นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน “Bangkok Post Forum 2022: Accelerating Thailand” ชูกลยุทธ์ “เชื่อมไทยเดินหน้า” มุ่งสร้างอนาคตให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
27 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี “Bangkok Post Forum 2022” ในหัวข้อ “Accelerating Thailand (เร่งเครื่องประเทศไทย)” ณ ห้อง A1 บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าววิสัยทัศน์ต่อแนวทางในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า โดยหลักการสำคัญที่เป็นแนวทางการทำงาน สรุปได้ในสามคำ คือ “ทำให้สำเร็จ” (GET THINGS DONE) ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้และเตรียมประเทศให้พร้อมสำหรับอนาคต เพื่อลูกหลาน และเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนเป็นเส้นทางที่คนไทยจะต้องจับมือไปด้วยกัน รวมทั้งจับมือกับเพื่อนบ้านและสังคมโลกด้วย
ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างความรุ่งเรืองให้กับคนไทย ในทุกระดับของสังคม เพื่อเดินหน้าไปสู่การปรับแก้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นทางสังคม ทั้งเรื่องความยุติธรรมในสังคมและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสทำมาหากิน
นายกรัฐมนตรีนำเสนอถึงกลยุทธ์ 3 แกนสำคัญ เพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน ดังนี้
แกนที่ 1 – โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การมีระบบคมนาคมทางราง ทางถนน สนามบิน ท่าเรือทางทะเล และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ทุกคนซื้อข้าวของต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลง ทำสิ่งต่างๆ ได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น หาลูกค้าได้มากขึ้น หาที่ทางค้าขายผลผลิต สินค้า และบริการ ได้มากขึ้น ตลอดจนนำพานักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงเข้าประเทศได้มากขึ้น ซี่งคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน สามารถทำมาหากินช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น
แกนที่ 2 – อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอนาคต ประเทศไทยจะต้องรีบเตรียมความพร้อมและก้าวเข้าสู่เทรนด์โลกนี้ให้ได้ เพราะอุตสาหกรรมนี้คือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของโลกในการสร้างความมั่งคั่ง สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างความกินดีอยู่ดีให้คนเป็นล้าน ๆ และเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ส่งประโยชน์ไปถึงธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า เราต้องเดินหน้าให้เร็วกว่าประเทศอื่นในการดึงเอาฐานการผลิตยานยนต์มาในประเทศไทย ให้ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ ที่สำคัญของโลกมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย และรักษาผู้ผลิตยานยนต์ปัจจุบันที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วให้ยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป และทำให้โรงงานผลิตที่นี่ให้เป็นฐานการผลิตที่สำคัญที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง รวมทั้งการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง เช่น บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทซอฟต์แวร์ และบริษัทในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ เพื่อให้ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีความมั่นคงในระยะยาว
สำหรับการเกษตรสมัยใหม่เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวของเกษตรกร นายกรัฐมนตรีผลักดันให้เร่งนำเทคโนโลยี งานวิจัย และนวัตกรรม มาใช้ในการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อให้เกิดผลผลิตมากขึ้นในพื้นที่เพาะปลูก และมุ่งไปสู่ “เกษตรปลอดภัย” ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี Smart Farming ได้ทั่วถึงมากขึ้น เชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และเกษตรกร ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และราคาสูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น
แกนที่ 3 – ภาคการธนาคาร ยุคนี้ คือยุคสมัยของคนรุ่นใหม่จำนวนมากมาย ที่ฉลาด และมีหัวการค้า พร้อมสร้างธุรกิจใหม่ ๆ แห่งอนาคต ตลอดจนมีผู้คนที่ทำงานอิสระในโลกเศรษฐกิจดิจิทัล โดยธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย มีบทบาทสำคัญ ซึ่งได้ขอให้ธนาคารเร่งหาวิธีการใหม่ ๆ ใช้ในการประเมินความสามารถของผู้กู้ ที่เป็นคนตัวเล็ก ธุรกิจค้าขายเล็กๆ และคนที่ทำมาหาเลี้ยงตัวเอง โดยพิจารณาบนพื้นฐานความสามารถ และความตั้งใจที่จะชำระคืนเงินกู้ ซึ่งเท่ากับว่า เราจะเปิดโอกาส ให้คนจำนวนหนึ่ง จาก 30 ล้านคนที่ไม่เคยกู้เงินธนาคารได้ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึง การเร่งเครื่องเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และภาคการธนาคารที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี รัฐบาลกำลังเปิด 3 เส้นทางเชื่อมต่อกัน เรียกว่า “เชื่อมไทยเดินหน้า” โดยยกตัวอย่างความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่
ภาคส่วนการธนาคาร ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการศึกษาแล้ว โดยจะผลักดันให้ภาคการเงินของประเทศไทย ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยและทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ ได้ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ภาคยานยนต์ไฟฟ้า ได้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง FOXCONN หนึ่งในผู้ผลิตเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุด ได้ยืนยันแล้วว่า จะตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และ BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ยืนยันแล้วเช่นกันว่า จะตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย จึงถือเป็นความสำเร็จที่ได้ปฏิบัติการเชิงรุกในการดึงดูดผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย โดยนอกจาก 2 บริษัทนี้แล้ว ก็ยังมี MG, GWM, Volt และผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยมายาวนาน อย่าง เบนซ์ และ TOYOTA ยืนยันจะใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน
ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า จะทำสิ่งต่างๆ นี้ให้สำเร็จเรียบร้อย ภายในไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้านี้ และเมื่อทำสำเร็จประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลกได้ ในที่สุด
ภาคโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและด้านดิจิทัล เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นจุดเชื่อมต่อทางทะเลทางหลักที่เชื่อมประเทศไทยกับโลก เป็นจุดที่รองรับมากกว่า 50% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศไทยและรองรับการส่งออกยานยนต์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อเดินหน้าให้ได้อย่างรวดเร็ว ขยายส่วนสำคัญของโครงการ โดยภายในเวลา 2 ปีข้างหน้า ท่าเรือแหลมฉบังจะมีขีดความสามารถในการให้บริการเพิ่มเติมอีกประมาณ 30% รวมทั้งการสร้างระบบรางที่จะช่วยขนส่งสินค้าและผลผลิตไปถึงท่าเรือได้สะดวกมากขึ้นและได้ปริมาณสินค้าที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบันถึงสามเท่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่ปัจจุบันต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนนที่มีต้นทุนสูงกว่า นอกจากนั้น ได้เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการของท่าเรือขึ้นอีก 50% เพื่อรองรับการส่งออกยานยนต์ จากปัจจุบันรองรับการส่งออกได้ราว ๆ 2 ล้านคันต่อปี เพิ่มเป็น 3 ล้านคันต่อปี และจะสร้างท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นหนึ่งในห้า Gateway Port ที่ใหญ่ที่สุดของโลก รองรับเรือเดินสมุทรขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก
ในส่วนของสนามบิน รัฐบาลได้เพิ่มจำนวนสนามบินนานาชาติที่เปิดให้บริการแล้ว จาก 6 แห่ง กลายเป็น 11 แห่ง และหากนับรวมสนามบินนานาชาติที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วย จะเพิ่มจำนวนสนามบินที่เปิดให้บริการมากขึ้นอีกถึงสามเท่า จาก 6 แห่งจะกลายเป็น 18 แห่ง ซึ่งสนามบินเหล่านี้ จะช่วยกระจายนักท่องเที่ยวไปทั่วประเทศ ช่วยยกระดับการขนส่งสินค้าและการค้าขายให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
ด้านระบบราง ในเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเป็นระยะทางที่มากกว่าระยะทางทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ซึ่งจะพลิกโฉมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศไทยไปอย่างสิ้นเชิง และพลิกโฉมการเชื่อมต่อกับภูมิภาค ขนส่งได้เร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายถูกลง เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น เข้าถึงแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบสำหรับการค้าขายทั่วประเทศ และจะกระจายความรุ่งเรืองไปทั่วประเทศ ตลอดจน
รัฐบาลขยายเส้นทางระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมือง และกำลังสร้างเพิ่มอีกเท่าตัว ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะเปิดให้บริการได้ ในอีก 3 ปีข้างหน้า
ภาคพลังงาน รัฐบาลมุ่งหวังให้มีพลังงานเพียงพอ โดยจะสร้างขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณมากกว่า 80,000 เมกกะวัตต์ มีพลังงานหมุนเวียน ประมาณ 16,000 เมกกะวัตต์ และได้ให้นโยบายกับกระทรวงพลังงานให้พิจารณาศักยภาพของในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม รองรับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในการผลิต
ภาคเทคโนโลยีดิจิทัล รัฐบาลจับมือกับอเมซอน ซึ่งยืนยันความมุ่งมั่นที่จะตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคที่ประเทศไทย นำเงินลงทุนเข้าประเทศไทยอย่างมหาศาลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย จำนวนเงินมากเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยทำไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคและเสริมศักยภาพของประเทศด้านดิจิทัลให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคการเกษตร การศึกษา และอื่นๆ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชิญชวนและขอให้นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ไทยได้เดินหน้ามาจนถึงจุดหมายการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมเป็นฐานที่แข็งแรงเพื่อให้ภาคเอกชนได้ร่วมกันสร้างประเทศต่อไป ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่ หรือ start-up หวังว่าพวกเราจะร่วมกันนำพาประเทศไปสู่อีกยุคหนึ่งของความรุ่งเรือง และได้ขอบคุณผู้จัดงานนี้ในช่วงท้าย
ที่มา :
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More