ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ค้นหลักฐานศึกอะแซหวุ่นกี้ กับ “ธรรมเนียมการดูตัว” สะท้อนอะไรได้บ้าง

“อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี” ภาพประกอบในหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่ม 2

 

ธรรมเนียมการดูตัวและอิทธิพลของวรรณกรรมแปลในพระราชพงศาวดาร

ธรรมเนียมการขอดูตัวนี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การสงครามไทย กรรณิการ์ สาตรปรุง ให้ความเห็นไว้ในหนังสือเรื่องราชาธิราช สามก๊ก และไซ่ฮั่น : โลกทัศน์ชนชั้นนำไทย ว่าธรรมเนียมการขอดูตัวทหารที่เก่งกล้าสามารถของฝ่ายตรงข้ามเป็นวัฒนธรรมการทำสงครามของมอญ ดังที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมแปลเรื่องราชาธิราช ซึ่งแปลและเรียบเรียงในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๘ โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตัวอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น ตอนพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องขอดูตัวสมิงอังวะมังศรี ทั้งยังเอาพานพระศรี เครื่องทองคำสำรับหนึ่งกับอานม้าเครื่องทองใส่เรือน้อยมาพระราชทานอีกด้วย

นอกจากนี้ยังปรากฏอิทธิพลของวรรณกรรมแปลเรื่องอื่นในศึกอะแซหวุ่นกี้ เช่นตอนที่เมืองพิษณุโลกขาดเสบียง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ถอนทัพออกจากเมืองพิษณุโลก ได้มีการทำอุบายดังนี้

“…เจ้าพระยาทั้งสองจึงให้เจ้าหน้าที่ระดมยิงปืนใหญ่น้อยหนาขึ้นกว่าทุกวัน เสียงปืนลั่นสนั่นไปมิได้ขาดตั้งแต่เช้าจนค่ำ แล้วให้เอาปี่พาทย์ขึ้นตีบนเชิงเทินรอบเมือง…”

กลยุทธ์การเอาปี่พาทย์ขึ้นตีเป็นกลลวงนี้ หากดูในพระราชพงศาวดารไทยจะพบว่าไม่เคยมีมาก่อน แต่อาจเป็นเพราะการชำระพระราชพงศาวดารในสมัยหลังได้อิทธิพลมาจากวรรณกรรมแปลเรื่องสามก๊กและไซ่ฮั่น เนื่องจากฉากที่คล้ายคลึงกันนี้ปรากฏในตอนที่ขงเบ้งดีดกระจับปี่ลวงให้สุมาอี้ถอยทัพและในตอนที่ฮั่นสินทำอุบายลวงพระเจ้าฌ้อปาอ๋องไปในที่ที่ตนวางอุบายไว้ ซึ่งพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเห็นฮั่นสินนั่งเสพสุราอยู่หน้าค่ายและให้ทหารเล่นมโหรีปี่พาทย์อยู่อื้ออึง เรื่องแรกอำนวยการแปลโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เช่นกัน กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำรัสให้แปลสามก๊กและไซ่ฮั่น สันนิษฐานว่าสามก๊ก ต้องแปลก่อน พ.ศ. ๒๓๔๘ ซึ่งเป็นปีที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถึงแก่อสัญกรรม ส่วนเรื่องไซ่ฮั่น อำนวยการแปลโดย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑ และเป็นวังหลังเพียงพระองค์เดียวในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่มีบานแพนกระบุปีที่แปลและจุดประสงค์การแปล แต่คาดว่าน่าจะเหมือนกับเรื่องสามก๊ก โดยคงแปลเสร็จสิ้นก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ ซึ่งเป็นปีที่พระองค์ทิวงคต

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือ ภาพการถอนทัพออกจากเมืองพิษณุโลกในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ก็มิได้ “แตกกันเป็นอลหม่าน” อย่างที่กล่าวถึงในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) แต่ดูมีการวางแผนและเป็นระเบียบ มีการแบ่งกองทหารเป็น ๓ กอง เปิดประตูเมืองฝั่งตะวันออกรบฝ่าค่ายพม่าที่ตั้งล้อมอยู่ออกไป

นอกจากนี้ยังมีข้อความที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากพระราชพงศาวดารฉบับก่อนหน้านั้น คือตอนที่อะแซหวุ่นกี้เผาเมืองพิษณุโลก และได้กล่าวชื่นชมความเข้มแข็งของฝ่ายไทยไว้อย่างน่าสนใจ ราวกับเป็นการ “เษก” ให้กรุงรัตนโกสินทร์ปลอดภัยจากการรุกรานของพม่าตลอดไป

“…อแซหวุ่นกี้จึงออกปากประกาศแก่นายทัพนายกองทั้งปวงว่า ไทยบัดนี้ฝีมือเข้มแข็งนักไม่เหมือนไทยแต่ก่อน และเมืองพระพิษณุโลกเสียครั้งนี้ ใช่จะแพ้ฝีมือเพราะทแกล้วทหารนั้นหามิได้ เพราะเขาอดข้าวขาดเสบียงอาหารดอกจึงเสียเมือง และพม่าซึ่งจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น ถ้าแม่ทัพมีสติปัญญา และฝีมือแต่เพียงเสมอเราต่ำกว่าเรานั้น อย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาชัยชนะเขามิได้ แม้ดีกว่าเราจึงจะมาทำศึกกับไทยได้ชัยชนะ”

งานเขียนอีกชิ้นที่น่าสนใจคืออภินิหารบรรพบุรุษ ว่าด้วยพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยรวมเอาพระ

ประวัติของสมเด็จกรมพระราชวังบวร หรือวังหน้าของทั้ง ๓ รัชกาลไว้ด้วย เนื้อความค่อนข้างมีส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์และเห็นได้ชัดว่าแต่งเพื่อยอพระเกียรติผู้ที่หนังสือกล่าวถึง เรื่องเล่าที่เป็นที่รู้จักมากเรื่องหนึ่งในอภินิหารบรรพบุรุษ คือการที่มีซินแสจีนทำนายว่าพระสินและพระทองด้วงจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์

อภินิหารบรรพบุรุษ กล่าวถึงศึกอะแซหวุ่นกี้ในส่วนที่เป็นพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยตัดเรื่องกลยุทธ์การศึกต่างๆ ออกไป เหลือเพียงแต่ตอนอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีและกล่าวถึงผลของสงครามเล็กน้อย มีการบรรยายเพิ่มเติมรายละเอียด ส่วนผู้เขียนบทความขีดเส้นใต้เป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากเนื้อความในพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์

“…ครั้นรุ่งขึ้นถึงวันกำหนดเจ้าพระยาจักรีก็แต่งตัวตามธรรมเนียมแม่ทัพไทยแล้วขึ้นม้าขาวกั้นสัปทนแดง นายทัพนายกองฝ่ายไทยก็ตามออกจากเมืองพระพิศณุโลกย์ ครั้งนั้นเปรียบดังกระแสน้ำไหลหลั่งถั่งมาแต่ฝ่ายเหนือเมื่อวสันตฤดู เจ้าพระยาจักรีก็ออกไปยืนม้าให้อะแซวุนกี้ดูตัว อะแซวุนกี้จึงให้ล่ามถามอายุศม์เจ้าพระยาจักรีว่าได้เท่าใด ไทยตอบไปว่าได้ ๓๐ ปีเศศ แล้วเจ้าพระยาจักรีจึงให้ล่ามถามอายุศม์อะแซวุนกี้บ้าง พม่าตอบว่าได้ ๗๒ ปี ขณะนั้นอะแซวุนกี้พิจารณาลักษณราษีเจ้าพระยาจักรีถี่ถ้วนแล้ว จึ่งสรรเสริญเจ้าพระยาจักรีว่ามีลักษณดีรูปงามเปนสง่า อายุศม์ก็ยังเยาว์แต่มีฝีมืเข้มแขงอาจสามารถต่อสู้กับเราผู้เฒ่าได้ ท่านจงอุสาหรักษาตัวไว้ให้ดีเถิด ภายน่าท่านจะได้เปนกษัตริย์องค์หนึ่งในสยามประเทศเปนแน่แล้ว อะแซวุนกี้จึ่งว่าให้เจ้าพระยาจักรีเร่งรักษาเมืองพระพิศณุโลกไว้ให้มั่นคง เราจะตีเอาเมืองให้ได้ในครั้งนี้ เราจะไว้เกียรติยศฝ่ายเราผู้เปนแม่ทัพนายทหารเอก จะหาผู้ที่มีปัญญาแลฝีมือเช่นเราในเวลานี้ไม่มี การสืบไปภายน่าแม่ทัพพม่าที่มีฝีมือเสมอเราฤๅต่ำกว่าเราจะมาตีเอากรุงไทยไม่ได้อีกแล้ว อะแซวุนกี้ว่าดังนั้นแล้วจึ่งสั่งขุนนางนายทหารฝ่ายพม่า ให้นำเอาเครื่องม้าทองคำสำรับ ๑ สักลาดพับ ๑ ดินสอแก้ว ๒ ก้อน น้ำมันดินสองหม้อมาให้เจ้าพระยาจักรี ขณะนั้นพม่ากับไทยก็มิได้ทำร้ายแก่กันไปมาหากันได้ฯ”

หลักฐานที่ควรกล่าวถึงอีกชิ้นคือพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงชำระใหม่แล้วนำต้นฉบับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงตรวจและแก้ไขอีก เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงได้แก้ไขและเพิ่มเติมคำอธิบายเนื้อหาช่วงกรุงศรีอยุธยาถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ สำหรับเหตุการณ์ตอนศึกอะแซหวุ่นกี้นั้นเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์แล้วพบว่าใกล้เคียงกัน ผิดกันก็แต่การใช้คำและชื่อเฉพาะของบุคคลและสถานที่ อาจพอสันนิษฐานได้ว่าการชำระพระราชพงศาวดารเล่มนี้อาจจะมีต้นฉบับส่วนหนึ่งมาจากพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ก็เป็นได้

ข้อสังเกตของผู้เขียนต่อหลักฐานลายลักษณ์อักษรในสมัยต้นรัตนโกสินทร์คือ ถ้าเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพกษัตริย์นี้มีการบันทึกและเล่าต่อสืบต่อกันมาในราชสำนัก ศึกอะแซหวุ่นกี้ย่อมเป็นศึกครั้งสำคัญ โดยเฉพาะต่อเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ แม้ว่าจะเป็นศึกที่ไม่ชนะ (ข้อสันนิษฐานในสมัยหลังกล่าวว่าเสมอกันบ้าง พ่ายแพ้บ้าง) แต่กลับถูกกล่าวถึงซ้ำๆ เพราะมีเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีและทำนายว่าจะได้เป็นกษัตริย์ ทั้งยังให้ของกำนัลอันมีค่า

พอจะเห็นได้ว่าชนชั้นนำในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเป็นที่น่าสรรเสริญ ไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่การที่มันปรากฏขึ้นมาและถูกแต่งเพิ่มเติมขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อศึกษาจากเอกสารหลักฐานแต่ละยุคสมัยก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญบางประการ

 

(คัดบางส่วนจากบทความเรื่อง ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าและอนุสาวรีย์ในเหตุการณ์อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี เขียนโดย วริศรา ตั้งค้าวานิช พิมพ์ใน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2561)

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_17415

The post ค้นหลักฐานศึกอะแซหวุ่นกี้ กับ “ธรรมเนียมการดูตัว” สะท้อนอะไรได้บ้าง appeared first on Thailand News.