ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เจนละ-แตก แยกเป็น 2 แคว้น

เจนละ-แตก แยกเป็น 2 แคว้น

รัชกาลพระเจ้าภววรมัน
เจนละเป็นประเทศราชของอาณาจักรฟูนัน

กษัตริย์องค์หนึ่งซึ่งสืบเชื้อสายมาจากฤาษีกัมพูซึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าเศรษฐวรมัน ทรงเป็นปฏิปักษ์แก่อาณาจักรฟูนัน

ในครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 12 มีเจ้าหญิงในพระราชวงศ์องค์หนึ่งทรงเสกสมรสกับเจ้าชายฟูนันที่ทรงพระนามว่า พระเจ้าภววรมัน เจ้าชายองค์นี้ทรงยึดอำนาจและเริ่มต้นปราบปรามอาณาจักรฟูนันโดยความช่วยเหลือจากพระเชษฐาคือ เจ้าชายจิตรเสน

ภายใต้รัชกาลของพระเจ้าภววรมันนี้ อาณาจักรเจนละได้แผ่ขยายอาณาเขตไปทางใต้บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง

รัชกาลพระเจ้ามเหนทรวรมัน
พระเจ้าภววรมันสิ้นพระชนม์โดยมิทรงมีรัชทายาท ดังนั้นพระเชษฐาของพระเจ้าภววรมัน คือเจ้าชายจิตรเสน จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติในราว พ.ศ. 1145 ในพระนาม พระเจ้ามเหนทรวรมัน พระองค์ทรงดำเนินพระราโชบายและพระราชกิจที่ริเริ่มมาแต่รัชกาลก่อนต่อไป กับทั้งทรงผนวกดินแดนเมืองกระเตี้ย, มงคลบุรีและบุรีรัมย์ ทรงส่งราชทูตไปยังอาณาจักรจัมปาเพื่อสันถวไมตรีอันดี อย่างไรก็ดี ภายหลังจากพระเจ้ามเหนทรวรมันสิ้นพระชนม์ (ในช่วงรัชกาลอันสั้น) ก็ทรงทิ้งราชอาณาจักรซึ่งมีความมั่นคงไว้ให้แก่พระราชโอรสของพระองค์

รัชกาลพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1
พระเจ้าอีศานวรมัน ซึ่งทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1159 – พ.ศ. 1179 ทรงประสบความสำเร็จในการครอบครองอาณาจักรฟูนัน ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นโดยพระเจ้าภววรมัน พระปิตุลา และพระเจ้ามเหนทรวรมัน พระราชบิดาของพระองค์ ศิลาจารึกได้กล่าวถึงความสำเร็จดังกล่าว โดยได้พบศิลาจารึก ณ ไพรเวง ตาแก้ว และจันทบุรีในดินแดนประเทศไทย

พระองค์ทรงสถาปนาราชธานี ณ สมโบร์ไพรกุกทางทิศเหนือของกำปงธม กับทั้งได้ตั้งมั่นพระราชอำนาจในบริเวณริมทะเลสาบใหญ่ ซึ่งจะเป็นสถานที่ซึ่งพระราชอำนาจของกษัตริย์เขมรจะดำรงอยู่เป็นเวลาช้านาน

ในราชธานีที่กว้างใหญ่แห่งนี้ได้โปรดให้สร้างศาสนสถานก่อด้วยอิฐ โดยสถาปัตยกรรมดังกล่าวคล้ายคลึงเป็นอย่างมากกับต้นแบบของเทวาลัยในศาสนาฮินดู แต่ปรากฏว่าประติมากรรม ซึ่งได้ค้นพบในบริเวณนี้ อาทิ พระหริหระและรูปพระอุมาจากสมโบร์ไพรกุก แสดงให้เห็นว่า ประติมากรได้สร้างงานซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองและทรงมหิทธานุภาพ

พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ทรงนำราชอาณาจักรของพระองค์และทรงดำเนินสัมพันธไมตรีอันดีกับประเทศจีนและอาณาจักรจัมปา ด้วยการแลกเปลี่ยนคณะทูตระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

พระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 ทรงมีชัยชนะอย่างรวดเร็ว ประกอบกับแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่ทรงครอบครองมิได้รวมกันเป็นอย่างดี พระองค์ยังคงรักษาการปกครองแบบศักดินาของฟูนัน แต่ขณะเดียวกันประเทศราชทั้งหลายก็ยังค่อนข้างวุ่นวายสับสน

เนื่องจากพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 มิทรงมีโอรส ด้วยเหตุนั้นเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว จึงได้บังเกิดความยุ่งยากตามมา ในท้ายที่สุดพระเจ้าภววรมันที่ 2 ซึ่งคงเป็นผู้แย่งราชสมบัติและในรัชกาลใหม่นี้เป็นระยะเวลาแห่งความมืดมน

รัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 1
พระเจ้าภววรมันที่ 2 ทรงได้ตรากฎหมายแห่งการสืบราชสมบัติ จึงทำให้พระโอรสคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ได้เสด็จขึ้นเสวยราชย์ได้อย่างราบรื่นจนสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 1224

พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ทรงตั้งราชธานี ณ เมืองพระนครบุรี (Angkor Borei) บริเวณจังหวัดตาแก้วในปัจจุบัน พระองค์ยังคงรักษาไมตรีอันดีกับประเทศจีน เช่นเดียวกับที่ราชบูรพการีได้ทรงกระทำมาแล้ว ด้วยการส่งคณะทูตไปยังราชสำนักของพระจักรพรรดิเกาจง (Kao-Tsong) แห่งราชวงศ์ถัง

พระเจ้าชัยวรมันที่ 1 สิ้นพระชนม์โดยมิได้ทรงมีรัชทายาท ดังนั้น พระนางชัยเทวี พระชายาม่ายจึงพยายามจะดำเนินตามพระราโชบายแห่งพระสวามี แต่ทว่าการปกครองราชอาณาจักรที่กว้างใหญ่เป็นสิ่งที่พ้นวิสัยของราชนารี แม้ว่าพระนางจะทรงพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ด้วยเหตุนั้นอาณาจักรเจนละจึงแตกแยกออกเป็นสองแคว้นด้วยกัน อันได้แก่

ทางทิศเหนือคือ เจนละบก ซึ่งตรงกับบริเวณที่ตั้งดั้งเดิมของอาณาจักรเจนละ

ทางทิศใต้คือ เจนละน้ำ คือบริเวณที่เป็นที่ตั้งของอาณาจักรฟูนันโบราณนั่นเอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/

The post เจนละ-แตก แยกเป็น 2 แคว้น appeared first on Thailand News.