกรีก-โรมันถึงอินเดียและแม้กระทั่งถึงอุษาคเนย์

รูปที่ 5 คือเทวรูปพระอิศวรปาง “ภิกษาฎนะ” เทพปกรณัมเรื่องนี้มีอยู่ว่า “ในปฐมกาล พระพรหม (เดิมมี 5 เศียร) เสน่หาอยากสังวาสกับแม่ธรณี ซึ่งมีฐานะเป็นธิดา พระอิศวรจึงลงโทษพระพรหมโดยเด็ดเศียรที่ 5 ซึ่งเป็นบาปหนักสุด (ฆ่าพราหมณ์) กะโหลกพระพรหมติดหัตถ์พระอิศวรเป็นบาตร ให้เปลือยกายตระเวนขอทานเป็นพันปีแล้วสนานบาปในน้ำคงคา กะโหลกหลุดและพระอิศวรกลับคืนครองเขาไกรลาสตามเดิม”

เทวรูปที่เห็นในรูปที่ 5 เป็นสำริด ปิดทองมีขนาดเกือบเท่าจริง หล่อขึ้นมาราว ค.ศ. 1,000 โดยพระเจ้าราชโจฬะ และยังประดิษฐ์ไว้บูชาในมหาเทวสถานราชราเชศวรม เมือง Tanjavur รัฐทมิฬ นาฑู

เทียบเทพปกรณัม Ganymede กับภิกษาฎนะแล้ว ไม่มีส่วนคล้ายกัน แต่ถ้าเทียบเทวรูปทั้งสองก็ดูคล้ายกันอย่างน่าตกใจ ผมอยากเสนอเบื้องต้นว่า ช่างชาวอินเดียไม่รู้จักและไม่สนใจเทพนิยายของกรีก แต่น่าจะเคยเห็นรูปจำลอง Ganymede ทางใดทางหนึ่งไม่ว่าเป็นเทวรูปสามมิติขนาดย่อม ภาพวาด หรือแม้กระทั่งเหรียญหรือหัวแหวน

ดู 2 รูปนี้แล้วเห็นความคล้ายกันชัด ๆ แต่เป็นเพียงการบังเอิญหรือ? รายละเอียดก็ต่างกัน เช่น

1. ใต้มือขวาของ Ganymede มีหมาตัวโปรดหมอบแลบลิ้น ใต้มือขวา (ล่าง) ของภิกษาฎนะมีลูกกวาง (หรืออีเก้ง?) โดดขึ้นเลียมือเจ้าของที่รัก ผิดนิสัยเนื้อแต่ตรงนิสัยหมา

2. มือซ้ายของ Ganymede กำปีกของนกอินทรี มือซ้าย (บน) ของภิกษาฎนะว่างเปล่า แต่ตามหลักประติมานวิทยาภิกษาฎนะต้องถือช่อขนหางนกยูง ในรูปที่เห็นอยู่นี้มีมือเปล่าเพราะท่านคงให้เสียบช่อขนหางนกยูงจริง ช่อขนหางนกยูงนี้ไม่ตรงกับนกอินทรีของรูป Ganymede แต่พอทดแทนกันได้

3. ประเด็นที่สำคัญคือ เทพปกรณัมว่าด้วยพระอิศวรปางภิกษาฎนะ (ในตำนานมัตสยปุราณม) ไม่ได้อธิบายว่าทำไมพระองค์มีสัตว์น้อยเฝ้าหัตถ์ขวา และทำไมหัตถ์ซ้ายต้องกำช่อขนนก

4. อนึ่งหลักฐานเหล่านี้ผมไม่ได้อุตริสร้างขึ้นมา รูปที่ 5 (ภิกษาฎนะ) ผมก๊อบมาจากรูปในหนังสือ Poems to Siva ของ Indira Viswanathan Peterson (Princeton U.P., 1989) ส่วนรูปที่ 4 (Ganymede) เพื่อนฝรั่งกรุณาส่งมาให้ (ไม่แจ้งที่มา)

แรก ๆ ผมไม่คิดอะไรมาก แต่เห็นว่าน่าสนใจจึงถ่ายเอกสารไว้ เย็บติดกันแล้วนำเข้าแฟ้มเพื่อใช้งานในวันหน้า เวลาผ่านมา 7-8 ปี คุณหมอบัญชาถามผมเรื่องภาพสลักบนหัวแหวน ผมจึงค้น 2 รูปนี้ออกมาดู เผอิญผมนั่งอยู่กลางแดดจึงยก 2 รูปนี้ซ้อนกันดู เห็นแล้วใจหายวูบ!

ถ้าคุณผู้อ่านสนใจเรื่องนี้ขอชวนถ่ายเอกสาร รูปที่ 4 และ 5 (ขยายเท่ากระดาษขนาด A4 ปรับเครื่องให้สีอ่อน) จัดซ้อนกันแล้วส่องแสงดู ชะรอยท่านอาจจะจับ “จุดเหมือน” หรือ “จุดคล้าย” ที่ผมมองข้าม

หากท่านจับได้กรุณาเขียนมาบอก แต่ขออภัย ไม่มีรางวัล

อนึ่ง ขอชวนให้คิดหาตัวอย่างอื่นที่อาจจะแสดงถึงอิทธิพลกรีก-โรมัน ในศิลปะตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะทวารวดี

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เทพนิยายกรีก-โรมัน หลักฐานขุดพบใหม่ในเมืองไทย” เขียนโดย ไมเคิล ไรท ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2550

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มิถุนายน 2565

https://www.silpa-mag.com

The post ร่องรอย ตำนานเทพนิยายกรีก-โรมัน ในโบราณวัตถุที่ค้นพบในไทย-อินเดีย appeared first on Thailand News.