ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ลาออก! เหตุไม่พอใจได้เงินเดือน ส.ส. เพิ่ม?

คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ลาออก! เหตุไม่พอใจได้เงินเดือน ส.ส. เพิ่ม?

img class=”aligncenter” src=”https://www.silpa-mag.com/wp-content/uploads/2019/05/%E0%B8%A0%E0%B8%9B-%E0%B8%84%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%8A-696×364.jpg” />

ภาพจาก มติชนออนไลน์

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยื่น “ลาออก” เพราะไม่พอใจที่รัฐสภาได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2491 อันมีผลให้ ส.ส. ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นนั้น คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แทนจังหวัดพระนคร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ ร้อยโทสัมพันธ์ ขันธะชวนะ ผู้แทนจังหวัดนครราชสีมา ไม่สังกัดพรรคการเมือง

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีนั้นจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นผู้พิจารณาก่อนจะมีการพิจารณาขั้นถัดไปในการประชุมสภาผู้แทนฯ โดยมีการประชุมสภาผู้แทนฯ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) วันที่ 16-17 กันยายน พ.ศ. 2491 (ครั้งที่ 26-27/2491 ตามลำดับ)

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังกล่าวได้มีรายการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษของ ส.ส. และในท้ายที่สุดสภาผู้แทนฯ ให้การเห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2491 มีผลให้ขึ้นเงินเดือนประจำตำแหน่ง ส.ส. เป็นจำนวน 1,000 บาท

โดยเหตุที่ทั้งสองท่านยื่นลาออกนั้นมีปรากฏหลักฐานในบันทึกการประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 28/2491 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2491

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้เหตุผลในหนังสือลาออก ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2491 ว่า “ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่สมาชิกสภานั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าไม่อยู่ในฐานะที่จะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าด้วยความไว้วางใจจากประชาชนโดยเฉพาะในเขตต์เลือกตั้งของข้าพเจ้าอีกต่อไป จึงขอลาออกจากสมาชิกภาพตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป”

ขณะที่ ร้อยโทสัมพันธ์ ขันธะชวนะ ให้เหตุผลว่า “เนื่องจากข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวมิสามารถที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามอุดมคติในฐานะผู้แทนที่ได้รับปากประชาชนมาได้ จึงขอลาออกแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ในช่วงท้ายการประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 28/2491 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2491 ที่ให้การรับรองพระราชบัญญัติงบประมาณไปแล้วนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายถึงข้อสงสัยของ ส.ส. หลายคน เนื่องจากรัฐบาลถูกเพ่งเล็งว่าเป็นผู้ผลักดันเรื่องขึ้นเงินเดือนให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

จอมพล ป. อภิปรายว่าการขึ้นเงินเดือนนี้เป็นเรื่องสมควรและเหมาะสมตามกาลสมัย และได้ยกเหตุผลส่วนตัวว่า ตนนั้นเคยเป็น ส.ส. มาก่อน เคยได้เงินเดือน ส.ส. จากแค่ 100 บาท 200 บาท และปัจจุบันก็ขึ้นมาเพียงแค่ 350 บาท ซึ่งมิได้มากพอต่อการใช้จ่ายที่ ส.ส. จำเป็นต้องใช้ในการลงพื้นที่ไปดูแลประชาชน อีกทั้งยังเห็นว่าตำแหน่ง ส.ส. เป็นตำแหน่งที่ทำงานแก่บ้านเมือง ควรได้รับเงินเดือนที่สมฐานะและภาระที่เข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชน

จอมพล ป. ระบุว่าการขึ้นเงินเดือนเป็นเสมือนการ “เขยิบ” สถานะของ ส.ส. ให้สูงขึ้น ดังความอภิปรายในสภาผู้แทนฯ ว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นในการที่จะได้เลื่อนฐานะในเรื่องค่าใช้จ่ายให้เพื่อให้สมกับตำแหน่งซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูง”

ต่อมาไม่นาน จอมพล ป. ได้แต่งตั้งให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491

ครั้นเมื่อเปิดการประชุมสภาผู้แทนฯ (วิสามัญ) ครั้งที่ 6/2491 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2491 มี ส.ส. หลายคนทักท้วงกรณีของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ โดยผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้คือ นายบุญคุ้ม จันทรศรีสุริยวงศ์ ผู้แทนจังหวัดอุดรธานี โดยท่านกล่าวว่าไม่ได้ข้องใจเรื่องความสามารถของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ แต่ข้องใจส่วนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยตำหนิติเตียน ส.ส. ในสภาผู้แทนฯ และเคยกล่าวว่าจะไม่มาร่วมสังฆกรรมด้วย ซึ่งท่านก็ลาออกไปเพราะเรื่องขึ้นเงินเดือน แต่กลับมารับตำแหน่ง รมช. ในคณะรัฐบาลที่ผลักดันให้มีการขึ้นเงินเดือน ซึ่งดูเป็นเรื่อง “ย้อนแย้ง”

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์จึงอภิปรายต่อสภาว่า ยังคงยืนยันเหตุผลไปตามหนังสือลาออกที่ไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ด้วยความไว้วางใจของประชาชนในเขตที่ตนได้รับเลือกเข้ามา และที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง รมช. นี้เพราะนายกรัฐมนตรีทาบทามเนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความสามารถที่จะทำงานช่วยเหลือบ้านเมืองได้ จึงยอมกลับเข้ามาทำงานในฐานะรัฐมนตรี

หม่อมเจ้านิตยากร วรวรรณ ผู้แทนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขัดข้องใจเรื่องของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เช่นกัน กล่าวกลางที่ประชุมสภาผู้แทนว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าบุคคลนี้ [หมายถึงหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์] ไม่ใช่แต่ตัวข้าพเจ้าและสมาชิกคนสองคน ข้าพเจ้านึกว่าในที่นี้แทบทุกคนข้องใจเหลือสติกำลัง” และทิ้งท้ายให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ควรพิจารณาตัวเอง

จอมพล ป. จึงอภิปรายต่อสภาผู้แทนฯ ออกมาป้องแทนหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ว่าที่แต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลเพราะเห็นว่าหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เป็นคนมีความสามารถและทำไปเพื่อมุ่งประโยชน์แก่บ้านเมือง

นายล้วน เวชาลิกานน ผู้แทนจังหวัดนครปฐม ก็มีความขัดข้องใจไม่หายและรู้สึกไม่พอใจตั้งแต่ครั้งประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งก่อนที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยกล่าวว่าจะไม่ร่วมทำสังฆกรรมในสภาผู้แทนฯ แห่งนี้คือการเหยียดหยันต่อ ส.ส. ด้วยกันเอง นายล้วนได้กล่าวว่า “ท่าน [หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์] พูดยังไม่เกินขวบปีแล้วกลับมาอย่างนี้ จะทำให้เราเชื่อถือกันได้อย่างไร” และได้เสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

นายเกษม บุญศรี ประธานสภาผู้แทนฯ พยายามระงับการโต้เถียงเรื่องนี้ไม่ให้เลยเถิด เนื่องจากการเปิดประชุมวันนี้เพื่อรับทราบพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม และเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่นี้อยู่นอกเหนือวาระไปไกล แม้จะพยายามระงับมิให้วุ่นวาย แต่ก็มี ส.ส. อีกหลายคนที่ไม่ยอมจบประเด็นนี้ รวมถึงนายฉ่ำ จำรัสเนตร ผู้แทนจังหวัดนครศรีธรรมราช

ครูฉ่ำ ส.ส.ที่ถูกหลายคนหาว่า “บ้า” (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2529)

นายฉ่ำได้พยายามวิงวอนของร้องต่อประธานสภาผู้แทนฯ ให้ได้พูดเรื่องนี้กันต่อไป แต่ประธานสภาไม่ยินยอม นายฉ่ำจึงลุกขึ้นเดินและยังคงไม่ยอมหยุดอภิปราย ไม่ยอมนั่งอยู่กับที่ตามที่ประธานสภาผู้แทนฯ สั่ง จนเป็นเหตุโกลาหล ถึงกับประธานสภาผู้แทนฯ ต้องเรียกตำรวจมาจับตัวออกไปจากที่ประชุม

นายฉ่ำกล่าวว่า “ไม่ได้ จับไม่ได้ เราเป็นผู้แทนแห่งประเทศไทย เราต้องขอพูด เราไม่ยอม เราต้องขอพูด ทำเราดี ๆ ขอพูดสัก 3 วินาที นี่ตำรวจทำกับผู้แทน 18 ล้านคน ดูซิ ดูทำกับข้าพเจ้า ทำอย่างนี้ไม่ได้ท่านประธาน” เมื่อระงับเหตุได้แล้ว ประธานสภาผู้แทนฯ จึงดำเนินการประชุมวาระอื่นต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตุว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เป็น 1 ใน 15 คนในคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนั้นที่มีการพิจารณาเรื่องการขึ้นเงินเดือน และเมื่อได้มาดำรงตำแหน่ง รมช. ซึ่งเป็นตำแหน่งมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2,500 บาท มากกว่าเงินเดือน ส.ส. ก่อนปรับหลายเท่าตัวเสียอีก

เมื่อได้รับแรงกดดันมาก ๆ เข้า ในที่สุดหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ จึงลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม ปีถัดมา ดำรงอยู่ในตำแหน่งเดือนเศษเท่านั้น

อ้างอิง:

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์.  (2517).  รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517).  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ช. ชุมนุมช่าง

การประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 26/2491 วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php

การประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 27/2491 วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php

การประชุมสภาผู้แทนฯ (สามัญ) ครั้งที่ 28/2491 วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php

การประชุมสภาผู้แทนฯ (วิสามัญ) ครั้งที่ 6/2491 วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2491, จาก http://msbis.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parliament_report/main_warehouse_dll.php

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 5 มิถุนายน 2562

The post คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ลาออก! เหตุไม่พอใจได้เงินเดือน ส.ส. เพิ่ม? appeared first on Thailand News.