ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

การประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 วันที่ 16 มกราคม 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

การประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 วันที่ 16 มกราคม 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส

รมว.คลังเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 16-19 ม.ค.2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 ได้หารือทวิภาคีกับ รมว.คลังซาอุดีอาระเบีย และ รมว.คลัง เขตบริหารพิเศษฮ่องกง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 16-19 มกราคม 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ได้หารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซาอุดีอาระเบียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (Financial Secretary) เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีผลการหารือ สรุปได้ ดังนี้
1. การหารือทวิภาคีกับนายโมฮัมหมัด อัลจาดาน (Mr. Mohammed Al-Jadaan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซาอุดีอาระเบีย ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจโลกและหารือประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย อาทิ การทำธุรกิจธนาคารตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic Banking) การสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย การเพิ่มการส่งออกแรงงานไทยไปซาอุดีอาระเบียเพื่อรองรับการขยายเมืองและการขยายการท่องเที่ยว การเร่งจัดทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo ซึ่งไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Expo 2028 ณ จังหวัดภูเก็ต และซาอุดีอาระเบียเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Expo 2030 ณ เมือง Riyadh เป็นต้น
2. การหารือทวิภาคีกับนายพอล ชาน (Mr. Paul Chan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยเฉพาะประเด็นการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามประเทศ (Cross Listing) เพื่อเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) สำหรับการลงทุนในโครงการที่แล้วเสร็จ (Brown Field) การออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในไทย (Baht Bond) เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้สนับสนุนให้พัฒนาการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางฮ่องกงอยู่ระหว่างทดสอบการนำสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale Central Bank Digital Currency: Wholesale CBDC) มาใช้โอนและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge (mBridge) ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นควรให้มีการประชุมกลุ่มย่อยในระดับเจ้าหน้าที่ของไทยและเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
กองนโยบายเศรษฐกิจกระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 0-2273-9020 ต่อ 3684
ที่มา : 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More