ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

Soft power ดัน“บูดูปักต์ใต้ สู่ตลาดโลก

Soft power ดัน“บูดูปักต์ใต้ สู่ตลาดโลก

ศอ.บต. เตรียมยกระดับน้ำบูดูปักษ์ใต้ สู่สากล ในคอนเซ็ปต์ “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ร่วมกับเชฟชุมพล หลังนายกรัฐมนตรีมีแนวทางให้หยิบยก Soft power สร้างอัตลักษณ์ชายแดนใต้

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยนางสุนิสา รามแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมประชาสัมพันธ์) ลงพื้นที่ ต.ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี แหล่งผลิตน้ำบูดู ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เดินทางไปยัง โรงงานผลิตน้ำบูดูเฮง เพื่อหารือหัวหน้าส่วนราชการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ในการยกระดับบูดูชายแดนใต้สู่สากล ภายหลังประชาสัมพันธ์ปลากุเลาเค็มในพื้นที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการประชุม APEC โดยเชฟชุมพล นายชุมพล แจ้งไพร เชฟกระทะเหล็ก นำปลากุเลาเค็ม รังสรรค์เมนูอาหารขึ้นโต๊ะในการประชุม ส่งผลให้ปลากุเลาเป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองเก่า ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะบูดูสายบุรี ซึ่งเป็นต้นน้ำในการพัฒนาน้ำบูดูให้เป็นที่รู้จักของคนในประเทศ โดยการแปรรูปให้ทานง่ายขึ้น บรรจุขวด ซอง เพื่อยืดอายุการรับประทาน ทั้งยังเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ ศอ.บต. โดยนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้หยิบยก Soft power ขึ้นประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อดึงนักท่องเที่ยวและสร้างชื่อเสียง ศอ.บต. จึงได้หารือกับเชฟชุมพล ในการยกระดับน้ำบูดู “ใช้ชื่อว่า สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังพูดคุยกับผู้ประกอบการ ทราบว่า บูดูเฮงมีกำลังการผลิต 1,000-2,000 โหลต่อวัน นั่นหมายความว่า ห่วงโซ่การผลิตอาหารจะสามารถสร้างอาชีพแก่ประชาชนในละแวกได้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง เกษตรกร และกลุ่มแม่บ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้านนายอิบรอเฮม รอแม กล่าวถึงการผลิตน้ำบูดูเพื่อจำหน่ายในพื้นที่และในประเทศว่า ขณะนี้กำลังการผลิตอยู่ที่ 1,000-2,000 โหลต่อวัน มีบูดูน้ำใส น้ำข้น บูดูข้าวยำ และเครื่องข้าวยำ ประกอบด้วย ปลาคั่วและมะพร้าวคั่ว ซึ่งมีกำลังการผลิตที่ขยายขึ้นทุกปี แม้จะเป็นผู้ประกอบการเอกชน แต่ก็รับซื้อวัตถุดิบจากคนในพื้นที่เป็นหลัก อาทิ มะพร้าว ปลาไส้ตันหรือปลากะตัก เฉลี่ย 60-70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือสั่งซื้อจากนอกพื้นที่ พร้อมทั้งใช้คนทำงานที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้หากได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดย ศอ.บต. ร่วมกับเชฟชุมพล คิดว่า จะสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานมากขึ้น

ข้อมูล 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More