ภาพเขียนสีที่เพิงผา “ตอแล” ภูเขายะลา ถึงภาพใน “ถ้ำศิลปะ” กับข้อมูลเมื่อแรกเริ่มค้นพบ
(ซ้าย) ภาพมุมสูงเมืองยะลา เมื่อราวปี พ.ศ. 2547 (ขวาบน-ล่าง) ภาพเขียนสีที่เพิ่งผา “ตอแล” จ.ยะลา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม เม.ย. 2542)
“ตอแล” หรือ “ตอหลัง” เป็นเพิงผาหนึ่งของภูเขายะลา อยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านกูเบ ตําบลยะลา อําเภอเมือง จังหวัดยะลา พื้นที่อยู่สูงจากพื้นราบประมาณ 50-60 เมตร มองจากตีนเขาขึ้นไปสามารถเห็นได้ชัดเจน เป็นเพิงผาที่มีพื้นราบกว้างประมาณ 10-12 เมตร ยาวประมาณ 18-20 เมตร
ด้านหนึ่งจดหน้าผาสูงชัน และอีกด้านหนึ่งจดผนังหินปูน การเดินทางขึ้นสู่เพิ่งผา “ตอแล” ไม่ยากมากนัก ใช้ช่องทางเดินในป่าที่ไม่รกไต่ขึ้นไปจนถึงเพิงผา จุดนี้เองจะพบภาพเขียนสีแห่งใหม่
ผู้เขียนบทความเชื่อว่า ชาวบ้านละแวกนี้รับรู้ถึงภาพเขียนสีที่นี่มานับหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ไม่ได้สนใจและไม่รู้ว่าภาพเหล่านี้คืออะไร แต่ในพื้นที่มีนิทานเกี่ยวกับสถานที่นี้ อาจเป็นเพราะภาพเหล่านี้ไม่ได้เป็นรูปภาพจําพวกสัตว์ คนหรือสิ่งของ แต่เป็นเพียงภาพเขียนที่ไม่อาจสื่อความหมายใด ๆ กับคนในปัจจุบันได้
นิทานที่ว่านั้น ผู้เขียนบทความเล่าไว้ว่า “ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีพญาครุฑตนหนึ่งเป็นผู้ปกครอง ชาวบ้านจําต้องส่งลูกสาวให้เป็นเครื่องบรรณาการแก่พญาครุฑคนนี้เป็นประจํา มิฉะนั้นจะถูกลงโทษหรือเกิดภยันตรายได้ สถานที่ที่ใช้เป็นที่มอบลูกสาวแก่พญาครุฑนั้น เรียกกันว่า “ตอแล” หรือ “ที่ราบสําหรับบวงสรวง”
ผนังเพิงผาในพื้นที่มีผิวค่อนข้างเรียบ มีพื้นราบที่สามารถใช้ประกอบพิธีกรรมได้ อีกทั้งเป็นบริเวณที่มีทิวทัศน์งดงาม มีแสงสว่าง ไม่อับลมและอยู่ใกล้แหล่งน้ำบริเวณรอบภูเขา ด้วยสภาพที่เหมาะสมนี้จึงน่าจะทําให้กลุ่มชนยุคสังคมล่าสัตว์เลือก “ตอแล” เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมและเขียนภาพ
ชาญณรงค์ บรรยายว่า ภาพเขียนที่เพิงผา “ตอแล” เขียนด้วยสีแดงทั้งหมด เทคนิคการลงสีใช้การเขียนหรือระบาย ทั้งหมดเป็นภาพอรูปลักษณ์ เขียนเป็นลายเส้นบ้าง เป็นจุดบ้าง
พื้นที่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 อยู่บริเวณผนังใหญ่ที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก จากคำบอกเล่าของชาวบ้านมีว่า เดิมที เคยมีภาพกลุ่มใหญ่ แต่ปัจจุบัน (2542) ถูกกะเทาะหายไปแล้ว เหลือเพียงคราบสีแดงบริเวณขอบภาพกระจายให้เห็นเป็นบริเวณกว้างเท่านั้น ห่างจากรอยกะเทาะไปทางทิศใต้ราว 5.2 เมตร ยังเหลือภาพเขียนสีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มเล็ก สูงจากพื้นดินราว 105 เซนติเมตร
ส่วนที่ 2 ห่างจากพื้นราบใหญ่ไปทางทิศใต้ราว 19 เมตร จะพบพื้นราบขนาดเล็ก ที่เพิ่งผาจะมีภาพอีกกลุ่มใหญ่ สามารถแบ่งได้เป็น 10 กลุ่ม อยู่ในระดับความสูงที่ยืนมองได้สบาย ฉะนั้นจึงไม่วายถูกทําลายด้วยรอยขีดเขียนของคน
ภาพเขียนสี กลุ่มที่ 1 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม เม.ย. 2542)
ภาพเขียนสี กลุ่มที่ 2 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม เม.ย. 2542)
ด้วยลักษณะภาพที่เป็นภาพสัญลักษณ์ คาดว่า คนโบราณอาจเขียนขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายในการแสดงถึงหรือหมายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งยากที่จะเข้าใจได้ว่า เจ้าของผลงานศิลปะในยุคโบราณใช้สื่อความหมายถึงสิ่งใด
ข้อสังเกตของภาพเหล่านี้มีระบายจุดกลม ๆ ไว้ระหว่างภาพลายเส้น ตรงลักษณะต่างๆ ในแนวตั้ง ที่ดูคล้ายกับการขีดเป็นช่องๆ หรือตีตารางเป็นช่อง เพื่อแสดงจุดจํานวนนับในลักษณะที่เป็นแถว เป็นแนวเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบ แลดูงดงามและสามารถที่จะอ่านแปลความได้ง่าย
จากลักษณะที่พบทำให้ชาญณรงค์ ตั้งข้อสันนิษฐานว่า “น่าจะเป็นการเจตนาเขียนเพื่อบันทึกจํานวนของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยผู้สร้างสรรค์งานจะเป็นผู้กําหนดเครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งใดขึ้นมาเอง ซึ่งอาจจะทราบความหมายแต่เพียงผู้เดียว หรืออาจจะเป็นการกําหนดรู้โดยกลุ่มชนซึ่งรับทราบกันโดยทั่วกันก็เป็นได้”
ทศพล สมพงษ์ อ้างถึงงานวิเคราะห์ศิลปะถ้ำของ มาร์แช็ค (Alexander Marshack) ไว้ในหนังสือ มานุษยวิทยากายภาพ (2540 : น.254) ซึ่งสรุปได้ว่า ในถ้ำบางแห่งนั้นพบว่ามีภาพลายเส้นจุด และเครื่องหมายปรากฏอยู่บนผนังถ้ำ ภาพดังกล่าวไม่ได้วาดขึ้นมาเพียงเพื่อขีดเขียนเล่น แต่เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นมีระบบตัวเลขและระบบปฏิทิน รวมทั้งการประดิษฐ์ตัวอักษรอย่างง่ายๆ
จากการวิเคราะห์ของมาร์แช็คนี้ เมื่อได้ลองเทียบเคียงกับภาพบนเพิงผา “ตอแล” ยิ่งต้องประหลาดใจ เนื่องด้วยมีกลุ่มภาพอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 5 มีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวการวิเคราะห์ดังกล่าว
ในภาพกลุ่มที่ 1 มีอยู่ภาพหนึ่งมีลักษณะคล้ายกับปลาที่เขียนระบายทึบในท่าเอาหัวลง หากเชื่อว่าเป็นสัตว์ประเภทปลาก็อาจสันนิษฐานได้ว่า เป็นสัตว์น้ำที่หาได้ง่ายตามธรรมชาติและมีความเกี่ยวข้องจําเป็นต่อการดํารงชีพของมนุษย์ในยุคสังคมล่าสัตว์
ยิ่งเมื่อมองสีแดงในการเขียนภาพก็น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย เนื่องจากเคยมีการค้นพบหลักฐาน เช่น พบดินแดงติดอยู่ที่โครงกระดูกมนุษย์ที่อาศัยอยู่ตามเพิงผาที่ถ้ำ พระ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี อีกทั้งการใช้สีแดงนั้นคงจะหมายถึงสีของเลือดหรือชีวิตก็อาจเป็นได้ จึงมีการใช้สีแดงเขียนเป็นลวดลายบนภาชนะที่มีการฝังรวมไว้กับศพ ดังเช่น หลักฐานที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี และอีกหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งที่เพิ่งผา “ตอแล” ก็พบ เศษภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดง จํานวน 2 ชิ้น ก็ยิ่งทําให้แหล่งศิลปะแห่งนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ที่พื้นราบของเพิงผา “ตอแล” ยังพบชิ้นส่วนกระดูกสัตว์จํานวนมากปะปนอยู่ในชั้นผิวดิน เช่น กระดองตะพาบน้ำ กะโหลกสัตว์จําพวกลิง เปลือกหอย ชนิดต่างๆ เขี้ยวและกรามสัตว์ไม่ทราบชนิด รวมทั้งเศษภาชนะดินเผาจํานวนหลายชิ้นหลายแบบ
การพบหลักฐานศิลปะครั้งนี้อาจเป็นการค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นแหล่งที่ 2 ของจังหวัดยะลาก็ว่าได้ นับแต่มีการค้นพบภาพเขียนสีที่ถ้ำศิลปะ ในเขตบ้านบันนังลูวาร์ ต.หน้าถ้ำ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อ พ.ศ. 2468
อมรา ศรีสุชาติ อธิบายถึงภาพเขียนที่ถ้ำศิลปะนี้ว่า
“เป็นภาพเขียนรูปกลุ่มคนจํานวน 7-8 คน ยืนบ้าง นั่งบ้างในท่าต่างๆ กัน โดยวางตําแหน่งของภาพแบบพีระมิดหรือสามเหลี่ยม มีภาพคนที่อยู่ตอนกลางเป็นภาพคนเป่าลูกดอก ตอนเหนือคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนยืน ด้านหน้าคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนยืนแอ่นพุง ด้านหลังคนเป่าลูกดอกเป็นคนยืนโก่งคันธนูทําท่าเงื้อง่า และเล็งไปยังสัตว์ ด้านล่างคนเป่าลูกดอกเป็นภาพคนนั่งหรือคนขนาดเล็ก”
ภาพที่ถ้ำศิลปะนี้แสดงออกถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในยุคสังคมล่าสัตว์ที่เกิดขึ้น เมื่อประมาณ 3-5 พันปีมาแล้วในจังหวัดยะลา และถ้ำแห่งนี้ก็มีสภาพภูมิศาสตร์และ สภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงกับเพิงผา “ตอ แล” ซึ่งอยู่ห่างไปทางตะวันตกเพียง 4.5 กิโลเมตรเท่านั้น
ข้อเท็จจริงจากหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นข้อมูลจากมุมมองส่วนบุคคล ณ ช่วงเวลานั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาดําเนินการศึกษาสํารวจหรือขุดค้น เพื่อหาหลักฐานในการสรุปคําตอบกันต่อไป
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “ภาพเขียนสีแห่งใหม่ที่ยะลา” โดย ชาญณรงค์ เที่ยงธรรม ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2542
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2565
The post ภาพเขียนสีที่เพิงผา “ตอแล” ภูเขายะลา ถึงภาพใน “ถ้ำศิลปะ” กับข้อมูลเมื่อแรกเริ่มค้นพบ appeared first on Thailand News.