ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระไทย สู่วิกฤตการณ์บ้านโป่ง 18 ธ.ค. 2485

ทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระไทย สู่วิกฤตการณ์บ้านโป่ง 18 ธ.ค. 2485

ภาพประกอบเนื้อหา – ทหารญี่ปุ่นเรียงแถวปลดอาวุธต่อหน้านายทหารโซเวียต ช่วงกองทัพรัสเซียเข้าปลดปล่อยแมนจูเรียจากญี่ปุ่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพถ่ายเมื่อ ส.ค. 1945 (ภาพจาก AFP)

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2485 พระเพิ่ม สิริพิบูล (เอกสารบางรายการระบุว่าเป็นเณร) จากวัดห้วยกระบอก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เดินทางไปนมัสการเจ้าอาวาสวัดดอนตูม ให้ทานบุหรี่แก่เชลยศึกฝรั่ง ทหารญี่ปุ่นเห็นเข้าเกิดความโกรธและได้เข้าไปตบหน้าพระเพิ่มจนล้มลงกับพื้น ต่อมามีผู้หามพระเพิ่มไปที่ร้านขายยาวัดดอนตูม เมื่อปฐมพยาบาล กรรมกรสร้างรางรถไฟสายมรณะที่อาศัยอยูในวัดจึงสอบถามเหตุ เมื่อได้ทราบเรื่องจากพระเพิ่มก็แสดงความไม่พอใจ

ต่อมาในค่ำคืนนั้นก็เกิดการปะทะกันขึ้น

ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งถือไม้กระบองเข้ามาในวัดดอนตูม กรรมกรที่พักบริเวณนั้นจึงลุกขึ้นมาดู ทหารนายนั้นก็กลับไป พักหนึ่งก็มาใหม่อีกครั้งกับเพื่อนทหารญี่ปุ่นอีก 2 คน ถือไม้หน้าสาม และคาดดาบปลายปืน กรรมกรในบริเวณก็ลุกฮือ กรรมกรคนหนึ่งใช้ท่อนไม้ปาเข้าใส่ทหารญี่ปุ่นแต่ไม่ถูก ฝ่ายทหารญี่ปุ่นจึงล่าถอยกลับไปตามพรรคพวกกลับมาใหม่กว่า 10 กว่าคน พอมาถึงศาลาวัดก็ยิงปืนเข้าใส่ กรรมกรที่อาศัยอยู่ในวัดดอนตูมก็แตกหนี ทหารญี่ปุ่นเห็นเป็นต่อจึงยิงปืนใส่และวิ่งกวดคนฝ่ายไทย เมื่อเริ่มตั้งหลักได้พากันคว้าจอบเสียมที่พอหาได้ตอบโต้

ประมาณเที่ยงคืน ฝ่ายญี่ปุ่นก็ส่งทหารมาเพิ่มเติมจากกาญจนบุรี ประมาณ 3-4 คันรถ ยกพวกบุกล้อมสถานีตํารวจบ้านโป่ง ทหารญี่ปุ่นจึงใช้วิธีกวาดต้อนจับกุมกรรมกรไทยประมาณ 30 คน และยังจับกุมพระไปทั้งวัดเพื่อสอบสวนจนถึงตีสามของเข้าวันใหม่และได้ปล่อยตัวออกมา

ลานวัดดอนตูม บ้านโป่ง อาคารที่เห็นเคยเป็นศาลาวัด ที่พักของกรรมกรไทย สถานที่เกิดเหตุ “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” (ภาพจากหนังสือ แม่: กลับจากบ้านโป่งถึงปากน้ำ)

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทยได้รายงานสรุปยอดรวมทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 5 คน

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมว่า

“เนื่องจากเรื่องยุ่งๆ ที่บ้านโป่ง เวลานี้ยังไม่เส็ด วานนี้ทางยี่ปุ่นเขายื่นหนังสือรายงานการสอบสวนมา สรุปว่าฝ่ายเราผิดฝ่ายเดียว เขาเสียใจมาก เขาว่าทหานของจักรพัดิเขาไม่เคยตายนอกสนามรบ ถ้ามีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เขาจะจัดทำโดยพละการ…”

6 เดือน หลังจากวิกฤตการณ์บ้านโป่งนี้มีคนไทย 3 คน ถูกส่งขึ้นศาลทหาร

ผลการตัดสินจำเลยที่ 1. พระเพิ่ม สิริพิบูล ที่ถูกทหารญี่ปุ่นตบหน้า 3 ที เป็นต้นเหตุของเรื่อง ในการสอบสวนและทำคดีพระเพิ่มถูกจับสึก และมีการบันทึกเพิ่มเติมข้อมูลว่า สติไม่ดี, ไม่รู้หนังสือ ถูกตัดสิน “ประหารชีวิต” แต่ได้รับการลดหย่อนเหลือ “จำคุกตลอดชีวิต” (เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศแพ้สงคราม รัฐบาลจอมพล ป. ต้องลาออกกลางคันนั้น ท่านได้รับการปล่อยตัว)

2. นายเปะ นุ่มชินวงส์ กรรมกรชาวไทย เป็นตัวการที่จับอาวุธเข้าทำร้ายทหารญี่ปุ่น การสอบสวนระบุเพิ่มเติมว่า ดื่มสุรามึนเมา และไร้การศึกษา ตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต

3. พลทหารสุดจา โสมทัต ใช้ปืนยิงออกไปเพราะเพื่อนทหารที่หมอบอยู่ใกล้ถูกยิง เป็นการกระทำเฉพาะตัว แต่เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนไม่อาจทราบได้ว่าปืนที่ยิงออกไปนั้นถูกใครบ้าง ศาลตัดสินว่าทำการป้องกันตนเกินเหตุ ตัดสินจำคุก 10 ปี

นั่นทำให้ “วิกฤตการณ์บ้านโป่ง” จบลงด้วยความพอใจของญี่ปุ่น และความโล่งใจของไทย โดยมีคนระดับล่างๆ เป็น “ทางออก”

ข้อมูลจาก

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ, แม่กลับจากบ้านโป่งถึงปากน้ำ, พิมพ์ครั้งที่ 2. มิถุนายน 2553.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554, สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ กุมภาพันธ์ 2556

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2563

The post ทหารญี่ปุ่นตบหน้าพระไทย สู่วิกฤตการณ์บ้านโป่ง 18 ธ.ค. 2485 appeared first on Thailand News.