ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

DGA ร่วมกับ 3 หน่วยงาน สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. และ สพธอ. ร่วมชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับทั้งฉบับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566

DGA ร่วมกับ 3 หน่วยงาน สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. และ สพธอ. ร่วมชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับทั้งฉบับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับ 3 หน่วยงาน สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ชี้แจงแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับทั้งฉบับในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นการกำหนดให้สิทธิประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการนำเสนอการดำเนินการตามพ.ร.บ.ฯ พร้อมด้วยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักของรัฐบาลในการผลักดันและขับเคลื่อนหน่วยงานรัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ได้จัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 19 เป็นมาตรฐานว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่หน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้ในการให้บริการประชาชนตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นคำขอจนถึงสิ้นสุดขั้นตอนสุดท้ายด้วยช่องทางและวิธีการทางดิจิทัลได้ ซึ่ง DGA จะรวบรวมประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่พบ และปรับปรุงมาตรฐานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อประกาศให้เป็นวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทุกหน่วยงานต้องนำไปใช้และปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ภายในระยะเวลา 240 วัน (หรือวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2566)

นอกจากนี้ DGA ยังมีการพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เช่น ระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (BizPortal) ระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (GDX) และระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การผลักดันและขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐได้โดยสะดวก ภายใต้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการคุ้มครองส่วนบุคคลที่ดี

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่าภาครัฐมีความพยายาม อย่างต่อเนื่องที่จะปรับปรุงระบบราชการเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการให้บริการประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม รวมถึงการกำหนดให้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ได้ อาทิ การกำหนดในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ให้การดำเนินการกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาต การจดทะเบียน หรือการออกคำสั่ง ทางปกครอง สามารถกระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมการพัฒนากฎหมายจึงเสนอให้มีการตรากฎหมายเพื่อต่อยอดความพยายามที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าวให้เห็นผลเร็วและ เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับทั้งฉบับในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566 เป็นการกำหนดให้สิทธิประชาชนสามารถติดต่อหน่วยงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที โดยห้ามหน่วยงานปฏิเสธไม่รับคำขอหรือการติดต่อที่กระทำผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการวางหลักการใหม่สำหรับการติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อันจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของภาครัฐครั้งใหญ่

นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่าสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการติดตาม เร่งรัด รวมทั้งแจ้งให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งสื่อสารสร้างการรับรู้ให้แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนถึงเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมุ่งเน้นการสร้างแนวคิดให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการนำวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงการบริหารงานและการให้บริการประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับบริการที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค ให้สามารถดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ในการพัฒนาสู่ภาครัฐดิจิทัล

นายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความพร้อมและยินดีให้คำแนะนำ คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยืนยันตัวตน การชำระเงิน การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การออกเอกสารหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้ง เพื่อเป็นการผลักดันให้เกิดการปรับรูปแบบการทำงานสู่รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยราชการอย่างเป็นรูปธรรม ETDA ยินดีให้การสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ และระบบตรวจสอบลายมือชื่อดิจิทัล เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานรัฐมีตัวอย่างและต้นแบบในการนำไปปรับปรุงรูปแบบการทำงานในองค์กรต่อไป

Read More

เครดิตข่าวจาก : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)