วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง
บรรยากาศแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยก่อน (ภาพจากหนังสือ “Twentieth Century Impressions of Siam”)
ย่านตลาดน้อย เป็นชุมชนจีนที่เกิดขึ้นมาจากการขยายตัวของสำเพ็งซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยที่บรรดาชาวจีนต่างพากันเรียกตลาดแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสำเพ็งซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในขณะนั้นว่า “ตะลัคเกียะ” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ตลาดน้อย” และด้วยความที่อยู่ใกล้กับสำเพ็งมากในบางครั้งตลาดน้อยจึงถูกเรียกในฐานะส่วนหนึ่งของสำเพ็งด้วย
สภาพโดยทั่วไปของตลาดน้อยมีลักษณะใกล้เคียงกับย่านเก่าอื่นๆ ในกรุงเทพฯ เช่น กฎีจีน ที่เป็นผลมาจากการผสมผสานกันระหว่างผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาโดยเริ่มเป็นชุมชนที่หนาแน่นมากขึ้นภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตก ผู้คนจึงพากันอพยพลงมาทางใต้ และบางส่วนได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบางกอก รวมทั้งกลุ่มคริสต์ศาสนิกชนชาวโปรตุเกสที่อพยพมารวมกันอยู่ที่วัดซางตาครู้สที่กุฎีจีน ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ในสมัยธนบุรี
แต่ต่อมาเกิดขัดแย้งกับบาทหลวงฝรั่งเศส จึงได้แยกตัวมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณตลาดน้อย ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆ กับลานประหารนักโทษบริเวณป่าช้าวัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒาราม) จึงให้ชื่อวัดใหม่ว่า “กาลวารี” ซึ่่งเป็นชื่อลานประหารนักโทษในเมืองเยรูซเล็มที่ใช้ตรึงกางเขนพระเยซู ต่อมาเรียก เพี้ยนกันไปจนกลายเป็น “กาลหว่าร์” ในปัจจุบัน
จนเมื่อรัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนชาวจีนที่เคยอาศัยอยู่ทางย่านกุฎีจีนบางส่วนพากันอพยพมารวมกันอยู่ที่ตลาดน้อย ซึ่งในขณะนั้นยังมีสภาพเป็นชานพระนคร โดยชาวจีนกลุ่มแรกๆ ที่อพยพเข้ามาน่าจะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน ซึ่งได้สร้าง ศาลเจ้าโจวซือกง ศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดย่านนี้เอาไว้
ไม่เฉพาะแต่คริสตังโปรตุเกสและชาวจีนเท่านั้น เมื่อครั้งที่องค์เชียงสือและชาวญวนอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร รัชกาลที่ ๑ ก็พระราชทานที่ดินทางด้านใต้พระนครให้กับชุมชนชาวญวณอาศัยอยู่และได้สร้างวัดอนัมนิกายเอาไว้ โดยเรียกกันทั่วไปว่าวัดญวนตลาดน้อย (วัดอุภัยราชบำรุง) เช่นเดียวกับชุมชนชาวญวนในย่านพาหุรัดและบางโพ
ตลาดน้อยกับท่าเรือ “โปเส็ง”
พัฒนาการของชุมชนย่านตลาดน้อยสัมพันธ์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการค้าสำเภาเฟื้องฟูขึ้นในสมัยต้นกรุงเทพฯ เนื่องจากรัฐบาลเปิดโอกาสให้บรรดาพ่อค้าศักดินาซึ่งมีทั้ง “เจ้าและขุนนางเจ๊สัวราษฎรผู้มีทรัพย์” ทำให้การค้าสำเภาได้อย่างค่อนข้างเสรี พ่อค้าเอกชนชาวจีนส่วนหนึ่งที่มั่งคั่งขึ้นมาจากการค้าสำเภายังได้ผันตัวเองเข้าไปอยู่ในระบบศักดินาด้วยการเข้าเป็นขุนนางในกรมท่า ซึ่งเอกลักษณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับขุนนางชาวจีนในระดับกลางทั่วไป รวมทั้งพระอภัยวานิช (จาค) ชาวจีนฮกเกี้ยนตระกูลโปษยะจินดา ตระกูลเก่าแก่ในย่านตลาดน้อยด้วย
ท่าเรือ “โปเส็ง” ของพระอภัยวานิช (จาค) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่อย่างน้อยน่าจะรุ่งเรืองมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยที่เจ้าสัวจาคได้รับพระราชทานที่ดินริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณตลาดน้อยและได้สร้างอาคารสถาปัตยกรรมแบบจีนขึ้นหมู่หนึ่ง สำหรับอาคารที่ใช้เป็นที่พักนั้นได้ชื่อว่าบ้าน “โซวเฮงไถ่” อาคารทรงจีนบางส่วนยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับทางฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่อีกแห่งหนึ่ง คือท่าเรือ “ฮวยจุ่งโล้ง” ท่าเรือกลไฟของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูล พิศาลบุตร ต่อมาได้ขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูล หวั่งหลี
การค้าสำเภาของท่าเรือ “โปเส็ง” นั้นส่วนมากแล้วเป็นสินค้าประเภทยาสมุนไพรที่นำมาจากภาคใต้ โดยดำเนินกิจการเรื่อยมาจนถึงรุ่นลูกคือ หลวงอภัยวานิช (สอน) แต่แล้วความรุ่งเรืองของท่าเรือ “โปเส็ง” ก็เป็นอันต้องประสบกับคลื่นลมจากการแข่งขันของเรือกำปั่นและเรือกลไฟที่เข้ามาพร้อมกับสนธิสัญญาเบาริ่ง ซึ่งมาแทนที่เรือสำเภาที่ใช้กันอยู่แต่เดิมในขณะที่พ่อค้าบางส่วนสามารถปรับตัวเองเข้าระบบการค้าเสรีแบบใหม่นี้ด้วยการผันตัวเองเข้าสู่ระบบเจ้าภาษีนายอากร ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการค้าต่างประเทศ แต่สำหรับท่าเรือ “โปเส็ง” กลับต้องค่อยๆ ปิดฉากตัวเองไปพร้อมๆ กับการอนิจกรรมของเจ้าสัวสอนในปี ๒๔๓๗
ในช่วงเวลาที่ท่าเรือโปเส็งยังคงรุ่งเรืองอยู่นั้น ย่านตลาดน้อยน่าจะกลายเป็นชุมชนที่หนาแน่นขึ้นมาเช่นเดียวกันกับชุมชนจีนสำเพ็งและราชวงศ์ ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กันปริมาณเรือพาณิชย์ในแม่น้ำเจ้าพระยาและจำนวนแรงงานจีนอพยพบางส่วนที่หลั่งไหลเข้ามารวมกันอยู่ในชุมชนริมแม่น้ำด้านใต้พระนคร ซึ่งกลายเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองท่ากรุงเทพฯ ไปแล้ว
ความหลากหลายของจีนกลุ่มต่างๆที่เข้ามานี้เห็นได้จากจำนวนศาลเจ้าทั้งของชาวจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ และจีนแคะในบริเวณตลาดน้อย ที่สร้างขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งคริสตังชาวจีนบางส่วนที่มักมาอาศัยรวมกันอยู่ที่วัดกาลหว่าร์ ซึ่งทำหน้าที่ศูนย์กลางของคริสตังชาวจีน
คัดจาก : บทความ “เจ๊ก” ในบางกอก. โดย นิภาพร รัชตพัฒนากุล. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2560
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_12832
The post วิถี “ตลาดน้อย” ยุคตั้งต้น ชุมชน “จีน” กับความเฟื่องฟูที่ถูกผนวกรวมกับย่านสำเพ็ง appeared first on Thailand News.