ประวัติศาสตร์การนั่งจากกรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ คนไทยนั่งกันท่าไหน
สตรีชั้นสูงนั่งบนตั่ง ขณะที่บริวารนั่งบนพื้น ถ่ายราวยุค 2410 (ANP-0002-123 ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
“การนั่ง” เป็นหนึ่งในอริยาบถสุดเบสิกมนุษย์เราในปัจจุบันคุ้นเคยกันจนคิดว่าเป็นกิริยาอาการแสนสามัญธรรมดาแต่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่คนสมัยอยุธยาคิด
เมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสเดินทางมาถึงอยุธยา ราว 3 เดือนที่พำนักอยู่ดินแดนที่ไม่คุ้นเคยเขาได้บันทึกเรื่องราวหลายแง่มุมที่ประสบพบเจอในสยามอย่างละเอียด บันทึกเล่มนี้ได้กลายเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์อันประมินค่ามิได้กาลต่อมา
มีหัวข้อหนึ่งที่สะดุดใจเป็นพิเศษคือ ข้อสังเกตของเดอ ลา ลูแบร์ที่ว่า “ชาวสยามนั่งอย่างไร” ชวนให้ฉงนว่าชาวสยามนั่งไม่เหมือนคนชาติอื่นหรือ ซึ่งราชทูตฝรั่งเศสอธิบายเรื่องนี้ว่า
“ชาวสยามนั่งอย่างไร
กิริยาอย่างเรียบร้อยที่ชาวสยามใช้ในการนั่งนั้น ก็เหมือนกับการนั่งแบบชาวสเปญ กล่าวคือขัดสมาธิและเขามีความชินกับการนั่งแบบนี้ แม้จะมีผู้นำเก้าอี้มาให้นั่ง เขาก็จะนั่งในท่านั้นโดยมีพักที่จะเปลี่ยนเป็นท่าอื่น (คือคงนั่งขัดสมาธิบนเก้าอี้หาได้ห้อยเท้าลงไม่)”
อีกตอนหนึ่ง ราชทูตฝรั่งเศสท่านนี้สาธยายถึงเครื่องเรือนของชาวสยามว่า “เขาไม่ใช้เก้าอี้ หากแต่นั่งกันบนเสื่อกกซึ่งสานละเอียดหรือหยาบๆ ต่างๆ กัน”
ข้อเขียนเหล่านี้ช่วยให้เราตะหนักว่า ชาวอยุธยาไม่เคยชินกับการนั่งเก้าอี้ และเก้าอี้ก็มิได้เป็นสิ่งสามัญในอยุธยา ด้วยเป็นเครื่องเรือนนำเข้ามาจากชาติอื่น หนังสืออภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ (พ.ศ. 2540) โดยกรมศิลปากร อธิบายเรื่องนี้ว่า คำว่า “เก้าอี้” มีที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลความตามตัวอักษรได้ว่า “ที่นั่งสูง”
ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวงเล่าถึงย่านตลาดในอยุธยาไว้ว่า
“ถนนย่านสามม้าตั้งแต่เชิงตะเภาในไก่กระวันออกไปจดถึงหัวมุมพระนครที่ชื่อหัวสาระภานั้น จีนตั้งโรงทำเครื่องจันอับแลขนมแห้งต่างต่างหลายชนิดหลายอย่าง แลช่างจีนทำโต๊ะเตียงตู้เก้าอี้น้อยใหญ่ต่างต่างขายต่อไป”
ทั้งนี้ สาเหตุที่เก้าอี้ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยคุ้นเคยกับการนั่งบนพื้นเป็นหลัก เก้าอี้หรือที่นั่งจึงมิได้เป็นของที่มีอยู่ในบ้านเรือนทั่วไป ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้มีอำนาจในสังคมที่ดูจะมีสิทธิพิเศษในการวางก้นให้อยู่บนระนาบที่สูงขึ้นมาจากพื้น เพื่อเป็นการประกาศยศถาบรรดาศักดิ์เหนือผู้อื่น ดังเช่นพระมหากษัตริย์ เจ้านาย หรือพระสงฆ์ในอดีต ที่จะนั่งบนแท่น ตั่ง หรืออาสน์ในที่ประชุมชน
แต่ก็ใช่ว่าบุคคลสำคัญจะต้องนั่งอยู่บนที่นั่งสำคัญเสมอไป
ผู้คนทุกชนชั้นรวมไปถึงชนชั้นนำในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อไม่ได้อยู่ท่ามกลางประชุมชนที่เป็นทางการก็ยังคุ้นชินกับการนั่งพื้น หนังสือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับวังท่าพระ กล่าวถึงเรื่องเล่าที่ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ประทับ ณ วังท่าพระ มักจะเสด็จออกทรงงานที่ท้องพระโรง โดยประทับกับพื้นและพิงเสาแถวแรกต้นที่สองจากขวามืออยู่เป็นประจำ เสาต้นนี้ยังคงผูกผ้าสามสีและปิดทองบูชาเป็นสัญลักษณ์จนมาถึงทุกวันนี้
เมื่อสยามเปิดรับอารยธรรมตะวันตกอย่างเต็มรูปแบบในสมัยรัชกาลที่ 4 โฉมหน้าของการนั่งพื้นก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะถูกมองด้วยโลกทัศน์แบบตะวันตกว่าเป็นการกระทำอันล้าหลังและไม่ถูกสุขอนามัย ชนชั้นนำสยามต้องปรับปรุงบ้านขนานใหญ่ โดยการนำเข้าเครื่องเรือนแบบตะวันตกมาเป็นเครื่องใช้และเครื่องโชว์เวลาเดียวกัน
เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษเดินทางมาถึงสยามเมื่อ พ.ศ. 2397 ได้เล่าถึงบรรยากาศตกแต่งพระราชวังไว้ในบันทึกการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
“เจ้าพนักงานได้พาไปยังที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่วังหน้า สำหรับทรงรับพรพวกพระสงฆ์ ในที่นี้ได้จัดโต๊ะสำหรับเลี้ยงอาหารกลางวันไว้อย่างพร้อมสรรพอย่างโต๊ะเลี้ยงอาหารฝรั่ง…ห้องที่ประทับดีเหมาะสมและตกแต่งเข้าทีดี”
จนทำให้ท่านเซอร์สรุปได้ว่า “เกือบจะทำให้เชื่อว่าเข้าไปอยู่ในบ้านผู้ดีฝรั่ง”
ล่วงเข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การรับวัฒนธรรมตะวันตกยิ่งเข้มข้นขึ้น พระราชกรณียกิจแรกสุดของพระองค์ที่เกิดขึ้นทันทีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2416 คือมีพระราชดำรัสยกเลิกธรรมเนียมการหมอบคลานกับพื้น โดยเปลี่ยนให้ผู้เข้าเฝ้าฯ ยืนเฝ้าฯ แทน ด้วยมีพระราชดำริว่า
“การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระราชดำริจะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นทรงบรรยายไว้ในพระนิพนธ์ประชุมละคอนดึกดำบรรพ์ ว่า
“พออาลักษณ์อ่านประกาศจบ เหล่าข้าเฝ้านับแต่กรมพระราชวังบวรฯ เป็นต้น บรรดาที่หมอบอยู่เต็มทั้งท้องพระโรงก็ลุกขึ้นยืนถวายคำนับพร้อมกันดูเหมือนกับเปลี่ยนฉากรูปภาพอย่างหนึ่งเป็นอย่างอื่นๆ ไปในทันทีอย่างน่าพิศวงอย่างยิ่ง”
ใน “ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่” ที่ออกในปีเดียวกันนั้นก็สั่งห้ามมิให้ผู้เข้าเฝ้าฯ นั่งลงพื้นอีกเป็นอันขาดโดยมีเนื้อความว่า
“พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ผู้น้อยผู้ใหญ่ทั้งปวง ที่ได้มายืนเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกอยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานเก้าอี้ให้นั่งจึงนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้น”
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสรุปไว้ว่า “ก็เป็นอันเพิกถอนระเบียบการเข้าเฝ้าอย่างเก่าซึ่งเคยใช้มาหลายร้อยปี”
สิ่งที่รัชกาลที่ 5 ทรงกระทำในครั้งนั้น เสมือนการประกาศการเข้าสู่โลกยุคใหม่ของสยามอย่างเป็นทางการ แน่นอนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ย่อมมิได้ง่ายดายเพียงดีดนิ้ว ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมไทย เล่มที่ 3 ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2525) โดยกรมศิลปากรเล่าว่า
“เมื่อราชสำนักเลิกหมอบเฝ้าแลใช้เก้าอี้ในระยะแรกๆ คนไทยยังคงนั่งเก้าอี้ไม่เป็น ผู้หญิงขึ้นไปนั่งพับเพียบ ส่วนชายนั่งสมาธิบนเก้าอี้ จนรัชกาลที่ 5 ต้องมีพระบรมราชโองการแนะนำวิธีการนั่งเก้าอี้ โดยใช้วิธีหย่อนก้นเท่านั้นลงบนเก้าอี้ส่วนขาให้ห้อยลงไป”
หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก นักรบ มูลมานัส. เล่นแร่แปลภาพ ประวัติศาสตร์สยามจากเบื้องหลังภาพถ่าย, สำนักพิมพ์มติชน, พิพม์ครั้งแรก มีนาคม 2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2565
The post ประวัติศาสตร์การนั่งจากกรุงศรีฯ-กรุงเทพฯ คนไทยนั่งกันท่าไหน appeared first on Thailand News.