เอเชีย เฮาส์ เผยผลการศึกษาครั้งใหม่ คาดเศรษฐกิจเอเชียยืดหยุ่นและส่งสัญญาณเติบโตในปี 2566 แม้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
เอเชีย เฮาส์ (Asia House) องค์กรมันสมองจากลอนดอน เผยแพร่ผลการศึกษาครั้งใหม่ ซึ่งพบว่าเอเชียสวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2566 ได้ด้วยการเร่งพลิกโฉมสู่ดิจิทัล ยกระดับความร่วมมือในภูมิภาค และรักษาสมดุลของนโยบายการเงิน
รายงานประเมินแนวโน้มประจำปี 2566 ของเอเชีย เฮาส์ ( Asia House Annual Outlook 2023 ) สำรวจแนวทางของเศรษฐกิจเอเชียในการเอาชนะและผลักดันการเติบโต ด้วยการกระตุ้นความต้องการสินค้าและบริการในประเทศ สวนกระแสโลกที่เผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งเงินเฟ้อแรง นโยบายการเงินที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และปัญหาตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่มีมากขึ้น
รายงานฉบับนี้ให้คำแนะนำมากมาย หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญกับนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการกำหนดราคาคาร์บอน ลดส่วนต่างราคา (green premium) ในการซื้อสินค้าทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพให้ผลลัพธ์สูงแต่ได้ทุนสนับสนุนไม่เพียงพอด้วยการเงินแบบผสมผสาน (blended finance)
รายงานดังกล่าวพบว่า ‘เอเชียมีแนวโน้มยืดหยุ่น หากนำเม็ดเงินลงทุนและกระแสการเงินต่าง ๆ ไปสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสีเขียว เพื่อให้เติบโตและมีการลงทุนอย่างยั่งยืน’
อย่างไรก็ดี เอเชียก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับความเสี่ยงและตกอยู่ในวิกฤติมากมายหลายด้าน เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก ทั้งความผันผวนของราคาพลังงาน ปัญหาตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมือง และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
เอเชีย เฮาส์ ได้ประเมินเศรษฐกิจในเอเชีย 8 แห่งในเกณฑ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การจัดการกับปัญหาท้าทายเหล่านี้ โดยในสองดัชนีที่เผยแพร่ในวันนี้ เอเชีย เฮาส์ วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ในขอบข่ายที่มีความสำคัญอย่างการเงินสีเขียวและความพร้อมในการยกระดับสู่ดิจิทัล ซึ่งเป็นขอบข่ายที่จะปลดล็อกผลิตภาพในอนาคต และเปิดโอกาสให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งทวีป
ดัชนีความพร้อมทางเศรษฐกิจ (Economic Readiness Indices) ของเอเชีย เฮาส์ บ่งชี้ว่าการให้ความสำคัญกับความพร้อมทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงนโยบายที่เชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน จะทำให้เติบโตได้มากขึ้น
-จีน จะเติบโตมากขึ้น แม้จะค่อนข้างซบเซา หลังจากที่ได้ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ นอกจากนี้ จีนยังทำคะแนนได้ดีขึ้นในเกณฑ์ความพร้อมทางเศรษฐกิจสำหรับการเงินสีเขียว
-อินเดีย จะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จ่อขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม อินเดียมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนทางการเงินและมีความพร้อมน้อยที่สุดทั้งในด้านการเงินสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
-ญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเงินหลายครั้ง รวมถึงเงินเยนที่อ่อนค่าและราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัจจัยทั้งสองนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีคะแนนลดลงในดัชนีความพร้อมสำหรับการเงินสีเขียว ขณะที่คะแนนความพร้อมด้านดิจิทัลของญี่ปุ่นดีขึ้นในปี 2566
-เวียดนาม มีแนวโน้มที่จะโตในอัตราที่มากเป็นอันดับต้น ๆ ในปี 2566 โดยส่วนหนึ่งมาจากภาคส่วนภายนอกที่สดใส ประกอบกับนโยบายภายในประเทศที่จะกระตุ้นการลงทุนภายใน
-มาเลเซีย มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยได้แรงหนุนจากความแข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
-ไทย มีความพร้อมทางเศรษฐกิจสำหรับการเงินสีเขียวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรายงานของเอเชีย เฮาส์
-อินโดนีเซีย จะปรากฏให้เห็นความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจในปี 2566 โดยวางนโยบายการเงินไว้อย่างลงตัว ในแง่ของการกระตุ้นการเติบโตพร้อมควบคุมอัตราเงินเฟ้อในคราวเดียวกัน
-ฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะเติบโต เปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายเข้ามาปรับปรุงระบบนิเวศภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ดูดัชนีความพร้อมทางเศรษฐกิจของเอเชีย เฮาส์ ในบทสรุปผู้บริหาร ได้ที่นี่ ดัชนีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานประเมินแนวโน้มประจำปี ซึ่งเอเชีย เฮาส์ ได้เผยแพร่เพื่อติดตามแนวโน้มทางเศรษฐกิจทั่วเอเชีย
ความคิดเห็นจากเอเชีย เฮาส์
ไมเคิล ลอว์เรนซ์ ( Michael Lawrence) ประธานบริหารของเอเชีย เฮาส์ กล่าวว่า “แม้เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณอ่อนแอในปี 2566 แต่เศรษฐกิจเอเชียอาจสวนกระแสดังกล่าว และเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งแม้จะมีความท้าทายจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์”
“รายงานประเมินแนวโน้มประจำปีของเอเชีย เฮาส์ เผยแพร่เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจของภูมิภาค และเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคในเอเชียในโลกที่คาดเดาไม่ได้และปั่นป่วนมากขึ้นเรื่อย ๆ”
ฟิลลิส ปาปาดาวิด ( Phyllis Papadavid) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและให้คำปรึกษาของเอเชีย เฮาส์ กล่าวว่า “รายงานประเมินแนวโน้มของเราบ่งชี้ว่า แนวโน้มการเติบโตของเอเชียยังคงขึ้นอยู่กับการเร่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ยกระดับการประสานงานทั่วภูมิภาค และสร้างสมดุลที่เหมาะสมในนโยบายการเงินที่กว้างขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค”
“นอกจากนี้ ดัชนีความพร้อมทางเศรษฐกิจของเอเชีย เฮาส์ ยังแนะนำว่า การให้ความสำคัญกับความพร้อมทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ประกอบกับนโยบายที่เชื่อมโยงทั้งสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เอเชียเติบโตมากขึ้น”
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
รายงานประเมินแนวโน้มประจำปี 2566 ของเอเชีย เฮาส์ ได้ประเมินผลลัพธ์จากดัชนีดังกล่าว จนได้ออกมาเป็นข้อเสนอแนะสำหรับเหล่าผู้กำหนดนโยบายทั่วเอเชีย
-กระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชียเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบการขยายเขตเศรษฐกิจและระเบียงการลงทุน
-ยกระดับและประสานความร่วมมือในการจัดการทุนสำรอง ในยามที่ทุนสำรองของเอเชียกำลังปรับตัวลดลง
-นำกลไกกำหนดราคาคาร์บอนมาใช้ เพื่อลดส่วนต่างราคา (green premium) หรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
-อาศัยการลงทุนภาคเอกชนและการดูดซับความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืน
-อาศัยนวัตกรรมการเงินแบบผสมผสาน โดยใช้กองทุนส่งเสริมการพัฒนาเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพื่อหาเงินทุนสนับสนุนโครงการสีเขียวที่มีศักยภาพให้ผลลัพธ์สูงแต่ได้ทุนสนับสนุนไม่เพียงพอ
-การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและทักษะดิจิทัลที่กว้างขึ้นของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคชนบทในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นช่องว่างทางนโยบาย
อ่านรายงานประเมินแนวโน้มประจำปีของเอเชีย เฮาส์ ได้ที่นี่
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More