“ระบบการศึกษา” เครื่องมือผนวก “ล้านนา” ให้กลายเป็นไทยในสมัยรัชกาลที่ 6
เด็กนักเรียนโรงเรียนประชาบาลเมืองเชียงแสน พ.ศ. 2466 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ในสยามกำเนิดรัฐแบบใหม่ที่บริหารงานแบบรวมศูนย์ ทำให้จำเป็นต้องสลายอำนาจท้องถิ่นเพื่อดึงทรัพยากรและผู้คนมาเป็นของรัฐบาลส่วนกลาง สำหรับกรณีของล้านนา สยามเลือกใช้วิธีของเข้าอาณานิคมผสมผสานกับธรรมเนียมของรัฐจารีต หากยังขาดจิตสำนึกร่วมชาติ รัชกาลที่ 6 จึงทรงใช้ “การศึกษา” เป็นเครื่องมือในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ ใน “เปิดแผนยึดล้านนา” ในที่นี้ขอคัดย่อเพียงส่วนเกี่ยวกับการมานำเสนอพอสังเขปดังนี้
ครั้งนั้นรัฐบาลสยามเร่งจัดตั้งโรงเรียนตัวอย่างในท้องถิ่น ได้แก่ โรงเรียนหลวงที่รัฐบาลกลางจัดตั้งและอุดหนุน, โรงเรียนประชาบาล ที่เจ้าหน้าที่ปกครองท้องที่, ราษฎร และพระสงฆ์ร่วมมือกัน และโรงเรียนราษฎร ที่จัดตั้งโดยเอกชน นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษา 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 และพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464
พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 กำหนดให้ผู้ที่ต้องการจัดตั้งโรงเรียนต้องไม่เคยเป็นผู้ที่ต้องโทษคดีอาญา ด้วยข้อหากบฏหรือประทุษร้ายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือแผ่นดิน หรือมีความผิดฐานเป็นโจรซ่องสุมเข้าเป็นอั้งยี่, ครูผู้สอนต้องมีความรู้ภาษาไทยเพียงพอที่จะใช้สอนและอบรมนักเรียน, โรงเรียนต้องสอนตามหลักสูตรของกระทรวงธรรมการโดยให้เรียนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และหน้าที่ พลเมืองดี ต้องสอนให้นักเรียนอ่าน เขียน และเข้าใจภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ตลอดจนปลูกฝังความจงรักภักดีต่อชาติไทย และบังคับให้ทุกโรงเรียนต้องประดับพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัวและธงชาติไทย รวมทั้งร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี วันละ 1 ครั้งหลังเลิกเรียน
พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 กําหนดให้ เด็กทั้งชายและหญิงทุกคนที่มีอายุ 7-14 ปี ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนประชาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน, รัฐใช้วิธีเรียกเก็บเงินศึกษาพลีจากชายฉกรรจ์ที่มีอายุ 18-60 ปี คนละ 1-3 บาทเป็นรายปีเพื่ออุดหนุนโรงเรียนประชาบาลในแต่ละท้องที่, เด็กที่ได้รับการยกเว้นจากพระราชบัญญัตินี้คือ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปีแต่มีความรู้ประโยคประถมศึกษา เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญา และเด็กที่มีบ้านห่างจากโรงเรียน 3,200 เมตร พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นความพยายามนําเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานและผ่านการปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์
ในมณฑลพายัพ นักเรียนชายและหญิงที่ได้รับการศึกษาในโรงเรียนสอน หนังสือไทยราวกลางทศวรรษที่ 2460 มีเพียงร้อยละ 17 แต่จากการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทําให้เด็กจํานวนมากถูกบังคับให้เข้าโรงเรียนโดยใช้ภาษาไทยกลาง รวมทั้งถูกปลูกฝังแนวคิดจากรัฐส่วนกลางอย่างน้อย 7 ปี ความรู้และวิธีปฏิบัติในโรงเรียนจึงส่งผลต่อการดํารงชีวิตของเด็กเหล่านี้ไม่มากก็น้อย
ทั้งนี้รัฐบาลตระหนักถึงความสําคัญของหลักสูตรและหนังสือที่ใช้ประกอบการเรียน เมื่อกระทรวงธรรมการพิมพ์แบบเรียน ชั้นมูลศึกษาแล้วเสร็จ พ.ศ. 2454 จึงบังคับใช้ในโรงเรียนทั่วพระราชอาณาจักรก่อนหน้านี้ในมณฑลพายัพ
แนวคิดในการจัดทําหลักสูตรประถมศึกษาวิชาสามัญซึ่งบังคับสอนในโรงเรียนทุกประเภทได้แก่ วิชาจรรยา เน้นสอนให้เป็นผู้ที่มัธยัสถ์ ขยันหมั่นเพียร และคิดถึงประโยชน์ของหมู่คณะมากกว่าตนเอง มีความกตัญญต่อครูอาจารย์ และพระมหากษัตริย์, วิชาภาษาไทย สอนให้รู้จักใช้อ่าน-เขียนภาษาไทยโดยอาศัยพุทธศาสนาและพระบรมราโชวาทปลุกใจเสือป่าเป็นเครื่องชักจูง,วิชาคํานวณ สอนให้คิดเลขง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจําวัน, วิชาการรักษาตัว สอนให้รู้จักปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีร่างกายแข็งแรง รู้จักรักษาสุขภาพอนามัยของตนเองและที่อยู่อาศัย ฯลฯ
ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น วิชาจรรยาต้องสอนให้ เกิดความรักชาติภูมิ จงรักภักดีต่อกษัตริย์ วิชาภูมิศาสตร์และพงศาวดารต้องสอน ให้รู้ว่าสยามเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นอย่างไรเพื่อให้เกิดความรักชาติและปรารถนาที่จะ บํารุงบ้านเมืองของตน โดยเฉพาะภูมิศาสตร์สยามต้องสอนให้เด็กสามารถจําแผนที่สยาม รู้จักมณฑลและที่ตั้งของศาลารัฐบาลประจํามณฑล ทางรถไฟ แม่น้ำลําคลอง ภูเขา ฝั่งทะเลและทางไปมาติดต่อกับต่างประเทศ สินค้าสําคัญ และรู้จักภูมิศาสตร์ ประเทศใกล้เคียงที่เกี่ยวกับสยามโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการค้า
ที่น่าสนใจคือ วิชาความรู้เรื่องเมืองไทย รัฐบาลมีแนวคิดให้เด็ก
“รู้จักบ้านเมืองของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ไฉนจึงได้ตั้งหลักฐาน เป็นปึกแผ่นแน่นหนาขึ้นได้เพื่อจะได้เกิดความรักชาติบ้านเมือง และคิดบํารุงชาติบ้านเมืองโดยตั้งตัวไว้ให้เป็นพลเมืองดี รายการที่ต้องสอน
ก. ให้รู้จักวิชาภูมิศาสตร์พอเป็นการเปิดหูเปิดตากับรู้ภูมิศาสตร์ สยามพอเข้าใจพงศาวดารของประเทศสยามทั้งสมัยใหม่และสมัยเก่า
ข. ให้รู้พงศาวดารโดยย่อของชาติไทยว่าเดิมสืบกันมาแต่ไหน รวบรวมกันเข้าอย่างไร ต้องแข่งขันสู้รบกับใครบ้าง แล้วเปลี่ยนมาเป็น ลําดับเวลาจนตั้งเป็นหลักฐานดังปรากฏในทุกวันนี้ได้อย่างไร
ค. ให้รู้จักวิธีปกครองบ้านเมืองนี้แต่โดยสังเขป คือรู้ว่าพระเจ้าแผ่นดินคืออะไร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงนครบาลมีไว้ทําไม โรงศาลมีทําไม ทหารมีไว้ทําไม ผู้ใหญ่บ้านคืออะไร ราษฎรจะต้องเชื่อฟังคํา ของหัวหน้า เหล่านี้ที่รวมเรียกว่าเทศาภิบาล อย่างไร ดังนี้เป็นต้น..”
ดังนั้น วิชาความรู้เรื่องเมืองไทยโดยใช้หนังสือพงศาวดารสยามและภูมิศาสตร์ ประเทศสยามจึงเป็นการปลูกฝังให้ราษฎรมีจินตนาการของความเป็นรัฐชาติร่วมกัน ผ่านวิชาภูมิศาสตร์ แผนที่ และพงศาวดารที่มีสยามเป็นศูนย์กลาง อีกทั้งสอนให้รู้จัก โครงสร้างการปกครองของรัฐและการปฏิบัติตนในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ
จะเห็นได้ว่าหลักสูตรและเนื้อหาในแบบเรียนที่สยามสร้างขึ้น นอกจากมุ่งหมายเพื่อปลูกฝังความรู้ที่เกี่ยวกับรัฐประชาชาติ ความรักและภักดีต่อสถาบันชาติ และพระมหากษัตริย์ รับรู้และเชื่อฟังต่ออํานาจรัฐสมัยใหม่ รวมทั้งความเป็นมาของ ชาติไทยแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐที่จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึง ความแตกต่างทางด้านภูมิภาค เชื้อชาติ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมย่อยของภูมิภาคโดยเฉพาะหัวเมืองประเทศราช
หลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาในมณฑลพายัพและมณฑลมหาราษฎร์กว่า 3 ปี แต่อัตราการเข้าเรียนของเด็กที่มีอายุตามเกณฑ์มีเพียงร้อยละ 38 หากความพยายามจัดการศึกษาของรัฐเพื่อลบภาพลาวล้านนาออกไปจากการรับรู้ของสังคม และทําให้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เข้ามาอาศัยในสยามรู้สึกถึงความเป็นชาติไทยร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เริ่มปรากฏผลราวต้นทศวรรษที่ 2470 ดังรายงาน ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาซึ่งทรงตั้งข้อสังเกตถึงราษฎรพื้นเมืองที่ผ่าน การศึกษาในโรงเรียนสอนหนังสือไทยไว้ว่า
“สําหรับคนพื้นเมืองชั้นใหม่ที่ได้เข้าโรงเรียน…ได้รับความฝึกฝนให้อ่านและเขียนหนังสือ และพูดภาษาไทยธรรมดาได้…พวกเหล่านี้เมื่อสามารถเขียนอ่านหนังสือและพูดภาษาไทยธรรมดาแล้ว ก็ดูนิยมที่จะใช้ความรู้ใหม่มากกว่าที่จะลงพูดจาตามเสียงพื้นเมืองที่เคยมาแต่เดิม และรู้สึกว่าสนิทสนมยิ่งขึ้นด้วย…”
นอกจากนี้กิจวัตรประจำวันอื่นๆ ในโรงเรียน การเล่นกีฬา, การแสดงของนักเรียน, พิธีการต่าง ส่วนใหญ่ก็เลียนแบบกรุงเทพฯ ทั้งหมดนี่คือความพยายามที่จะผสมกลมกลืนชาติพันธุ์ต่างๆ ให้กลายเป็นไทย อีกทั้งมีผลทำให้คนล้านนาใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลจาก
ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. เปิดแผนยึดล้านนา. สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2, กุมภาพันธ์ 2560.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 13 ธันวาคม 2564
https://www.silpa-mag.com
The post “ระบบการศึกษา” เครื่องมือผนวก “ล้านนา” ให้กลายเป็นไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 appeared first on Thailand News.