ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

กำเนิดประวัติศาสตร์ชนชาติไทย

กำเนิดประวัติศาสตร์ชนชาติไทย

กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง (ลายเส้นฝีมือชาวยุโรป พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1873)

พลเมืองของประเทศไทยปัจจุบันนั้นประกอบด้วยชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ เหมือนๆ กับพลเมืองของหลายๆ ประเทศในโลก

กลุ่มชนนี้มีทุกขนาดรูปร่าง ทุกสีผิว และท่าทาง มีฐานะต่างๆ ตั้งแต่ชาวนา เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ทหาร คนขับรถ พ่อค้า นักศึกษา ราชนิกูล หรือพระสงฆ์ โดยรวมๆ แล้วพวกเขาเรียกตัวเองว่า “ไทย” โดยมีนัยยะแห่งความหมายเบื้องต้นทางการเมืองว่า เขาเป็นประชากรของประเทศไทย เป็นข้าแผ่นดินของกษัตริย์ไทย

ถ้าถามต่อไปอีก พวกนี้ก็อาจจะขยายคำจำกัดความไปในแง่วัฒนธรรมและภาษาศาสตร์ โดยกล่าวว่าเป็น “ไทย” ในฐานะผู้คิดภาษาไทย และยอมรับวัฒนธรรมไทย

แต่ถึงอย่างไร เอกลักษณ์ไทยทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงผลจากวิวัฒนาการในช่วงเวลาหลายศตวรรษ และทุกอย่างที่ไทยปัจจุบันกล่าวอ้างถึงไม่ว่าจะเป็นการเมือง วัฒนธรรม หรือภาษานั้น เพิ่งมีขึ้นในระยะเวลาไม่นานมานี้เอง

อันที่จริงแล้ว กลุ่มชนผู้ริเริ่มแก่นแท้ของความเป็นไทยในปัจจุบันนี้ ยังไม่ได้เข้ามาในตอนกลางของแหลมอินโดจีน จนกระทั่งเมื่อราวพันปีมานี้เอง ชนเหล่านี้คือผู้ที่คู่ควรกับคำว่า “ไทย” ในฐานะที่เป็นผู้ใช้ภาษา “ไทย” และเป็นเจ้าของวัฒนธรรม “ไทย” ในสมัยโบราณ พวกคนไทยในปัจจุบันนี้อาจจะสืบทอดมาจากชนชาติไทยพวกนี้ หรืออาจจะสืบเชื้อสายมาจากมอญ หรือเขมรที่อาศัยอยู่ในแถบนี้มาแต่โบราณกาล หรือจากพวกจีน หรืออินเดียที่อพยพเข้ามาทีหลัง วัฒนธรรม อารยธรรม และเอกลักษณ์ที่เรียกได้ว่าไทยนี้ เป็นผลมาจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชนชาติไทยกับวัฒนธรรมของกลุ่มอื่นๆ ที่อพยพเข้ามาในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา

การที่จะสืบสาวเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราจะต้องคำนึงถึงผู้คน วัฒนธรรม และสังคมเป็นประการแรก ส่วนเรื่องสภาพแวดล้อมนั้นถือเป็นอันดับรองลงไป

เรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยนั้น ค่อนข้างซับซ้อนเพราะประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยและของประเทศไทยนั้น เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมเหล่านี้เป็นไปทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และแม้แต่ทางภูมิศาสตร์ด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการเริ่มต้นตั้งแต่แรก เราจึงจะศึกษาชนชาติไทยและความเป็นมาของพวกนี้ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 11 ก่อนที่จะมาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าไทยในปัจจุบัน จากนั้นจึงจะกล่าวถึงวิถีชีวิตของชนพวกนี้ หลังจากที่เข้ามาอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว

ชนชาติไทยปัจจุบันนี้อยู่กันกระจัดกระจายในบริเวณสองสามล้านตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนทวีปเอเชีย

กลุ่มที่เด่นที่สุดของชนกลุ่มนี้ คือ พวกไทย (หรือที่เรียกว่า สยาม) ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 27-30 ล้านคน พวกชนกลุ่มอื่นๆ ที่ใช้ภาษาในตระกูลเดียวกับภาษาไทยและตระหนักถึงความเป็นเผ่าพันธุ์ไทยของตัวเอง มีชื่อเรียกกลุ่มของตัวต่างๆ กันไป กลุ่มลาวมีมากกว่า 20 ล้าน ส่วนใหญ่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย มีเพียงแค่ประมาณ 2.5 ล้านเท่านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว

พวกฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่ามีจำนวนประมาณ 3 ล้าน

นอกจากนี้ยังมีเผ่าไทยต่างๆ อยู่กันกระจัดกระจายแถบที่ราบสูงทางตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทางตอนใต้ของจีน เผ่าไทยกลุ่มหลังนี้แบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ

พวกแรก ประกอบด้วยพวกลื้อ (Lu) ในมณฑลยูนนานของจีน และพวกไทยแถบที่ราบสูง เช่น พวกไทยดำ ไทยขาว และไทยแดง ในลาวและเวียดนามตอนเหนือ รวมกันทั้งหมดแล้วพวกไทยกลุ่มนี้มีประมาณ 2.5 ล้านคน

พวกที่สอง ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนเป็นส่วนใหญ่พวกนี้อยู่มาทางตะวันออก กลุ่มที่สำคัญของพวกที่สองนี้คือ กลุ่มจ้วง (Chuang) ในมณฑลกวางสี และกวางเจาของจีน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 18 ล้านคน นอกจากกลุ่มจ้วงนี้ยังมีกลุ่มนุง (Nung) ทางตอนเหนือของเวียดนามประมาณ 400,000 คน และยังรวมกลุ่มเล็กๆ ที่แยกตัวโดดเดี่ยวในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและในเกาะไหหลำของจีนอีก

สรุปรวมทั้งหมดแล้วกลุ่มไทยนี้จะมีประมาณ 70 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มภาษาและวัฒนธรรมที่มีจำนวนมากพอๆ กับกลุ่มที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน

ลักษณะเด่นที่สุดที่ทำให้ชนชาติไทยแตกต่างไปจากชนเผ่าอื่นๆ คือ ภาษา ความเกี่ยวข้องระหว่างตระกูลภาษาไทย และตระกูลอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ยังไม่มีการระบุแน่ชัด ทั้งยังไม่สามารถกล่าวได้แน่นอนว่า ภาษาไทยนั้นอยู่ในตระกูลเดียวกับภาษาตระกูลอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า เช่น ภาษาโรมานซ์ หรือภาษาอินโดยูโรเปียน

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของภาษาในตระกูลภาษาไทยเดียวกันนั้นค่อนข้างชัด เห็นได้จากการที่ผู้ใช้ภาษาลาว ไทย และฉาน สามารถเข้าใจกันได้ในระดับหนึ่ง แต่ความสามารถในการสื่อสารทำนองนี้ไม่มีอยู่ระหว่างภาษาไทย และภาษาตระกูลอื่นๆ ที่อยู่แถบใกล้เคียง เช่น ภาษาพม่า เขมร ญวน หรือจีน

กล่าวโดยทั่วไป ภาษาไทยเป็นภาษาที่ใช้คำพยางค์เดียว และมีเสียงสูง เสียงต่ำ ซึ่งหมายถึงว่า ยกเว้นเฉพาะคำที่ยืมมาจากภาษาที่ใช้คำหลายพยางค์แล้ว คำพื้นๆ ของภาษาไทยนั้นจะเป็นคำพยางค์เดียวทั้งสิ้น พัฒนาการทางภาษาในระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา ทำให้พยัญชนะภาษาไทยหลายตัวที่ช่วยในการแยกแยะคำต่างๆ สูญหายไป เหลือแต่การใช้เสียงสูงเสียงต่ำเพื่อช่วยบ่งชี้แทน

ดังนั้น ในภาษาที่ใช้อยู่ในประเทศไทย คำว่า มา (maa) จึงแตกต่างไปจากคำว่า ม้า (maa) และ หมา (maa) โดยการใช้เสียงสูงเสียงต่ำมาประกอบเพื่อแสดงความหมายที่แตกต่างกัน จำนวนวรรณยุกต์กำกับเสียงสูงเสียงต่ำจะมีมากที่สุดถึงเก้าตัว จำนวนจะแตกต่างกันไปในหมู่ภาษาไทยกลุ่มต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีประมาณห้าถึงเจ็ด

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างของพยัญชนะและสระ ซึ่งจะเป็นมากในกลุ่มภาษาไทยทางใต้ และมีน้อยลงในกลุ่มทางเหนือ แต่ถึงแม้จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป ภาษาพื้นฐานที่ประกอบด้วยโครงสร้างทางไวยากรณ์และคำศัพท์ต่างๆ ก็ยังมีส่วนคล้ายคลึงกัน

สำหรับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนชาติไทยนั้นยังไม่สามารถบ่งชี้ได้โดยง่าย เหตุเพราะว่าชนชาติไทยมีวัฒนธรรมแนวทางการดำเนินชีวิตและกรอบแห่งการประพฤติปฏิบัติร่วมกับพวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ซึ่งแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัดจากวัฒนธรรมจีนและอินเดีย

รากฐานดั้งเดิมทางวัฒนธรรมและภาษาของพวกไทยนั้น น่าจะอธิบายได้โดยการกล่าวอ้างถึงกระแสวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือดินแดนแถบใจกลางทวีปซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนกลางและตอนใต้ของจีน

ประมาณเมื่อ 40,000 ปีที่แล้วมา บรรพบุรุษของพวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ตั้งหลักฐานมั่นคงในดินแดนส่วนใหญ่แถบนี้แล้ว พวกนี้จะทำการล่าสัตว์และหาอาหารจากป่า หรือแม่น้ำลำธารโดยใช้เครื่องมือที่ทำด้วยไม้หรือไม้ไผ่หลายชนิดที่ยังคงใช้กันอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน พวกเขาใช้ขวานและมีดที่ทำด้วยหินทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ไม้ซางเป่าลูกดอก หน้าไม้และลูกศร กับดักสัตว์ และตะกร้าต่างๆ

ในช่วง 10,000-20,000 ปีหลัง พวกนี้เริ่มทำกสิกรรม ปลูกถั่ว และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ และในระยะหมื่นปีนี้เองที่ชนกลุ่มต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มแยกตัวออกจากกันทั้งทางด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยอาศัยอยู่กระจัดกระจายจากหุบเขาแยงซีในตอนกลางของจีน ไปจนถึงแถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย

แต่ถึงอย่างไร ความแตกต่างและการแยกตัวออกเป็นกลุ่มๆ นี้ ก็ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สะสมมาในระยะเวลาสามแสนปีก่อนหน้านี้ร่วมกัน รูปแบบนี้คือ แก่นของอารยธรรม วัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อมา นั่นคือมีการเลี้ยงหมู วัว และไก่ ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก มีการสร้างเรือสำเภาเดินเรือไปจนถึงญี่ปุ่น หมู่เกาะเมลานีเชีย อินเดีย จนถึงเกาะมาดากาสการ์ เริ่มมีการนำโลหะมาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมๆ กับแหล่งอื่นๆ ในโลก มีการถลุงแร่ทองแดง และบรอนซ์ โดยมีหลักฐานพิสูจน์จากการขุดค้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พบเบ้าหลอมขวานสำริด คาดว่ามีอายุมากกว่าห้าพันปีขึ้นไป

นอกจากนี้ราวๆ สามพันปีมาแล้ว ยังมีการตีเหล็กในบริเวณเดียวกันและยังมีการทำเครื่องปั้นดินเผาอีกด้วย

มีเหตุผลสมควรที่จะคาดเดาว่า ประมาณสองพันปีที่แล้ว กลุ่มชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอารยธรรมที่รุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นร่วมกัน ชนชาติไทยก็เหมือนกับชนชาติต่างๆ รอบข้าง คือเป็นกลุ่มกสิกรรมที่ปลูกข้าวเป็นพืชหลัก นอกจากนั้นก็จับปลาและหาของป่า พวกไทยมีการดำรงชีวิตแบบครอบครัวเดียว (Nuclear Family) ในหมู่บ้านเล็กๆ มีการติดต่อระหว่างหมู่บ้านเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้า ประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยโลหะ เครื่องปั้นดินเผา และเกลือ

เนื่องจากมีประชากรค่อนข้างเบาบาง กำลังคนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ พวกผู้หญิงดำรงฐานะทางสังคมที่สูงพอสมควรแตกต่างจากผู้หญิงจีนและอินเดียที่มีฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ตัวอย่างเช่น การพิจารณาแบ่งมรดก ทั้งสายทางพ่อและสายทางแม่จะถือว่ามีสิทธิ์เสมอกัน ลูกสาวลูกชายมักจะได้รับส่วนแบ่งที่ดินของพ่อแม่เท่าๆ กัน

ความเชื่อถือในเรื่องโชคลางมีอยู่ทั่วไป พวกเขาเชื่อกันว่า โลกประกอบด้วยวิญญาณดีและวิญญาณชั่ว ซึ่งมีอำนาจช่วยเหลือหรือทำร้ายมนุษย์ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการทำพิธีเซ่นบวงสรวง ผู้หญิงจะมีญาณพิเศษ สามารถเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับวิญญาณได้ พวกนี้จึงมักจะถูกเรียกมาทำพิธีรักษาคนป่วย หรือทำพิธีเปลี่ยนแปลงอากาศธรรมชาติและโลกถือว่าเป็นสิ่งปรวนแปร ทั้งยังมีอำนาจชั่วร้ายที่มนุษย์จะต้องระมัดระวังอย่างดีที่สุด

หลักฐานอ้างอิงเกี่ยวกับชนชาติไทยที่เก่าแก่ที่สุดของจีน กล่าวไว้ตรงกับภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่นักโบราณคดีได้ตั้งสมมุติฐานขึ้น ชนชาติไทยที่พวกจีนรู้จัก คือกลุ่มที่อาศัยอยู่ตามเขตที่ลุ่มแถบหุบเขา มากกว่าจะอาศัยอยู่ตามที่ราบสูงหรือบนภูเขา

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พวกนี้เป็นกลุ่มที่มีเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเพาะปลูกข้าวนาดำ (wet rice) ชนชาติไทยหลายพวกถือว่าวัวควายเป็นสัตว์สำคัญที่ใช้สำหรับงานพิธีต่างๆ มากกว่าในฐานะสัตว์ที่นำมาใช้แรงงาน บ้านของพวกไทยจะยกสูงขึ้นไปจากพื้นดินซึ่งแตกต่างจากเพื่อนบ้านชาวจีนและเวียดนาม หนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่ครอง ทั้งยังได้รับอนุญาตให้มีเสรีทางเพศได้ในช่วงพิธีเฉลิมฉลองในฤดูใบไม้ผลิ ผู้ชายนิยมสักร่างกายเพื่อแสดงความเป็นผู้ใหญ่ เวทมนตร์คาถา ยาสั่ง เป็นเรื่องเชื่อถือกันทั่วไป

ชนชาติไทยที่พวกจีนกล่าวถึงในชื่อต่างๆ กันนี้ ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนแถบต่างๆ ทางตอนใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ในช่วงต้นๆ คริสต์ศักราช ในระยะพันปีหลัง ชนชาติไทยอาจจะตั้งหลักปักฐานอยู่แถบเหนือขึ้นไป

อย่างไรก็ดี เรารู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของพวกไทยตอนที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นเหล่าแล้วน้อยมาก ไม่มีหลักฐานใดบ่งชัดว่ามีอาณาจักรไทยก่อนช่วงต้นคริสตกาล และเป็นที่แน่นอนว่าไม่มีอาณาจักรไทยที่มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรไทยที่เพิ่งเริ่มก่อตัวขึ้นในทางตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงพันปีแรกก่อนคริสตกาล

ความเกี่ยวโยงที่ดูจะสมเหตุสมผลที่สุด ระหว่างวัฒนธรรมและภาษาของชนชาติไทย ช่วงสมัยพันปีแรกก่อนคริสตกาล กับอาณาจักรไทยที่ตั้งขึ้นภายหลังนี้มาจากข้อสันนิษฐานของนักภาษาศาสตร์ เกี่ยวกับพัฒนาการของภาษาไทย แม้ว่าทฤษฎีนี้จะยังคงเป็นเรื่องขัดแย้งกันอยู่ แต่นักภาษาศาสตร์ก็เห็นพ้องต้องกันว่ามีความสอดคล้องบางประการของทฤษฎีนี้กับตำนานที่มาของชนชาติไทยเอง สิ่งที่เสริมทฤษฎีนี้ให้มีน้ำหนักขึ้นไปอีก คือ ความรู้เท่าที่พอทราบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของบริเวณดินแดนแถบนี้

เราสามารถสรุปได้ว่า ถึงตอนช่วงศตวรรษสุดท้ายของยุคพันปีแรกก่อนคริสตกาล ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชนที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ เริ่มแตกต่างกันออกไปทั้งบางส่วนยังแยกออกจากกันทางกายภาพอีกด้วย กลุ่มชนที่อาศัยอยู่แถบหมู่เกาะ จากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ไปจนถึงแหลมมลายู จะพูดภาษามาลาโย-โพลินีเซียน (Malayo-Polynesian) ออสโตรนีเซียน (Austronesian) ในขณะที่ภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic) เช่นภาษามอญและเขมรจะพูดกันในแถบตอนกลางและตอนใต้ของแหลมอินโดจีน จากทางตอนใต้ของพม่าไปจนถึงแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ของเวียดนาม กลุ่มที่ใช้ภาษาพม่าอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของพม่าและทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ขณะที่กลุ่มที่ใช้ภาษาเวียดนามอาศัยอยู่แถบฝั่งมหาสมุทร ซึ่งเดี๋ยวนี้คือบริเวณเวียดนามเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แทรกอยู่ระหว่างกลุ่มที่ใช้ภาษาเวียดนามและภาษาเขมรคือ พวกจาม (Chams) ทางตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม ซึ่งใช้ภาษามาลาโย-โพลินีเซียน (Malayo-Polynesian)

ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ ยังมีชนกลุ่มใหญ่ที่ค่อนข้างจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อาศัยอยู่ในแถบหุบเขาริมแม่น้ำไกลออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ในเขตบริเวณมณฑลกวางเจาและกวางสี พวกนี้ใช้ภาษาที่เราเรียกว่า ภาษาไทยโบราณ (Proto Tai) ชนกลุ่มนี้ถูกกดดันทั้งทางปัญหาประชากร ทางเศรษฐกิจ และการเมือง จากดินแดนเพื่อนบ้านคือเวียดนามทางตอนเหนือ และจีนฮั่นทางตะวันออก

เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นและกลุ่มต่างๆ แยกตัวออกโดดเดี่ยวเป็นอิสระจากกัน ภาษาที่พวกเขาใช้ก็เริ่มแตกต่างกันออกไป ภาษาไทยโบราณที่แพร่หลายออกไปในช่วงต้นๆ คริสต์ศตวรรษนี้ น่าจะมีส่วนมาจากการขยายอำนาจของจักรวรรดิจีนลงมาตามฝั่งทะเลตอนใต้ของจีน จนถึงดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ที่เป็นที่ตั้งของเวียดนามเหนือปัจจุบัน

เป็นไปได้อย่างมากที่การขยายตัวของจีนนี้ยังเร่งให้กลุ่มชนที่ใช้ภาษาไทยบางกลุ่มเคลื่อนย้ายลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้เข้าสู่ส่วนที่ราบสูงของตอนเหนือของเวียดนามปัจจุบัน และบางทีอาจจะมาถึงแถบตะวันออกเฉียงเหนือสุดของลาวก็เป็นได้

ในสองสามศตวรรษแรก เมื่อพวกจีนและเวียดนามค่อยๆ กระชับอาจควบคุมทางการทหารและการบริหารของตนเข้ามาและยังกระจายอำนาจไปทางตะวันตกเฉียงเหนือแถบหุบเขาลุ่มแม่น้ำแดง การขยายตัวนี้มีผลทำให้ชนชาติไทยยุคแรกนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรก คือ พวกที่ยังคงอยู่ทางตอนเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของหุบเขาแถบลุ่มแม่น้ำแดง เช่น พวกจ้วง ในมณฑลกวางสี และพวกโท้ (Tho) และพวกนุง (Nung) ในเวียดนาม กลุ่มนี้มีการพัฒนารูปแบบที่แตกต่างออกไปทั้งทางด้านภาษาและทางวัฒนธรรม โดยอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนและเวียดนาม

กลุ่มที่สอง 2 คือ กลุ่มไทยทางใต้ซึ่งคะเนว่า คงจะมาตั้งถิ่นฐานอยู่แถบลุ่มแม่น้ำดำ และทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของลาว และยังคงอยู่ในบริเวณใกล้ๆ จีน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึง 8 กลุ่มไทยพวกนี้ คือพวกที่เป็นบรรพบุรุษของพวกไทย ในประเทศลาว ไทย พม่า พวกที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และทางใต้ของยูนนาน ซึ่งเรียกว่า พวกลาว พวกไทย พวกฉาน และชาน (Shan) พวกไทยที่ราบสูง

ถิ่นฐานใหม่ของชนพวกนี้แตกต่างไปทั้งภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมือง ความสนใจความคิดและพฤติกรรมของพวกเขาจึงได้รับการพัฒนาไปในแนวทางใหม่ พวกนี้อยู่โดดเดี่ยวแยกไปจากกลุ่มไทยทางเหนือ จนในที่สุดความผูกพันทางสายเลือดระหว่างสองกลุ่มนี้ก็ถูกลืมเลือนไป

ช่วงระยะต่อมาซึ่งอาจจะเป็นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึง 13 พวกไทยกลุ่มนี้ได้กระจายออกไปอีก 700-1,000 ไมล์ ทางตะวันตกและทางใต้ แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ยังคงรักษาความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้าน และธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดมาดั้งเดิม ซึ่งเป็นผลมาถึงความพ้องกันทางภาษาของกลุ่มไทยต่างๆ นี้ด้วย

หมู่บ้านและเมืองของชนชาติไทย

จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากดินแดนเพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ เราสามารถจะร่างภาพชีวิตชนชาติไทยในรอบพันปีแรกได้ ในช่วงฐาน คือ ครอบครัวชาวนา ซึ่งเป็นหน่วยครอบครัวเดียว (Nuclear Family) แบบง่ายๆ แรงงานของสมาชิกในครอบครัวทุกคนจะใช้ไปในการประทังชีวิตตนเอง เช่น ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงวัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ หาปลาในธารน้ำ ล่าสัตว์ และทอผ้าหรือทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ กลุ่มบ้านประมาณ 12 หรือ 24 หลังคาเรือน จะร่วมลงแรงกันในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซ่อมสะพานหรือสร้างบ้าน โดยมีกลุ่มผู้เฒ่าในหมู่บ้านเป็นผู้ประสานงานและสั่งการ กลุ่มผู้เฒ่านี้จะทำหน้าที่ตัดสินกรณีพิพาทและจัดงานเนื่องในโอกาสเทศกาลต่างๆ

หมู่บ้านในลักษณะนี้ไม่สามารถจะอยู่แยกตัวเต็มที่ได้ ชนชาติไทยกลุ่มนี้ยังต้องพึ่งพากันทางด้านการค้าขายในระดับหนึ่ง เช่น การซื้อเกลือ หรือโลหะ และนอกจากนี้การแยกกันอยู่ยังหมายถึงอันตรายในยามที่เกิดสงครามด้วย

สำหรับพวกไทยเกือบทุกกลุ่ม “เมือง” เป็นหน่วยเศรษฐกิจการเมืองเบื้องต้นเหนือขึ้นไปจากหน่วยหมู่บ้านธรรมดา ความหมายของคำว่า “เมือง” นี้ยังยากที่จะให้คำจำกัดความใดๆ ได้ เนื่องจากคำนี้มีนัยยะทั้งทางด้านความสัมพันธ์ส่วนบุคคลและความเกี่ยวข้องทางขนาด

เมื่อคำคำนี้ปรากฏในจดหมายเหตุโบราณ เพื่อจะกล่าวถึงอาณาเขตที่มีเจ้าปกครอง มันสามารถหมายความได้ทั้งเมืองที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้านที่มีเครือข่ายเกี่ยวข้องกัน หรือเมืองและหมู่บ้านรองๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าองค์เดียวกัน

เราสามารถคิดได้ว่าเมืองในลักษณะเช่นนี้จะต้องเป็นผลมาจากความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในสภาวะที่ตกอยู่ในอันตรายเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของเวียดนามช่วงศตวรรษต้นๆ เมื่อพวกจีนและเวียดนามมีความมุ่งหมายที่จะขยายอำนาจปกครองของตน หมู่บ้านไทยก็ได้รวมกำลังกันต่อสู้ภายใต้การนำของหมู่บ้านหรือครอบครัวที่มีอำนาจมากที่สุด ผู้ซึ่งสามารถจัดหาอาวุธหรือยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับกองทหารได้ หมู่บ้านต่างๆ ก็จะตอบแทนการคุ้มครองนี้ด้วยแรงงานผลิตผลหรืองานหัตถกรรมในครัวเรือน

จำเป็นต้องย้ำว่าการจัดการแบบนี้ ถือเป็นความสัมพันธ์ที่อำนวยประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย เป็นเรื่องธรรมดาที่เมืองศูนย์กลาง ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นเพียงแค่หมู่บ้านที่ไม่ใหญ่โตไปกว่าหมู่บ้านอื่นๆ จะรุ่งเรืองและมีอำนาจขึ้นกว่าหมู่บ้านอื่น และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะยิ่งรุ่งเรืองมากขึ้น

เรายังคาดได้อีกว่า รูปแบบสังคมของกลุ่มไทยแบบนี้ น่าจะถือเป็นข้อได้เปรียบของกลุ่มอำนาจ เช่น เวียดนามและจีน ซึ่งจะพอใจที่จะติดต่อกับเมืองที่มีจำนวนจำกัดมากกว่าหมู่บ้านที่มีจำนวนอยู่มากมาย

ทั้งจีนและเวียดนามได้รับเอาหลักปฏิบัติที่ถือว่า เจ้าไทยนั้นนับเป็นหัวหน้าชุมชนไทย ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะที่เป็นศัตรู เป็นมิตร หรืออยู่ในฐานะเมืองขึ้น เพื่อตอบแทนที่เจ้าไทยยอมรับอำนาจอันยิ่งใหญ่ของจีนและถวายบรรณาการให้แก่จีนเป็นประจำทุกปี จีนจึงยอมไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวปล่อยให้เจ้าไทยเป็นใหญ่อยู่ในสังคม ที่เจ้าหน้าที่จีนที่อยู่ข้างเคียงเห็นว่า แยกอยู่ค่อนข้างโดดเดี่ยวและไม่ใคร่มีความสำคัญนัก

และนี่ก็เป็นความสัมพันธ์แบบที่ค่อนข้างจะเอื้อประโยชน์ให้ได้อีกแง่หนึ่งที่ว่า กลุ่มไทยซึ่งถึงแม้จะเริ่มแบ่งแยกในหมู่พวกกันเองก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับโลกข้างนอกอยู่บ้าง

นอกจากนี้ยังมีสังคมอื่นที่อยู่ใกล้กว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่สมัยยุคแรกๆ แล้ว ชนชาติไทยไม่ใช่พวกเดียวที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบสูงตอนใน การที่พวกเขาปลูกข้าวทำให้ต้องอาศัยอยู่ในแถบหุบเขาตอนล่าง ในขณะที่บนเขาสูงเบื้องบนที่ยังมีชนเผ่าอื่นๆ ที่แตกต่างไปทั้งทางชาติพันธุ์และภาษา ในตอนต้นเจ้าไทยจ้างชาวเขาเหล่านี้ในฐานะทาสและในฐานะลูกจ้างใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังนับเอาหัวหน้าชาวเขาเหล่านี้เป็น “ข้า” (vassals) แบบเดียวกับที่พวกไทยเป็นข้าของกษัตริย์จีน

รูปแบบการปกครองแบบนี้ มีความสำคัญทั้งต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้ในช่วงศตวรรษแรกๆ และต่อสภาพเบื้องต้นของการพัฒนาทางด้านการเมือง ในหมู่ชนชาติไทยที่ราบสูงและต่อมากลายเป็นกลไกหนึ่งของการก่อตั้งรัฐ

เมื่อเวลาผ่านไป คาดได้ว่าโครงสร้างเมืองของพวกไทยที่ราบสูงพวกนี้น่าจะค่อยๆ แปรสภาพไปมีโครงสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เมืองที่รุ่งเรืองจะสามารถป้องกันตนเองทั้งทางด้านการทหารและทางการทูต จากเมืองใกล้เคียง จากพวกชาวเขาที่ป่าเถื่อนและจากรัฐมหาอำนาจ เช่น จีน และเวียดนาม พวกเขาสามารถจัดระเบียบภายใน และจัดตั้งกระบวนการยุติธรรม ที่จะตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด และตัดสินกรณีพิพาทระหว่างหมู่บ้าน เช่น กรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในเรื่องที่ดิน แหล่งน้ำ หรือการขโมยวัวควาย

โครงสร้างของเมืองนี้ยังเอื้อต่อรูปแบบทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้สามารถแลกเปลี่ยนผลผลิต หรือสิ่งผลิตต่างๆ ได้ แน่นอนว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจะต้องเป็นในรูปที่หมู่บ้านต่างๆ เสียภาษีให้ไม่ว่าจะเป็นในรูปของแรงงานหรือข้าวของเพื่อตอนแทนสำหรับความปลอดภัยและระเบียบที่เมืองจัดหาให้

ตระกูลของเจ้าเมืองสามารถดำรงสภาพความเป็นอยู่ที่เหนือกว่าหมู่บ้านรอบๆ ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มั่นคง รวมกับชื่อเสียงที่ได้จากความสำเร็จในการติดต่อกับชาวเขา หรือพวกอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไป ทำให้ตระกูลเจ้าเมืองนั้นมั่นคงมาก สามารถทำการปกครองอยู่ได้หลายชั่วคน เจ้าเมืองแต่ละคนจะสร้างกลไกการบริหารสำหรับเก็บภาษีและระงับกรณีพิพาทต่างๆ

กฏเกณฑ์การสืบทอดราชสมบัติมักจะทำโดยแต่งตั้งทายาท (ส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกชายคนโต แต่ก็ไม่ใช่ทุกกรณีไป) เข้ารับตำแหน่งสูงทางการบริหาร เพื่อที่เขาจะสามารถทำความคุ้นเคย และสามารถควบคุมข่ายงาน ซึ่งประกอบขึ้นจากความสัมพันธ์ระดับบุคคล อันเป็นรากฐานโครงสร้างของเมืองต่อไป

นอกจากนี้ ลักษณะที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าลักษณะอื่นๆ คือ การที่เมืองของชนชาติไทยนั้นเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในด้านการใช้แรงงาน โดยเฉพาะในดินแดนที่มีที่ดินมากมายเมื่อเทียบกับแรงงานและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่มีอยู่ สภาพสังคมในยุคนั้นค่อนข้างจะไม่มีความปลอดภัยทรัพย์สิน เช่น วัว ควาย หรือโลหะมีค่า หรือกุ้งฉาง อาจจะถูกปล้นหรือแย่งไปจากการต่อสู้ชั่วข้ามคืน ความมั่นคงปลอดภัย ความมั่งคั่ง และชีวิตต่างขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในระหว่างบุคคล และระหว่างครอบครัว ซึ่งเป็นผลให้เกิดผู้นำและระเบียบต่างๆ

แม้ว่าสังคมเมืองนี้จะเป็นการปกครองโดยระดับชั้น แต่จำต้องเน้นว่าลักษณะความสัมพันธ์ แบบผู้อุปถัมภ์ และผู้ได้รับการอุปถัมภ์ หรือแบบผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองนี้มิใช่ว่าจะเป็นการได้ผลประโยชน์แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว เป็นที่แน่ชัดว่าต่างก็ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ถ้าจะมีการบังคับกันถึงฝ่ายเจ้าเมืองจะมีกำลังที่กล้าแข็งกว่าก็ตาม แต่ฝ่ายชาวบ้านก็อาจจะหนีเข้าป่า หรือหนีไปอยู่เมืองอื่นที่ต้องการแรงงานเช่นกัน ทั้งสองฝ่ายจึงได้หลีกเลี่ยงการปะทะกันแบบนี้ โดยมีการตกลงรอมชอมอยู่ร่วมกันโดยพึ่งพาซึ่งกันและกัน

ในรอบพันปีแรกของคริสต์ศักราช จำนวนชนชาติไทยในที่ราบสูงทางตอนในของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ตามสภาพทางนิเวศวิทยาและทางการเมืองที่เป็นอยู่

เป็นเรื่องธรรมดาอยู่เองที่จะต้องมีการขยายตัวของประชากรอย่างช้าๆ ไปทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ เหตุเพราะที่ลุ่มชายฝั่งทางตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีคนตั้งหลักแหล่งอยู่หนาแน่นภายใต้อาณัติของจีนและเวียดนาม ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือของลาว และตอนใต้ของยูนนานนั้น พวกออสโตรเนเชียน (Austronesian) และพวกที่ใช้ภาษาออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic) ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวเขาในปัจจุบันอยู่กันกระจัดกระจาย พวกนี้มีวิทยาการอาวุธและรูปแบบทางการเมืองที่ยังล้าหลัง ไม่สามารถเทียบเคียงกับชนชาติไทยได้

บันทึกเหตุการณ์ในสมัยแรกๆ ของชนชาติไทยที่อาศัยอยู่ตั้งแต่แถบลาวไปถึงตะวันอกเฉียงเหนือของอินเดีย เต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและการเคลื่อนไหวและขยายตัวทางการเมือง

รูปแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่บันทึกไว้นี้ตรงกัน กล่าวคือเจ้าผู้ครองเมืองจะรวบรวมชายหนุ่มในเมืองของตนเข้าเป็นกองทหาร โดยมักจะให้อยู่ภายใต้การนำของลูกชายคนใดคนหนึ่งของตน กองทหารนี้จะยกไปชิงเอาดินแดนที่ห่างไกลแล้วตั้งขึ้นเป็นอาณานิคม โดยอพยพครอบครัวไปจากเมืองแม่ พวกนี้จะทำการกสิกรรม “เปลี่ยนป่าให้เป็นนาข้าว” จากนั้นจึงตั้งขึ้นเป็นชุมนุมภายใต้การปกครองของลูกชายของเจ้าเมืองนั้น เจ้าผู้ครองเมืองอาจจะจัดให้ลูกชายทุกคนได้ยกกองทหารออกไปตั้งเมืองใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมอำนาจของเมืองแม่ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ลูกชายเหล่านี้อาจจะถูกส่งออกไปตามลำดับอาวุโส โดยทิ้งให้คนเล็กที่สุดครองเมืองต่อจากพ่อ ในทางตอนเหนือของเวียดนามและลาว ซึ่งมีการเคลื่อนไหวในรูปแบบนี้

เขตหุบเขาที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าวนั้นเป็นดินแดนเล็กๆ แคบๆ และถูกกั้นไว้ด้วยเขตภูเขาสูงที่ทุรกันดาร ดังนั้นศูนย์กลางของประชากรและการเมืองของพวกไทย จึงน่าจะมีการแผ่ขยายอย่างรวดเร็วและเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้

หลังจากที่เจ้าเมืองสิ้นไป บรรดาลูกชายอาจจะพบว่าเป็นไปยากที่จะรักษาอาณาเขตของตนและปกป้องตนเองจากจีนหรือเวียดนามที่คอยจ้องจะเอาดินแดนเหล่านี้ไปอยู่ใต้อาณัติ

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเจ้าเมืองผู้เป็นบิดาตายแล้วและลูกชายตนเองเจริญวัยขึ้น ตนเองก็จะปรารถนาให้ลูกของตนได้ครอบครองดินแดนใหม่เหมือนอย่างที่ตนได้เคยกระทำมาแล้ว โดยกระบวนการเช่นนี้ดินแดนชนชาติไทยจึงน่าจะค่อยๆ ขยายตัวตัดเข้ามาทางตอนเหนือสู่อินโดจีน

ความทรงจำเกี่ยวกับการขยายตัวของพวกไทยที่ยังคงหลงเหลืออยู่ บางที่จะเป็นในรูปนิยายปรัมปราต่างๆ เช่นเรื่องขุนบรม ที่พวกลาวเล่าสืบทอดกันมาและยังมีเรื่องที่คล้ายคลึงกันในตำนานต่างๆ ของดินแดนเพื่อนบ้านด้วย

เรื่องขุนบรมมีอยู่ว่า ในยุคแรกของโลกมนุษย์ยังป่าเถื่อนดุร้าย และยังมิได้ทำกสิกรรมกัน การที่มนุษย์ละเลยต่อสวรรค์ทำให้เจ้าแห่งเทพบนสวรรค์พิโรธ จึงปล่อยให้น้ำลงมาท่วมโลกจนหมดเหลือแต่หัวหน้า 3 คน คือ ขุนข่าน (khan) ขุนแขก (khek) และขุนภูลังซอง (Pulangsong) ทั้ง 3 อ่อนน้อมต่อเจ้าแห่งเทพและหลบอยู่บนสวรรค์จนน้ำลด หลังจากนั้นจึงกลับลงมาสู่โลกมนุษย์ โดยนำควายมาด้วยหนึ่งตัวและได้ใช้ควายนั้นไถนา หว่านข้าว ในที่ราบแถบเดียนเบียนฟู เมื่อไถเสร็จควายนั้นก็ล้มลงตาย ต้นไม้ได้งอกออกมาทางรูจมูกของควายและให้ผลออกมาเป็นน้ำเต้า หรือฟักทองที่มีเสียงกึกก้องอยู่ภายใน เมื่อผ่าน้ำเต้าออกมนุษยชาติก็หลั่งไหลออกมาจากน้ำเต้านั้น

พวกลาวอธิบายว่าพวกที่ออกมาจากน้ำเต้าทางช่องที่ถูกเจาะโดยเหล็กเขี่ยไฟที่ถูกเผาจนร้อนแดงจะมีผิวสีคล้ำคือพวกอะบอริจิน ส่วนพวกที่ออกมาทางช่องที่เจาะด้วยสิ่วจะเป็นพวกลาวที่มีผิวขาวกว่า

ด้วยความช่วยเหลือของเจ้าแห่งเทพยดา ขุนข่าน ขุนเขก และขุนภูลังซอง ได้สอนให้พวกไทย (คาดว่าเป็นเฉพาะชนชาติไทยพวกเดียวเท่านั้น) ปลูกบ้าน ทำนา และสอนวิธีประพฤติปฏิบัติตัว และการประกอบพิธีกรรมต่างๆ จำนวนมนุษย์เพิ่มมากขึ้นจนต้องหาคนมาช่วยปกครอง เจ้าแห่งเทพจึงส่งโอรสของพระองค์นามขุนบรม ลงมายังโลกมนุษย์ พร้อมด้วยข้าราชบริพารและบรรดาครูทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งศิลปวิทยาการทั้งที่อำนวยประโยชน์และทั้งที่เป็นสุนทรียศิลป

หลังจากครองราชย์ด้วยดีมา 25 ปี ขุนบรมก็ได้แต่งตั้งโอรส 2 องค์ให้ครอบครองเผ่าไทย องค์โตสุดครองหลวงพระบาง ส่วนองค์อื่นๆ ไปครองเชียงขวาง ละโว้-อยุธยา เชียงใหม่ สิบสองปันนา (ทางตอนใต้ยูนนาน) หงสาวดี (รัฐมอญของร่างกุ้ง ตอนใต้ของพม่า) และดินแดนแถบที่อยู่ตอนกลางทางเหนือของเวียดนาม (อาจจะเป็นเมืองเง่อันห์ (Nghe-an Province) ตำนานเรื่องนี้ภาคที่พบที่เชียงขวางกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 658 ก่อนคริสตกาล

แม้ว่าตำนานเกี่ยวกับขุนบรมในภาคต่างๆ นั้นจะยังคลาดเคลื่อนและมีข้อความที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่เรื่องขุนบรมนี้ก็มีความสำคัญมากต่อประวัติศาสตร์ยุคต้นของชนชาติไทย รัฐต่างๆ ที่ตำนานเหล่านี้อ้างถึงนั้นมาก่อตั้งในช่วงเวลาไม่กี่ศตวรรษมานี้เอง ในขณะที่บันทึกทางโบราณคดีได้แสดงให้เห็นว่า อารยธรรมของชนชาติไทยนั้นมีอายุเก่าแก่กว่านั้นเป็นเวลานาน

ถึงอย่างไร ตำนานนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงลักษณะการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนและการสืบสายโลหิตเดียวกันมา ทั้งยังแสดงถึงลักษณะพ้องกันทางวัฒนธรรมและภาษา และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างชนชาติไทยกลุ่มต่างๆ ที่อยู่กันกระจัดกระจายห่างกัน

นอกจากนี้การศึกษาค้นคว้าในระยะหลังต่อมาก็ได้แสดงถึงผลเช่นเดียวกัน

หลักฐานทางภาษารวมกับบันทึกที่ค้นพบเป็นส่วนๆ แสดงให้เห็นว่าการแยกตัวของชนชาติไทยนี้เกิดขึ้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 และคริสต์ศตวรรษที่ 11 หรือ 12 ตามแนวภูมิประเทศตรงกับที่ตำนานกล่าวไว้

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าขุนบรมจะลงมายังโลกมนุษย์ในแถบเดียนเบียนฟู แต่ไม่มีโอรสองค์ใดได้ครองดินแดนแถบนั้นเลย และไทยแถบที่ราบสูงซึ่งปัจจุบันเป็นตอนเหนือของเวียดนามก็ไม่รวมอยู่ในบรรดาดินแดนที่ขุนบรมส่งโอรสไปครอง

ภาษาไทยดำ ไทยขาว ไทยแดง และกลุ่มอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน น่าจะแยกออกจากภาษาไทยดั้งเดิมของลาวและสยามตั้งแต่ตอนแรกๆ และแยกจากภาษาทางกลุ่มตะวันตกเฉียงเหนือ พวกฉาน อาหม ลื้อ และไทยตอนเหนือ (ไทยวน) ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 11

เมื่อถือเอาข้อโต้แย้งทางภาษามาเป็นหลักฐานยืนยันขอให้เราสมมุติว่า ราวช่วงศตวรรษที่ 8 ชนชาติไทยได้ขยายขอบเขตออกไปเกือบทั่วตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งแยกกันออกไปเป็นกลุ่มภาษา 5 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ กลุ่มไทยดั้งเดิมทางเหนือที่ยังตกค้างอยู่ในจีน ซึ่งต่อมาคือบรรพบุรุษของพวกจ้วงในปัจจุบัน

กลุ่มที่สอง คือ ไทยที่ราบสูงที่ยังคงอยู่ในเวียดนามตอนเหนือ บรรพบุรุษของเผ่าไทยดำ ไทยขาว และไทยแดง

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แถบลาวทางตะวันออกเฉียงเหนือ และบริเวณของเวียดนามที่ติดต่อกัน พวกนี้เป็นบรรพบุรุษไทยในเชียงขวางและพวกสยามอยุธยา

กลุ่มที่สี่ น่าจะตั้งอยู่แถวลาวตอนเหนืออาจจะเป็นแถวๆ หลวงพระบาง

กลุ่มที่ห้า กลุ่มสุดท้ายนี้ตั้งรกรากอยู่ทางตะวันตกของกลุ่มอื่นๆ ทางเหนือสุดของประเทศไทยและบริเวณลาว ยูนนาน และพม่า ที่อยู่ติดต่อกัน

ความแตกต่างของแต่ละกลุ่มนั้น พิจารณาจากในแง่ของภาษาซึ่งถือกันว่าภาษาท้องถิ่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนั้น จะต้องมีขั้นตอนพัฒนาการแบบเดียวกันและเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ในขณะที่ภาษาท้องถิ่นอื่นๆ ที่ไม่มีลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นภาษาที่มีกำเนิดจากที่อื่นๆ

เห็นได้ชัดว่า เราไม่สามารถกำหนดกลุ่มภาษาว่าอยู่ท้องถิ่นใด เวลาใดในอดีตได้ แต่จากการพิจารณาลักษณะการกระจายของภาษาท้องถิ่นในปัจจุบันและจากการพิจารณาเส้นทางการติดต่อไปมาหาสู่กัน เราสามารถจะคาดเดาได้อย่างมีเหตุผลพอสมควรว่า กลุ่มภาษาท้องถิ่นแต่ละกลุ่มนั้น เคยตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณใดเป็นเวลานานๆ

นอกเหนือไปจากปัญหาที่ว่าภาษาไทยกลุ่มไหน ใช้กันในท้องถิ่นใด เราจะสามารถทราบได้อย่างไรว่าชนชาติไทยที่ใช้ภาษาไทยกลุ่มไหนได้เข้าไปตั้งรกรากถิ่นฐานในแถบที่ระบุไว้ ตั้งแต่สมัยโบราณกาลมาแล้ว ทั้งจะแน่ใจได้อย่างไรว่าในตอนคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชนชาติไทยกลุ่มนี้จะอยู่เหนือขึ้นไปอีก บางทีอาจจะเป็นในยูนนานก็เป็นได้

ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาได้มีหลายคนโต้แย้งว่า ชนชาติไทยเพิ่งเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 13 นี้เอง และก่อนหน้านั้นพวกนี้ได้ตั้งอาณาจักรมีอำนาจรุ่งเรืองชื่อว่าน่านเจ้าอยู่ในยูนนาน ข้อโต้แย้งยังมีต่อไปอีกว่า เมื่อพวกมงโกลเข้าตียูนนานในปี ค.ศ. 1253 พวกไทยจึงได้แตกฉานซ่านเซ็นไป

ดังนั้นเพื่อให้ครอบคลุมทั้งทฤษฎีขัดแย้งที่กล่าวมาแล้วนี้ และทั้งสภาพแวดล้อมที่ชนชาติไทยดั้งเดิมได้พัฒนาวัฒนธรรมและสถาบันของตนมา จึงจำเป็นต้องหยิบปัญหาเรื่องอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นมาพิจารณาด้วย เพื่อจะได้สามารถสร้างภาพโลกของชนชาติไทยดั้งเดิม ในช่วงวิกฤตทางประวัติศาสตร์ของชนเผ่านี้

อาณาจักรน่านเจ้า

เหตุเพราะจีนต้องการเปิดการติดต่อค้าขายกับอินเดียทางบก จีนจึงได้เข้ายึดครองดินแดนที่ปัจจุบันนี้คือ ยูนนาน โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล สมัยราชวงศ์ฮั่นจีนได้รวมเอาแม้แต่ยูนนานตะวันตกเข้าไว้ในราชอาณาจักรด้วย พวกจีนพบว่ากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้เป็นพวก “คนมาน” (man) หลายๆ พวกอยู่รวมกัน บางพวกก็ยอมรับอารยธรรมจีนมาเป็นของตน

ตระกูลชั้นปกครองที่ยอมรับพวกจีน ตระกูลหนึ่งคือ ตระกูลตวน (Ts’uan) ซึ่งได้ทำการเกี่ยวดองกับเจ้าหน้าที่ที่จีนส่งไปปกครองดินแดนแถบนี้ ตระกูลตวนมีรกรากอยู่แถบที่เมืองต้าหลีค่อนมาทางใต้จากคุนหมิงไปจนถึงชายแดนเวียดนามปัจจุบัน และตระกูลตวนนี้ก็ได้รับสืบทอดตำแหน่งเจ้าผู้ครองดินแดน หลังจากที่ราชวงศ์ฮั่นได้เสื่อมอำนาจไปในศตวรรษที่ 3 กลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของยูนนานนั้นปรากฏว่า มีผสมกันระหว่างพวกไทยและแม้ว-เย้า (Miao-Yao) ส่วนทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของดินแดนนี้ มีพวกที่จีนเรียกว่าวู่มาน (Wu-man) หรือ “คนเถื่อนดำ” (black barbarians) เป็นพวกผิวดำ ใช้ภาษาธิเบต-พม่า ที่คล้ายคลึงกับภาษาของพวกโลโล (Lolo) และมูเซอร์ (Lahu) ที่ยังคงอยู่ในบริเวณนี้ในปัจจุบัน

พวกวู่มานในยูนนานตะวันตกนี้คือพวกที่จัดตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นในศตวรรษที่ 2

ในสมัยราชวงศ์ถังช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 7 จีนมีอำนาจครอบครองประมาณครึ่งหนึ่งของยูนนาน ดินแดนภายใต้การปกครองของจีนขยายไปทางตะวันตกจนจรดแม่น้ำโขง แต่ในช่วงครึ่งหลังจีนก็ถูกคุกคามจากพวกธิเบตที่พยายามขยายอาณาเขตมาทางชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน และเสฉวน

หลังจากปี ค.ศ. 713 พวกจีนจึงล้มเลิกความพยายามที่จะเข้ายึดครองดินแดนนี้โดยตรง แต่เปลี่ยนไปใช้วิธีเป็นพันธมิตรกับพวกผู้มีอำนาจในท้องถิ่นนั้นๆ โดยให้เจ้าหน้าที่ของจีนที่เสฉวนเป็นผู้ติดต่อ

พันธมิตรคนหนึ่งของจีนคือ พระเจ้าเผยหล่อเก้าะ (พี่ลอโกะ) เจ้าของพวกหม่งเซ (Meng-she) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในบรรดาก๊กสำคัญทั้ง 6 รอบทะเลสาบต้าลีในยูนนานตะวันตก ภายใต้การสนับสนุนของจีน เผยหล่อเก้าะได้รวบรวมดินแดนทั้ง 6 ก๊กนี้เข้าด้วยกัน ในช่วงปี ค.ศ. 730 พอถึงปี ค.ศ. 738 เผยหล่อเก้าะก็เป็นที่รู้จักในราชสำนักจีนในฐานะเจ้าแห่งยูนนาน

จีนและเจ้าทางใต้ (น่านเจ้า) นี้ ยังคงมีไมตรีกันต่อมาจนถึงช่วงปี ค.ศ. 740 แต่ต่อมาความสัมพันธ์นี้กลับเสื่อมลง ในสมัยของพระเจ้าเก้าะหล่อฟุ่งโอรสพระเจ้าเผยหล่อเก้าะ สาเหตุประการหนึ่งอาจจะมาจากการที่จีนเริ่มวิตกที่น่านเจ้ามีอำนาจในยูนนานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ที่แน่นอนคือการที่เจ้าหน้าที่ของจีนแถบชายแดนเข้ามาวุ่นวายกับกิจการภายในน่านเจ้า ระหว่างปี ค.ศ. 752 ถึง 754 จีนส่งกองทัพมาน่านเจ้าถึงสี่ครั้ง แต่ก็ถูกตีพ่ายแพ้ทุกครั้ง โดยกองทัพของพระเจ้าเก้าะหล่อฟุ่ง

ดังนั้น น่านเจ้าจึงสามารถขยายอำนาจของตนออกไปตลอดยูนนานตะวันออก และไปถึงกวางเจาตะวันตก

ตอนราชวงศ์ถังวุ่นวายอยู่กับกบฏภายใน แรงกดดันจากทางด้านจีนก็ยิ่งลดลง อาณาจักรน่านเจ้าแห่งใหม่ทางตะวันตกเฉียงใต้จึงสามารถลงรากฐานมั่นคงขึ้นได้ ตั้งเมืองหลวงใหม่อยู่ที่คุนหมิงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 764 และการบริหารราชการของน่านเจ้าได้เริ่มเป็นรูปร่างมั่นคงเต็มที่

บันทึกที่เขียนขึ้นในสมัยนั้นเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าโดยละเอียดมีชื่อว่า หมานชู (Man-Shu) (เขียนโดยเจ้าหน้าที่จีนในช่วงปี ค.ศ. 860) กล่าวถึงอาณาจักรน่านเจ้าที่มีการปกครองเป็นระเบียบแบบแผนกึ่งทหาร มีกลุ่มชนที่อยู่ภายใต้การปกครองประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ กัน กษัตริย์แห่งน่านเจ้าทรงพระราชอำนาจเหนือราชสำนักและเหนือการบริหารทั้งปวงคล้ายๆ กับการปกครองของจีน การบริหารนั้นประกอบด้วย 6 สภา ซึ่งมีฐานะเหมือนกระทรวงดูแลด้านต่างๆ กันคือ สงคราม ประชากรและเก็บส่วยสาอากร ต้อนรับแขกเมือง ลงโทษ โยธา และการประชุมต่างๆ นอกจากนี้ยังมีสภาพิเศษดูแลเกี่ยวกับการละเมิดกฎเกณฑ์ของสังคมและการวางแผนทางการทหาร

อย่างไรก็ดี ยังมีอำนาจและสถานภาพของสภาเหล่านี้ยังด้อยกว่า “ขุนทหาร 12 ท่าน” ผู้ซึ่ง “จะต้องเข้าเฝ้ากษัตริย์น่านเจ้าทุกวันเพื่อปรึกษาข้อราชการ” และข้าราชการอีก 6 ท่าน ผู้ “บริสุทธิ์ยุติธรรม” ทำหน้าที่เป็นองคมนตรีของกษัตริย์น่านเจ้า การบริหารงานเป็นไปตามลำดับ โดยมีเจ้าหน้าที่แผนกต่างๆ ขึ้นตรงต่อสภาส่วนกลางและต่อขุนทหาร การบริหารงานแบบนี้แบ่งเป็น 100 หลังคาเรือน มีหัวหน้าปกครองคนหนึ่ง ไปจนถึงข้าหลวงที่ดูแลปกครองถึง 10,000 หลังคาเรือน ข้าราชการแต่ละคนจะได้รับที่นาตามตำแหน่งของตน เจ้าบ้านชายจะต้องจ่ายภาษีเป็นข้าวทุกปีๆ ละ 2 ถัง และยังจะต้องทำหน้าที่เป็นทหารเมื่อถูกเกณฑ์ ชายฉกรรจ์มักจะใฝ่ฝันอยากเป็นทหารโดยจะมีการฝึกปรือฝีมือการต่อสู้อยู่เสมอๆ “ในยามที่มีเวลาว่างจากการทำนา” ชายหนุ่มที่สามารถผ่านการทดสอบฝีมือและความอดทนในการบังคับม้า หรือการใช้อาวุธก็จะได้เลื่อนตำแหน่งและได้รับรางวัลมากมาย ในปลายฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี สภาสงครามจะเรียกชายฉกรรจ์มาประลองฝีมือในทางการต่อสู้

ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้กองทัพน่านเจ้าคงความเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพ มีอำนาจเข้มแข็งและอยู่ในระเบียบวินัยเป็นเวลานานนับเป็นศตวรรษ

จากกลางศตวรรษที่ 8 ถึงปลายศตวรรษที่ 9 น่านเจ้ามีบทบาทสำคัญในแถบตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้ กองทัพน่านเจ้ามีอานุภาพอยู่ในอาณาจักรพยู่ (Pyu) ตอนกลางของพม่าเกือบตลอดช่วงระยะเวลานี้

นอกจากนี้ในตอนต้นศตวรรษที่ 9 น่านเจ้ายังได้เข้าโจมตีดินแดนแถบที่เป็นพม่าตอนใต้และไทยตอนเหนือในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้นน่านเจ้ายังได้จัดกองทัพไปตีเขมรของกษัตริย์เจนละ ซึ่งมีรายงานว่ากองทัพน่านเจ้าได้ไป “ไกลถึงริมฝั่งทะเล” การโจมตีนี้น่าจะเป็นในราวศตวรรษที่ 9 และระหว่างปี ค.ศ. 846 และ ค.ศ. 866 น่านเจ้าก็ได้ส่งกองทหารไปตีเมืองอันหนำ หรือตังเกี๋ยหรือญวนตอนเหนือเดี๋ยวนี้ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของจีนอยู่ในเวลานั้นด้วย

จากนั้นมาน่านเจ้าก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงซึ่ง เป็นช่วงเวลาก่อนการฟื้นฟูอำนาจของจีน ก่อนที่เวียดนามจะแยกตัวเป็นอิสระ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 939) และก่อนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางเหนือเสียใหม่

ความสำคัญของน่านเจ้าต่อประวัติศาสตร์ชนชาติไทยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวกษัตริย์น่านเจ้า ผู้ซึ่งในยุคแรกๆ นี้ไม่ได้เป็นชนชาติไทย กษัตริย์น่านเจ้าใช้ระบบการตั้งชื่อบุตรตามชื่อบิดาโดยนำพยางค์สุดท้ายของชื่อบิดามาเป็นพยางค์แรกของบุตร

ดังนั้น จึงมีชื่อกษัตริย์น่านเจ้า เช่น เผยหล่อเก้าะ เก้าะหล่อฟุ่ง ฟุ่งก๊ายี่ ยี่โหม่วฉ่ำ วิธีการตั้งชื่อเช่นนี้เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันอยู่ในหมู่เผ่าโลโล และกลุ่มที่ใช้ภาษาธิเบตพม่า แต่ไม่ได้ปฏิบัติกันในหมู่ชนชาติไทย ยิ่งไปกว่านั้นคำน่านเจ้าที่ปรากฏในฟานโช (Fan Ch’o) นั้นเป็นภาษาโลโลและไม่สามารถจะหาความเกี่ยวข้องกับภาษาไทยได้ ไม่มีตำนานหรือบันทึกเหตุการณ์เล่มใดของไทยกล่าวถึงอาณาจักรน่านเจ้าหรือแม้แต่กษัตริย์น่านเจ้า ในขณะที่หัวหน้าเผ่าโลโลในช่วงศตวรรษที่ 19 ในตอนกลางมณฑลยูนนานได้สืบสาวต้นตอบรรพบุรุษของตนไปจนถึงราชวงศ์กษัตริย์ที่ปกครองน่านเจ้า

ดังนั้นความสําคัญของอาณาจักรน่านเจ้า ต่อประวัติศาสตร์ชนชาติไทยจึงจําต้องเน้นในด้านอิทธิพลของอาณาจักรนี้ต่อชนชาติไทยที่อาศัยอยู่แถบตอนใต้และตะวันออกของอาณาจักร รวมทั้งพวกที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนด้วย

สิ่งที่เห็นชัดที่สุดจากการที่น่านเจ้ามีอำนาจขึ้นในยูนนาน คือการรวบรวมเอากลุ่มต่างๆ ในตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

การที่น่านเจ้าขยายอำนาจเข้าสู่พม่า (และอาจจะเป็นทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียด้วย) เท่ากับเป็นการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและจีนที่สำคัญพอๆ กับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจก็คือ ผลทางด้านวัฒนธรรมและวิทยาการต่างๆ น่านเจ้านับถือพุทธศาสนาเหมือนจีนราชวงศ์ถังและจีนอันหนำ น่านเจ้าจึงกลายเป็นกลไกสำคัญในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้าไปยังดินแดนที่อยู่ในอาณัติของตน รวมทั้งยังได้เผยแพร่ศิลปวิทยาการของอินเดียเข้าไปในบริเวณดินแดนเหล่านี้ด้วย

ในการที่จะประเมินผลทางการเมืองที่น่านเจ้ามีต่อชนชาติไทยในศตวรรษที่ 8 และที่ 9 นั้น เป็นเรื่องยากที่จะแยกสภาวะที่เอื้อต่อการขยายตัวของทั้งน่านเจ้าและของชนชาติไทย ออกจากสภาวะที่น่านเจ้าได้อำนวยให้ชนชาติไทยขยายตัวโดยเฉพาะ

จึงก่อให้เกิดคำถามที่ว่า การขยายตัวของน่านเจ้าและของชนชาติไทยนั้นมาจากสภาวะเงื่อนไขอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือน่านเจ้าได้ก่อให้เกิดสภาวะที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวของชนชาติไทย เรายังไม่สามารถหาคำตอบให้แก่คำถามทั้งสองนี้ได้

เท่าที่สามารถกล่าวได้ก็คือ การที่น่านเจ้าเรืองอำนาจขึ้นมาในแถบนี้นั้นทำให้กีดขวางการติดต่อโดยตรง ระหว่างดินแดนตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนในกับจีน ในขณะเดียวกันการที่น่านเจ้ามีอำนาจเหนืออาณาเขตกว้างขวางเท่ากับช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างจีนและอินเดีย และยังได้กระตุ้นให้มีการค้าขายในระหว่างดินแดนตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองอีกด้วย

ขณะที่พยายามแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หัวหน้าเผ่าต่างๆ ในบริเวณนั้น ยังต้องพยายามแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองด้วย หัวหน้าเผ่าต่างๆ เหล่านี้จะยอมเป็นเมืองขึ้น หรือเจรจาเป็นพันธมิตรกับน่านเจ้า เผ่าใดที่มีพันธมิตรหรือผู้คุ้มครองที่ทรงอำนาจเช่นนี้ก็เท่ากับได้เปรียบเผ่าอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนบ้านของตน พวกนี้ยังอาจจะลอกเลียนแบบโครงสร้างทางการบริหารหรือทางการทหารของน่านเจ้า ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นวิธีการที่ทันสมัย แม้แต่พวกเจ้าของชนชาติไทยซึ่งไม่ได้ตกอยู่ใต้อำนาจของน่านเจ้าโดยตรงก็อาจจำต้องใช้ระบบปกครองคนของตน บางที่อาจจะเป็นในลักษณะปกครองตามลำดับ สิบ-ร้อย-พัน หลังคาเรือน แบบของน่านเจ้าก็เป็นได้

น่านเจ้าอาจจะไม่ใช่อาณาจักรแรกและแน่นอนว่าไม่ใช่อาณาจักรสุดท้ายที่แทรกแซงเข้ามาในชนชาติไทย แต่อาณาจักรน่านเจ้านั้นถือว่าเป็นอาณาจักรแรกที่มีอิทธิพลต่อกิจการภายในของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นคือบริเวณที่เดี๋ยวนี้เป็นรัฐฉานของพม่าตอนเหนือของไทยและลาว และตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม แต่หลังจากยุครุ่งเรืองของอาณาจักรน่านเจ้าในศตวรรษที่ 8 และที่ 9 แล้ว อิทธิพลที่สำคัญกลับมาจากอาณาจักรยิ่งใหญ่ทางใต้

ดินแดนเอเชียอาคเนย์ ในศตวรรษที่ 9 และ 10

บันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าที่ยังคงเหลืออยู่ไม่ได้กล่าวถึงดินแดนที่จะเรียกได้ว่า เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในแถบที่ราบสูงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในศตวรรษที่ 9 และศตวรรษที่ 10 ไว้เลย

แต่บันทึกเหล่านี้ได้กล่าวถึงอาณาจักรส่วนใหญ่ที่เป็นเพื่อนบ้านและคู่แข่งทางตอนใต้ของอาณาจักรไทยในศตวรรษหลัง อาณาจักรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการก่อร่างอารยธรรมของชนชาติไทยต่อมา

ดินแดนเหล่านี้นับจากตะวันออกไปตะวันตก ได้แก่ อาณาจักรเวียดนามมีศูนย์กลางอยู่แถบลุ่มแม่น้ำแดงและดินแดนสามเหลี่ยมตอนเหนือของเวียดนาม อาณาจักรจัมปาอยู่บริเวณชายฝั่งของเวียดนามตอนกลาง อาณาจักรขอม อาณาจักรทางตอนกลางและเหนือของประเทศไทย และอาณาจักรมอญ และพยู่ (Pyu) ของพม่า

ส่วนใหญ่แล้วดินแดนเหล่านี้จะเป็นดินแดนที่หันหน้าออกสู่ทะเล อยู่รายล้อมอาณาจักรไทยที่อยู่แถบที่ราบสูงเป็นรูปวงแหวน โดยเฉพาะในตอนต้นศตวรรษที่ 9 อาณาจักรเหล่านี้ได้เรืองอำนาจขึ้นทั้งยังได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ชนชาติไทยได้เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งทางด้านชีวิตความเป็นอยู่และทางการเมืองกับอาณาจักรเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์ของเวียดนามตอนเหนือในศตวรรษที่ 10 และ 11 คงจะมีลักษณะเหมือนกับสถานการณ์ของชนชาติไทยในช่วงเวลาเดียวกัน อาณาจักรเวียดนามซึ่งเพิ่งจะเป็นอิสระจากจีนในปี ค.ศ. 939 ตั้งอยู่บนที่ราบชายฝั่งและแถบดินดอนสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแดง ล้อมรอบด้วยอาณาจักรใหญ่ๆ ทุกด้าน ทางเหนือคือจีน น่านเจ้า ทางตะวันตกเฉียงเหนือจัมปา และขอมอยู่ทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ ดินแดนทางตอนเหนือที่กั้นระหว่างเวียดนามกับอาณาจักรคู่แข่งทั้งหลายมีกลุ่มที่สาม ที่ไม่เข้าข้างใครเป็นพิเศษซึ่งมีชนชาติไทยรวมอยู่ในพวกนี้ด้วย

กษัตริย์เวียดนามได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ชนชาติไทยตระหนักถึงพลังอำนาจของเวียดนาม เพื่อชนชาติไทยจะได้ไม่ไปเข้าข้างอีกฝ่ายหรืออย่างน้อยก็ดำรงความเป็นกลางไว้ แต่พวกเวียดนามก็มิได้ประสบความสำเร็จทุกครั้งไป

ในปี ค.ศ. 1038 เจ้านุง (Nung) ใน แถบ Cao-Bang ทางเหนือสุดได้แข็งเมืองตั้งตัวเป็นอิสระขึ้น ทั้งตัวเจ้านุง และราชบุตรทำสงครามกับทั้งเวียดนามและจีนตลอดมาเป็นเวลา 15 ปี การแยกตัวเป็นอิสระนี้แสดงให้เห็นถึงรูปแบบทางการเมืองที่กลุ่มชนบนที่ราบสูงยึดปฏิบัติตามพวกเพื่อนบ้านบนที่ราบ และยังแสดงถึงว่าแม้อาณาจักรเล็กๆ ก็สามารถเป็นอันตรายต่ออาณาจักรใหญ่ๆ ได้

เวียดนามพยายามเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตกับพวกชายแดนทางเหนือ โดยใช้วิธีส่งเจ้าหญิงเวียดนามมาให้เป็นบรรณาการต่อเจ้าผู้ครองดินแดนแถบนั้น

ตอนศตวรรษที่ 9 และ 10 อาณาจักรจัมปาอยู่ในระหว่างการต่อสู้เพื่อเอกราชของตน กับอาณาจักรเพื่อนบ้านที่พยายามรุกล้ำเข้ามา ต้นศตวรรษที่ 9 อาณาจักรจัมปายังคงสามารถป้องกันอาณาจักรจีนอันหนำ (เวียดนาม) และเขมรไว้ได้ แต่ช่วงสองสามทศวรรษต่อมาจัมปาก็ต้องตั้งรับทั้งสองฝ่าย อาณาเขตของจัมปาลดลงจนเหลือแค่ชายฝั่งตอนกลางของเวียดนาม จัมปาได้มีการติดต่อทางบกกับดินแดนตอนกลางแม่น้ำโขง

ส่วนที่เป็นตอนใต้ของลาว และดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน คงจะเป็นด้วยสาเหตุการติดต่อกับดินแดนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อการค้าหรือจากการรบกัน จึงปรากฏว่ามีพวกไทยสยาม (Syam) เข้ามายังจัมปาดังที่จารึกไว้ในปี ค.ศ. 1050

ในบรรดาอาณาจักรทั้งหมดในดินแดนแถบนี้ อาณาจักรขอมซึ่งมีศูนย์กลางอยู่แถบนครวัด (Anghor) เป็นอาณาจักรที่ขยายตัวเร็วที่สุด โดยเริ่มมาแต่สมัยของพระเจ้าไชยวรมันที่ 2 ราวปี ค.ศ. 802 ตลอดช่วงระยะเวลาสองศตวรรษ พระเจ้าไชยวรมันที่ 2 และบรรดาผู้ที่สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ โดยเฉพาะพระเจ้ายศวรมันที่ 1 (ปี ค.ศ. 889-900) ได้สร้างอาณาจักรขอมให้ยิ่งใหญ่ ข่มบรรดาอาณาจักรทั้งปวง จากใจกลางของอาณาจักรซึ่งรวมแกนกลางของอาณาจักรขอมโดยมีศูนย์กลางที่ทะเลสาบหลวง (Tonle Sap) และบริเวณครึ่งทางใต้ของที่ราบสูงโคราช

อาณาจักรขอมได้ขยายออกไปทุกทาง ทางตะวันออกอาณาจักรขอมมีอำนาจเหนือที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงไปจนจรดดินแดนจามทางฝั่งเวียดนาม ทางเหนือแผ่ออกไปไกลจนถึงที่ราบเวียงจันทน์ (Vientien Plain) และบางครั้งยังมีอำนาจ (อาจจะเป็นการส่งกองทหารออกไปเป็นครั้งคราว) แผ่ออกไปจนถึงหลวงพระบาง และเชียงแสน และข้ามเชียงแสนขึ้นไปจนถึงดินแดนแถบแคว้นสิบสองปันนา

ชายแดนน่านเจ้าทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ขอมแผ่อิทธิพลครอบคลุมไปจนถึงบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างในประเทศไทย และขยายเขตแดนเข้าไปครอบครองอาณาจักรมอญหริภุญไชยใกล้เชียงใหม่ปัจจุบัน

นอกจากนี้พระเจ้ายศวรมันที่ 1 ยังได้แผ่พระราชอำนาจเข้าไปในบริเวณคาบสมุทรมลายู โดยอาจจะเป็นในลักษณะที่มีพวกขอมเข้าไปตั้งรกรากในบริเวณนั้น หรือมีกองทหารขอมที่ส่งไปประจำการแถบครหิ (Grahi) และตามพรลิงค์ (Tambralinga) ก็เป็นได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าผลจากการที่ขอมได้แผ่อำนาจออกไปดังที่กล่าวมาแล้วนี้ไม่ว่าขอมจะได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางค้าขายระหว่างดินแดนข้างในที่เป็นผู้ผลิตกับฝั่งทะเล หรือเป็นช่องทางผ่านสำหรับการค้าขายตะวันออกตะวันตกระหว่างจีนกับอินเดีย ก็เท่ากับว่าขอมได้ควบคุมช่องทางการติดต่อ และค้าขายในบริเวณใจกลางคาบสมุทรอินโดจีนเอาไว้โดยปริยาย อย่างน้อยผลจากอำนาจนี้ทำให้ขอมมีฐานะมั่นคงทั้งทางการเงิน และทางกำลังเหนือกว่าอาณาจักรคู่แข่งอื่นๆ

แถบตะวันตกในบริเวณซึ่งปัจจุบันคือประเทศพม่านั้น ไม่มีอาณาจักรใดที่มีอำนาจเด่นขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 9 และ 10 น่านเจ้าได้เริ่มลดการรุกรานด้วยกำลังทหาร ทั้งเริ่มมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 8 จนถึงกลางศตวรรษที่ 9 รัฐพยู่ (Pyu) ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองแปร (Prome) ต่อมาย้ายมาทางเมืองชเวโบ (Shwebo) ทางเหนือได้สลายตัวไป พม่าเริ่มมามีอำนาจในแถบลุ่มน้ำอิระวดีแทน

ในกลางศตวรรษที่ 9 พม่าซึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณเพาะปลูกข้าวแถบมัณฑะเลย์ (Mandalay) ได้มาตั้งรัฐใหม่มีศูนย์กลางที่เมืองพุกาม (Pagan) แถบชายฝั่งบริเวณอ่าวเมาะตะมะ รัฐมอญใหม่ได้เริ่มเรืองอำนาจขึ้นที่เมืองหงสาวดี (Pegu) ในช่วงระยะเวลาเดียวกับการรุกรานครั้งใหม่ของน่านเจ้าในราวปี ค.ศ. 835 อาณาจักรต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ในแถบนี้มิได้มีการข้องเกี่ยวกับบริเวณที่ราบสูงที่ต่อมาคือรัฐฉานแต่อย่างใด

ท้ายสุดคือ อาณาจักรน่านเจ้า การสงครามเป็นเวลานานหลายสิบปีในเขตพม่า เวียดนาม และเสฉวน สิ้นสุดลงด้วยการที่น่านเจ้าตกลงสงบศึกและทำไมตรีกับจีนในราวปี ค.ศ. 880

จากนั้นหลังกลางศตวรรษที่ 8 น่านเจ้าดูจะรวบรวมกำลังทั้งทางการทหารและทางการเมืองอยู่ภายในอาณาจักรของตนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน อาณาจักรน่านเจ้าเริ่มมีสถานภาพทางการเมืองไม่มั่นคง เห็นได้จากการเปลี่ยนกษัตริย์ถึง 13 องค์ ในช่วง 120 ปีถัดมา และไม่มีกษัตริย์องค์ใดให้ความสนใจกับดินแดนทางใต้เลย

ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9 และ 10 นี้ เราสามารถจะวาดภาพชนชาติไทยอาศัยอยู่อย่างสงบในดินแดนที่ล้อมรอบด้วยอาณาจักรสำคัญต่างๆ โดยที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในดินแดนตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่งผลไปไม่ถึง จากการที่เราทราบว่าในช่วงก่อนหน้านี้ น่านเจ้าได้ส่งกองทัพผ่านบริเวณนี้เพื่อไปโจมตีอาณาจักรพม่า อาณาจักรขอมเจนละ และเวียดนาม และเหตุเพราะมีหลักฐานแสดงว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ พวกขอมก็มีความสนใจในดินแดนบริเวณนี้เช่นกัน เราจึงสามารถสันนิษฐานได้ว่า ชนชาติไทยคงใช้ชีวิตอยู่แถบนี้โดยมิได้แยกตัวออกโดดเดี่ยวนัก ทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม เหมือนกับพวกพยู่ และพม่า

ชนชาติไทยอาจจะเข้าร่วมกับกองทัพน่านเจ้าออกไปทำสงครามในดินแดนห่างออกไป ซึ่งในกรณีเช่นนี้ชาวไทยอาจจะถูกจับเป็นเชลยหรือเป็นทาสโดยทัพฝ่ายศัตรูก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังอาจจะมีการเดินทางไปค้าขาย หรือจาริกแสวงบุญไปยังหัวเมืองไกลๆ ด้วย

ชนชาติไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังมิได้เริ่มประวัติศาสตร์ของชนชาติตนเอง ประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อไทยได้ตั้งอาณาจักรไทยของตนเองขึ้นมา

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2565

https://www.silpa-mag.com

The post กำเนิดประวัติศาสตร์ชนชาติไทย appeared first on Thailand News.