ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ปลัดฯ ณัฐพล รุดตรวจเยี่ยม สอจ.ลำพูน พร้อมผลักดันโรงงานขนาดใหญ่ให้เป็น Hero ช่วยเหลือชุมชนให้ดีพร้อม

ปลัดฯ ณัฐพล รุดตรวจเยี่ยม สอจ.ลำพูน พร้อมผลักดันโรงงานขนาดใหญ่ให้เป็น Hero ช่วยเหลือชุมชนให้ดีพร้อม

จังหวัดลำพูน : เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2566 เวลา 10.00 น. ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน (สอจ.ลำพูน) โดยมีนางจันทนา ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน นายสุภชัย ไวยาวัจมัย อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง นางพัชรี ใบยา อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และนายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ 

 

โดยอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ได้รายงานผลการดำเนินงานของ สอจ.ลำพูน ประกอบด้วย โครงสร้างบุคลากร งบประมาณ ผลผลิต ตัวชี้วัด แผนการดำเนินงานในปี 2566 และคำของบประมาณปี 2567 รวมถึงรายงานสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด โดยปัจจุบันมีโรงงานนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จำนวน 368 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์จากพืช โรงงานคัดแยกวัสดุห้องเย็นเก็บพืชผลทางการเกษตร และอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ส่วนโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ มีจำนวน 76 โรงงาน เช่น ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อะไหล่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ เลนส์ และเครื่องประดับ ขณะที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ลำพูน มีจำนวน 13 โรงงาน เป็นโรงงานผลิตเครื่องประดับ โรงบำบัดของเสีย และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 

 

นอกจากนี้ยังได้รายงานถึงการดำเนินงานภายใต้นโยบาย MIND ทั้งในด้านความสำเร็จทางธุรกิจ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนธุรกิจและอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพ หรือ S-Curve รวมถึงธุรกิจและการผลิตรูปแบบใหม่ และโครงการ มอก.เอส /มผช. ด้านการดูแลสังคมโดยรอบ เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคม ให้อยู่ร่วมกันอย่างรับผิดชอบและเป็นมิตร ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการผลักดันผ่านกลไกการกำกับดูแลที่ทรงประสิทธิภาพ และการส่งเสริมยกระดับสถานประกอบการหรือโรงงานด้วยแนวคิด BCG โครงการบริหารจัดการลุ่มน้ำและวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และโครงการสร้างและพัฒนาเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว ส่วนในด้านการกระจายรายได้ ดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และ SME โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายสู่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชื่นชมเจ้าหน้าที่ สอจ.ลำพูน ทุกท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยที่ดี ยิ้มแย้ม เป็นกันเอง และมีการทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สู่องค์กรที่เข้มแข็ง โดยมอบนโยบายให้ สอจ.ลำพูน ผลักดันการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม เนื่องจากในพื้นที่มีความหลากหลายทางผลผลิต เช่น มะม่วงและลำไย เป็นต้น รวมถึงให้ประสานขอความร่วมมือนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่จัดกิจกรรมเชื่อมโยงกับชุมชนเพื่อกระจายรายได้ รวมถึงเชิญชวนโรงงานในนิคมฯ สมัครคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566

 

ขณะที่ รสอ.รก.รปอ. ได้ให้ข้อแนะนำว่า จังหวัดลำพูนมีความหลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรมและการเกษตรในพื้นที่ จึงสามารถดำเนินการผ่านกลไก DIPROM HERO เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือโรงงานขนาดใหญ่กับชุมชนสู่การกระจายรายได้ รวมถึงการเชื่อมโยง Supply Chain ในระดับโรงงานสู่ภาคการเกษตรที่เป็นต้นน้ำ ขณะเดียวกันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีโครงการ “พัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม” ที่สามารถแปลงสู่การปฏิบัติ ด้วยการพัฒนากลไก 7 วิธีปั้นชุมชนดีพร้อม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ทั้งการเสริมทักษะในการประกอบธุรกิจ การสร้างอาชีพใหม่และสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้ให้กลับคืนสู่ชุมชน นอกจากนี้ด้วยพื้นที่ที่มีนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโรงงานที่มีระบบและความพร้อม จึงสามารถลงข้อมูลใน i-Single Form เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

 

ต่อจากนั้น รสอ.รก.สปอ. ได้นำคณะเข้าเยี่ยมชม ร้านศรีวิลัยผ้าฝ้าย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้ามาให้การส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการผสมผสานการนำลวดลายที่หลากหลาย ผ่านเทคนิคการสานผ้า และการสร้างสรรค์ผลงานจากผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติให้สวมใส่สบาย ทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเป็นทุนในการสร้างพื้นที่จัดแสดงสินค้า ส่งผลให้ธุรกิจสามารถกระจายไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/64323

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More