“จุรินทร์”มอบวุฒิบัตรผู้สำเร็จ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) รุ่น 13-14 ดันสร้างเงิน สร้างแต้มต่อ สร้างอนาคตให้ประเทศ
วันที่ 23 มกราคม 2565 เวลา 14.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ TEPCoT (Top Executive Program in Commerce and Trade)
รุ่นที่ 13 และรุ่นที่ 14 ที่ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ กล่าวว่า หลักสูตรนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายส่วน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์หลักสูตรสร้างบุคลากรชั้นนำของประเทศ ให้มีวิสัยทัศน์สามารถวางกลยุทธ์เพื่อวางตำแหน่งของประเทศในการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลกและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยให้เจริญก้าวหน้าเท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้รับวุฒิบัตรวันนี้มี 2 รุ่น คือรุ่นที่ 13 และ 14
ตั้งแต่ตนมาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ตนให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน
เอกชนจะเป็นกลไกสำคัญร่วมมือกับภาครัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ กรอ.พาณิชย์จึงเกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ที่ตนมารับหน้าที่ ร่วมมือกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนและอื่นๆให้ทุกฝ่ายจับมือกันแก้ปัญหาให้สำเร็จ
ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาการค้าจึงเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วและแก้ปัญหาอุปสรรคได้เยอะ ตัวเลขการส่งออกเป็นบวกเพียงไม่กี่ประเทศจากสถานนะการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ปี 64 ทำได้ 8.5 ล้านล้านบาท แต่ปี 65 ตนเชื่อว่าจะทำได้เกือบ 10 ล้านล้านบาท หลายท่านมีส่วนสำคัญในการสร้างเงินสร้างอนาคตให้กับประเทศไทยของเรา และประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซอฟพาวเวอร์ท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตร เวลเนสและสังคมผู้สูงอายุ ทั้งหมดต้องเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืนเป็นข้อสรุปที่ถูกต้องที่สุด เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำและที่สำคัญคือสิ่งที่โลกต้องการ สุดท้ายเราก็ต้องทำเพราะ กลายเป็นกติกาโลก
ทั้งวันนี้และอนาคตอันใกล้เรากำลังต้องเผชิญกับอย่างน้อย 3 ปัญหา ในฐานะคนทำการค้า 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรือปัญหาความขัดแย้งของโลก จับขั้ว แบ่งข้าง เอาเศรษฐกิจการค้ามัดรวมกับการเมือง และมีการบังคับเลือกข้าง 3-4 กลไกใหญ่ เช่น 1)RCEP ที่จีนเป็นพี่ใหญ่ ซึ่งสำเร็จมีผลบังคับใช้แล้ว 2)อินโดแปซิฟิกที่สหรัฐฯกำลังเป็นหัวเรือรวบรวมสมาชิก จุดยืนประเทศไทยเราต้องเลือกอาเซียน จับมือกับประเทศสมาชิกให้เราตัวโตขึ้น เป็นยุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยต้องยืน 3)เอเปค มีทั้งจีน สหรัฐฯ อนาคตจะพัฒนาเป็น FTA มี GDP 2 ใน 3 ของโลก ถ้าเจรจาสำเร็จแต่คงอีกยาวนานพอสมควร
2.ความยั่งยืน แปลความหมายได้สองอย่าง 1)ทางบวก คือสิ่งแวดล้อมและอื่นๆและ 2)ทางลบ ในอนาคตจะเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าของประเทศที่ถูกตราหน้าว่าไม่ไปสู่ความยั่งยืน
3.ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เติบโตน้อยลง ปีนี้โต 2.7% ทำการค้าจะลดความคล่องตัว การส่งออกได้รับผลกระทบ ต้องเร่งทะลวงความท้าทาย ภาครัฐต้องจับมือกับภาคเอกชนเดินหน้าต่อไป ปีนี้เราจะบุกตลาดที่มีศักยภาพอย่างน้อย 3 ตลาดที่ยังบวก เช่นตะวันออกกลาง ตนจะเดินทางไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ เพื่อตั้งสภาความร่วมมือเอกชน 2 ประเทศ และจะไปเซ็น MoU กับบริษัทโลจิสติกส์ทางเรือยักษ์ใหญ่ที่สุดของ UAE มีเครือข่าย 40 ท่าเรือทั่วโลก เพื่อสร้างเงินสร้างอนาคตไว้ให้ประเทศ และเร่งทำ FTA สร้างแต้มต่อให้อนาคต
“ตอนนี้ไทยมี 14 FTA กับ 18 ประเทศต้องเร่งเพิ่มโดยเฉพาะกับอียู ติดขัดจากช่วงยึดอำนาจเลิกเจรจา วันนี้เกือบเสร็จเหลือฝ่ายการเมืองแสดงเจตจำนง เพื่อส่งออกสินค้าได้ตลาดใหม่ภาษีเป็นศูนย์ในอนาคต พรุ่งนี้ผมจะไปบรัสเซลล์ เพื่อพบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าสหภาพยุโรป จะได้ประชุมหาข้อสรุปนับหนึ่งทางการเมือง ตน หวังว่าไปเที่ยวนี้จะนำความสำเร็จกลับมา ถ้าได้นับหนึ่งเมื่อไหร่เราจะสร้างเงินสร้างอนาคตให้กับประเทศไทยต่อไป” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า TEPCoT เป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหอการค้าไทย เปิดการอบรมมาตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน โดย TEPCoT เป็นหลักสูตรที่มุ่งสร้างวิสัยทัศน์ที่ได้มาจากการบูรณาการองค์ความรู้ แนวคิด ประสบการณ์ทางการค้า การพาณิชย์ด้านต่าง ๆ และเสริมสร้างเครือข่ายแก่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นผู้นำและพัฒนาเศรษฐกิจและการพาณิชย์ของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นำพาประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจของเอเชียและสามารถแข่งขันได้ อย่างโดดเด่นในเวทีโลก
ที่มา :
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More