ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เปิดโฉมหน้าหน่วยประมวลข่าวสงครามเฉพาะกิจของไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เปิดโฉมหน้าหน่วยประมวลข่าวสงครามเฉพาะกิจของไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

(ซ้าย) หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ (พระยศในขณะนั้นของพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) 
ประธานกรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉิน 
(ภาพจากหนังสือ “100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์”), (ขวา) หลวงสิทธิสยามการ (สิทธิ ฮุนตระกูล) รองประธานกรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉิน 
(ภาพจากหนังสือ “สัญญาทางพระราชไมตรี ระหว่างสยามกับต่างประเทศ โดย หลวงสิทธิสยามการ”)

“กรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉิน”
เปิดโฉมหน้าหน่วยประมวลข่าวสงครามเฉพาะกิจของไทย

1 กันยายน 1939 (พ.ศ. 2482) ถือเป็นวันเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่เยอรมนีส่งกองทหารเข้ารุกรานโปแลนด์ ซึ่งดูเหมือนเยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบในการปะทะกันตามชายแดน ทำให้กองทหารโปแลนด์ต้องถอยร่น เมื่อเยอรมนีได้ละเมิดอธิปไตยของโปแลนด์ อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของโปแลนด์แสดงท่าทีไม่พอใจและประกาศสงครามกับเยอรมนี เยอรมนีจึงประกาศสงครามกลับไปยังอังกฤษและฝรั่งเศสเช่นกัน 

ต่อมาในวันที่ 2 กันยายน คณะรัฐมนตรีไทยได้ประชุมเป็นการพิเศษเพื่อทราบถึงสถานการณ์ของสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าที่อังกฤษกับฝรั่งเศสจะประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ ความรวดเร็วของไทยในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นในยุโรปเกิดจากเทคโนโลยีทางการสื่อสารอย่างวิทยุกระจายเสียง รัฐบาลและประชาชนชาวไทยจึงสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกจากการพูดคุยเรื่องสถานการณ์สงครามระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ และท่าทีของอังกฤษกับฝรั่งเศสแล้ว บทบาทของไทยในสงครามก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ แน่นอนว่าไทยได้เอาบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยยังต้องการยึดนโยบายเป็นกลางในช่วงเริ่มต้นสงคราม

นโยบายเป็นกลางของไทยในสงครามครั้งนี้มีขึ้นเพราะจากประเมินความคุ้มได้คุ้มเสียแล้ว การเข้าร่วมสงครามไม่ช่วยให้ไทยได้รับประโยชน์แต่อย่างใด การดำเนินนโยบายเป็นกลางของไทยจึงเป็นการดูท่าทีของสงคราม การสู้รบ รวมไปถึงการดูท่าทีของประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ว่ามีท่าทีอย่างไรบ้าง ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงเห็นว่า ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร เรียบเรียง และสรุปให้ได้ทราบสถานการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด เพื่อที่รัฐบาลไทยจะนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจและดำเนินการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายเป็นกลางต่อไป หน่วยงานดังกล่าวจึงได้จัดตั้งขึ้นในชื่อ “กรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉิน” บุคคลที่เข้าร่วมในกรรมการชุดดังกล่าว ได้แก่

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ1 เป็นประธานกรรมการ
หลวงสิทธิสยามการ เป็นรองประธานกรรมการ
นายตั้ว ลพานุกรม เป็นกรรมการ
ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเรือ 1 นาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบก 1 นาย เป็นกรรมการ
ผู้แทนกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการ
ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
ผู้แทนกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นกรรมการ
ผู้แทนสำนักโฆษณาการ เป็นกรรมการ2

ต่อมาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กันยายน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เพิ่มผู้แทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอากาศและผู้แทนกรมพาณิชย์เข้าร่วมกรรมการชุดนี้ด้วย3 เมื่อดูกลุ่มบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในกรรมการชุดนี้จะเห็นได้ว่ามีเจ้าหน้าที่พลเรือนมากกว่าเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างไรก็ตาม หน่วยงานเหล่านี้ถือว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งการต่างประเทศ ความมั่นคงภายใน การติดต่อสื่อสาร และการค้า การทำหน้าที่ประมวลข่าวจึงเป็นหน้าที่สำคัญที่เจ้าหน้าที่พลเรือนซึ่งมีความสามารถในด้านการต่างประเทศ การติดต่อสื่อสาร และการค้าต้องมีบทบาทร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่คอยดูแลความมั่นคงของประเทศชาติ

ในช่วงแรกของการจัดตั้งกรรมการชุดนี้ ไม่มีผู้แทนจากทหารอากาศและกรมพาณิชย์ จะเห็นได้ว่าหน่วยงานอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสองหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานราชการที่มีมายาวนาน และมีความสำคัญในการดำเนินนโยบายในช่วงสงคราม การที่เอาผู้แทนจากทหารอากาศและกรมพาณิชย์ถือเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่ที่มีต่อสงครามของรัฐบาล เพราะสงครามครั้งนี้เริ่มมีการต่อสู้ทางอากาศอย่างจริงจัง ซึ่งแตกต่างจากมหาสงครามโลกครั้งที่ผ่านมา การกระทำในสงครามได้โยงเข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างการวางทุ่นระเบิดปิดกั้นน่านน้ำและเส้นทางเดินเรือเพื่อปิดกั้นการขนส่งสิ่งของไปยังประเทศศัตรู ทำให้การขนส่งสินค้าเข้า-ออกทางเรือระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคยุโรปซึ่งเป็นตลาดสำคัญต้องหยุดชะงักในบางเส้นทาง เนื่องจากเป็นเส้นทางสู้รบทางเรือและเรือสินค้าบางลำเสียหายหรือจมลงเนื่องจากถูกทุ่นระเบิดหรือจากการโจมตีโดยเรือรบ

ขอบเขตหน้าที่ของกรรมการประมวลข่าวคือ การรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ แบ่งหมวดหมู่ เพื่อง่ายต่อการอ่าน แหล่งข่าวที่นำมาใช้ในการประมวลข่าวช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจากหนังสือพิมพ์ จากเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ และรวมถึงจากสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งของรัฐและเอกชน อำนาจของกรรมการชุดนี้จึงสามารถขอข้อมูลข่าวสารที่กระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลหลักของการประมวลข่าวมาจากวิทยุกระจายเสียง เห็นได้จากแหล่งที่มาของข่าวในเอกสารประมวลข่าวแต่ละวัน ส่วนเนื้อหาของการประมวลข่าวได้กล่าวถึงเรื่องราวของสงครามแทบทุกวัน จึงเห็นบางวันที่กล่าวถึงข่าวในวิทยุกระจายเสียงที่เกิดขึ้นในหลายวันหรืออาจกล่าวถึงเหตุการณ์สงครามในสัปดาห์นั้น ๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่าความรวดเร็วของการกระจายเสียงกับการประมวลข่าวมีความแตกต่างกัน โดยการกระจายเสียงใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการประมวลข่าว เพราะการประมวลข่าวถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ทั้งการรวบรวม ตรวจสอบความจริงเท็จของข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล รวมไปถึงการแบ่งประเภทข้อมูลจากแหล่งข่าวเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและพิจารณาของรัฐบาล ความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของวิทยุกระจายเสียง ทำให้รัฐบาลไทยสามารถรับรู้สถานการณ์สงครามที่อาจจะลุกลามมายังประเทศไทยได้

ในการประชุมกรรมการพิจารณาข่าวในยามฉุกเฉินครั้งแรก หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณในฐานะประธานกรรมการพิจารณาข่าวในยามฉุกเฉินได้ให้ข้อเสนอของหน้าที่หลักในการประมวลข่าวเอาไว้ ดังนี้

“ข่าวการเมืองนั้น สำหรับประเทศเรา เราจะต้องคอยสังเกตดูการเคลื่อนไหวของมหาประเทศ มีอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ซึ่งในตอนนี้เป็นข่าวทั่ว ๆ ไป เพราะเมื่อประกาศสงครามแล้ว ก็ไม่สู้สำคัญนัก ข่าวที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ ก็คือประเทศที่เป็นกลางมีท่วงทีอย่างไรบ้าง เช่น สหปาลีรัฐอเมริกา และประเทศเล็ก ๆ เช่น ประเทศหมู่ออสโล เป็นต้น นอกจากทางยุโรป ต้องดูข่าวทางตะวันออกไกลด้วย เช่น ญี่ปุ่น ต้องถือว่าสำคัญมาก ควรจะดูการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นว่ามีท่วงทีอย่างไรกับรัสเซีย และมีท่วงทีอย่างไรกับอังกฤษ ส่วนการเคลื่อนไหวกับจีนนั้น ก็ควรจะอยู่ในข่าวเหมือนกัน แต่ไม่สู้สำคัญนัก หน้าที่นี้เป็นของกระทรวงการต่างประเทศ”4

จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากประเทศที่ทำสงครามต่อกันอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี การประมวลข่าวสงครามของไทยยังให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเทศที่เป็นกลางด้วย ซึ่งอิตาลีและญี่ปุ่นก็ยังถือว่าเป็นประเทศเป็นกลางในช่วง พ.ศ. 2482-2483 ด้วย โดยความน่าสนใจของกลุ่มประเทศเป็นกลางในยุโรป คือ การต่อต้านการจำกัดเขตเดินเรือของรัฐบาลอังกฤษ เพราะเห็นว่าเป็นการขัดขวางสิทธิในการเดินเรือของประเทศที่เป็นกลาง แม้ว่าทางอังกฤษได้ชี้แจงไปว่า ที่ต้องดำเนินการจำกัดเขตเพราะการวางทุ่นระเบิดอย่างไร้ขีดจำกัดของเยอรมนี จึงเห็นได้ว่าช่วงก่อน พ.ศ. 2483 ประเทศเป็นกลางส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงภัยคุกคามของเยอรมนีในสงคราม และยังคงดำเนินนโยบายเป็นกลางแบบเคร่งครัดและไม่ลำเอียง ไม่ถึงขนาดที่เป็นประเทศเป็นกลางแบบเตรียมรบ ยกเว้นเพียงโปแลนด์และฟินแลนด์ที่ถูกกองทัพเยอรมันและโซเวียตเข้ารุกรานใน พ.ศ. 2482

บุคคลที่อยู่ในกรรมการพิจารณาข่าวในยามฉุกเฉินต่างมีความสามารถและหน้าที่ที่หลากหลายกันไป แต่ข้อสังเกตคือ การที่ข่าวสงครามอันเป็นข้อมูลหลักที่จะนำมาประมวลข่าวมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทมากที่สุดคือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่มีบุคคลที่มีความสามารถรู้ในหลายภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน ญี่ปุ่น จีน ฉะนั้น บุคคลสำคัญที่ดำรงตำแหน่งประธานและรองประธานของกรรมการชุดนี้อย่าง หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณและหลวงสิทธิสยามการก็มีความสามารถและเคยหรือได้ทำหน้าที่ในด้านการต่างประเทศ

ในตอนนั้นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงเป็นที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีทางด้านการต่างประเทศ หลวงสิทธิสยามการยังอยู่ในตำแหน่งรักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนผู้แทนที่เข้าร่วมกรรมการพิจารณาข่าวต่างเป็นข้าราชการระดับสูง เช่น รัฐมนตรี รองปลัดกระทรวง ที่ปรึกษารัฐมนตรี และผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิทยาการตามหน่วยงานที่ตนรับผิดชอบ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประมวลข่าวที่ต้องดำเนินการโดยคนที่มีความรู้ เข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อรายละเอียดของข้อมูลข่าวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของแต่ละคน

และเมื่อโปแลนด์ถูกแบ่งประเทศโดยเยอรมนีและสภาพโซเวียต และการเจรจาสงบศึกระหว่างสหภาพโซเวียตกับฟินแลนด์ ดูเหมือนว่าสถานการณ์การสู้รบในภูมิภาคยุโรปมีท่าทีไม่รุนแรงและดูเหมือนจะผ่อนคลายมากขึ้น แม้ว่าจะมีการปะทะกันทางบก เรือ และอากาศอย่างประปรายระหว่างกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสกับกองทัพเยอรมนีอยู่บ้าง แต่ประเทศเป็นกลาง เช่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก นอร์เวย์ ยังไม่รู้สึกหรือต้องเผชิญกับภัยคุกคามในช่วงสงคราม ถือเป็นสถานการณ์สงครามที่ไม่มีทีท่าว่าจะรุนแรงและลุกลามจนกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่เหมือนกับมหาสงครามในช่วง ค.ศ. 1914-1918 ด้วยเหตุดังกล่าว คณะรัฐมนตรีไทยจึงมีมติยุบกรรมการพิจารณาประมวลข่าวในยามฉุกเฉินในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 24835 แล้วมอบหมายให้กรมโฆษณาการทำหน้าที่รวบรวมและประมวลข่าวสงครามต่อไป6

เชิงอรรถ :

1 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. 0201.33.1/2 เอกสารสำนักนายกรัฐมนตรี กองกลางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สงครามโลกครั้งที่ 2 ประมวลข่าว เรื่อง กรรมการพิจารณาข่าวในยามฉุกเฉิน หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการสงครามให้กรมโฆษณาการ จัดการรวบรวม (พ.ศ. 2482). แผ่น 3.

3 ฉบับเดียวกัน. แผ่น 46.

4 ฉบับเดียวกัน. แผ่น 48.

5 หากนับตามวันขึ้นปีใหม่เดิม ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน จะถือว่าเป็นเดือนมกราคม พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นพุทธศักราชที่ปรากฏในเอกสารของมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุบคณะกรรมการพิจารณาข่าว

ฉบับเดียวกัน. แผ่น 74.

อ้างอิง :

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. 0201.33.1/2 กล่อง 1 กรรมการพิจารณาข่าวในยามฉุกเฉิน หรือให้ส่ง เอกสารเกี่ยวกับการสงครามให้กรมโฆษณาการ จัดการรวบรวม (พ.ศ. 2482)

100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์. คณะอนุกรรมการอำนวยการจัดทำเอกสาร สิ่งพิมพ์และหนังสือที่ระลึก ในคณะกรรมการอำนวยการโครงการฉลอง 100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, 2534

สัญญาทางพระราชไมตรี ระหว่างสยามกับต่างประเทศ โดย หลวงสิทธิสยามการ. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงสิทธิสยามการ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 10 พฤษภาคม 2506

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กันยายน 2562

https://www.silpa-mag.com

The post เปิดโฉมหน้าหน่วยประมวลข่าวสงครามเฉพาะกิจของไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 appeared first on Thailand News.