ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย จัด Workshop บุคลากรในสังกัด ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน

กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย จัด Workshop บุคลากรในสังกัด ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน

ตอกย้ำการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดย กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย จัด Workshop บุคลากรในสังกัด ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียน สร้างนวัตกรรม ยกระดับประเทศไทยสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ

วันนี้ (9 ธ.ค. 65) เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย และสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN) พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดกิจกรรม โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (Ms.Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค องค์การตลาด องค์การจัดการน้ำเสีย และจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร รวม 315 คน เข้าร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม ESCAP Hall ชั้น 2 ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กทม.

คุณกีต้า ซับบระวาล (Ms.Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การจัด Workshop ในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ก็มีความเชื่อมั่นว่า แนวคิด Change for Good จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในบริบทที่หลากหลายให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าว ยังช่วยสานพลังทางความคิด ปลุกแรงบันดาลใจในการทำงาน ไม่เพียงแต่คนในองค์กร แต่ได้แพร่กระจายไปแล้วทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ในเรื่องการใช้ Solar Rooftop มีครัวเรือนประมาณ 100,000 ครัวเรือน เห็นความสำคัญในการใช้พลังสะอาด จนนำไปสู่การติดตั้งในที่อยู่อาศัย ท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติมาร่วมกิจกรรม Workshop ในวันนี้ ในนามของสหประชาติประจำประเทศไทยมีความพร้อมที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายอย่างเต็มกำลัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า ผมรู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Workshop ในวันนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมลงนามในพิธีประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ผ่านความร่วมมือกับทีมงาน สหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nation Country Team : UNCT) และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ในนามของกระทรวงมหาดไทย “77 จังหวัด 77 คำมั่นสัญญา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” และเพื่อเป็นการตอกย้ำเจตจำนงการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมิติต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัด Workshop ในวันนี้ขึ้น เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ และสร้างความตระหนักรู้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ผ่านเครือข่ายการทำงานของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ 878 อำเภอ 76 จังหวัด และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน

“ภายหลังจากการลงนามเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 กระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า ตามแนวทาง Change for Good ผ่านการสร้างทีมผู้นำนักขับเคลื่อนนำการเปลี่ยนแปลง 878 อำเภอ ในโครงการอำเภอนำร่อง บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ที่เข้าดำเนินงานสำรวจประเด็นปัญหา เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความสามัคคีของชุมชน โดยใช้กลไกจิตอาสา พร้อมมุ่งสู่ขั้นก้าวหน้า ยกระดับพัฒนาจากชุมชนชนบทสู่ระดับชุมชนเมือง เพื่อทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย และมีภูมิต้านทานต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในบริบทโลกปัจจุบันที่สอดคล้องกับประเด็นความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 5 ด้านที่สำคัญได้แก่ 1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 2) การอนุรักษ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน 3) การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว การแก้ปัญหาการเผาชีวมวล ด้วยแนวทางที่อิงธรรมชาติและการลดมลพิษทางอากาศและพลาสติก 4) การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนและลดการสูญเสียอาหาร การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนการทำฟาร์มอัจฉริยะ และ 5) การเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้ชุมชนและระบบนิเวศทางทะเล โดยการปรับตัวและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยคำนึงถึงความท้าทายบนเส้นทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำ

คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา (Ms.Armida Salsiah Alisjahbana) รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) เปิดเผยว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการจัดกิจกรรม ภายใต้หัวข้อ “77 จังหวัด 77 คำมั่นสัญญา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่จัดขึ้นในวันนี้ สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ถือเป็นกระบวนการที่อยู่ในกระแสหลักของโลก ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัย ภาวะผู้นำ และความรู้สึกการเป็นเจ้าของ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงควบคู่กับการหวงแหนรักษาในประเด็นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สามารถส่งต่อสู่รุ่นต่อไปได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยทุกด้าน

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีความมุ่งหวังจะทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และ หลัก “อารยเกษตร” มาเป็นแนวทางในการพึ่งพาตนเองอย่างมีเหตุผล ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการ โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน (National Food Waste Management Campaign) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับบริหารจัดการขยะ พร้อมสร้างวัฒนธรรม 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการลดรายจ่ายครัวเรือน และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อีกทั้งเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” อีกด้วย และเนื่องในโอกาสวันดินโลก 5 ธันวาคม ของทุกปี กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรดิน ภายใต้แนวคิด Soils, where food begins หรือ อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์กลับสู่ดิน ทำให้เกิดผลดีทั้ง 4 ด้าน คือ ด้าน ผลิตผลที่ดีขึ้น (Better Production) ด้านโภชนาการที่ดีขึ้น (Better Nutrition) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (Better Environment) และด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (Better Life) อีกด้วย

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การ Workshop ในวันนี้ประกอบด้วยกิจกรรมการเสวนาเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในบริบทของประเทศไทย ความสมดุลระหว่างมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการเร่งด่วนจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน โดยศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างปรเทศ (International Trade Center: ITC) และกิจกรรมกลุ่มย่อย 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1) “ระบบอาหารที่ยั่งยืน” โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และกระทรวงเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร 2) “เศรษฐกิจหมุนเวียนระดับจังหวัด” – กุญแจเพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) ซึ่งเป็นการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 3) “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตามแนวคิดนวัตกรรมทางสังคม และการเป็นหุ้นส่วนทางสังคม (4Ps) ไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 4) “การเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารและจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับท้องถิ่น” โดยสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UN-DRR) ที่เน้นการสร้างเมืองให้มีความยืดหยุ่น (Resilience) พร้อมรองรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ 5) “ผสมผสานเศรษฐกิจ BCG เข้ากับวิถีชีวิต สายน้ำและเกษตร” โดย องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) และ 6) “ใช้ประโยชน์จากคำติชม และเสียงสะท้อนเพื่อขับเคลื่อนผลลัพธ์การพัฒนาระดับจังหวัด” โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจะนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เหมาะกับสภาพภูมิสังคมตามบริบทพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น อุดช่องว่างในการขับเคลื่อนภารกิจไปสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมในวันนี้ จะเป็นการตอกย้ำให้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ร่วมกันผนึกกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบบูรณาการประสานความร่วมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และ 7 ภาคเครือข่าย เพื่อทำให้ความตั้งใจในการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ได้ทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ประเทศไทย เพื่อลูกหลาน คนไทย ตลอดจนร่วมสืบสานพระราชปณิธานการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสากล เพื่อสร้างพื้นฐานการพัฒนาที่มั่นคงยกระดับชุมชน นำเทคโนโลยีมาใช้สร้างนวัตกรรมการผลิตที่สร้างสรรค์ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในทุกด้าน ทำให้โลกใบเดียวของเราเป็นพื้นที่แห่งความสุข เพื่อลูกหลานของเราทุกคน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

—————–

ที่มา : 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More