วธ.ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดยานนาวา
วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่วัดยานนาวา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ประจำปี 2565 โดยมีนางสาวรัชดา จาติกวณิช คู่สมรส นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมพิธีฯ
นายอิทธิพล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานผ้าพระกฐินให้วธ.ตามที่ขอพระราชทาน เพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดยานนาวา แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เพื่อทำนุบำรุงและสืบทอดพระพุทธศาสนา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งนี้ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินหลวงประเภทหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้แก่หน่วยงานราชการ องค์กร คณะบุคคล หรือบุคคลผู้ประสงค์ขอรับพระราชทานเชิญไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวง ทั้งกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดในช่วงกฐินกาล โดยการทอดกฐิน เป็นประเพณีสำคัญทางศาสนาที่พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติและสืบทอดมายาวนาน ช่วงเวลาในการทอดกฐินกำหนดระยะเวลา 1 เดือน หลังวันออกพรรษา ระหว่างวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี ถือเป็นการทำนุบำรุงสืบทอดพระพุทธศาสนา และบำเพ็ญกุศลอันยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดอานิสงส์ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อีกทั้งวธ. ได้จัดพิมพ์หนังสือ “ปกิณกวัฒนธรรม วัดยานนาวา และแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมบริเวณใกล้เคียง” เพื่อเผยแพร่ประวัติวัด สถานที่สำคัญและชุมชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนสามารถนำไปต่อยอดความรู้ให้กว้างขวางต่อไป
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า วัดยานนาวาเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีชื่อแรกว่า “วัดคอกควาย” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดยานนาวา” และใช้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน มีความหมายว่า “วัดอันมีพาหนะดุจสำเภาในการที่จะนำพาเวไนยสัตว์ให้ข้ามพ้นโอฆะสงสาร” ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ในสมัยธนบุรี และสืบเนื่องมาจนสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน 4 องค์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิและพระพุทธรูปปางมารวิชัย รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมบนบานประตูด้วยลวดลายที่สวยงาม พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ มีพระราชศรัทธาทำนุบำรุงอาราม และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ดังเช่น รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระอุโบสถขนาดเล็กและพระราชทานวิสุงคามสีมา รัชกาลที่ 2 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค รัชกาลที่ 3 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม สร้างพระสำเภาเจดีย์ สร้างกุฏิสงฆ์ และพระราชทานนามวัด รัชกาลที่ 4 โปรดให้ตัดถนนเจริญกรุงตัดผ่านวัดยานนาวา รัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนประถมวิเศษวัดยานนาวา รัชกาลที่ 6 สร้างท่าเรือเมล์วัดยานนาวา รัชกาลที่ 7 บูรณะซ่อมพระอุโบสถ และสร้างหอระฆังทรงจัตุรมุข รัชกาลที่ 9 สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมประจำวัดยานนาวา บูรณปฏิสังขรณ์กุฏิถาวรครั้งใหญ่ และได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดยานนาวาจากกรมศิลปากร เป็นต้น
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จ ฯ วัดยานนาวาในโอกาสต่าง ๆ อาทิ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2546 เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเททองหล่อ และวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2549 ทรงเปิดสถานีวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และทรงประกอบพิธีเปิดงานสมโภชพระอารามหลวงวัดยานนาวา 240 ปี
รมว.วธ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ วัดยานนาวา ยังมีแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบริเวณ ที่มีความสำคัญและน่าสนใจ สะท้อนวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ การค้า ตลอดจนความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ได้แก่ ถนนเจริญกรุง , สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , อาสนวิหารอัสสัมชัญ , โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล , ศุลกสถาน , อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก , บ้านเลขที่ 1 เจริญกรุง , บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บางกอกด๊อก) , องค์การสะพานปลา , เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ ฟรอนต์ , หอการค้าไทย – จีน , สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว (สุสานวัดดอน) , บ้านหลวงสาทรราชายุกต์ (บ้านสาทร) , ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เป็นต้น ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายวธ. “เปลี่ยนฉากทัศน์วัฒนธรรม สู่ก้าวที่มั่นคงและยั่งยืน” ขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม เกิดรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชนอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนต่อไป
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More