รมช. ประภัตร นำทีม ผบห.กษ. แจงงบประมาณปี 67 พร้อมดำเนินการทันที และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องเกษตรกรและประชาชน
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นางกนกรัตน์ ขุนทอง ที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมรับฟังและชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ณ ห้องประชุมธารทิพย์ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงบประมาณที่ได้มาร่วมรับฟังการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำเนินการภายใต้ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 – 2580 โดยกระทรวงเกษตรฯ เกี่ยวข้อง 5 ยุทธศาตร์ จาก 6 ยุทธศาตร์ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าหลังจากนี้จะมีการเลือกตั้ง และยังไม่สามารถคาดการรัฐบาลชุดใหม่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือทุกหน่วยงานจะต้องเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที และเป็นประโยชน์สูงสุดให้แก่พี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ฝากถึงหน่วยงานต่าง ๆ ให้เรียงลำดับความสำคัญ และเน้นย้ำว่าให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อเกษตรกรและประชาชน
ด้าน นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่การจัดทำแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนปฏิบัติราชการ ปี 2567 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมทั้งการจัดทำโครงการสำคัญเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นอกจากนี้ ยังได้มีการทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ ผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เป้าหมายการให้บริการกระทรวง และตัวชี้วัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติชัดเจนยิ่งขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี” โดยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 นอกจากยึดในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังได้ยึดแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นโยบายสำคัญของรัฐบาล นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แผนปฏิบัติการด้านต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 โดยยังคงให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตร 5 ยุทธศาตร์ ได้แก่ 1) ตลาดนำการผลิต โดยเพิ่มช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจผู้ซื้อกับผู้ขาย และส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา 2) เทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และตรวจสอบศักยภาพพื้นที่โดยใช้ Agri-Map เพื่อจัดทำ Zoning 3) 3’S โดย Safety (ความปลอดภัยของอาหาร) เน้นสินค้าเกษตรและอาหารของไทย มีความปลอดภัย มีมาตรฐานตามหลักสากล Security (ความมั่นคง มั่งคั่ง ของภาคการเกษตรและอาหาร) เน้น 4 ด้าน ได้แก่ 1. Food Security 2. Health Security 3. Biosecurity และ 4. Farmer Security และ Sustainability (ความยั่งยืนของภาคการเกษตร) 4) บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร พาณิชย์ทันสมัย” ด้วยการดำเนินโครงการ Pre Order ผลไม้ฤดูกาล ผ่านช่องทาง E-commerce เพื่อให้สถาบันกษตรกรที่มีความพร้อมได้มีช่องทางใหม่ ๆ ในการจำหน่ายสินค้าและกระจายสินค้าเพิ่มเติม เพื่อรองรับผลผลิตในช่วงฤดูกาลที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก และ 5) เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกร ได้แก่ เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร
รวมถึงยังคงให้ความสำคัญนโยบายหลัก 15 ด้าน อาทิ การส่งเสริมสถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการ และ Start up การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร การวิจัยและพัฒนา และการประกันรายได้ของเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร การเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาสินค้า พัฒนาเกษตรกร และส่งเสริมปศุสัตว์และประมง สร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กลุ่มผู้นำสตรี รวมถึงยกระดับรายได้เกษตรกรระดับรากหญ้า และการปรับปรุงระบบที่ทำกินและการบริหารจัดการน้ำ
ทีีมา: https://www.moac.go.th/news-preview-451891791759
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More