มท.1 ปาฐกถาพิเศษ แนวทางการขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยผ่านแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ย้ำ ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
มท.1 ปาฐกถาพิเศษ แนวทางการขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยผ่านแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ย้ำ ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
มท.1 ปาฐกถาพิเศษ แนวทางการขับเคลื่อนการจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยผ่านแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ย้ำ ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้างประเทศไทยที่มีความมั่นคงอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
วันนี้ (9 ม.ค. 66) เวลา 11.00 น. ณ ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ “แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อความร่วมมือในการลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ สู่สังคมเท่าทันภัยด้วยแผน ปภ. ชาติ” โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวม 500 คน เข้าร่วมรับฟัง
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภัยพิบัติและสาธารณภัยในโลกใบนี้ล้วนแล้วแต่มีสาเหตุสำคัญจากสภาวะโลกร้อน ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และการแสวงหาทรัพยากรอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสารกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เกิดปัญหาภัยพิบัติในโลกใบนี้ โดยจากสถิติในช่วง 10 ปีหลังพบว่า โลกของเรามีการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติอย่างน้อยถึงปีละ 300 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562 มีตัวเลขของการเกิดภัยพิบัติทั่วโลกกว่า 400 ครั้ง ยังมีผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570” ซึ่งเป็นแผนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการรับมือต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของประเทศไทp
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่ออีกว่า นัยสำคัญของแผนฉบับนี้ คือ มีการนำหลักการต่าง ๆ อาทิ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นรากฐานสำคัญในการจัดทำควบคู่ไปกับการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนนำเอากรอบการดำเนินงานเซนได (กรอบเซนได 2015 – 2030) มาจัดเรียงเป็นกรอบแนวคิดและกรอบการดำเนินงานที่สำคัญ ซึ่งสามารถกล่าวโดยสรุปได้คือ เราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติได้ หากเราแบ่งรูปแบบการบริหารจัดการภัยพิบัติออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ส่วนที่ 1 ในช่วงของการกำหนดแผนและการวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันภัยพิบัติ หน่วยงานควรเน้นให้ความสำคัญกับขั้นตอนของการประเมินและลดความเสี่ยง (Risk Reduction) สะท้อนความสำคัญที่เกี่ยวเนื่องมาจากการออกแบบโครงสร้างเชิงนโยบาย การกำหนดแผนการดำเนินงาน และการวางกรอบดำเนินงานตลอดจนงบประมาณต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมีการคำนวณประเด็นเกี่ยวกับภัยพิบัติและความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติในอนาคตเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการรับมือภัยพิบัติและเป็นสิ่งก่อสร้างที่ทำให้ภัยพิบัติทวีความรุนแรงขึ้นเสียเอง ยกตัวอย่างเช่น การนำงบประมาณไปก่อสร้างถนนที่ขวางเส้นทางไหลของน้ำในฤดูฝน เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมทั้งในแง่งบประมาณ สถานที่ และกำลังพล สำหรับรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ ส่วนที่ 2 หลักการฟื้นฟู (Build Back Better) ซึ่งกรอบเซนไดเป็นกลไกสำคัญที่เราต้องนำเอามาประยุกต์ใช้ในการวางแผนฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฉบับนี้ ได้มีการอนุมัติหลักการดังกล่าวและมีการวางกรอบการดำเนินการไว้ด้วยแล้ว โดยหน่วยงานอาจต้องพิจารณาถึงการปรับโครงสร้างในบางประการทั้งในมิติเศรษฐกิจ กฎหมาย สังคม สาธารณสุข วัฒนธรรม การศึกษา สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การเมือง และมาตรการขององค์กร เพื่อให้ทันต่อการรับมือและการฟื้นฟู และส่วนที่ 3 การรู้รับปรับตัว (Resilience) โดยหลักการสำคัญของหลักการนี้ คือ การสร้างวัฒนธรรมที่ตระหนักรู้ถึงภัยพิบัติ การป้องกันและการลดความเสี่ยง ตลอดจนการปรับตัวให้สามารถรับมือภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม อันหมายรวมถึงการส่งเสริมให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ จัดการข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง และนำไปใช้ประโยชน์โดยคำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลให้เป็นที่รับรู้ของประชาชน เพื่อประโยชน์เมื่อเกิดภัย
“ปัจจัยที่จะทำให้แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนี้ประสบความสำเร็จ นอกจากการที่แผนดังกล่าวได้บรรจุกลยุทธ์ หลักการ และกลไกที่จำเป็นต่อการป้องกันและบรรเทาภัยแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องอาศัยความร่วมมือที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่าย เพื่อทำให้แผนดังกล่าว ถูกนำไปสู่การใช้และปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างประเทศไทยให้มีความมั่นคงอย่างปลอดภัยและยั่งยืน” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวย้ำในช่วงท้าย
ข้อมูล
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More