กำเนิด “ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่
ภาพถ่าย ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ภาพจาก Lillian SUWANRUMPHA / AFP
ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย เป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2480 เดิมเป็นสวน มีวัดโบราณ 4 วัด และเป็นพื้นที่เมืองพระประแดงเก่า เมืองสำหรับรักษาปากน้ำ ก่อนที่จะมีการนำชื่อพระประแดงไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์
ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ตอบโต้กัน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ดั้งเดิมของท่าเรือคลองเตยว่า “…ที่ใต้ปากคลองเตยลงไปหน่อยเดียวมีวัดหน้าพระธาตุ มีศาลเจ้าพระประแดง… ทำให้คิดว่าเมืองพระประแดงเดิมตั้งอยู่ที่คลองเตย ไม่ใช่ที่ปากลัด…”
“เมืองพระประแดงนั้นเป็นเมืองตั้งเมื่อสมัยขอมครองเมืองละโว้ สำหรับรักษาปากน้ำ ปากน้ำในสมัยนั้นก็เรียกว่า ‘ปากน้ำพระประแดง’… ตัวเมืองพระประแดงตั้งที่ริมแม่น้ำฟากตะวันออก อยู่ใกล้กับวัดมหาธาตุและศาลเจ้าพระประแดงดังทรงพระดำริ และเคยเป็นเมืองมีปราการก่ออิฐ…”
แผนที่บริเวณคลองเตย เมื่อ พ.ศ. 2453 ก่อนการก่อสร้างท่าเรือใน พ.ศ. 2480 ปรากฏวัดทั้ง 4 แห่ง คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย (ภาพจาก แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2431-2474)
ขณะที่งานค้นคว้าของ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เรื่อง เมืองพระประแดง : จากคลองเตยมานครเขื่อนขันธ์ จบที่อำเภอพระประแดง ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า บริเวณท่าเรือคลองเตยนั้นคือเมืองพระประแดงเก่า ก่อนจะนำชื่อเมืองไปใช้กับเมืองนครเขื่อนขันธ์ที่ตั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2358 คืออำเภอพระประแดงในปัจจุบัน
ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อธิบายว่า “ตำแหน่งเมืองพระประแดงก่อนกลางพุทธศตวรรษที่ 23 อยู่ที่บริเวณท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน พอต่อในสมัยอยุธยาช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเมืองพระประแดงได้เลื่อนลงไปบริเวณปากอ่าวตรงตำแหน่งจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน…
อนึ่งการที่เมืองพระประแดงตั้งอยู่บริเวณคลองเตย อาจจะเป็นบริเวณพื้นที่แถบนั้นเป็นชุมทางคมนาคมที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ ทั้งนี้เพราะนอกจากจะดูแลปากน้ำเจ้าพระยาแล้วที่บริเวณใต้เมืองพระ ประแดงมีคลองเส้นสำคัญคือ คลองพระโขนงและคลองสํำโรง ซึ่งสามารถทะลุออกแม่น้ำบางปะกง ส่วนทางฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ใกล้ปากคลองดาวคะนอง ซึ่งเชื่อมกับคลองด่านที่จะออกไปมหาชัยได้… แต่อย่างไรก็ตามเมืองพระประแดงในสมัยอยุธยาไม่น่าที่จะมีบทบาทสูงมาก เพราะเมืองที่มีบทบาทและความสำคัญสูงในบริเวณปากน้ำคือเมืองธนบุรี…
สาเหตุสำคัญที่มีการย้ายเมืองพระประแดงลงไปจนถึงที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ คงจะเป็นเพราะพื้นที่บริเวณแถบปากน้ำ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญได้ขยายตัวพอที่จะตั้งชุมชนขนาดใหญ่ ถ้าเมืองพระประแดงซึ่งมีหน้าที่ดูแลปากแม่น้ำแต่อยู่ลึกเข้าไปถึงบริเวณคลองเตยดูก็จะไม่มีประโยชน์อันใด ประกอบกับคลองลัดโพธิ์ซึ่งเป็นคลองที่ช่วยร่นระยะการเดินทางโดยไม่ต้องแล่นเรืออ้อมคุ้งบางกระเจ้าและคลองเตย จึงทำให้เมืองพระประแดงที่คลองเตยไม่ใช่ยุทธศาสตร์ในการควบคุมดูแลเส้นทางคมนาคมทางแม่น้ำอีกต่อไป
เมื่อเมืองพระประแดงที่คลองเตยเริ่มหมดความสำคัญลง ประกอบจำนวนประชากรที่เบาบางเพราะผลกระทบของสงครามเสียกรุงครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2310) จึงส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2314 มีการรื้อเอาอิฐกำแพงเก่าเมืองพระประแดงมาก่อกำแพงและป้อมที่ธนบุรี…”
จากการศึกษาแผนที่กรุงเทพฯ ของ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร พบว่า พื้นที่เดิมของท่าเรือคลองเตย ตั้งแต่ปลายถนนสุนทรโกษามาจนถึงปากคลองพระโขนงก่อนจะถูกสร้างเป็นท่าเรือเมื่อราว พ.ศ. 2480 เป็นที่รกร้างลุ่มต่ำ มีสวนและลำคลองหลายสายที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้ ทิศเหนือมีคลองถนนตรง (คลองหัวลำโพง) และทางรถไฟสายปากน้ำ หรือปัจจุบันเป็นแนวถนนพระรามที่ 4 นอกจากนี้ มีวัดโบราณ 4 วัด คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย ซึ่งได้สันนิษฐานว่า ตัวเมืองพระประแดงเก่าน่าจะตั้งอยู่บริเวณเดียวกันนี้ ด้วยสะท้อนความสำคัญของ วัดหน้าพระธาตุ ในฐานะศูนย์กลางที่ประดิษฐานพระศรีมหาธาตุเจดีย์ของเมือง
ภาพเปรียบเทียบที่ตั้งวัดโบราณกับตำแหน่งท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน
วัดหน้าพระธาตุ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงกล่าวถึงวัดนี้ไว้ว่า “…ที่วัดและศาล เกล้ากระหม่อมก็เคยไปเห็น วัดก็ดูเป็นวัดใหม่ ๆ มีพระเจดีย์อยู่ ซึ่งควรจะถือเป็นพระธาตุก็ไม่ใหญ่ ทั้งเป็นเจดีย์ลังกาอย่างสมัยใหม่เสียด้วย…” จึงสันนิษฐานได้ว่า พระมหาธาตุของวัดนี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดไม่ใหญ่นัก แสดงว่าเมืองพระประแดงเก่าน่าจะเป็นเมืองเล็ก ๆ หรืออาจเป็นการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ในสมัยหลัง
วัดทอง เดิมชื่อวัดโพธิ์สุวรรณาราม หรือวัดโพธิ์ทอง ก่อนจะเรียกกันอย่างง่ายว่า วัดทอง เดิมเป็นสวนของนายทอง และมีต้นโพธิ์ใหญ่กลางสวน เชื่อกันว่าไม่ควรปลูกต้นโพธิ์กลางบ้าน จึงถวายที่ดินสร้างเป็นวัดขนาดเล็ก ๆ
วัดเงิน วัดไก่เตี้ย ไม่ปรากฏข้อมูลของวัดทั้งสองวัด แต่มีพระพิมพ์วัดเงิน ซึ่งสะท้อนสภาพของวัดเงิน คือ เมื่อมีการรื้อถาวรวัตถุภายในวัดเงินแล้ว พบกรุบรรจุพระพิมพ์ภายในเจดีย์ เป็นรูปบุคคลอ้วนพุงพลุ้ย ขัดสมาธิราบเหนือฐานด้านล่างที่เป็นรูปคล้ายหยดน้ำ 5 หยด สันนิษฐานว่า อาจเป็นรูปพระสังกัจจายน์
พระพิมพ์วัดเงิน คลองเตย
การก่อสร้างท่าเรือคลองเตยใน พ.ศ. 2480 นั้น รัฐบาลได้จัดการสร้างวัดขึ้นใหม่เป็นการผาติกรรมของเดิม ได้รวมเอาวัดหน้าพระธาตุกับวัดทองเข้าด้วยกัน มาตั้งวัดใหม่ที่ริมถนนสุขุมวิท ชื่อว่า วัดธาตุทอง ทั้งนี้ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร ตั้งข้อสังเกตว่า วัดธาตุทองได้ผูกชื่อจากวัดหน้าพระธาตุและวัดทองเท่านั้น และประวัติก็กล่าวแต่เพียง 2 วัดนี้ เป็นไปได้ว่า วัดเงินและวัดไก่เตี้ยอาจจะร้างไปก่อนหน้านั้นแล้ว
วัดธาตุทอง
ประภัสสร์ ชูวิเชียร. (มิถุนายน, 2557). วัดหน้าพระธาตุ วัดทอง วัดเงิน วัดไก่เตี้ย วัดร้างที่กลายร่างเป็นวัดใหม่ กับเมืองโบราณที่ท่าเรือคลองเตย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 35 ฉบับที่ 8.
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. (มกราคม-มิถุนายน, 2556) เมืองพระประแดง : จากคลองเตยมานครเขื่อนขันธ์ จบที่อำเภอพระประแดง. ดำรงวิชาการ. ปีที่ 12 ฉบับที่ 1.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2563
https://www.silpa-mag.com
The post กำเนิด “ท่าเรือคลองเตย” บนพื้นที่เมืองพระประแดงเก่าสมัยอยุธยา และวัดโบราณทั้งสี่ appeared first on Thailand News.